ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ป่าเมืองกาญจน์ ตำนานตะวันตกกับโทลเวย์สู่ทะเลอันดามัน

จบจากทริปปั่นจักรยานสานสัมพันธ์ 2 แผ่นดินที่ชายแดนไทย-กัมพูชา สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมร่วมคณะของ ศาสตราจารย์ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปชายแดนไทย -เมียนมาร์ ที่สุดปลายภาคตะวันตกของไทยทางจังหวัดกาญจนบุรี ที่ด่านเจดีย์สามองค์ ครับ

สิ่งแรกที่น่าประทับใจในการเดินทางครั้งนี้คือ ป่าหน้าฝนนั้นเขียวชุ่มฉ่ำดีงามมาก สายหมอกมีให้เห็นไกล ๆ ตลอดวัน ความชื้นที่ป่าสะสมไว้แล้วคายน้ำทางปากใบทำให้มีไอน้ำหนาแน่นในอากาศ แสงแดดไม่แรง และมีฝนพรำๆแทบทุกบ่ายเย็น ช่วยให้อุณหภูมิระหว่างเดินทาง สบายมากๆ

ข้อสังเกตที่สองคือ ย่านนี้มีประวัติศาสตร์และสตอรี่น่ารู้เยอะมาก ตั้งแต่แนวการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก รอยเลื่อนแผ่นดินไหว การเคลื่อนตัวของวัฒนธรรมขอมที่มาเชื่อมกับอารยธรรมพุทธที่ย่านปราสาทเมืองสิงห์ ที่กาญจนบุรี ที่นี่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรมมอญที่ต่อเนื่องมาแต่ดั้งเดิม แม้จนบัดนี้ ก็ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าเจดีย์3องค์ขนาดย่อมๆนี้ เริ่มสร้างโดยผู้ใด สร้างทำไม และสร้างด้วยการเพียงแค่จะกองหินเอาไว้เป็นหมุดหมายเฉยๆหรือจะกองไว้เพื่อมุ่งให้เป็นอะไรก็ไม่ชัด

ช่องทางผ่านเทือกเขาตะนาวศรีจุดนี้ เคยถูกระบุในจดหมายเหตุของจีนว่า ในสมัยราชวงศ์ฮั่น พศ.663 มีนักเดินทางจากกรีกและโรมัน เดินทางทางเรือจากอินเดียแล้วมาขึ้นบกทางตอนใต้ของพม่าในปัจจุบัน เดินเท้าลัดเลาะผ่านช่องเขาที่ต่อมาเรียกว่าด่านเจดีย์สามองค์ แล้วจึงหาเรือจ้างที่แม่น้ำแม่กลอง ล่องไปปากอ่าวไทย จากนั้นจึงขึ้นสำเภาไปถึงเมืองจีนจนได้

นับเป็นการยืนยันความพยายามเชื่อมโลกตะวันตกกับโลกตะวันออกโดยเลี่ยงช่องแคบมะละกา และผ่านดินแดนสุวรรณภูมิทางบกที่นี่

ในคราวที่ผมไปประชุมเสวนาขององค์การท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ UNWTO ในยุโรป นักสืบค้นประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษผู้บรรยายในวันนั้นระบุด้วยว่า เขาขอนับการเดินเท้าข้ามดินแดนย่านนี้ของนักเดินทางทั้งจากจีนและจากตะวันตกที่ผ่านชุมพร ระนอง หรือผ่านราชบุรี กาญจนบุรีเพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างอันดามันกับอ่าวไทยว่า เป็น หนึ่งใน The Lost Silk Road อย่างหนึ่งทีเดียว

ส่วนในยุคที่ราชอาณาจักรสยามกับราชอาณาจักรหงสาวดีในพม่ามีสงครามกันต่อเนื่องนานนับศตวรรษ บันทึกการเดินทัพของทั้งสองฝ่าย ได้ระบุถึงการใช้เส้นทางทัพผ่านด่านเจดีย์สามองค์บ่อยที่สุด แม้จะมีช่องทางอื่นให้เลือกใช้เดินทัพหลายทาง

ที่นี่จึงน่าค้นคว้าศึกษาลงไปในพื้นที่อีกมาก

ในสมัยรัชกาลที่5 ก็มีเรื่องราวการเดินเท้าของชาวอังกฤษเชื่อมเส้นทางเดินลัดเลาะจากอินเดียมายังเมืองไทยป่านด่านเจดีย์สามองค์นี้อีกเช่นกัน

ที่บริเวณด่านเจดีย์สามองค์นี่ยังมีรางรถไฟเก่าหลงเหลือบางส่วน ในฐานะที่เป็นหนึ่งในเส้นทางรถไฟสายมรณะอันเป็นยุทธศาสตร์การเคลื่อนกำลังสมัยที่กองทัพญี่ปุ่นพยายามมุ่งไปยึดพม่าในสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อหวังจะไปต่อเพื่อขับไล่อังกฤษที่ครองอินเดียอยู่ วันที่เราไป ผมคะเนด้วยสายตา ไม้หมอนของรางรถไฟส่วนใหญ่ที่จุดต่อเขตแดนไทย-เมียนมาร์ดูจะถูกใครต่อใครรื้อไปทำฟืนหมดแล้ว มีบ้านพักมีร้านค้าเล็กๆสร้างคร่อมทางรถไฟเสียเลยก็มี แต่เข้าใจว่านั่นคงเป็นเขตแดนฝ่ายเมียนมาร์ แล้วกระมัง

ทริปคราวนี้ของผม นั่งรถกันนานน่าดูแม้แล่นในเขตจังหวัดเดียว ผมจึงลองไล่ข้อมูลด้านขนาดของกาญจนบุรี พบว่าที่นี่เป็นจังหวัดขนาดใหญ่อันดับ3 รองจากนครราชสีมาและเชียงใหม่เท่านั้น แต่จำนวนประชากรยังนับเป็นลำดับที่25ของประเทศ ด้วยว่ากาญจนบุรีมีอุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่หลายแห่ง ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรผืนเดียวก็ขนาดใหญ่และได้รับความคุ้มครองอย่างดี จึงทำให้ไม่มีถนนเชื่อมระหว่างจังหวัดกาญจนบุรีกับจังหวัดตาก แม้จะมีอาณาเขตติดกันน่าจะนับร้อยๆกิโลเมตร

ดังนั้น ป่าผืนนี้ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพที่ถนอมตัวไว้รอให้โลกได้เรียนรู้อีกแยะแน่นอน….มีคุณค่ามากๆ

ส่วนสถานที่ที่เปิดให้เที่ยวและมีชื่อเสียงโด่งดังมานานยิ่งของกาญจนบุรีคือ บรรดาน้ำตกงดงามขนาดใหญ่ มีถ้ำตามป่าที่น่าค้นหา (แถมเคยมีตำนานเรื่องที่ซ่อนทองคำและทรัพย์สินของกองทัพญี่ปุ่นให้คนฮือฮากันเป็นช่วงๆ)

ป่ากาญจนบุรีมีสถานะเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญหลายสาย กาญจนบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับวันพักผ่อน ที่นักทัศนาจรจากภาคกลางและแม้แต่คนเดินทางข้ามภาคก็ชอบแวะ ปัจจุบันมีชาวต่างชาติมาเยือนกาญจนบุรีหนาตาขึ้นเรื่อยๆ เท่าที่สังเกตตอนเดินขึ้นไปชมน้ำตก ผมเห็นชาวอินเดียและตะวันออกกลางหลายๆกลุ่มสวนลงมาก่อนกลุ่มฝรั่ง ซึ่งสมัยก่อนแทบไม่เห็น

อนึ่ง สถานที่ที่ผมอยากขอเอ่ยถึงอีกอย่างคือประสบการณ์เมืองกาญจน์แนวโหด มัน ฮาของบรรดาของนักศึกษาวิชาทหารหรือนักเรียนรด.ไทย ซึ่งมักจะได้เล่าขานผ่านรุ่นต่อรุ่น

ใช่ครับ
ตำนานศูนย์ฝึกวิชาทหารที่เขาชนไก่ ซึ่งชายไทยในวัยการศึกษาจำนวนมากเคยมาสัมผัสกาญจนบุรีแล้วทั้งนั้น มีทั้งที่มาในชั้นมัธยมปลายและมาในขณะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย

ผมสอบถามจากอดีตผู้บังคับบัญชาหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนที่รู้จัก จึงทราบว่า ถ้าใครเรียนรด.ในจังหวัดภาคกลาง ยังไงก่อนจบรด.ปี3 ก็ต้องได้มาค้างแรมและเข้าฝึกที่เขาชนไก่ (ส่วนรด.ที่เรียนตามภาคอื่นก็มีสถานที่ฝึกของภาคนั้นๆไป ) และในการจะจบรด.ปี5 ก่อนจะได้ติดยศว่าที่ร้อยตรี ยังไงๆก็ต้องมาฝึกที่เขาชนไก่เท่านั้น ไม่ว่าจะเรียนรด.ที่ภาคใต้ เหนือหรืออีสาน ซึ่งหลังๆมานี้รด.หญิงมีปริมาณมากขึ้นอย่างน่าสนใจ

การฝึกภาคสนามจึงสร้างตำนานอันเข้มข้นของผู้มาฝึกได้เอากลับไปแซวกันเสมอ

สำหรับนักชิม ที่นี่มีชื่อเรื่องความเป็นเมืองอาหารป่าอร่อย ปลาน้ำจืดรสเด็ด และบ่อยครั้งที่คนที่อื่นจะนึกว่าคนพื้นถิ่นที่กาญจนบุรีพูดไทยเสียงเหน่อ แต่ที่จริง ว่ากันว่าสำเนียงนี้และสำเนียงชาวสุพรรณนั้นมีความสัมพันธ์กับสำเนียงภาษาไทยดั้งเดิมอย่างมาก

ที่นี่มีท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เดินผ่านเข้ามาจากทะเลอันดามันของเมียนมาร์ จึงนับว่ามีจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่นานาชาติต้องบันทึกไว้เสมอ

ที่นี่มีวัดป่าและวัตรปฏิบัติที่เชื่อมสัมพันธ์3วัฒนธรรมที่ มอญ-ไทย-กะเหรี่ยงที่สะพานไม้คลาสสิคต้นน้ำแควน้อย มีการบูรณะหลายหน แต่เป็นที่ชื่นชอบของผู้มาเยือน ด้วยว่าสะพานแห่งศรัทธานี้มีเอกลักษณ์ไปเรียบร้อยแล้ว

สะพานมอญ เป็นสะพานไม้ยาว470 เมตรที่หลวงพ่ออุตตมะให้สร้างขึ้น เพื่อเชื่อมคนไทย คนมอญ และคนกะเหรี่ยง ทั้งเชื่อมใจ เชื่อมกายให้ไปมาหาสู่ อยู่กันอย่างสันติสุข จนถึงทุกวันนี้ โดยมีศาสนาพุทธ วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจของชนทุกกลุ่ม ที่แม้แตกต่างกันแต่ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างดี

กาญจนบุรีมีเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่ง ทำให้มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ให้ทัศนียภาพแปลกตา ตั้งแต่เกาะกลางน้ำจืดที่เดิมคือเนินเขาขนาดย่อมแต่ถูกน้ำท่วมหลังเขื่อนปิดกั้นการไหลของน้ำ โบสถ์วัดมอญ โบสถ์วัดไทยและ อาคารโรงเรียนถูกน้ำท่วมหลายแห่งจนกลายเป็น Unseen และภาพจำสำหรับนักท่องเที่ยวในช่วงน้ำลดบ้าง น้ำหลากบ้าง

คณะของเราได้จังหวะ จึงทั้งล่องเรือไปกราบพระในโบสถ์จมน้ำหรือที่ถูกน้ำล้อม จากนั้นรุ่งเช้าตรู่ก็พากันหาโสร่งมอญมาสวมเพื่อร่วมทำบุญใส่บาตรพระจากวัดมอญที่ใกล้ๆย่านสะพานไม้คลาสสิค

ใส่บาตรเสร็จ คณะเราเดินสวนกับหลายมิตรรักแฟนคลับจากหลากที่ที่เดินทางไกลมาพักผ่อนและสัมผัสความน่าหลงไหลของกาญจนบุรีบนสะพาน มีการทักทายกันไปมาอย่างอบอุ่นและมีไมตรี มีทีมคุณหมอและบุคลากรการแพทย์จากจันทบุรีคณะใหญ่ มีกลุ่มครูอาจารย์จากภาคใต้ มีคนกรุงเทพปริมณฑลไม่ขาดสาย

ระหว่างยืนชมวิวเขา แปลกใจที่เจ้าตูบที่เดินสวนมาเงียบๆ จู่ๆก็เอาแก้มมาซบที่ขากางเกงผม ทำตัวดราม่าหลับตาพริ้ม

ผมอดไม่ได้จึงต้องหยุดนั่งลงยองๆปลอบประโลมใจลูบหลังลูบไหล่กันพักใหญ่

ก่อนแม่ค้าชาวมอญจะเดินผ่านมา ส่งสายตาเอ็นดูผมแล้วเปรยขึ้นเบาๆเป็นสำเนียงไทยแบบไม่ชัดว่า ‘’โอ้ย..เจ้านี่ขี้อ้อนหลอกกินนักท่องเที่ยวทั้งวันแหละจ้า…พวกชั้นก็มีอะไรแบ่งมันทั้งนั้นแหละ…’’ว่าแล้วก็เดินเนิบๆข้ามสะพานไป

เป็นการแอนตี้บทซึ้งกลางสะพานได้แบบมีคนอมยิ้มกันทั่ว

จากนั้นคณะของเราออกเดินทางสำรวจไปต่ออีกเต็มๆวัน

ทะเลสาปน้ำจืดขนาดใหญ่ก่อให้เกิดการลงทุนสร้างกิจกรรมเรือนนอนแพ และการล่องแพล่องเรือเที่ยว มีทั้งแพทานอาหารจนถึงล่องแพเปียก ที่ผู้นั่งแพมีเรือลากไปรอบๆสามารถโดดลงน้ำแล้วไต่กลับขึ้นมานั่งบนแพได้เวลาร้อนแดด

วันหนึ่งข้างหน้า ผมหวังว่าที่นี่จะนิยมลงทุนใช้เรือพลังไฟฟ้าแทน เพราะจะช่วยลดมลพิษทางเสียงและลดคราบน้ำมันที่จะลงน้ำได้มาก แถมค่าบำรุงค่าโสหุ้ยก็ถูกกว่าเรือน้ำมันมาก

และจะได้เปลี่ยนวัฒนธรรมส่งเสียงเพลงลั่นคุ้งน้ำกลางป่าเป็นทุกคนสนใจจะฟังเสียงนกเสียงไพรแห่งธรรมชาติกันดีกว่า

ประเด็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับการใช้ที่ดินริมป่า ริมน้ำและบนผืนน้ำเหล่านี้คงจะยังเป็นข้อวิเคราะห์กันได้ไปอีกนาน แต่ไม่ว่าอย่างไร ธุรกิจรองรับการท่องเที่ยวก็ได้ไหลเข้าไปถึง’’ทุกจุด’’ที่ถนนเข้าถึงเสียแล้ว

สิ่งที่ต้องพยายามระดมสร้าง คือ’’สร้างทรัพยากรบุคคลประจำถิ่น’’ที่เข้าใจ เทคนิคการบริหารกติกาและหรือสร้างธรรมนูญพื้นที่ที่จะทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจ ยอมรับและร่วมปฏิบัติในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนให้เป็น ทั้งดิน ทั้งป่า ลำธาร แม่น้ำ ทะเลสาป สัตว์ป่า พืชป่า เพราะเรื่องนี้ต้องใช้ความรอบรู้ ความช่างสังเกต ความมีศิลปะการสื่อสาร สามารถสร้างความร่วมมือที่แยบคายแต่ได้พลังจากทุกฝ่าย ทั้งจากอำนาจรัฐ อำนาจวัด อำนาจท้องถิ่น และอำนาจ’’ป่า’’

พื้นที่ไกลปืนเที่ยงอย่างนี้ มีแต่ปาก หรือป้ายรณรงค์ คงไม่พอ

ผมมองว่า การหลั่งไหลเข้าของทุนที่ผ่านๆมายังเทียบไม่ได้กับที่กำลังจะมีต่อไปในไม่กี่ปีข้างหน้า และไม่มีอะไรจะไปหยุดยั้งได้ง่ายๆ

ในไม่ช้า เส้นทางทางหลวงพิเศษหรือโทลเวย์ยกระดับที่เชื่อมระหว่างย่านบางใหญ่ปลายถนนรัตนาธิเบศร์ คือจากสุดสายรถไฟฟ้าสีม่วง จากจังหวัดนนทบุรี จะเชื่อมถนนลอยฟ้าสู่จังหวัดกาญจนบุรี แล้วแล่นต่อจนสุดชายแดนไทยที่บ้านพุน้ำร้อน จังหวัด กาญจนบุรี ทางด่วนนี้จะทำให้สามารถแล่นรถจากเมืองหลวงถึงชายแดนไทยกับเมียนมาร์ได้ในเวลาเพียง 50 นาที ไม่ใช่เกือบ 5 หรือ 6 ชั่วโมงอย่างอดีตอีกต่อไป

และจากชายแดนที่พุน้ำร้อน ก็จะเหลือระยะทางเพียง200กว่ากิโลเมตรเศษก็ถึงชายทะเลอันดามันของเมียนมาร์แล้ว

อย่านึกเฉพาะรถฝั่งไทยไปอันดามันนะครับ

ต้องนึกถึงขบวนสินค้าและนักลงทุนระดับสากลที่จะเดินทางจากทะเลอันดามันมาผ่านระบบนิเวศน์ของกาญจนบุรีด้วย

สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้คณะเดินทางของเราตระหนักในศักยภาพและสีสรรอันเต็มเปี่ยมของกาญจนบุรี

แต่ขณะเดียวกัน เราก็ตระหนักถึงความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง รวดเร็วต่อนิเวศน์อันสมบูรณ์ของผืนป่าตะวันตกของแผ่นดินไทย อย่างที่ยังไม่เคยมีมาก่อนตลอดนับพันปีเช่นกัน

ไม่มีทางอื่นใดสำคัญเท่ากับต้องสร้าง คน…คุณภาพ
ที่เข้าใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เร็วและมากเท่าที่จะทำได้จริงๆครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา