พ.ร.บ.อากาศสะอาด ผ่านเลนส์ 'วีระศักดิ์ โควสุรัตน์' ‘เครื่องมือ-ความหวัง’
ฝนมาป่าเปียกไฟดับแล้วอีก 7 เดือน การเผาก็จะเริ่มขึ้นใหม่ เราต้องไม่ปล่อยให้วงจรเดิมๆกลับมาใหม่ให้ได้ กะเทาะแก่น 7 ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ผ่านเลนส์ 'วีระศักดิ์ โควสุรัตน์' ‘เครื่องมือ-ความหวัง’ ขับเคลื่อนอากาศเมืองไทยให้บริสุทธิ์
กะเทาะแก่น 7 ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ผ่านเลนส์ 'วีระศักดิ์ โควสุรัตน์' ‘เครื่องมือ-ความหวัง’ ขับเคลื่อนอากาศเมืองไทยให้บริสุทธิ์ เมื่อไม่นานมานี้ ช่องยูทูบ ‘รู้ ช่อง ส่อง กฎหมาย (สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา)’ ได้เผยแพร่วิดีโอสัมภาษณ์ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รักษาการสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา คนที่สี่ ในประเด็น ‘ความคิดเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …’ โดยได้พูดคุยกับ นายธีรพัฒน์ พิเชษฐวงศ์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานกฎหมาย 1 พร้อมด้วย นางพัชรา พุกเศรษฐี วิทยากรชำนาญการพิเศษ และ นายอมร สุวรรณโรจน์ นิติกรชำนาญการ
คำถามที่ 1
ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับด้านร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ฉบับที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการในทํานองเดียวกันอีกจํานวน 6 ฉบับอย่างไร?
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า กฎหมายทั้ง 7 ฉบับนี้ ล้วนเป็นความหวังและเป็นเครื่องมือ ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 7 ฉบับที่กล่าวมา มีสถานภาพเป็น 2 อย่าง (ความหวัง และ เครื่องมือ) หลายครั้งที่ร่างกฎหมายเข้าผ่านสภาไป หวังว่าจะเป็นแค่เครื่องมือเฉย ๆ บางครั้งบางหน่วยงานมักจะบอกว่าทําเรื่องนี้ไม่ถนัด เพราะขาดอํานาจทางกฎหมาย หรือยังไม่มีหลักการที่กําหนดเอาไว้โดยตรง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ไม่ สามารถไปดำเนินการได้ เมื่อมาขอฝ่ายนิติบัญญัติ สภาก็พิจารณาให้ แบบนี้แปลว่าทํากฎหมายให้เป็นเครื่องมือ
ส่วนแบบที่ 2 จะแตกต่างจากแบบแรก เราจะเห็นว่า 7 ร่างฯ มาจากคนทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประชาชนที่เข้าชื่อเพื่อเสนอเป็นกฎหมาย จากรัฐบาลมาในนามของร่างคณะรัฐมนตรี และร่างที่มาจากพรรคการเมือง เนื้อหาในร่างฯ ไม่ได้แตกต่างกันแบบสุดขั้ว แต่ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความหวังของผู้เสนอร่างฯ นั้นๆ ว่าไม่ค้าน สังเกตว่าทั้ง 7 ร่างฯ ที่เมื่อเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่ง รับหลักการโดยถ้วนหน้า แม้จะอภิปรายกันเยอะ แต่ว่ารับหลักการโดยถ้วนหน้า
เมื่อเป็นแบบนี้ ก็แปลว่ามันแสดงถึงสัญลักษณ์ ‘เป็นความหวัง’ มากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือด้วยซ้ำไป ส่วนในเรื่องของเครื่องมือ จาก 7 ร่างฯ ที่กล่าวมา หากอ่านรายละเอียดเปรียบเทียบทั้งหมด คือกฎหมายเพื่อการตั้งสมมติฐาน 4 เรื่อง ได้แก่…
1. อาศัยอํานาจของหลาย ๆ กฎหมาย และหลาย ๆ คณะกรรมการที่มีอยู่แล้วก่อนมีพระราชบัญญัตินี้ นำมากองรวมกัน และคณะใดคณะหนึ่งมีอํานาจในการสื่อสารและมอบหมายให้แต่ละคณะไปมีมติสอดคล้องหรือดึงกฎหมายที่มีผูกรวมกัน แล้วนำไปดําเนินการได้ แปลว่าเป็นการรวมหลาย ๆ เครื่องมือที่ขนาดต่างกันมากองรวมกัน ตลอดเวลาที่ผ่านมา เวลาที่เกิดปัญหา ‘อากาศสะอาด’ ก็มักไปใช้ยืมอํานาจพระราชบัญญัติการสาธารณสุข หรือยืมอํานาจของป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนของมหาดไทย ซึ่งไว้ใช้ประกาศเขตภัยพิบัติ เมื่อประกาศแล้วจะทําให้สามารถหยิบเงินออกมาเยียวยาผู้คนได้ แต่ก็จะมีคำถามตามมาว่า ประกาศกว้างแค่ไหน? เพราะว่าอากาศสะอาด มีปัญหาเรื่องการครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางมาก ไม่เหมือนน้ำท่วม ที่สามารถรู้จุดเกิดเหตุได้แน่ชัด แต่พอเป็นอากาศสะอาดจะพูดยาก ส่งผลให้เขาประกาศได้น้อย
ส่วนมากจะใช้ 2 พระราชบัญญัติที่กล่าวไป แต่ในความเป็นจริง มีกฎหมายอื่น ๆ อีก แต่ต้องไปอาศัยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติ คณะกรรมการอุทยาน คณะกรรมการที่เกี่ยวกับเรื่องของการจัดการที่ดิน ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ แต่ถามว่าคณะฯ เหล่านั้นมีความรู้สึกว่าเขามีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องอากาศสะอาดหรือไม่? เขาอาจจะไม่ค่อยรู้สึก แต่ถ้าหากเชื่อมเข้ามาได้ ก็จะสามารถหยิบยืมองคาพยพที่มีมาช่วยทํา ‘อากาศสะอาด’ ได้
ส่วนเรื่องการบูรณาการ ตามพระราชบัญญัตินี้ระบุไว้อย่างน้อย 3 ระดับ ได้แก่
(1) ระดับนโยบายสูงสุด นายกรัฐมนตรีเป็นประธานดูแลที่เกี่ยวข้องกับอากาศสะอาด
(2) ระดับคณะกรรมการที่เป็น วอร์รูมแห่งชาติ (ในบางร่าง) เสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นประธานฯ แต่บางร่าง ระบุว่า ไม่เอารัฐมนตรี แต่ให้อำนาจปลัดกระทรวงฯ มานั่งเป็นประธานฯ ดีกว่า เพราะอย่างน้อยก็เป็นมืออาชีพด้านนี้
(3) ระดับพื้นที่ จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ พื้นที่ที่แบ่งเป็นเขตหรือจังหวัด และพื้นที่ที่กําหนดเฉพาะ เช่น ลุ่มอากาศ ร่องน้ำ ชายแดน เป็นต้น
2. แทบทุกร่างจะมีข้อสันนิษฐานเพื่อให้ฝ่ายตุลาการในอนาคต หากมีคดีสิ่งแวดล้อมที่ไปกระทบผู้อื่น เรื่องนี้มีการพูดถึงมานาน เรียกว่า Polluters Pay Principle: PPP แปลว่าผู้ใดก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยต่อสิ่งแวดล้อม ผู้นั้นต้องมีภาระในการจ่าย แต่ว่าภาระพิสูจน์สําหรับผู้ที่ไปก่อ ไม่อยู่กับผู้ก่อเท่าไหร่ กลับกลายเป็นว่า ‘ผู้เดือดร้อน’ ต้องไปพิสูจน์ต่อศาลเองว่าได้รับผลกระทบมาอย่างไรบ้าง ซึ่งการพิสูจน์นี้มีต้นทุนสูง แต่ถ้าผู้ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มคน (มากกว่า 1 คน) ก็ต้องไปหาเอกสารวิชาการมายืนยัน และใช้เวลานาน แต่สิ่งที่จะช่วยบรรเทาเรื่องตรงนี้ไปได้คือ ‘ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์’ ซึ่งจะรวมตั้งแต่เรื่องของข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา เช่น ลมพัดพาฝุ่นหรืออากาศไม่สะอาด หรือรวมถึงเรื่องกลิ่น สารเคมีในอากาศว่ามันพัดพาไปทางไหน มีจุดความร้อน มีรอยไหม้ หรือมีข้อมูลหลักฐานว่ามีจุดรั่วของสิ่งที่ทําให้อากาศไม่สะอาดมาจากตรงไหน ขอแค่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ก็ให้สันนิษฐานได้เลยว่า ‘ไม่ต้องพิสูจน์’ แล้วว่าเสียหายหรือไม่ เหลือแค่พิสูจน์ว่าเสียหายเท่าไหร่ และหากเกิดในพื้นที่ของใครก็ต้องออกมาชี้แจง เพราะภาพจากดาวเทียมมันชี้ชัด จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
3. PM 2.5 ในปัจจุบันเป็นตัวชี้ที่เห็นว่าคนไทยเสียชีวิตสูงมาก เช่น ถุงลมโป่งพอง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือมะเร็งในทางเดินหายใจ สูงที่สุดอยู่ในภาคเหนือ เช่น จังหวัดลําพูน ภาคกลาง เช่น กรุงเทพมหานคร สถิติทิ้งห่างภาคอื่น ๆ เรื่องการห้ามจุดไฟเผา ก็ห้ามกันมาหลายปี แล้วแต่ไม่เกิดผล หรือจะเป็นการ ‘ชิงเผา’ เพื่อจะได้จัดการกับเชื้อไฟในช่วงก่อนที่อากาศมันจะปิด เพราะว่าพอความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาประเทศไทย ทําให้เพดานเตี้ย เมื่อเพดานเตี้ย หากมีควันมันก็จะอบอวล
ในเรื่องการ ‘ชิงเผา’ ก็มีปัญหาและคำถามว่ากระบวนการจัดการชิงเผาได้ประสิทธิภาพหรือเปล่า และเมื่อมีคนเริ่มชิงเผาอย่างเป็นทางการ ก็จะมีคนแอบเผาต่อเนื่องกันไป เราเห็นข้อมูลจากดาวเทียมและเป็นข้อมูลยืนยันย้อนหลัง 20 ปี ทำให้เห็นเลยว่าพื้นที่ใดบ้างที่เกิดปัญหาซ้ำซาก (เผาใหญ่ 5 ครั้งต่อปี) ตัวเลขระบุเลยว่า 64% ของ 20 ปีที่ผ่านมาที่เป็นจุดความร้อนเกิดขึ้นอยู่ในเขตป่า เขตป่าอนุรักษ์ เขตห้ามล่า เขตอุทยานแห่งชาติ รองลงมาคือป่าเสื่อมโทรม ป่าเศรษฐกิจ ป่าของกรมป่าไม้ ส่วนอีก 24% เกิดอยู่ในนาข้าว เป็นการเผาเพื่อจะขจัดวัชพืช ขจัดซังต้นข้าว เพื่อเคลียร์พื้นที่สำหรับปลูกต้นข้าวชุดใหม่ รวม ๆ แล้วอยู่ที่ 88% ถ้าบริหารจัดการได้ จะต้องดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตาแน่
ดังนั้นในร่างพระราชบัญญัติเหล่านี้ก็จะใส่เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาด้วย เช่น การให้รางวัลสำหรับคนไม่เผา คนลดการเผา หรือคนที่ทำกิจกรรมที่ลดการเผา ควรจะมีการสนับสนุนทางใดทางหนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 7 ฉบับล้วนพูดเรื่องนี้กันทั้งนั้น สำหรับเรื่องความแตกต่างของร่างฯ ทั้ง 7 ฉบับ นายวีระศักดิ์ แบ่งออกเป็น 3 เรื่องใหญ่ ๆ ดังนี้...
1. ร่างจากภาคประชาชน ระบุว่า แก้เรื่องอากาศสะอาด ต้องใช้เงิน ฉะนั้นขอให้ตั้งกองทุนส่วนล่าง ส่วนอีก 6 ร่างฯ ไม่ได้ไปแตะเรื่องกองทุนฯ
2. ร่างจากภาคประชาชน ระบุว่า หากปล่อยให้กรมควบคุมมลพิษ เป็นฝ่ายเลขาของทุก ๆ คณะกรรมการไปเรื่อย ๆ เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ และไม่ยกระดับให้เขาให้มีอำนาจในการจัดการ จะต้องแย่แน่ ส่งผลให้เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศไม่ได้ จึงเขียนให้มีการจัดกรมเฉพาะ ดูแลเรื่องอากาศสะอาดอย่างเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ตั้งกรมขึ้นมาใหม่ เพียงแค่ให้เสริมแกร่งให้กรมเก่า
3. การแต่งตั้งประธานในคณะกรรมการระดับพื้นที่และระดับวอร์รูม สำหรับในระดับชาติทุกร่างระบุว่าให้นายกฯ ลงมานั่งเป็นประธาน เนื่องจากมีอํานาจในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวง แต่ในระดับที่เป็นวอร์รูม ความต่างจาก 7 ร่างฯ จะมีร่างฯ ของก้าวไกลที่ระบุว่าอย่าให้รัฐมนตรีนั่งประธานเลย แต่ให้เป็นปลัดแทน ส่วนระดับที่เป็นคณะกรรมการดูแลรายพื้นที่หรือหลายจังหวัด ทุกร่างเสนอให้ผู้ว่าราชการเป็นประธาน ยกเว้นร่างฯ ของก้าวไกลที่เสนอให้เลือกคนที่มาจากการเลือกตั้งกัน เพราะเขาจะอยู่ได้นานกว่าเป็นซ้ำได้หลายสมัย อีกทั้งจะรู้จักพื้นที่นั้นดีกว่า แนะให้นำนายกฯ อบจ. มานั่งประธาน เพราะมีงบท้องถิ่น
คำถามที่ 2
การตราพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ) และร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการทำนองเดียวกันอีกจำนวน 6 ฉบับ จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน หรือไม่ อย่างไร
นายวีระศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ประโยชน์มีแน่นอน เพราะอย่างที่เรียนไปแล้วว่า 1. มันเป็นความหวัง การมีร่างตั้งหลายร่างนั้น มันทำให้ความรู้สึกว่าไม่มีใครเห็นแย้งเลยในเป้าหมาย และทุกคนก็ร่วมวิธีการเข้ามา มีความแตกต่างในปลีกย่อยรายละเอียดเล็กน้อย ซึ่งอย่างน้อยมีความหวัง…และไม่เพียงแต่มีร่างกฎหมายเสนอมาคุยกัน ซึ่งการได้คุยกันเยอะ ๆ อย่างจริงจัง เอาความรู้มาพูดกัน มันทําให้รู้สึกว่าเรากําลังจะมีทางออก
2. มันเป็นเครื่องมือ อย่างน้อยบรรดากรมกองต่าง ๆ ตอนนี้ก็กําลังศึกษาร่างกฎหมายเหล่านี้ว่าถ้ามันออกมานั้นต้องไปเตรียมตัว เตรียมขั้นตอนวิธีการในการทํางานของกรม ของกอง ของหน่วย ของแผนก และของสํานักงานในต่างจังหวัดของตนกันอย่างไร โดยเริ่มสนทนากันเอาไว้ล่วงหน้า มีการสัมมนากันเล็กน้อยเพื่อจะเตรียมตัวต้อนรับร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งก็ทําให้เครื่องมือนี้มันถูกขัดสีฉวีวรรณ แม้กระทั่งในวันที่พระราชบัญญัติยังไม่ได้จบออกมาลงประกาศในราชกิจจาฯ อย่างน้อย 2 ท่อนนี้ดี
แต่ท่อนที่ 3 เวลานี้มันเกิดผลพลอยได้ที่ไม่ได้ตั้งใจกันไว้คือ ถ้าเรื่องนี้นํามาสู่การคิดว่าไล่วิธีการคณะกรรมการชุดใหญ่เต็มไปหมดนั้น มันอาจจะยิ่งทําให้ล่าช้า เรามีวิธีคิดใหม่ ๆ ที่มันแหวกแนวไหม? ซึ่งความแหวกแนวนั้นนี่เองที่ทําให้เกิดความหวังอีกด้านหนึ่งของเรื่องการปฏิรูประบบราชการ ทําให้เกิดความรู้สึกว่าเราอาจจะได้เครื่องมือใหม่ ๆ ในทางนิติบัญญัติ หรือไม่นิติบัญญัติก็ได้…
ซึ่งเรื่องนี้สามารถทําได้โดยไม่ต้องรอพระราชบัญญัติ เช่น การเอากลไกทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้ในนโยบาย ไม่ใช่ในกฎหมาย ซึ่งกรณีตัวอย่างก็มีได้ เช่นการที่บอกว่าถ้าหากแปลงนาไหนไม่เกิดรอยเผาในปีนั้น ๆ ก็จะได้รับสิทธิในเรื่องการประกันราคาข้าวเปลือกในตอนปลาย แต่ถ้าใครมีรอยไหม้เท่าไหร่ ก็มาหักลดลงไปตามสัดส่วนของรอยไหม้นั้น ซึ่งเห็นไหมไม่ต้องมีกฎหมาย แต่ถ้าหน่วยใดก็ตามในระบบราชการไทยฝ่ายบริหาร ที่บอกว่าทําหน้าที่ในเรื่องการประกันราคาข้าวเปลือกให้อยู่นั้น เขาประกาศแบบนี้ มันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในสนามทันที
หรือ BOI ประกาศบอกว่าใครที่ไปลงทุนทํากิจการในการรับซื้อฟาง ก็จะได้สิทธิประโยชน์ อย่าปล่อยให้มันอยู่ในนาเลย เพราะทิ้งไว้ในนาเดี๋ยวก็จุดไฟเผา หรือแม้กระทั่งการจิ้มลงไปจากกระทรวงพลังงาน บอกว่ากําหนดให้ต้องไม่เห็นรอยไหม้ของชีวมวลอยู่รอบโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกต่อไป โดยในเมื่อเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ก็ต้องไปหาชีวมวลเศษไม้ เศษหญ้า เศษผักอะไรต่าง ๆ มาเผาอยู่แล้ว ทําไมไม่ไปซื้อพวกฟาง พวกใบไม้ที่อยู่รอบ ๆ ตัวมาใช้ ทําไมมันยังปล่อยให้เกิดรอยไหม้อยู่ แล้วมันขนง่ายด้วย ซึ่งของแบบนี้ไม่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ แค่บอกนโยบายมันก็อาจจะเกิดขึ้นได้…
คำถามที่ 3
ท่านคิดว่ามาตรการและกลไกทางกฎหมายใด มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า กลไกที่สําคัญที่สุด ถ้านับเฉพาะเรื่องการเผาในที่โล่ง คือกลไกที่ให้รางวัลแก่ ‘ผู้ไม่เผา’ กลไกที่ให้รางวัลแก่ ‘ผู้ช่วยทําให้ไม่เกิดการเผา’ กลไกที่ให้รางวัลแก่คนที่ไปทําให้เกิด ‘กิจกรรมเชื่อมโยง’ ที่ทําให้คนทั้งนึกจะเผาเลยไม่ต้องเผา หรือที่กําลังเผาแล้วเปลี่ยนใจที่จะไม่เผา
พร้อมยกกรณีตัวอย่าง กลไกเหล่านี้มันเป็นกลไกที่ทําให้คนรู้สึกว่า ‘มีรายได้’ ซึ่งถ้าเปลี่ยนให้เขาได้รายได้ มันก็ชดเชย แลกกับการที่ไม่มีคนต้องบาดเจ็บล้มตาย หรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม คิดว่าคุ้มกัน แม้กระทั่งการที่จะกําหนดพื้นที่ที่เราเห็นแล้วในดาวเทียมมา 20 ปี ว่าตรงนี้เผาซ้ำซากเหลือเกิน พูดยังไงก็ไม่เข้าหูกัน ขีดตารางเลยไหม…ว่าใครจะรับผิดชอบตรงนั้น แล้วถ้าผ่านฤดูนั้นไปได้โดยไม่มีเผาเลย หรือมีรอยน้อยกว่า 5% 10% มารับรางวัลไปเลย
ทั้งนี้ ไม่ใช่ให้งบไปเพื่อจะไปดับไฟ เพราะเรื่องมันดับไฟให้งบไปเท่าไหร่ก็เอาไม่อยู่ เพราะว่ามันอยู่ในที่ลึกที่ไกลเดินทางยาก แต่ถ้าให้เขาไปเฝ้าเลย เฝ้าให้มันไม่เกิด…คนจุดมีอยู่น่าจะนับตัวกันได้ มีไม่ถึงแสนคนแน่ เพราะจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมันก็หลักแสน
เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราสามารถทําให้เปลี่ยน ‘พรานผู้จุด’ กลายเป็น ‘พรานผู้เฝ้า’ ไม่ให้เกิดไฟแล้วเขาได้รายรับเทียบเท่ากับที่เคยไปจุด และไม่มีคดี มีแต่ใบยกย่อง หนังสือรับรอง เขาก็น่าจะสบายใจกว่าที่จะทําอย่างนั้น
หรือการที่จะให้ความรู้ อย่างมีคนอ่านดาวเทียมเป็น แล้วเอามาอธิบายเป็นภาษาที่ชาวบ้านฟังรู้เรื่อง ถ้าอ่านเป็นภาษาราชการคนก็อ่านไม่รู้อีก แต่ถ้าอ่านระดับชาติ คนในแต่ละพื้นที่บอกว่าทําไมอากาศวันนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่เธออ่าน ซึ่งถ้าอย่างงั้นก็แบ่งภาคไหม…เหนือตอนบน เหนือตอนล่าง อีสานตอนบน อีสานตอนล่าง สร้าง ‘นักอ่าน’ ขึ้นมา แล้วก็รายงานเป็นประจําทุกวัน
รวมทั้งสามารถบอกด้วยว่าอัตราการระบายลมของแต่ละวันใน 3-4 วันข้างหน้านั้นจะเป็นยังไง การชิงเผาจะได้สามารถบริหารจัดการได้ แล้วใครจะเป็นคนจัดคิวให้การเผานั้นมันออกมาแล้วมันระบายฝุ่นไปได้ มันก็จะได้เกิดขึ้น และเรื่องนี้ยังให้ความร่วมมือไปกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะเขาก็อยากจะได้ข้อมูลแบบนี้เหมือนกัน เขาก็อยากจะระบายลมของเขา และอยากจะช่วยทําให้ลดการเผาในบ้านเขาเหมือนกัน เพราะสุขภาพชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อมของเขาก็สําคัญเช่นกัน เพียงแต่เขาอาจจะไม่มีเทคโนโลยี วิทยาการ และความเชี่ยวชาญ หรือไม่มีแม้กระทั่งกฎหมาย ตลอดจนกระทั่งผู้ที่จะอ่านดาวเทียม ซึ่งถ้าเราทําแล้วเชื่อมกับเขาด้วย คิดว่าได้ทั้งมิตร ทั้งสุขภาพ และก็ได้พลังในการทํางานร่วมมือภาคประชาสังคมที่ดี
คำถามที่ 4
ประเด็นอื่น ๆ ที่มีความประสงค์อยากจะแนะนำเพิ่มเติม นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ข้อเสนอยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นเรื่อง ‘การสื่อสาร’ ซึ่งภาษาราชการในยุคน้ำท่วมปี 54 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าภาษาราชการคุยกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง…และภาษากฎหมายยิ่งไปกันใหญ่ เพราะภาษากฎหมายยากกว่าภาษาราชการ การมีร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ยังไงก็เป็นภาษากฎหมาย และถูกใช้ด้วยระบบราชการ ต้องแปลภาษาเหล่านี้ให้ได้ มาสู่ภาษาที่เป็นทั้งความหวัง เป็นทั้งเครื่องมือในการทําให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตัดสินใจกล้าที่จะลงทุน หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเขาเอง จากการเป็นผู้สร้างมลพิษ กลายเป็นผู้ช่วยแก้มลพิษ แล้วก็ทําให้รู้สึกว่าคนเมืองต้องสนใจคนต่างจังหวัด เพราะเมื่อคนต่างจังหวัดเผา ควันมันมาถึงคนเมือง คนเมืองมีพลังมากกว่าในทางเศรษฐศาสตร์ และทางธุรกิจ ช่วยกันส่งเสริมพลังนั้นไปไหม อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของงบประมาณแผ่นดินท่าเดียว คนเมืองอยากจะได้อากาศสะอาด เพราะคนเมืองเองแม้เขาไม่เผา ก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศในเมืองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนเมืองมาช่วยกันเถอะ
"เงินที่มีในระบบต่าง ๆ เช่น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, บริษัทขนาดใหญ่, กิจการอันเกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิง, ขยะ และสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อหรือผู้เก็บออก ก็ล้วนแต่เป็นกลุ่มที่มีพลังที่จะช่วยทําให้ปัญหาที่มันเคยเชื่อมโยงกันทั้งหมดนี้ มันถูกหลอมรวมเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และถ้าทําเช่นนั้นได้พระราชบัญญัติอาจจะมีผลน้อยมากก็ได้ แต่การมีพระราชบัญญัติไม่ได้เป็นเครื่องมือหรือการันตีที่จะบอกว่า…แล้วมันจะดีขึ้นเองเลย" นายวีระศักดิ์ ทิ้งท้าย