ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

จบยุค Global Warming เพราะ’’ยุค  Global Boiling ’’มาถึงแล้ว!!

 

 

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : จบยุค Global Warming เพราะ’’ยุค  Global Boiling ’’มาถึงแล้ว!!

เมื่อไม่ถึง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา เลขาธิการสหประชาชาติ ออกแถลงประโยคที่น่าตกใจข้างต้นให้ชาวโลกรับรู้ผ่านคณะสื่อมวลชน   หลังจากคณะนักวิทยาศาสตร์สากลจากทวีปต่างๆทั่วโลกยืนยันตรงกันแล้วว่า เดือนกรกฎาคมของปี 2023 นี้ สถานีตรวจวัดอุณหภูมิในทุกทวีปราว 2หมื่นสถานี และจากทุ่นตรวจวัดอุณหภูมิในมหาสมุทรต่างๆทั่วโลก ตลอดจนจากดาวเทียมตรวจอากาศที่บันทึกอุณหภูมิผิวโลกตามจุดต่างๆยืนยันว่า กรกฎาคมปีนี้เป็นช่วงฤดูร้อนที่’’ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ของมนุษยชาติ’’แล้ว นับแต่มนุษย์เคยมีการบันทึกมา!

นายแอนโธนิโอ กุยเตอเรส เลขาธิการสหประชาชาติชี้ว่า ทั้งหมดนี้ เกิดจากการกระทำของมนุษย์ การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เรารอให้ใครอื่นทำการแก้ไขให้เราไม่ได้อีกแล้ว เพราะสิ่งที่บรรดาผู้นำของภาคส่วนต่างๆที่เคยรับปากจะทำนั่นเปลี่ยนนี่ ก็ยังไปได้ไม่ไกลพอ และไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นเพียงพอ ต่อสภาวะภูมิอากาศของโลก

นักวิทยาศาสตร์ที่ติดตามผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ในสาขาต่างๆได้ชี้ไปในทางเดียวกันว่า รังสีความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ถูกก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ปลดปล่อยออกมา ได้กักเอาความร้อนที่ควรสะท้อนกลับออกไปสู่อวกาศให้คงค้างไว้บนชั้นบรรยากาศโลกมากขึ้นเรื่อยๆ จนสภาพภูมิอากาศของโลกปั่นป่วน (Climate Crisis)

ปีนี้ มหาสมุทรใหญ่ของโลกได้เข้าสู่ช่วงเอลนินโญ่ และคลื่นความร้อนจัดก็ขยับขยายไปท่วมทับยุโรปและอเมริกาเหนือ จนไล่ดับไฟป่ากันไม่ทัน มีผู้คนที่เจ็บป่วยเพราะร่างกายระบายความร้อนไม่ทันจนถึงกับเสียชีวิตมากขึ้นอีกด้วย

จากยุคที่เรียกว่า ‘’ภาวะโลกร้อน’’(Global Warming)ที่มีกราฟแสดงการไต่ขึ้นมาเรื่อยๆของอุณหภูมิในพื้นที่ต่างๆ ทีละขีด ซึ่งมนุษย์เคยแค่บ่นๆว่าหน้าร้อนปีนี้ ดูจะร้อนกว่าปีก่อนหน้า

แต่บัดนี้ เราได้เข้าถึงจุดที่จะเริ่มได้เห็นความเปลี่ยนไปของสรรพสิ่งในระบบนิเวศน์ในระดับที่ประวัติศาสตร์มนุษย์ยังไม่เคยประสบเจอ

เหมือนไม้กระดกได้เริ่มกระดิกพลิกเปลี่ยนไปอีกข้างของน้ำหนักแล้วนั่นแหละ มันคืออุณหภูมิของคลื่นความร้อนที่จะทำให้พืชบางระดับ บางสายพันธุ์หยุดเจริญเติบโต หยุดผลิดอกออกผล ซึ่งแปลว่าเข้าสู่ภาวะไม่สืบทอดสายพันธุ์ของตัวมันเอง แปลว่ามันจะแก่ตัวตายไปแบบไม่มีทายาท

มันคือรูปแบบภูมิอากาศที่จะผิดเพี้ยนไปจนกลายเป็นความปกติใหม่ ที่อาจจะมีวันร้ายมากกว่าวันอากาศดี มันคือการมาถึงของภัยธรรมชาติถี่ๆในสารพัดบริเวณ

มันคืออุณหภูมิที่จะทำให้แมลงหลายชนิด อพยพ หรือขยายเขตทำมาหากินรุกเข้าไปในดินแดนใหม่ๆที่เคยหนาวเย็นจนมันเคยทนไม่ได้ แปลว่าเชื้อจุลินทรีย์หลายอย่าง เชื้อโรคหลายชนิดจะเดินทางได้ไกลขึ้น โรคระบาดเขตร้อนจะลามเข้าไประบาดในเขตที่เคยหนาวเย็นได้ถนัดขึ้น

น้ำแข็งที่เคยคลุมพื้นดินบางเขตจะละลายจนเปิดออกปล่อยให้เชื้อราหรือเชื้อโรคแปลกๆที่เคยหายสาบสูญไปนับหมื่นนับแสนปีผุดขึ้นมาขยายพันธุ์ได้ใหม่

สัตว์น้ำที่เคยหากินกันอยู่ที่ผิวน้ำในระดับตื้น จำต้องมุดลงน้ำลึกบ่อยขึ้น ทั้งที่จะมีสารอาหารให้มันเลือกกินได้น้อยลง เพราะอุณหภูมิที่ผิวน้ำ ร้อนเกินกว่าที่มันจะทนอยู่กันได้ หลายพันธุ์จะสาบสูญ

การประมงทั้งน้ำจืด และประมงทะเลทั่วโลกจะประสบปัญหาการหาสัตว์น้ำได้ยากยิ่งขึ้น

ในเมื่อโปรตีนแหล่งใหญ่ที่สุดที่มนุษย์พึ่งพามาตลอดกว่าพันปีคือสัตว์น้ำ ผลของมันจึงนำไปสู่ภาวะการขาดโปรตีนต่อครอบครัวส่วนใหญ่บนโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การปศุสัตว์จะเดือดร้อนเพราะฝนทิ้งช่วง วันฝนมาก็มามากจนท่วมท้นดินถล่ม วันที่ขาดฝนก็แล้งจนไม่มีน้ำมาทำการเกษตรที่เคยปลูกไว้เป็นอาหารเลี้ยงปศุสัตว์

ในขณะที่ปศุสัตว์เองก็เป็นผู้ปล่อยก๊าซที่มีฤทธิ์ร้ายแรงต่อภาวะเรือนกระจกกว่า20เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นั่นคือก๊าซมีเทนจากสัตว์ ปศุสัตว์ที่ขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งคือปัจจัยเร่งการปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว ที่ใช้ทั้งปุ๋ยเคมีและฉีดพ่นสารเคมีป้องกันศัตรูพืชอย่างมากมาย ทำร้ายทั้งผึ้งและผีเสื้อที่มีหน้าที่ผสมเกสรดอกไม้ทั้งโลกให้ผลิดอกออกเป็นผล  พืชไร่เลี้ยงสัตว์นี่เองที่เร่งการบุกรุกทำลายทั้งป่าธรรมชาติและแหล่งน้ำสะอาดตามที่ต่างๆในทุกทวีป

ภาคพลังงานฟอสซิล น้ำมัน ถ่านหิน และการขนส่งสารพัด กองขยะที่หมักหมมรอย่อยสลายมากมาย การผลิตสิ่งทอแบบ Fast Fashion ที่ทำให้สินค้าแฟชั่นตกเทรนต์ไวๆเพื่อให้ผู้คนกลัวเชย หันมาช้อปปิ้งแฟชั่นใหม่ใส่โดยไม่จำเป็น ก็ล้วนมีส่วนเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญ

ภาวะโลกเดือด (Global Boiling)จะทำให้โรคระบาดสัตว์ยิ่งอาละวาดได้มากขึ้น ภูมิคุ้มกันทั้งในสัตว์และคนจะลดลงจากภาวะ ฮีทสโตรก หรือภัยจากคลื่นความร้อนที่มีความชื้นสูงจนเหงื่อไม่ระเหยได้มากขึ้น  ร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะระบายความร้อนไม่ได้ ระบบร่างกายจะอ่อนเพลีย พักผ่อนนอนก็ไม่สนิท กินอาหารก็แทบไม่ลง อวัยวะต่างๆทำงานไม่ได้เหมือนภาวะปกติ

แม้แต่เวลากลางคืน  อากาศในหลายภูมิภาคก็จะร้อนอ้าวจนเกินจะนอนได้

ตะกี้ในสหรัฐ ทำเนียบขาวเร่งออกประกาศมาตรการคุ้มครองแรงงานจากการต้องทนทำงานท่ามกลางคลื่นความร้อน

ความร้อนของผิวมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นจะทำให้เกิดการระเหยของน้ำเร็วขึ้น นำไปสู่ฝนพันปีตกในย่านที่ทิศทางลมพาไป น้ำจึงท่วมท้นในบางจุด และในจุดที่ลมพัดความชื้นเข้าไปไม่ถึงก็จะแล้งอย่างหนักหน่วงและยาวนานขึ้น

ไฟในป่าของพื้นที่เหล่านั้นจะดับยาก และจุดติดง่ายยิ่งขึ้น เพราะอากาศแห้งจัด ภัยแล้งจะทำให้ชาวโลกเร่งกักสายน้ำสารพัดไว้จนน้ำไม่เคลื่อนที่อย่างเดิมๆ ความขัดแย้งแก่งแย่งน้ำดิบจะนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งของมนุษย์ ทั้งข้ามภูมิภาค และข้ามประเทศอย่างง่ายดาย

สงครามจึงปะทุขึ้นได้ง่ายยิ่งกว่าเดิม

อุดมการณ์และรูปแบบการปกครองจะถูกใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีกันไปมาโดยไม่จำเป็นและแก้ไขอะไรไม่ได้

ทางออกที่แท้จริงของเราแต่ละคนคือ

1.การค้นหาความรอบรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อย่างต่อเนื่อง

2.การฝึกฝนทักษะในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองทั้งในการบริโภคและการใช้ชีวิต

3.การชักชวนให้ครอบครัวและชุมชนต่างๆร่วมเปลี่ยนแปลงในสเกลที่กว้างใหญ่ขึ้น สนใจดูแลกันและกันมากขึ้น

ถ้ามนุษย์ในสังคมมีความเข้าใจในระบบนิเวศน์ดีขึ้น ความเห็นต่างจะลดลง เพราะวิทยาศาสตร์จะพาให้เข้าหาความจริง ไม่ใช่ความเห็น

4. รัฐเองก็พึงขจัดการผูกขาดตัดตอน และขยับการเกษตรตลอดจนการอุตสาหกรรมที่ไม่ยั่งยืน ให้ก้าวไปสู่การจัดการที่ยั่งยืน และมีธรรมาภิบาลที่ดีทั้งในระบบรัฐ ระบบสังคม ระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจและระบบคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

5. ประเทศผู้มีรายได้สูง ซึ่งมักมีประวัติในการฉกฉวยทรัพยากรธรรมชาติจากชาติที่อ่อนแอกว่ามาตลอดยุคอุตสาหกรรม คือใน200ปีที่ผ่านมา ต้องช่วยแบกรับค่าใช้จ่าย และถ่ายทอดพลังความเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ชาติที่เปราะบางทั้งหลายต่อภาวะโลกเดือดนี้โดยเร่งด่วน
ไม่ว่าจะเป็นรัฐหมู่เกาะเล็กๆ ที่กำลังจะถูกน้ำทะเลยกระดับเข้าท่วมมิด รัฐที่กำลังขาดแคลนพลังเศรษฐกิจในการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน หรืออย่างน้อยก็มีกองทุนช่วยการเตรียมรับภัยพิบัติทางธรรมชาติให้ได้ประสิทธิภาพขึ้น ไม่ว่าจากน้ำทะเลท่วมเข้าแผ่นดิน น้ำจืดขาด อาหารแพง โรคใหม่ระบาด อากาศหายใจไม่สะดวก หรือภัยจากความร้อนตรงๆ

‘’ภาวะโลกเดือด’’ เริ่มขึ้นแล้ว

อยู่ที่ว่า เราทุกๆคนจะเริ่มจริงจังกับเรื่องนี้ ก่อนเจอวิบากกรรมครั้งใหญ่กันได้ทันหรือไม่ เท่านั้นเอง

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา