ส่องนก-ชมผีเสื้อ : ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ป่าแก่งกระจาน (2)
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
เนื่องจากความเดิมตอนแรกของบทความนี้ ปูพื้นเรื่องนกเอาไว้หลากหลายพอสมควรแล้ว ดังนั้นเนื้อหาบทความตอนนี้จะขอเล่าเรื่องทริปเดินป่าส่องนั่นเจอนี่ที่แก่งกระจานเป็นสาระหลักนะครับ
การดูนกและชมผีเสื้อนั้น ต้องตื่นแต่เช้ามืด เพราะปกตินกจะออกหากินแต่เช้า การดูนกตอนเช้าๆจะช่วยให้เราไม่ร้อนนักสำหรับพาคนไปส่องนกด้วย
ส่วนการชมผีเสื้อนั้นควรไปถึงแหล่งอย่างย่านดินโป่งตอนสายๆ เพราะผีเสื้อจะยังต้องรอให้แดดส่องสักพัก เพื่อให้ความชื้นตามปีกของตัวเองแห้งดีพอเสียหน่อย
การชมนกที่ดี ควรพิจารณาใส่เสื้อผ้าที่ไม่ฉูดฉาดเกินไป เพราะจะสร้างความวุ่นวายใจให้สัตว์ป่าและนกบางกลุ่มได้
ถ้าเจอรังนก พยายามส่องจากที่ไกลๆออกมาสักนิด เพราะพ่อแม่นกจะระแวงระวัง ขืนรู้ว่ามีอะไรมาจ้องมอง เค้าจะทิ้งรังพาเอาลูกนกหิวตายเปล่าๆ
เรื่องกลิ่นน้ำหอม กลิ่นยาสูบ หรือในบางกรณีทายากันยุงก็อาจรบกวนต่อแมลงที่เป็นมิตร อย่างผีเสื้อและรวมถึงนกด้วย
ถ้ามีผู้นำชมที่มีความรู้เกี่ยวกับ ต้นไม้ในป่า และนก จะดีมาก เพราะต้นไม้บางประเภทจะดึงดูดนกบางสายพันธุ์ให้มาทำรังบ้าง มากินลูกไม้ตามฤดูกาลบ้าง
ทำให้ผู้ร่วมคณะใช้เวลาได้กระชับขึ้น เดินไม่ต้องนานก็ได้เห็นได้รู้ในสิ่งที่ควรรู้
การดูนก ถ้าให้ดีควรมีสมุดจด เพราะชื่อและลักษณะของนกมีความแตกต่างในรายละเอียดสารพัน ตัวผู้มักจะสีสันสวยกว่าตัวเมีย เพราะธรรมชาติสร้างมาให้เป็นหน้าที่ของตัวผู้ในการเกี้ยวพาราสี
รังของนกก็มีความแตกต่างกันตามสายพันธุ์ การอยู่เดี่ยว อยู่คู่หรืออยู่เป็นฝูงก็เป็นลักษณะของสายพันธุ์ บ้างสร้างเอง บ้างเข้าโพรงไม้
วันนี้เราใช้เส้นทางเดินดูนกจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มุ่งขึ้นสู่พะเนินทุ่ง(กม.30)เหมือนจะมุ่งไปน้ำตกทอทิพย์(กม36)แต่ไปไม่ถึงหรอกครับ แค่เดินเท้าผ่านถึงลำธารที่ตัดขวางทางอยู่สัก 2ลำธารคือยังเพิ่งไปได้กิโลเดียวก็หมดเวลาร่วม3-4ชั่วโมง และตาก็ชักจะลายกันแล้ว!!
ทำไมน่ะหรือ….
ก็เพราะที่นี่นกเยอะ หลากพันธุ์มาก
เดินไม่กี่ก้าว ถ้าฟังเสียงเป็น จะบอกได้ว่ามีนกอะไรอยู่ในระยะที่จะส่องกล้องเงยขึ้นหรือจะก้มส่องใต้พุ่มในทิศทางไหน
คณะเราออกเดินไปบนทางถนนคอนกรีตในป่านี่แหละ เพราะเรามีเด็กเยาวชนและแม่ๆมากันหลายบ้านมาก ถ้าไม่ใช่นักเดินป่า เราจะไม่พยายามพาเดินย่ำลงไปในทางดิน เพราะบนดินเหล่านั้น ถ้าเดินไม่ระวังจะเผลอเหยียบโดนแมลงและพืชพรรณไม้ป่าเล็กๆให้ต้องล้มตายโดยไม่จำเป็น ตั้งแต่ดอกไม้ป่า เห็ด รังมด ไปจนถึงแมงมุมที่กางใยอยู่ วันนี้เราเจอแมงมุมใยทองตัวย่อม (ซึ่งสำหรับเรา ถ้าเจอตัวนี้ในบ้านคงกรี๊ดกันอุตลุด)
อาจารย์เข็มทอง ซึ่งนำชมอธิบายว่า เจ้าแมงมุมนี้จับนกตัวเล็กๆกินได้ด้วยนะ เพราะใยของมันเหนียวกว่าแมงมุมธรรมดา
เห็นมั้ยล่ะ ยืนๆเดินๆทีละไม่กี่ก้าวบนถนนซีเมนต์ ก็มีให้ส่องขึ้นลงบนกิ่งก้านข้างทางกันตาลายแล้ว ถ้าดูเป็น ฟังเป็น สังเกตเป็น และวิเคราะห์เป็นซึ่งเป็นคุณสมบัติที่มนุษย์ควรมีกับทุกอย่างในชีวิต
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้รับยกย่องว่าเป็นแหล่งดูนกที่มีชื่อเสียง
เพราะมีให้เห็นตัวกันไม่ยาก
นกแรกๆที่เราได้เห็นเลยคือ ‘’นกเงือก’’!!
อาจารย์เข็มทองบอกว่า อีกชื่อของมันคือนกแก๊ก เพราะเสียงมันร้องจะดังแกร๊กแกร๊ก ยาวๆ ดังๆ บางคนบอกว่าคล้ายเสียงหัวเราะลั่นป่า ตัวที่เราพบมีทั้งตัวผู้ตัวเมียเกาะกิ่งอยู่บนต้นไม้สูงใหญ่
สักพักมันถลากางปีกใหญ่ออกบินไปรวมกับฝูง แล้วส่งเสียงเกรียวกราว
เด็กๆของกลุ่มตื่นเต้นส่องกล้องตาม
ที่นี่สมบูรณ์จริงแน่ เพราะนกเงือกเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของป่า
มันถูกล่าเพราะมีพวกชอบสะสมทั้งชนิดจับเป็นและจับตาย (เพียงเพราะเชื่อว่าทำเป็นเครื่องรางของขลังได้ดี…เฮ้อ!)กะโหลกสีสดของมันมีจะงอยใหญ่เบ้อเริ่ม ปกติมันกินลูกไม้และสัตว์เล็กๆเป็นอาหาร เช่นหนูหรือกิ้งก่า
สักพัก อาจารย์เข็มทองละสายตาเงยแแบบแหงนคอ บอกว่าที่ลอยตัวเหิรฟ้าเหนือศรีษะเราคือ ‘’นกเงือกกาฮัง’’ตัวใหญ่คู่นึง ชาวบ้านเรียก’’นกกก’’
นกเงือกเป็นสัตว์รักคู่แท้แบบผัวเดียวเมียเดียวตลอดชีวิต มันจึงเป็นสัญลักษณ์ของความรักแท้ และด้วยความใหญ่ของมันๆจึงกินผลไม้ขนาดใหญ่ๆได้ นี่เองที่ทำมห้มันเป็นนักปลูกป่ามือฉมัง
ทุกๆ13กุมภา จึงเป็นวันรักนกเงือก
‘’เอ๊ะ…’’ เสียงน้องอีกคนร้องขึ้นเมื่อส่ายกล้องส่องทางไกลที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีให้ยืมคล้องคอว่า ‘’อุ๊ย…มีลิงด้วย’’
ผู้นำชมมองตามแล้วแนะนำเสียงเบาๆว่า นั่นคือ’’ค่างแว่น ‘’ พวกมันมีหางยาว อยู่บนคบไม้ห่างจากเราไม่ไกล ถ้าไม่จ้องสังเกตจริงๆจะแทบไม่เห็น จนกว่ามันจะขยับตัว
สักพักมีเสียงแปลกๆดังอยู่ไม่ไกล ผู้นำชมฟังปุ๊บ พูดออกมาว่า นี่คือเสียงนก’’โพระดก’’
ภรรยาผมและพวกแม่ๆหันกันขวับ คงเพราะเคยได้อ่านเจอในวรรณคดีสมัยเรียนหนังสือ แต่ไม่มีใครเคยเห็นตัวจริง
นกโพระดกตัวย่อมๆ ป้อมๆ ร้องเสียงดังสนั่น ฟังเหมือนนกหวีดมีลูกกลมระรัวอยู่ข้าง มีสีสันสดใสเขียวๆแดงๆที่ใบหน้า
อาจารย์ดุ่ย (ดร.เข็มทอง วางขาตั้งกล้องส่องนกแบบตาเดียวแล้วให้ทุกคนเดินเข้าแถวมาส่องนกแต่ละสายพันธุ์อย่างใจเย็น ทุกคนส่องแล้วจะถอยออกเงียบๆให้คนถัดๆไปมีโอกาสมาส่องบ้าง
ส่องได้สัก 5-6 คน นกก็อาจบินจากคบไม้เดิมไปเกาะที่อื่น อาจารย์ดุ่ยก็จะย้ายมุมกล้องบนขาตั้งให้ได้ส่องตัวอื่นเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
บางช่วง เราเห็นทีมนักดูนกซุ่มเงียบเป็นกลุ่ม เล็งรังนกที่แขวนตัวท้าทายอยู่ปลายล่างของต้นไม้ ย้อยลงมาเป็นรังใหญ่ ห้อยตัวเหนือถนนที่รถแล่นในป่านั่นแหละ
ระยะสูงขนาดกระโดดเอื้อมอย่างนักบาสก็คงถึง… บางคนไปมองจากด้านใต้รังเลยถูกพี่ๆนักดูนกต้องเดินเข้ามาเตือนว่าอย่าทำอย่างนั้น เพราะแม่นกรอจะเอาอาหารเข้ารังไปป้อนลูกน้อย ถ้ามาอยู่ใกล้เกินไป แม่นกจะไม่กล้าเข้ารัง
ก่อนหน้านั้น เราเจอ’’นกกวัก’’แม่ลูกเดินข้ามถนนกันอยู่ไกลออกไป ท่าทางการเดินเหมือนย่อง น่าขบขันอย่างกับหนังการ์ตูน
บางคนบอกว่าเป็นนกที่มีลีลาในการเดินแบบโยกคอโยกเข่า
เด็กๆถามว่า ถ้ารถแล่นมาแล้วมันจะหลบทันมั้ย
คำตอบจากผู้นำชมคือ “ไม่ครับ…เพราะมันไม่รู้จักจังหวะของรถยนต์’’
เป็นอันว่า มีนกสารพัดถูกพาหนะสารพันที่แล่นในเขตป่าหรือใกล้ป่าตายไปอย่างไม่รู้เรื่องอยู่เยอะทีเดียว นี่คือที่มาที่อุทยานเขาไม่อยากให้ใช้ความเร็วในการขับขี่ยวดยานในหรือใกล้ป่า เรื่องกลัวชนเก้ง ทับลิง หรือกระทิง วัวป่าก็เรื่องนึง แต่ต้องคำนึงถึงตัวเงินตัวทอง อีเห็น นกป่า หรือแม้แต่งูที่ต้องเดินทางและมีเหตุให้ต้องข้ามถนนด้วย
ก่อนหน้านั้น อาจารย์ดุ่ยร้องชวนให้มองตามว่า ‘’…นั่นพังพอนกำลังข้ามถนน…’’ ผมหันตามทันที แต่มองไม่เห็นตัวเสียแล้ว ครั้นหันกลับมามองหน้าอาจารย์ดุ่ย แกก็ร้องว่า’’…อ้าว…ข้ามไปอีกตัว!…’’ ผมหันขวับตามไปอีก
ไม่เห็นอะไรอยู่ดี
555…สงสัยเราจะแก่แล้วล่ะ อาจารย์ดุ่ยหันไปฟังและวิเคราะห์เสียงร้องถัดไป บอกว่านั่นเสียง นก’’แอ่นพง’’
แอ่นพงเป็นนกเล็กๆตัวป้อมๆ เกาะกัน 3-5ตัวบนสายไฟฟ้าแถวนั้น มันเข้าโจมตีนกอื่นที่ตัวโตกว่ามัน ขับไล่ให้ไปนอกอาณาเขตของพวกมัน
อีกแป๊บ ส่องเจอ’’นกกระแตแต้แว้ด’’ เจ้านี่ขายาว ปากแหลมยาวข้างหูขาวเป็นแถบ มันกินลูกกุ้งลูกปลา วิ่งเร็ว ตอนบินเวลาเช้าๆมีเสียงร้อง แต้แว้ดแต้แว้ดตามชื่อ พวกเราขำกันคิกคัก
จากนั้นอาจารย์ดุ่ยพาชมสารพัดนก เอ่ยสารพัดชื่อรัวเป็นเสียงข้าวโพดคั่ว มีทั้งเอ่ยชื่อฝรั่ง ชื่อไทยสารพัด ผมจำไม่ไหว จดก็ไม่ทัน ได้แต่เอียงคอมองตามพวกเด็กๆไปเพลินๆ
ท้องฟ้ามีแสงแต่ไม่มีแดดโดนเรา เพราะเราได้อาศัยเงาจากภูเขาช่วยบังบางส่วน บางมุมก็มีร่มไม้ปรกให้ ลมภูเขาโชยมาเป็นช่วงๆ ให้ความรู้สึกสบายตัวแม้อากาศจะร้อน
สักพัก น้องนักเรียนบางคนก็ฉายแสงออกมา
น้อง’’คิน’’ น่าจะเรียนระดับม.3หรือ4 สามารถแยกแยะผีเสื้อสารพัดสายพันธุ์ออกมาได้ราวกับแฟนพันธุ์แท้!
มองก้มลงไป บอกได้ว่านั่นตัวผู้ นี่ตัวเมีย นี่ชื่อละตินว่าอย่างนี้ นั่นชื่อภาษาอังกฤษว่าอย่างนั้น มันชอบดอกอะไร แต่นี่ยังไม่ใช่ดอกที่ว่า พวกเราอ้าปากหวอ…น้องยังคงชี้ต่อ เจ้านี่ผีเสื้อตัวเล็กแต่หายากมากนะครับ
อีกตัวที่เราวิ่งไล่ถ่ายภาพเพราะสีเหลืองสวยเข้ม น้องคินบอกอันนั้นมีเเยะ หาไม่ยาก มีเจอทั่วไปในไทยครับ
บ๊ะ…เจอนักกีฏวิทยาด้านผีเสื้อวัยเยาว์เข้าให้แล้ว…คุณแม่น้องคินอมยิ้มอยู่ห่างๆอธิบายว่าลูกไม่ติดเกม ไม่นอนดึก และชอบศึกษาเรื่องผีเสื้อเป็นงานอดิเรก
น้องคินสะพายกล้องถ่ายรูปมาเอง ในกล้องมีไฟล์ภาพผีเสื้อที่น้องถ่ายไว้จากที่ต่างๆ ตั้งแต่สวนหลังบ้านที่กรุงเทพ ไปจนสารพัดป่าที่น้องขอให้คุณพ่อคุณแม่พาไป
ผมกับภรรยาและลูกมองหน้าเบิกคิ้วเข้าหากันว่าเราเจออัจฉริยะด้านผีเสื้อเข้าให้แล้วในวันนี้ น้องคินบอกว่าผีเสื้อตรงนี้ยังไม่มาก น้องเชื่อว่าแถวลำธารข้างหน้าจะเยอะกว่ามาก ซึ่งก็จริง และน้องบอกว่าขอเดินลงในลำธารแห้งเพื่อสำรวจเพิ่มเติม แม่ของน้องพยักหน้าอนุญาต เด็กๆเลยตามลงไป จึงได้พบว่า
ลำธารที่แห้งนั้นมีปูซ่อนอยู่ใต้ก้อนหิน มีปลาพลวงใหญ่น้อยเป็นฝูงที่ยังติดค้างในแอ่งตื้นๆที่กำลังจะเหือดแห้ง พวกมันทั้งหมดคงต้องตายในไม่ช้า ถ้าฝนไม่ตกมาตามฤดูกาล
มีตาน้ำรวยรินออกมานิดหน่อยแต่น่าจะไม่ทันการลดลงของแอ่งนี้ เรามองหน้ากันอย่างปลงๆ วัฏจักรของชีวิตธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เราแทรกแซงไม่ไหวแน่
ภาวะโลกร้อน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และเอลนินโญ่ในแปซิฟิกฝั่งเราทำให้เราทั้งภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คงต้องเตรียมใจรับสภาพภัยแล้งที่จะยาวนานราว 3 ปีกว่าจะวนกลับมาสู่ปีเปียกของ ลานินญ่าอีกหน
นกต่างๆเริ่มบินแยกย้ายไปตามวิถีของพวกมัน
ผีเสื้อปรากฏตัวมากขึ้น ผู้คนทั้งนักท่องเที่ยวและนักดูนกเดินสวนกันไปมา
อุทยานแห่งชาติอนุญาตให้รถกระบะของวิสาหกิจชุมชนมาแล่นรับส่งนักท่องเที่ยวขึ้นเขาเป็นช่วงๆ เพื่อระบายความแออัด สร้างรายได้ให้ชุมชนที่อยู่ใกล้ป่าและลดปริมาณยานพาหนะภายนอกที่จะมาแล่นในภูเขา สนนราคาหัวละ 20บาท ซึ่งก็พอช่วยให้คนมีอายุและคนอุ้มลูกเล็ก และสตรีมีครรภ์พอได้เข้าไปถึงจุดที่มีโป่งดินเค็มซึ่งอยู่ลึกเข้าไปสักนิด ผีเสื้อจะมาตอมกันหนาตา เพื่อเติมเกลือแร่ที่หาไม่ได้จากดอกไม้ให้แก่ตัวมันเอง
อาจารย์ดุ่ยเห็นมีผีเสื้อบินมาเกาะเรา อาจารย์เลยสาธิตว่าแทนที่จะใช้มือปัดหรือเอานิ้วไปดันให้มันไต่ขึ้นเพื่อพาออกไปส่ง ให้ใช้หลังนิ้วมือเราคีบปีกมันจะปลอดภัยสำหรับปีกผีเสื้อมากกว่า เพราะถ้าใช้นิ้วมือเราจับ นิ้วเรามีต่อมไขมัน ซึ่งจะทำให้เกล็ดขนๆของปีกได้รับความเสียหายได้ง่าย
และที่สำคัญ …อย่าจับที่ลำตัวมันเชียว เพราะมันหายใจทางรูเล็กๆข้างๆลำตัว การจับที่ลำตัวจึงเสมือนอุดจมูกหายใจของผีเสื้อ
แต่ดีสุดคือ อย่าไปแตะมันจะดีที่สุด เดี๋ยวมันก็บินไปเองเเหละ
วันนั้นเราทุกคนกลับมาจุดตั้งต้นที่ชั้นบนของอาคารที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อสรุปบทเรียนจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกันมา
อาจารย์ณรงค์ วงษ์พาณิช จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีผู้ให้ยืมกล้องส่องทางไกลมาคล้องคอจนครบทุกคนมาบรรยายสรุปสั้นๆ ต่อด้วยผู้บริหารของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย จบแล้วเราแยกย้ายกันกลับที่พักพร้อมข้อคิดเตือนตนเองในการเข้าป่า เที่ยวชมธรรมชาติว่า
‘’…เราจะไม่ทิ้งอะไรไว้นอกจากรอยเท้า…
เราจะไม่เอาอะไรกลับบ้าน..นอกจากสำนึก..ความทรงจำและภาพถ่าย…’’
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา