ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

งานกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภาในรอบปี 2563

 

 

โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
งานกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภาในรอบปี 2563 เพราะผมได้ทำหน้าที่ผู้ดำเนินการเสวนาส่งท้ายปีงบประมาณของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภาเมื่อปลายกันยาที่ผ่านมา
กิจกรรมนี้ช่วยทำให้ผมมีข้อมูลน่าสนใจมาประมวลบันทึกเก็บไว้เล่าพอเห็นภาพได้ดังนี้
 
คณะกรรมาธิการฯ แบ่งงานให้มี 4 อนุกรรมาธิการ โดยเริ่มที่อนุกรรมาธิการที่รับผิดชอบงาน ด้านทรัพยากรธรรมชาติทางบก ชุดนี้ไว้ติดตามทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนแผนที่รูปขวานทองของไทยที่เราคุ้นเคย ไม่ว่าจะอยู่บนเขาบนดิน ในแม่น้ำลำธารทะเลสาป ชุดนี้มี สว.พลเอกจีระศักดิ์ ชมประสพเป็น ประธานอนุกรรมาธิการฯ ท่านประกาศตามติด 2 เรื่องใหญ่ ที่ก่อนปี 2562 รัฐไทยไม่เคยมีเครื่องมือทางกฏหมายและนโยบายที่ถูกต้องมาสนับสนุน ที่ผ่านมาทำกันได้แค่หรี่ตา กับทำตาถลนเรื่องคนกับป่า แต่ไม่ยักแก้กฏหมายชุดด้านป่าไม้ให้สำเร็จ เพราะส่วนใหญ่รัฐบาลมักต้องพ้นไปก่อนจะคิดอะไรเรื่องนี้ออกจนเพิ่งจะมีช่วงปี 2559 - 2562 ที่รัฐบาลจับมือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยำใหญ่ชุดกฏหมายทรัพยากรธรรมชาติ ทำคลอดกฏหมายสำคัญได้ 13 ฉบับทันปี 2562 ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป และเพื่อให้ระบบราชการประจำตั้งตัวรับมือกฏหมายใหม่ได้ทัน กฏหมายอุทยานฉบับใหม่จึงมีบทเฉพาะกาลให้เครื่องมือใหม่ ออกฤทธิ์ได้ก็ต้องเมื่อผ่าน 270 วันหลังประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา คือกรกฎาคม 2563 ก่อนโควิด 19 ออกอาละวาดแค่ไตรมาสเดียว
 
ดังนั้นหนึ่งปีที่ผ่านมาและหนึ่งปีถัดจากนี้ไปก็อนุกรรมาธิการประกาศจะลุยเรื่องเหล่านี้ต่อ คือ ผลักดันการจัดการที่ดินของรัฐด้วยแนวคิด "คนอยู่กับป่าได้" เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างราษฏรกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเพื่อเปลี่ยน "ผู้รุกให้เป็นผู้รักษาป่า" และสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มอีกเรื่อง คือ ระบบจัดการลุ่มน้ำ เพื่อแก้ปัญหาความไม่เชื่อมของแผนและการจัดการระหว่างพื้นที่ต้นสายน้ำ พื้นที่ตามลำน้ำและพื้นที่ปลายของแต่ละลุ่มน้ำ รวมทั้งสะสางเรื่องแหล่งเก็บน้ำเกือบ 15,000 แห่ง ที่ถ่ายโอนจากส่วนกลางไปท้องถิ่นนานแล้วแต่มัน "ไม่เวิร์ค" ..คาราคาซังมาหลายนาน ซึ่งอนุกรรมาธิการเสนอว่าน่าจะมีหลายแหล่งเก็บกักน้ำที่ควรส่งให้ อบจ. ทำ ต่อเพราะเป็นองค์กรที่มีพลังกว่าท้องถิ่นขนาดเล็กอย่าง อบต.มาก เรื่องข้างต้นคงไม่อาจโทษหน่วยใด เพราะระบบราชการไทยไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำภารกิจโดยเอาผลสัมฤทธิ์เป็นที่ตั้ง แต่ล้วนถูกออกแบบมาให้ทำงานโดยเอาภารกิจเฉพาะหน่วยเป็นหลัก มองงานเป็นปริมาณ...ถ้าทำชิ้นงานได้เพิ่ม ทำให้เบิกงบได้ทัน แปลว่างานสำเร็จ ส่วนว่าเสร็จแล้วชาวบ้านได้ใช้น้ำหรือเปล่า ไม่อยู่ในเงื่อนไข เราเลยมีอ่างเก็บน้ำเยอะแยะ ทั้งที่มีและไม่มีน้ำ และที่มีน้ำแต่ไม่มีระบบกระจายจ่ายน้ำออกได้ ให้ใช้มองดูอุ่นใจได้ว่ามีอ่าง แต่ไม่ยักมีใครได้ใช้น้ำทำเกษตร และเมื่อหน่วยงานบูรณาการกันน้อย ต่างหน่วยก็ยิ่งต่างทำ ผลสัมฤทธิ์ยิ่งไปไม่ถึงระดับที่ควรพอใจ ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งถึงได้วนเวียนซ้ำรอยไปมาหลายทศวรรษ ที่ดินในการดูแลของราชการมีหลากหลาย ตั้งแต่ป่าสารพัดแบบจนถึงที่ สปก. ที่ราชพัสดุ ที่สาธารณะ ที่หน่วยราชการและที่ดินของรัฐวิสาหกิจ เช่นที่การรถไฟ (ที่กำลังจะมีทางคู่และความเร็วสูงแล่นผ่านในไม่กี่ปีข้างหน้า) สว.พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ประธานกรรมาธิการใหญ่ ขึ้นให้นโยบายไว้ในเรื่องนี้ว่า ชุมชนควรได้ใช้ประโยชน์และรักษาทรัพยากรให้อยู่ได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน ราชการต้องยื่นแขนให้สุดมือเพื่อจะจับกับราษฏรและชุมชนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ นี่อนุกรรมาธิการแรก
 
อนุกรรมาธิการที่สอง มีขึ้นเพื่อติดตามเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพราะ ก่อนปี 2562 ทะเลไทยและชายฝั่ง ไม่ค่อยมีแผนจัดการเป็นเรื่องเป็นราวเท่าใดนัก ในระดับสูง
ต่างฝ่ายต่างอยู่ ต่างฝ่ายต่างไปเช่นกัน
เชื่อไหม..เมืองไทยไม่เคยมีแม้แต่เสันแบ่งเขตจังหวัดทางทะเลฝั่งอันดามัน
มีแต่เส้นแบ่งเขตจังหวัดในฝั่งอ่าวไทยตอนในเท่านั้น
ทะเลไทยจึงถูกละเลยมานาน
อนุกรรมาธิการชุดนี้มี สว.พลเรือเอก ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร เป็นประธาน
ปีที่ผ่านมา อนุฯ ชุดนี้ ติดตามเรื่องเขตจังหวัดทางทะเลนี้ต่อเนื่อง จนในที่สุดจังหวัดฝั่งอันดามันของไทยทั้งหมดจะมีเส้นแบ่งทางทะเลจนครบในสิ้นปีนี้แหละ ใครต้องรับผิดชอบบริเวณไหนในทะเล ก็จะชัดขึ้นเสียที
อีกเรื่องที่ อนุฯทะเล ติดตามคือ ป่าชายเลน ที่ต้องผลักดันต่อให้มีกฏหมายเพื่อสนับสนุนการจัดการที่ยั่งยืน ชาวมอแกน คนท้องถิ่นที่เป็นกลุ่มประมงชายฝั่งที่อยู่ในเขตป่าชายเลนเคยถูกมองเห็นเพียงบางมุมของปัญหาขัดแย้งมาโดยตลอด ก็จะได้มีทางออกแนวคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ ถ้าเกื้อกูลรักษากันให้เป็น
ส่วนปีถัดไป อนุฯทางทะเล จะจับเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง เรื่องขยะทะเล ส่งเสริมการตั้งสถาบันวิทยาการทะเล และสำหรับผมที่น่าตื่นตาตื่นใจคือ อนุฯนี้ค้นพบว่า ตามหลักกฏหมายอนุสัญญากฏหมายทะเล ที่ไทยเป็นภาคีอยู่นั้น
เรายังต้องปรับปรุงกฏหมายภายในของไทยในระดับพระราชบัญญัติอีกถึง 70 ฉบับ!!
แปลว่าการบ้านทางทะเลของเรายังมีอีกเพียบ งานใหญ่ที่เคยไร้เจ้าภาพมานาน
อนุกรรมาธิการชุดที่3 ติดตามเรื่อง ปัญหามลพิษกับสิ่งแวดล้อม
แปลว่างานที่มาจากผลพวงของมนุษย์ไป "ระรานธรรมชาติ" ทั้งนั้น
ชุดนี้มี สว.ผศ.ดร.บุญส่ง ไข่เกษ เป็นประธาน ชุดนี้ศึกษาหลายเรื่องเสร็จยื่นส่งการบ้านแล้ว เช่นเรื่องวิธีแก้ PM2.5 ในกทม.และปริมณฑล รายงานแฝดคนละฝาอีกชิ้น ที่กำลังไล่ตามออกมาคือ วิธีแก้ PM2.5ในภาคเหนือตอนบน
เพราะสองพื้นที่นี้ มีต้นเหตุของปัญหาที่ต่างกัน
ไม่ควรใช้วิธีเดียวกันในการแก้
ชุดนี้ยังกำลังเร่งศึกษาทางออก เรื่องปัญหาขยะมูลฝอยชุมชน น้ำทิ้งจากครัวเรือน ของเสียจากกากอุตสาหกรรม การทำกฏหมายอากาศสะอาด และทำข้อสังเกตเพื่อปรับปรุงวิธีประเมิน EIA แล้วตามด้วยเรื่องการปรับปรุงการประเมินSEA รายลุ่มน้ำ และจิปาถะเยอะแยะที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อยู่ติดตัวพวกเราทุกคน ผมจาระไนได้ไม่หมด
อ่านมาถึงย่อหน้านี้ คงรู้สึกได้ ว่าแต่ละอนุกรรมาธิการกำลังทำเรื่องสำคัญ...
เรื่องใหญ่ กฏหมายเก่างั่ก และการบังคับใช้กติกาก็ปวกเปียก
กรรมาธิการมองว่าแทนที่จะใช้แต่การบังคับทำโทษ แต่ร่วมใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาตร์มาจูงใจให้คนทำสิ่งที่ ถูกต้อง และยั่งยืน น่าจะหวังผลได้มากกว่า
การพาให้คนในสังคมทั้งมหภาคและจุลภาค ท้องถิ่นหรือระดับชาติไปสู่ BCG หรือ bio- circular-green และพลเอกสุรศักดิ์ขอแถมเรื่อง Blue ecoomy คือเรื่องใช้ทะเลอย่างสร้างสรรค์ยั่งยืนเข้าไปด้วย
เราจะได้มีพฤติกรรมทางสิ่งแวดล้อม ที่เข้าท่าไปส่งต่อให้อนาคตและคนรุ่นใหม่ได้บ้าง
ไม่งั้นเราจะจมอยู่กับปัญหากากๆเก่าๆที่หมักหมมมาในอดีต ท่าเดียว
ทีนี้ก็ขอกลับมาเล่าถึงอนุกรรมาธิการชุดที่4 อันเป็นชุดท้ายสุด มีชื่อยาวเกือบสามบรรทัด แต่ผมเรียกย่อๆเอาเองว่า อนุ ฯติดตาม เร่งรัด เสนอแนะ การปฏิรูปประเทศด้านสิ่งแวดล้อม
ชุดนี้มีสว.พลเอกโปฐก บุนนาคเป็นประธาน
ชื่อที่ผมเรียกย่อเองข้างบนคงบอกได้ว่าชุดนี้มีภารกิจประมวลประเด็นปฏิรูปมาจากทุกฝ่ายเพื่อไปเร่งส่งเข้าอีกคณะกรรมาธิการใหญ่ระดับพิเศษของวุฒิสภา ที่ทำหน้าที่ ต.ส.ร. คือติดตามเร่งรัดเสนอแนะการปฏิรูปทุกด้านของประเทศตามรัฐธรรมนูญ อันมีรองประธานวุฒิสภา พลเอกสิงห์ศึก สิงไพรเป็นประธานให้เอง
ชุดนี้จึงเหมือนจ้อกกี้ถือแส้เร่งฝีเท้าม้าของเราด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อีกภารกิจที่น่าสนใจของอนุฯ ชุดพลเอกโปฏกนี้ คือการติดตามเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ...และภาวะโลกร้อน
ซึ่งอนุกรรมาธิการชุดนี้แหละ ที่ในปีที่ผ่านมาได้ไปค้นเจอนวัตกรรมชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทำเรื่อง "ป่าครอบครัว" ที่ภาคอีสาน และเชื่อว่ามีในแทบทุกภาคของไทย
ป่าครอบครัวเกิดในที่ดินของชาวบ้านเอง ด้วยแนวคิดความพอเพียง และเป็นซุปเปอร์มาเก็ตแบบชาวบ้าน ที่ไม่ต้องเอาแต่รอจะเดินเข้าป่าของราชการ
ป่าครอบครัวทำให้เจ้าของสามารถใช้เก็บเห็ด เก็บไม้ เก็บสมุนไพรที่ปลูกผสมผสานในที่ดินของตนเองโดยตั้งใจให้เป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งตรงข้ามกับที่เอกชนใช้ที่ดินทำการพาณิชย์แบบพืชเชิงเดี่ยวซึ่งไม่ยั่งยืนและไม่รักษาความหลากหลายทางชีวภาพเสียอีก
ดังนั้นจึงสมเหตุที่ อนุฯนี้พยายามผลักดันให้คนเหล่านี้ได้รับประโยชน์คุ้มครองด้วยการได้ถูกเรียกว่าเป็นเกษตรกรในบัญชีของรัฐอย่างหนึ่ง
ช่วยพวกเขา เพราะเขาช่วยรักษคาวามหลากหลายทางชีวภาพให้สังคมเรา
ด้วยที่ดินของเขาเอง!!
และนี่แหละครับ คือบทบาทการรวบรวมผลและวิธีทำงานของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภาในปีที่ผ่านมา เท่าที่จำได้เพื่อเล่าสู่กันฟัง อย่างพอสังเขป
ผมมีข้อสังเกตว่า คณะกรรมาธิการชุดนี้โชคดีที่มีพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์เป็นประธานใหญ่ เพราะนอกจากได้อดีตรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติฯที่ดำรงตำแหน่งนาน 3 ปี 8 เดือน ข้ามมาสานต่องานให้เราในฝั่งนิติบัญญัติแล้ว แต่เพราะท่านเป็นแกนหลัก ในการปรับเข็มทิศนโยบายของรัฐ จนรัฐบาลที่แล้วแก้กฏหมายด้านทรัพยากรธรรมชาติไปได้สำเร็จถึง 13 พระราชบัญญัติ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน
จนกลายเป็นตำนานเล่มใหม่ของ ค่านิยมที่บัดนี้ เรามีราษฏรที่หันมานิยม "ปลูกไม้มีค่า ปวงประชาได้ป่าชุมชน และคนอยู่กับป่าจนได้ "
หลังจากที่ต้องรอคอยมานานกว่า40ปี
จริงอยู่ที่ว่ากรรมาธิการของฝ่ายรัฐสภา ไม่มีอำนาจไปยุ่มย่ามสั่งการระบบบริหารประเทศ แต่ถ้าเราเชื่อว่า ความรู้ ความต่อเนื่อง และความมีประสบการณ์ในสนามมีประโยชน์ นี่ก็น่าจะเพียงพอที่จะกระตุ้น สะท้อนและสนองเสริมให้ฝ่ายบริหาร และภาคมวลชน ตลอดจนชุมชนต่างๆให้มีส่วนร่วมในการรักษาและหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันได้อย่างมีความสุข ระมัดระวังเรื่องความยั่งยืน และเป็นธรรมต่อกันและกัน
และเป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อม...ครับ
 
 

ที่มา https://www.matichon.co.th/politics/news_2369595

-------------------------------------------------------------------------
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา 
#weerasak.org