ขยะทางแก้ที่ไม่เอาแต่แขยง ตอนที่ 2 ขยะในสายตานักกฏหมายของไทย
โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา
สรุปความจากตอนที่1
การจำแนกขยะเป็นของที่เผาได้กับเผาไม่ได้ยังมีเงื่อนไขก่อนจะใช้ประโยชน์ได้อีกเหมือนกัน เพราะการเผามีได้หลายแบบ แต่ที่แน่ๆ คือควรต้องเผาแบบปิด และมีการจัดการกับสารพิษที่เกิดจากการเผาให้ดี บางระบบออกแบบดีถึงขนาดสามารถดึงก๊าซมีเทนในบ่อหมักเก็บขยะก่อนเผาใส่ไปเป็นเชื้อเพลิงในการเผาขยะ โดยแทบไม่ต้องซื้อเชื้อเพลิงเข้ามาใช้ในโรงเผาเลย เว้นแต่กรณีปิดซ่อมบำรุงแล้วต้องเริ่มจุดไฟเพื่อการเผาใหม่ บางเตาเป็นการให้ความร้อนแก่ขยะในถังแรงดันสูง คือขยะไม่โดนเปลวเพลิงเลย และไม่มีออกซิเจนเลย ผลที่ได้มาอาจเป็นถ่านบ้าง เป็นน้ำมันบ้าง เป็นก๊าซบ้าง แม้ไม่มากแต่ก็ใช้เป็นเชื้อเพลิงเผาต่อๆไปหรือมีหน่วยมารับซื้อถ่าน ซื้อน้ำมันนั้นออกไปอีกที แต่ละวิธี มีเงื่อนไขของมัน และสิ่งที่ต้องปรับแต่งเรียนรู้จากการลองผิดถูกในแต่ละพื้นที่ต่างกัน ใครจะเลือกแบบไหน ก็คงต้องรู้ให้ทันกับเทคนิคนั้นมากพอเมื่อเทียบกับเทคนิคอื่น ๆ
สมัยหนึ่ง ผู้บริหารของไทยบินออกไปดูงานโรงไฟฟ้าพลังงานขยะในต่างแดนกันเป็นแฟชั่น แต่ในที่สุดการฝังกลบก็ยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งไม่น่าจะไปแบบนี้ได้แล้ว
ไม่ใช่เพราะการเผาดีหรือไม่ดีแต่เพราะนโยบายว่าจะเอายังไงกับขยะมักจะไม่ตกผลึก เพราะขยะเป็นปัญหาที่มีผลประโยชน์ ตั้งแต่การจ้างรถขยะไปจัดเก็บ การขนไปฝังกลบ จนถึงการกำจัดด้วยวิธีเผาและถ้าตัดสินใจจะเผา ก็มีเงื่อนไขว่าจะยอมใช้งบเท่าไหร่และรัฐจะทำเองหรือจะให้เอกชนลงทุน เพราะการเผามีหลายราคา แน่นอนว่าเผาแบบถูก ๆ ก็จะได้ผลลบข้างเคียงที่เยอะมาก
กรุงเทพมหานครประสบความสำเร็จผ่านประสบการณ์จัดการเผาขยะด้วยการให้เอกชนลงทุนทำโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่หนองแขมขนาด 500 ตัน/วัน ด้วยเตาเผาแบบปิด แต่เคล็ดความสำเร็จด้านการออกแบบเชิงระบบสำคัญกว่าทุกอย่าง เพราะนอกจากจะไม่ให้สารไดออกซินและฝุ่นกรดหลุดรอดออกมาแล้วยังสามารถดึงเอาความร้อนที่เหลือจากการผลิตไฟฟ้ากลับมาเข้าบ่อหมักขยะสดที่รอเข้าเตาเผาอีก มีการดูดก๊าซมีเทนที่เป็นผลของการย่อยสลายตามธรรมชาติของขยะจากบ่อหมักขยะที่เป็นบ่อลึกขนาดตึก 7 ชั้น มาเป็นเชื้อในการเผาในห้องเผา
ผมไปสำรวจตรวจเยี่ยมชมระบบถึงที่โรงเผาขยะนี้มาเองจึงพอจะพูดได้ว่า แบบนี้น่าเรียนรู้ใช้เป็นแบบอย่างครับ ผลสำเร็จนี้กำลังขยับไปสู่การเตรียมโรงไฟฟ้าพลังขยะที่ขนาด 1,500ตัน/วัน อีก 2 โรง โรงนึงที่อ่อนนุช อีกโรงที่สายไหม เพื่อขยะไม่ต้องเดินทางไกล และลดความเสี่ยงที่วันหนึ่งบ่อขยะนอกเมืองจะถูกต้าน เพราะไม่มีชาวบ้านที่ไหนสบายใจที่ขยะจากที่อื่นจะมาฝังใกล้ที่อยู่ของตัว
วิธีจำแนกวิธีที่ 2 คือการแบ่งขยะตามความเป็นพิษ
แต่ขยะเมืองไทยไม่ค่อยถูกคัดแยกมาตั้งแต่ต้นทาง การจำแนกว่าอะไรเป็นอันตรายหรือไม่ในภายหลังจึงแทบจะทำไม่ได้
ดังนั้นการจำแนกวิธีที่2 นี้จึงยังไม่ค่อยช่วยเรา แต่ช่วยเตือนให้ระวังว่าในกองขยะมีโอกาสเจอขยะพิษได้เสมอ
วิธีจำแนกที่ 3 คือแบ่งตามแหล่งที่มา เช่น จากครัวเรือน จากข้างทาง จากโรงงาน จากการกสิกรรม จากการก่อสร้าง ฯลฯ แต่เนื่องจากการรวบรวมมาโดยรถเก็บขยะเป็นการกวาดรวมใส่กระบะท้ายรถมา การจำแนกวิธีนี้จึงไม่เคยเวิร์คสำหรับเมืองไทยอีกเช่นกัน
วิธีจำแนกแบบที่ 4 คือดูว่าย่อยสลายง่ายหรือยาก
ส่วนจำแนกวิธีที่ 5 คือดูว่ารีไซเคิลได้หรือไม่ได้ อันนี้ทันสมัยแน่และน่าจะเป็นทางออก เพียงแต่ต้องใช้ความรู้ ความชำนาญเป็นลำดับขั้นพอประมาณ ซึ่งเดี๋ยวจะว่ากันต่อในตอนต่อ ๆ ไป แต่ตามสายตาของกฏหมายไทยเรา คนเขียนกฏหมายดูจะแบ่งขยะเป็น หลายหลากประเภทจนจำแทบไม่ไหวครับ
1. มูลฝอยทั่วไป หมายถึง เศษกระดาษ เศษผ้า เศษอาหาร เศษสินค้า เศษวัตถุ ถุงพลาสติก ภาชนะที่ใส่อาหาร เถ้า มูลสัตว์ ซากสัตว์ หรือสิ่งอื่นใดที่เก็บกวาดจากถนน ตลาด ที่เลี้ยงสัตว์หรือที่อื่น (กฏกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป2560)
2. มูลฝอยติดเชื้อ หมายถึง มูลฝอยที่มีปริมาณเชื้อโรคปะปนอยู่ในระดับที่เข้มข้นซึ่งถ้าสัมผัสหรือใกล้ชิดกับมูลฝอยนั้นแล้วสามารถทำให้เกิดโรคได้ (กฏกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ2545)
3. มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน หมายถึง วัตถุหรือสิ่งปนเปื้อนที่มีคุณสมบัติเป็นสารพิษ สารไวไฟ สารออกซิไดซ์ สารเปอร์ออกไซด์ สารระคายเคือง สารกัดกร่อน สารที่เกิดปฏิกิริยาได้ง่าย สารที่เกิดระเบิดได้ สารที่ทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม สารหรือสิ่งอื่นใดที่อาจก่อหรือมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สินหรือสิ่งแวดล้อม (กฏกระทรวงว่าด้วยการจัดการมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน2563)
4. ของเสียอันตรายตามกฏหมายโรงงานหมายถึงสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนสารอันตรายหรือมีคุณสมบัติที่เป็นอันตรายตามที่กำหนดท้ายประกาศ ตามพรบ.โรงงาน
5. ซากยานยนต์ อันรวมไปถึงซากพาหนะทุกประเภทและชิ้นส่วนของพาหนะด้วย
6. สิ่งปฏิกูล (กฏกระทรวง ตามพรบ.สาธารณสุข เรื่อง สุขลักษณะการจัดการสิ่งปฏิกูล2561 และ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม การกำจัดสิ่งปฏิกูลวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว 2548 )
7.น้ำชะมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน หมายถึงของเหลวที่ไหลชะผ่านหรือของเหลวที่ไหลออกมาจากมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชนซึ่งอาจประกอบด้วยสารละลายหรือสารแขวนลอยผสมอยู่ (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2560)
ประเทศไทยยังไม่มีกฏหมายที่ออกแบบมาเรื่องการป้องกันหรือลดขยะจากต้นทางในตอนผลิต เช่นกำหนดให้การผลิตบรรจุภัณฑ์ต้องแสดงสี หรือมีสัญลักษณ์บางอย่างให้ผู้บริโภค"รู้" ได้ง่าย ว่าส่วนไหนของบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ ส่วนไหนที่รีไซเคิลไม่ได้อีกแล้ว และต้องให้ทำอะไรกับวัสดุหรือซากผลิตภัณฑ์เหล่านั้น
ขยะมูลฝอยถูกเอ่ยถึงใน พรบ.การสาธารณสุขฉบับ 2535 และฉบับ2550 (มีรมว. สาธารณสุขเป็นผู้รักษาการ) เพราะมองว่าขยะขัดหลักการเรื่องสุขอนามัยและอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อ นอกจากนี้เราก็มี พรบ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ2535 (มีรมว. ทรัพยากรธรรมชาติฯ รักษาการ) เพราะมองว่าขยะเป็นสิ่งที่จะรุกรานสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ
และเรามีพรบ.วัตถุอันตราย2535 (มีรมว.6กระทรวงร่วมกันควบคุมฝ่ายเลขาของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้รมว.อุตสาหกรรมเป็นผู้ออกกฏกระทรวงตามกฏหมายนี้ แต่ไม่มีตรงไหนบอกตรงๆว่ารัฐมนตรีคนไหนรักษาการให้เป็นไปตามกฏหมายฉบับนี้เหมือนที่ระบุในกฏหมายฉบับอื่นๆ)
เพราะในกระบวนการอุตสาหกรรมมักมีการใช้สารและวัสดุอะไรปนเปกันมากมายและกฏหมายก็มองว่าผู้ประกอบกิจการที่ขนเอาวัสดุและสารสารพัดมาใช้งานก็พึงต้องรับผิดชอบดูแลมันตอนจะไม่ใช้มันหรือตอนใช้มันเสร็จแล้ว
นอกจากนี้ไทยเราก็มี กฏหมายที่มองขยะว่าเป็นของไม่น่าดู อย่างพรบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองฉบับ 2535 แต่ฉบับ 2560 เพิ่มทัศนะใหม่เข้าไปในการมองขยะว่าเป็นเรื่องการจัดการ (มีรมว.มหาดไทยและรมว.สาธารณสุขรักษาการ)
ผมมีข้อสังเกตว่า กฏหมายแม่บทเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ จะออกมาในสมัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รุ่นปี2535 คือสมัยนายกอานันท์ และถ้าเป็นฉบับปรับปรุง ก็จะเป็น2550หรือ2560 ซึ่งก็เป็นช่วงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อีกเช่นกัน ทำไมกฏหมายระดับพระราชบัญญัติจึงไม่ค่อยคลอดออกมาได้ในสภาปกติก็ยังไม่แน่ใจ อันนี้คงต้องสังเกตกันต่อไปว่าการเมืองของสิ่งแวดล้อม และการเมืองของขยะมีปัจจัยอะไรประกอบกันบ้าง
ขอจบบทความเรื่องขยะ กับกฏหมายไว้เท่านี้ก่อน ไว้ในบทความซีรี่ย์ขยะตอนที่3 ผมจะเล่าถึงหมวดขยะติดเชื้อและขยะอันตรายครับ
ที่มา
-------------------------------------------------------------------------
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา
#weerasakorg