ร่วมวงสนทนาที่ สำนักงาน IUCN (เอเซีย)
วันนี้ (7 มกราคม 2568) ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมวงสนทนาที่ สำนักงาน IUCN (เอเซีย) ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่เคลื่อนไหวในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อระดมความคิดเกี่ยวกับเรื่องปัจจัยจำเป็นที่จะทำให้เกิดพื้นที่ 30×30 เกิดขึ้นให้ได้ทันเวลา
ก่อนที่วงจรทางชีววิทยาทางธรรมชาติจะขาดสะบั้นลง
ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพันธุกรรมในพืช ในสัตว์ ในแมลง ฯลฯ ซึ่งห่วงโซ่สารพัดที่ควบคุมกันและกันในธรรมชาติเสียสมดุลอย่างร้ายแรงได้ และหลายความโยงใยในนิเวศนั้น มนุษย์ก็ยังแยกแยะได้ไม่ครบ การสูญพันธุ์ไปของพืช หรือสัตว์ใดในพื้นที่ใด อาจหมายถึงการล้มลงอย่างระเนระนาดของรับบใดหรือหลายระบบแทบจะในทันทีได้ เช่นถ้าผค้งหายไป การผสมเกสรติดดอกออกผลของพืชอาหารของโลกก็จะพังทลายตามมาเป็นวงกว้าง
แล้วแนวทาง 30×30 คืออะไร
จากรายงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ชี้ว่าทั่วโลกปกป้องพื้นที่ทางบกและน่านน้ำในประเทศประมาณ 17% และพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งน้อยกว่า 8% ดังนั้นคำมั่นสัญญา 30×30 จึงมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการปกป้องพื้นที่ทางธรรมชาติเพิ่มขึ้น เช่น สวนสาธารณะ, ทะเล, ป่าไม้ และพื้นที่รกร้างว่างเปล่า (wilderness)ให้ได้เพิ่มถึง30%ของโลก ทั้งบนบก ในทะเล ให้ได้ก่อนถึงปี2030
ข้อมูลขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) พื้นที่คุ้มครอง หมายถึง พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนของพื้นดิน หรือมหาสมุทรที่จะได้รับการอนุรักษ์ในระยะยาว เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพอันอุดมสมบูรณ์, ผลประโยชน์ทางธรรมชาติที่ได้รับ และคุณค่าทางวัฒนธรรม...