ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ตามรอยพระบาทการเก็บน้ำในถ้ำ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก

 

12 มีนาคม 2565 ตามรอยพระบาทการเก็บน้ำในถ้ำ ฝนประเทศไทยตกลงมาไม่น้อยกว่าพื้นที่อื่นของโลก แต่เพราะยังไม่มีที่กักเก็บไว้มากพอ และบนภูเขามีพืชคลุมดิน และรากใต้ดินไม่เพียงพอจะอุ้มหน่วงน้ำมหาศาลเหล่านั้นไว้พอ น้ำจึงไหลชะหน้าดินพาตะกอนให้ไปสะสมตามลำน้ำ นานเข้าลำน้ำและกว๊านบึงจึงตื้นเขิน เก็บน้ำได้น้อย น้ำเหนือมาทีก็จะไหลบ่าท่วมออกข้างตลิ่ง น้ำผ่านไปหมดก็อดใช้น้ำ หน้าแล้งลากยาว ก็จะเดือดร้อนกันทั่ว

วัฏจักรนี้วนเวียนมานานปี เขื่อนและอ่างใหญ่นั้น สร้างทีไรก็จะต้องขวางการไหลของน้ำไว้ จึงมักทำให้เกิดการท่วมยกระดับของทางน้ำ ที่ดินที่ถูกน้ำท่วมเพื่อเก็บรักษาน้ำไว้จึงได้รับผลกระทบแยะเสมอ 
 
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมนำคณะเดินทางของคณะอนุกรรมาธิการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่อนุกรรมาธิการของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา เดินทางไปตามรอยพระบาทการหาทางแก้ไขปัญหาการจัดเก็บน้ำ ที่ในหลวงรัชการที่9ทรงดำริไว้นานมาแล้ว และไม่ก่อให้เกิดผลเป็นวัฏจักรข้างต้น เพราะทรงทดลองเก็บน้ำในถ้ำธรรมชาตินี่เองครับ…

น้ำที่เก็บไว้ในถ้ำจะไม่ระเหยเพราะความร้อนหรือไอแดด ต่างจากการเก็บแบบกลางแจ้ง การท่วมของระดับน้ำจคงไม่ต้องยกตัวขึ้นสูง ไม่เดือดร้อนพื้นที่ดินข้างเคียง ในต่างประเทศ อย่างที่ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ก็มีการเก็บน้ำด้วยการกักทางน้ำในถ้ำเช่นกัน

แต่ ในหลวงร.9 ของไทยทำไปเสร็จแล้วในราคาไม่ถึง 18 ล้านบาท และใช้งานมาเกือบจะ 20 ปีแล้ว ก็ยังใช้การได้ดี และมีผลให้น้ำใต้ดินบริเวณนั้น และในพื้นที่ต่อเชื่อมทางน้ำใต้ดิน มีน้ำงอกเงย เข้าสู่สระเก็บของราษฏรต่อเนื่อง

โครงการอ่างเก็บน้ำในถ้ำนี้มีขนาดเล็ก ตามขนาดของถ้ำทรงพระดำริให้ใช้ที่เก็บถ้ำนี้อยู่ที่ ห้วยลึก อำเภอเชีียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ผู้ใหญ่ที่กรุณาแนะนำให้ผมไปเยี่ยมชม มิใช่ใครอื่น คือท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นหน่วยให้ทุนทำโครงการกับกรมชลประทานมาตั้งแต่เมื่อ พศ.2542 โน่นครับ

เมื่อปลายปี 2564 โควิดโอมิครอนเพิ่งปรากฏตัวในไทย ผมเขียนเล่าเรื่องระบบน้ำในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน เผยแพร่ ปรากฏว่าท่าน ดร.สุเมธ ซึ่งผมเคยมีโอกาสร่วมงานกับท่านในตอนผมยังเป็น รองเลขาธิการ นายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อปี 2538 ท่านสุเมธเป็น เลขาธิการสภาพัฒน์ ซึ่งกำลังทำ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 สื่อสารกลับมาหลังอ่านบทความของผมที่เผยแพร่ว่า

เรื่องการเก็บน้ำในถ้ำ ในหลวง ร.9 ทรงทำไว้ ถ้าสนใจจะนัดให้ไปชม ผมตอบรับอย่างไม่มีลังเล จัดแจงทำนัดนายช่างชลประทานตามรายนามที่ดร.สุเมธ ให้มา แล้วจัดวาระเชิญสมาชิกในคณะอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ไปร่วมกัน 

…ตามรอยพระบาท…

ด้วยใจศรัทธาอยากเรียนรู้และอยากขอแลกเปลี่ยนข้อสังเกตกับทีมนายช่างเจ้าหน้าที่ของชลประทานที่ดูแลโครงการในสนาม สถานที่ตั้งของอ่างเก็บน้ำนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ขึ้นเหนือไปราวชั่วโมงครึ่ง เข้าซอยไปจนเป็นถนนแคบลงแล้วก็เห็นภูเขาลูกย่อมๆ ด้านหน้าภูเขามีผนังอ่างเก็บน้ำยกตัวอยู่สูงจากพื้น 12.5 เมตร ทั้งสองฟากของกำแพงกันน้ำในวันที่คณะเราไปถึงนี้ แห่งสนิทก็จริง

แต่เมื่อได้รับฟังบรรยายสรุปจากเจ้าหน้าที่ชลประทานที่มาอธิบายแล้ว ใจของพวกเราก็ท่วมท้นไปด้วยความอิ่มเอิบ และทึ่งในพระอัจฉริยะภาพอันล้ำลึกในการมองเรื่องน้ำกับชีวิตอย่างแยบคายลึกซึ้งยิ่ง หลังจากคณะฯ เดินชมบนสันกำแพงกันน้ำที่ล้อมครึ่งวงกลมของเขาลูกนี้จากมุมบนแล้ว

ผมขออนุญาตให้นายช่างพาลงไปชะโงกชมถ้ำที่เป็นทางออกของน้ำมาสู่อ่างเก็บน้ำนี้ เราจึงทยอยเดินลงไปด้านพื้นล่างที่เลนดินยังชื้นๆ เพื่อไปถึงปากถ้ำแคบขนาดที่คนคงต้องคลานสี่ขาจึงจะหย่อนตัวเข้าไปในโพรงนี้ได้ เจ้าหน้าที่บอกว่าจากโพรงนี้ต้องลงไปอีกราว 60 เมตรจึงจะถึงระดับของน้ำที่มีในถ้ำขณะนั้น และการลงไปต้องใช้ผู้ชำนาญพิเศษ เราจึงได้เพียงยืนชะโงกอยู่ข้างปากโพรงนั้นในวันที่ร้อนจัดวันหนึ่งของเชียงใหม่ ลมไม่มี ใบไม้ไม่มีไหวติง เหงื่อหยดเป็นริ้วบนใบหน้าเนื้อตัวทุกคน แต่แล้วทุกคนต้องประหลาดใจที่มีไอเย็นพ่นออกมาเบา ๆ ตลอดเวลาจากโพรงถ้ำปะทะตัวเราทุกคน ไอเย็นของน้ำในถ้ำทำให้เหมือนเรายืนหน้าเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ ไร้เสียงเครื่องจักรยนต์ใด ๆ มีเพียงสายลมเย็นชื่นใจโชยโชลมหน้าเราราวตู้เย็นที่เปิดอ้าออก 
อ่างเก็บน้ำนี้มีขนาดเล็กตามขนาดของระบบโพรงถ้ำและน้ำฝนที่เขาย่อม ๆ ลูกนี้สะสมได้จากฝนและน้ำใต้ภูเขาที่มารวมกัน ถ้ำของภูเขาลูกนี้มีความลึกราว 600 เมตร ดังนั้นเมื่อเทียบกับความลึกของถ้ำที่มีน้ำไหลเข้าและมีความลึกมากๆอย่างถ้ำทรายทอง ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน หรือถ้ำอื่นๆ

เราอาจมีถ้ำที่มีลักษณะเหมาะแก่การพัฒนาเป็นที่เก็บน้ำใต้ภูเขา ด้วยเงินลงทุนที่ไม่แพงอีกหลายแห่งทีเดียว นักสำรวจถ้ำต่างชาติเคยร่วมกับหน่วยราชการของไทยทั้งกรมทรัพยากรธรณี กรมการปกครอง กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ องค์กรส่วนท้องถิ่น ประมาณว่าที่จริงไทยมีถ้ำอยู่กว่า 6 พันแห่งทั่วประเทศ ข้อมูลและความรู้ที่ได้จากอ่างเก็บน้ำในถ้ำตามพระราชดำรินี้จึงสำคัญครับ ที่นี่เก็บข้อมูลมากว่า 16 ปีต่อเนื่อง ซึ่งพอจะชี้ให้เห็นว่า เมื่อถึงฤดูฝนมา น้ำบนเขาจะทยอยไหลเข้าโพรงถ้ำไปเรื่อยจนเต็มล้น เมื่อล้นออกมาทางปากถ้ำก็สองบริเวณที่ราบหน้าถ้ำ จากนั้นซึมลงดินบ้าง ระเหยหายไปบ้าง

แต่เมื่อมีกำแพงโอบรับไว้ น้ำที่ทะลักจากถ้ำออกมาก็จะทำให้แต่ละปี น้ำจะเอ่อยกตัวขึ้นจนถึงระดับยอดของกำแพงอ่างนั่นแหละ และด้วยระดับน้ำที่ยกขนาดนั้นเอง ที่จะช่วยทำให้เกิดแรงกด ส่งคืนให้ก้นสุดของร่องหลืบของถ้ำหินปูนนี้ มีแรงดันให้น้ำซึมลึกลงไปสู่หรือแผ่ออกไปจนถึงระบบน้ำบาดาลใต้ดินที่ไหลต่อไป

ถ้าเรียกภาษาช่างก่อสร้างก็คงเรียกว่ารั่วซึม แปลว่าเสียน้ำ แต่ถ้ามองให้ลึกแบบนักจัดการน้ำ คงเรียกว่าการชะลอน้ำมาเติมให้ระบบธนาคารน้ำใต้ดิน โดยมีน้ำกักเก็บเพื่อเติมลงลำรางระบายไปสู่คลองผิวดิน เมื่อเจ้าหน้าที่ไปทดสอบขุดบ่อในที่ห่าง ออกไป ปรากฏว่าน้ำใต้ดินจะผุดไปเพิ่มตามบ่อ ตามสระที่อยู่ในเส้นการเดินทางของน้ำใต้ดินจากเขาลูกนี้ ส่วนน้ำในลำธารที่เคยแห้งเหทอดหลังฤดูฝนก็มีน้ำเลี้ยงเข้าลำธารต่อไปได้อีก 3 เดือน สามารถสนับสนุนพื้นที่ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก จัดสรรให้ราษฏรทำกินประมาณ 200 ไร่ ราษฏรจึงสามารถนำน้ำไปวางแผนต่อยอด ทำแผนพัฒนาหมู่บ้านได้

ค่าก่อสร้างอ่างเก็บน้ำจากถ้ำนี้ลงทุนด้วยเงิน 13 ล้านบาทเศษเท่านั้น แถมไม่ใช้เงินงบประมาณราชการ แต่เป็นเงินมูลนิธิชัยพัฒนา ล้วนๆ ดังนั้น แม้บ่ายของวันที่คณะเดินทางของเราไปจะเห็นเสมือนว่าเป็นอ่างเก็บน้ำที่แห้งสนิท ไม่มีน้ำบนผิวพื้น แต่ที่จริงน้ำหลักยังเก็บอยู่ในถ้ำใต้ภูเขาต่างหาก มันคือวงจรที่ถูกออกแบบไว้แล้ว เดี๋ยวพอมีฝน ก็จะกักเก็บจนได้ระดับอีก แล้วก็กดน้ำลงสู่ระบบน้ำใต้ดินไปเติมให้ชาวบ้านได้เรื่อยไป

ใครอยากมาเห็นตอนน้ำแยะ ๆ แนะให้มาหลังฤดูฝน เพราะเมื่อระดับของน้ำในอ่างสูง แรงดันก็จะกดคืนเข้าไปในถ้ำเพื่อซึมลงใต้ดินเอง

ที่นี่จึงไม่มีการต้องใช้ปั้มไฟฟ้า ไม่มีประตูเปิดปิดบังคับน้ำ แถมแรงดันน้ำก็มากพอที่จะอัดเอาขอนไม้ใหญ่ ๆ ให้ทะลักออกทางปากถ้ำมาทุกปี เก็บขอนเก่าออกหมด พอหน้าน้ำก็มีอัดทะลักออกทางปากถ้ำมาอีก เป็นอย่างนี้มา 16 ปีแล้ว

ทีนี้มาถึงเกร็ดเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระอัจฉริยะภาพเกี่ยวกับอ่างเก็บน้ำนี้
ที่ผมค้นเจอจากความเรียงของผู้เล่าอื่น ตอนที่ในหลวงรัชกาลที่เก้าทรงพระราชทานแนวคิดเรื่องอ่างเก็บน้ำในถ้ำในช่วงปี 2524 นั้น เจ้าหน้าที่ที่รับรู้มีคนไปแอบซุบซิบกันว่า ทำไปก็จะมีแต่น้ำรั่วซึมออกในถ้ำ เพราะธรรมชาติจะเป็นเช่นนั้น และไปพูดกันว่ามีแต่คนบ้าเท่านั้นที่จะรับทำ และจาก 12 กุมภาพันธ์ พศ. 2524 ที่เคยรับสั่งไว้ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมาพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยลึก ก็ยังไม่มีใครรับไปสนองพระราชดำริเลย

จนผ่านไปอีก 23 ปี !! คือ พศ. 2547 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่ เมืองทองธานี ทรงรับสั่งเปรยถึงพระราชดำริเรื่องอ่างเก็บน้ำในถ้ำกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในขณะนั้น ปรากฏว่าผู้ตามเสด็จฯอยู่ในที่ตรงนั้นไม่มีใครรู้เรื่องนี้มาก่อนสักคน

ดร.สุเมธ ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา จึงรับใส่เกล้าฯไปค้นหา แต่ก็ไปด้วยข้อมูลว่าน่าจะที่ อำเภอเชียงดาว จึงมุ่งไป ถ้ำหลวงเชียงดาว ซึ่งก็จะมีบางส่วนที่มีน้ำในถ้ำเหมือนกัน แต่แล้วก็ไม่น่าจะใช่ จึงต่อมาพระราชทานเสมือนคำใบ้ลงมาว่า โครงการหลวงห้วยลึก ดร.สุเมธและคณะจึงไปหาทางสอบถามจากชาวบ้านในละแวกต่อได้

จนสุดท้ายจึงพระราชทานกากบาทในแผนที่มาให้สามกากบาท และนำไปสู่การที่ มูลนิธิชัยพัฒนาร่วม กับกรมชลประทาน ช่วยกันออกแบบก่อสร้างจนแล้วเสร็จในไม่นานถัดมา 
สิ่งท้าทายเวลานั้น คือ การออกแบบฐานรากที่จะวางน้ำหนักกำแพงกันน้ำนี้บนพื้นที่ๆ ด้านล่างไม่เจอชั้นหินฐาน เพราะเจาะลงเท่าไหร่ก็เจอเพียงหินลอยก้อนใหญ่น้อยมากมายไปหมด

แต่แล้วด้วยการปรับแบบทางวิศวกรรมฐานราก ใช้การเก๊าท์ซีเมนต์ลงในทุกหลุมฐานรากก็ทำให้การก่อสร้างสำเร็จและคงอยู่มาได้ทุกวันนี้ โดยไม่มีการทรุดเลยอย่างน่าอัศจรรย์ แม้น้ำหนักน้ำบวกคอนกรีตจะเปลี่ยนแปลงไปมาเสมอตามฤดูกาลและปริมาณน้ำกักเก็บ

ญี่ปุ่นทำโครงการเก็บน้ำในถ้ำ แต่ใช้งบประมาณไปสูงกว่าหลาย ๆ เท่าตัว มีคนจากญี่ปุ่นมาเสนอขอศึกษาวิธีการนี้บ้าง มีคนเล่าว่าทรงจะเก็บไว้ให้คนบ้าชาวไทยเท่านั้นได้ศึกษา เพราะประสงค์ให้ความรู้นี้เป็นเครื่องมือภูมิปัญญาช่วยเหลือกันเองได้ของคนไทย

การก่อสร้างดำเนินไปด้วยความท้าทายหลายอย่าง ระหว่างนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังเคยเสด็จมาทอดพระเนตรติดตามความคืบหน้าของโครงการฯด้วยพระองค์เองด้วย และเสด็จพระราชดำเนินกลับมาทรงเปิดโครงการระบบกักเก็บน้ำในถ้ำตามพระราชดำริ (ถ้ำห้วยลึก) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2549

ข้อเขียนชิ้นนี้น่าจะช่วยให้เราคนไทยเห็นถึง น้ำทิพย์จากความรู้รอบและเข้าพระทัยเรื่องน้ำของพระองค์ท่าน เข้าถึงข้อมูลว่าแม้เป็นพระราชาที่ราษฏรเทิดทูนแต่ท่านก็ทรงมีความอดทนอดกลั้นสูงยิ่ง ทรงต้องรอนานถึง 23 ปี กว่าที่จะมีใครรับพระราชดำริไปสนองให้เกิด ผู้อ่านยังได้รับทราบถึงน้ำพระราชหฤทัยที่พระราชทุนก่อสร้างจากมูลนิธิชัยพัฒนามาดำเนินการ

กลับมาเรื่องน้ำในถ้ำที่ได้ไปตามรอยพระบาทมา 
ผมนึกทบทวนถึงข้อมูลที่ว่าไทยมีฝนเยอะไม่แพ้ใคร ถ้ำเมืองไทยมีถึงกว่า 6 พันแห่ง เราต้องการที่กักเก็บน้ำเพื่อสำรองใช้ในหน้าแล้ง อัตราสูญเสียน้ำจากแดดเผาคือวันละถึง 1 เซนติเมตร น้ำใต้ดินขาดการเติมลงให้ชุ่มอิ่มสม่ำเสมอ คณะกรรมการบริหารถ้ำแห่งชาติ ที่ตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีก็มีขึ้นแล้ว หลังจากที่ปฏิบัติการกู้ภัย 13 หมูป่าที่ ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ลุล่วง

สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ฝนฟ้าตกไม่ต้องตามฤดูกาล อากาศร้อนขึ้น และแนวพระราชดำริการเก็บน้ำในถ้ำก็ได้พิสูจน์ให้เห็นความลึกล้ำมาถึง 16 ปีแล้ว การฟื้นฟูประเทศจากเศรษฐกิจและโควิดยังต้องใช้ทุนทรัพยากรธรรมชาติและทุนความรู้ต่าง ๆ ที่มีในสังคมไทยให้แยบคายและยั่งยืน นี่อาจเป็นอีกเรื่องที่ไขกุญแจดอกเล็ก ๆ ได้อีกหลายประตูมากๆเชียวครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ประธานอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน, รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา, สมาชิกวุฒิสภา และ 
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 

ที่มา https://www.facebook.com/Weerasak-Kowsurat

---------------------------------------------