สว. มณเฑียร บุญตัน
ผมชอบชวนสนทนาระหว่างทานข้าวเที่ยงที่วุฒิสภากับ อาจารย์มณเทียร เพราะมุมคิด และความรู้ที่ท่านมี เป็นสิ่งที่คนตาดีทั่ว ๆ ไปจะยังไม่ทราบ อาจารย์มณเทียรแม้มีข้อจำกัดในการมองเห็น แต่ไม่มีข้อจำกัดใน การเรียนรู้และถ่ายทอด
อาจารย์บอกว่า ในบรรดาคนตาบอด ๑๐๐ คน อย่างมากอาจจะมีไม่ถึง 10 % ที่จะบอดมืดสนิท ส่วนมากจะเห็นทิศทางของแสงว่ามาจากทางไหน รับทราบว่ามีคนยืนขวางอยู่หรือไม่ แม้อาจจะอ่านเอกสารไม่ได้ หรือไม่ทราบว่าที่ยืนอยู่ข้างหน้าคือใคร แต่พออนุมานได้ว่าเป็นคนร่างเล็กหรือใหญ่ ดังนั้นการมีช่องแสงสว่างธรรมชาติในอาคาร เป็นประโยชน์ต่อท่านและคนตาบอด เพราะทำให้พวกเขาไม่หลงทิศง่ายๆ "การสร้างเพดานอาคารให้สูงก็ทำให้รู้สึกโปร่งโล่ง...' ท่านกล่าว แล้วยิ้ม
ผมถามต่อว่าแล้วทำไมถึงรู้ว่าเพดานสูงหรือต่ำล่ะอาจารย์? อาจารย์มณเทียร ยิ้มกรุ้มกริ่มตอบว่า เราได้ยินเสียงก้องของการสนทนาที่สะท้อนมาแล้วผสมกับความอับทึบ ของเสียงคนเดินด้วยรองเท้า เราพอจะบอกได้ว่าห้องนี้เป็นโถงสูงหรือเตี๋ย และการนั่งประชุมนาน ๆ ในห้องที่เพดานเตี้ย เราจะรู้สึกอึดอัดบ้าง ความคิดจะไม่โลดแล่นว่องไวอย่างวันที่เราได้นั่งในที่ที่ไม่รู้สึกถูกกดทับ!!
ผมวางช้อนส้อมลงเบาๆ พร้อมสังเกตว่าอาจารย์มณเฑียรทานอาหารไม่มีหกเลอะ ท่านบอกว่าท่านถูกฝึกวินัยบนโต๊ะอาหารมาอย่างเคร่งครัด อะไรอยู่ตรงไหนในจาน อะไรอยู่ห่างจานเท่าไหร่ อาจารย์จะกะระยะได้พอดีเสมอ น้องมนผู้ช่วย อาจารย์มานานกว่าสิบๆ ปี ตักอาหารมาวางให้พร้อมบอกว่ามีกับข้าวอะไรบ้าง ท่านก็จะเอื้อมมือไปแตะขอบ แล้วจำไว้ จากนั้นก็บริหารมื้ออาหารไปได้เองจนจบ ขยับถ้วยของหวานเข้ามา ขยับจานที่รวบช้อนส้อมสะอาดเรียบร้อยออกไป
ผมนั่งทานเที่ยงด้วยกันกับท่านบ่อยๆ จนชินตา ในการอภิปรายในสภาของท่าน ท่านก็เป็นศักดิ์เป็นศรีให้สภาทุกครั้ง สาระ ความรู้ ข้อมูล มุมคิด การใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาราชการ ภาษากฎหมาย ลงตัวทุกครั้ง
ท่านเดินทางร่วมกับสารพัดคณะทั้งไกลใกล้ ข้ามประเทศ ในประเทศ แดดร้อน ฝนตก ขึ้นเขาลงห้วยไป ทะเลไม่มีปริบ่น มีแต่รอยยิ้มนิ่มนวล จบการอภิปรายในสภาไม่ว่าในฐานะผู้ตอบคำถาม จากบัลลังก์กรรมาธิการข้างบน หรืออภิปรายเสนอ
จากข้างล่างในฐานะสมาชิก ท่านจะจบด้วยการยกมือไหว้เสมอ พร้อมรอยยิ้มกลายเป็นเอกลักษณ์
ล่าสุดท่านชวนให้ผมไปช่วยสนับสนุนงานท่าน ด้านการต้อนรับแขกต่างประเทศที่เป็นคนตาบอด ในครั้งที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาสหภาพคนตาบอดโลก ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ที่ภูเก็ต
ผมได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์หลาย ๆ อย่างจากอาจารย์มณเทียร จนทำให้ผมและผู้ช่วยของอาจารย์ไปทำหน้าที่ต้อนรับดูแล มาดาม Martine Abel - Willimson ประธานสหภาพคนตาบอดโลกที่บินมาไกลจากนิวซีแลนด์ได้อย่างเข้าอกเข้าใจ และประทับใจงานที่ภูเก็ต ผ่านไปได้อย่างสวยงาม มีคนตาบอดมาจากทั่วเอเชียแปซิฟิกและจากทั่วไทยหลายร้อยคน
ภารกิจของ อาจารย์มณเฑียร ที่เป็นประโยชน์ต่องานสาธารณะของบ้านเมืองมีให้เอ่ยถึงไม่รู้จบ ทั้งงานเขียนเอกสารภาษาอังกฤษรับรางวัล แฟรงค์คลิน ดี รูสเวลให้ประเทศไทยในช่วงปี 2001 การทำ ร่างรายงาน Accesibility for All in Action หรือ AAA ที่เพิ่งเสร็จและรายงานผ่านที่ประชุมใหญ่วุฒิสภาไปถึงห้องประชุม ครม. ในปีนี้ การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาสหภาพคนตาบอดโลกเมื่อราว 10 ปีก่อน ที่ย่านสุขุมวิท ก็ล้วนมีนามของอาจารย์มณเทียรเป็นแกนนำสำคัญยิ่งทั้งนั้นที่จริงภารกิจที่อาจารย์มณเฑียรเพียรทำไว้คงยังมีต่อได้ไปอีกมาก แต่สวรรค์ก็คงอยากให้ท่านได้ขึ้นไปทำภารกิจศักดิ์สิทธิ์แทน ท่านจึงจากพวกเราไปไวกว่าที่ใครๆ จะคาดคิดได้ ด้วยวัยที่เท่ากันเกิดปีเดียวกันกับผม อาจารย์มณฑียรยังมีพลังแขนขาสติปัญญาและพลังศรัทธาที่แรงกล้าที่จะพาสังคมโลก สังคมไทยให้ก้าวไปด้วยกันได้โดยไม่ลืมใครไว้ข้างหลังท่านจากสังขารไปด้วยร่องรอยแห่งสติ ความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ สรรพสัตว์ และสิ่งแวดล้อม
ตลอดจนสมาชิกในครอบครัวอย่างสมศักดิ์ศรียิ่งผมได้เข้ารดน้ำส่งลาครั้งสุดท้ายที่ปลายมือ ด้วยความเคารพยกย่องและอาลัยรัก
"สวัสดีครับ อาจารย์มณเทียร ผมอาจารย์เอ วีระศักดิ์ครับ...".
คำพูดที่ใช้บอกกล่าวกับท่านทุกคราวที่เดินผ่านกันเพื่อให้ท่านอบอุ่นใจว่ามีใครที่รู้จักมาเดินอยู่ใกล้ ๆ จากนี้ไป อาจารย์เดินทางไกล แต่เชื่อได้เลยว่าจะยังคงมีพลังกุศลบารมีอันยิ่งใหญ่ตามคุ้มครองท่านไปเสมอ
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
อดีตเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย