ฝุ่นกับเราคนไทย (ตอนที่#1) ฝุ่นและควันในต่างจังหวัด
โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
อีกไม่เดือนข้างหน้า มีเรื่องใหญ่สองเรื่องที่จะเกิดขึ้น
เรื่องแรก โลกจะได้ทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
เรื่องที่สอง ไทยจะได้พบกับฤดูฝุ่นและควัน ซึ่งอันนี้มาทุกปี !!
คนเมืองเจอฝุ่นที่มาจากกำมะถันในเชื้อเพลิงประเภทดีเซลเป็นส่วนหลัก โดยมีฝุ่นจากการเผาขยะ และเผาชีวมวลในที่โล่งแจ้งซ้ำเป็นดาบที่สอง
คนภูธร เจอฝุ่นควันจากการเผาชีวมวลในพื้นที่เพาะปลูกเป็นหลัก และมีฝุ่นจากกำมะถันตามมาบ้าง ในภาคเหนือมีไฟในป่าเติมเข้าไปอีก ส่วนถ้าเมืองภูธรนั้นรับกระแสลมและความกดอากาศมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะได้รับควันและฝุ่นจากการเผาในที่โล่งแจ้งของการเตรียมแปลงเพาะปลูกจากเพื่อนบ้านนั้นด้วย
สิ่งที่น่าติดรมเพิ่มก็คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แปลงใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้นมีทุนไทยอยู่เบื้องหลังมากแค่ไหน
ย้ายหรือขยายไปปลูกแล้วเผาในประเทศเพื่อนบ้านเสียแล้วหรือไม่
เพราะในอดีต เรามองข้ามประเด็นนี้ ทำให้นึกถึงแต่การเจรจากับรัฐต่อรัฐให้ช่วยลดควันแก่กันหน่อย
แต่ถ้าทุนไทยมีส่วน การตามสะกิดก็จะได้ถูกตัวมากขึ้น
นี่ข้อสังเกตแรก
ข้อสังเกตที่สอง คือ ไฟในป่าลึก 90% มาจากฝีมือคนทั้งนั้น
จะจุดเพราะโกรธ จะจุดเพราะโลภอยากได้เห็ด ได้ล่าสัตว์ป่า หรือจะด้วยเหตุใดก็ตาม แต่ถ้าหากเราใช้ประโยชน์จากบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ๒๕๖๒ ที่เป็นผลงานการปฏิรูป เรื่อง คนอยู่กับป่า ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในยุครัฐบาลก่อนการเลือกตั้งได้ทำไว้สำเร็จ หลังจากที่กี่รัฐบาลย้อนหลังไป40ปี ไม่เคยทำได้
รัฐบาลนี้ก็จะสามารถเร่งออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขให้ราษฏรที่ครอบครองที่ดินที่มีข้อพิพาทกับเขตอุทยาน สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินเหล่านั้นต่อ โดยมีเงื่อนไขที่จะต้องรักษาป่า เป็นมิตรกับป่า เป็นประโยชน์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ แลกกับสิทธิที่จะได้ใช้ที่ดินที่ครอบครองต่อไปได้อีกคราวละไม่เกิน 30 ปี
ถ้ารัฐทำเงื่อนไขให้เปลี่ยนบทบาทของผู้มีข้อพิพาทกับเจ้าหน้าที่และหน่วยผู้เฝ้าป่า กลายมาเป็น"ผู้ทำหน้าที่เฝ้าบำรุงป่า"....ได้ ไม่ถูกคดีขับไล่จับกุม
เราก็น่าจะเหลือไฟป่าที่ถูกจุดด้วยมือมนุษย์ น้อยลง ใช่หรือเปล่า...
ข้อสังเกตที่สาม
ฝุ่นควันจากไฟในป่าหน้าแล้งโดยเฉพาะฤดูหนาวซึ่งยิ่งแห้งมากนั้น มักจะดับยาก เพราะเชื้อเพลิงคือใบไม้แห้งทับถมกองรอหนาหลายชั้นเต็มพื้นไปหมด ต้นไม้ระดับกลางและเถาวัลย์ที่พันลำต้นสูงก็แห้งกรอบพร้อมเป็นเชื้อเพิ่มความสูงให้เปลวไฟ
ที่ใดมีไฟลามติดเป็นกองย่อมทำให้เกิดมวลอากาศร้อนลอยขึ้น เกิดแรงดูดอากาศรอบข้างที่เย็นกว่าให้ไหลเข้าไปแทนที่
ไฟป่าจึงเรียกลมครับ...เพลิงที่เปลวใหญ่ก็ยิ่งดึงลมเข้าหาตัว
ลมใหม่ที่เข้ามาจึงเติมออกซิเจนให้การลามยิ่งไปได้เร็ว
ลมที่เข้ามาจะพัดเอาใบไม้ทั้งที่ติดไฟแล้วและไม่ติดไฟให้ลอยขึ้นกลายเป็นเชื้อไฟและดวงไฟขนาดต่างๆให้ลอยไปตกในที่ใหม่
ถ้าลอยขึ้นสูงก็เผาต้นไม้สูงและลามขึ้นเขา
ถ้าลอยไปตกในหุบในเหวก็เท่ากับส่งไฟลงไปเริ่มเผาในเขตโคนเขาไล่ขึ้นมาใหม่
ที่ควรรู้อีกสองอย่างคือ เมื่อไฟไปตกในร่องหลุมแห้งๆที่เต็มไปด้วยใบไม้แห้งหลายๆชั้น การติดไฟอาจไม่เริ่มจากกองที่อยู่บนผิวพื้น แต่กลับคุ และลามอยู่ใต้ระดับสายตา ซึ่งการดับไฟในพรุหรือแอ่งแห้งๆเหล่านี้ อันตรายต่อเจ้าหน้าที่และจิตอาสาที่พยายามควบคุมไฟป่าอย่างมาก นี่คือไฟที่หลบลงใต้ระดับสายตา บางคนเรียกว่าไฟมุดใต้ดิน
ส่วนไฟที่ลามสูงขึ้นเขาไป ก็จะเผาจนกิ่งไม้ท่อนไม้ต่างๆไหม้หักร่วงแล้วกลิ้งเป็นลูกไฟหมุนตกลงมาตามไหล่เขา ทั้งเผาทั้งทับเอาทุกอย่างที่อยู่ในเส้นทาง รวมทั้งทำอันตรายคนที่กำลังพยายามควบคุมเพลิงด้านล่างซึ่งจะมีที่ให้วิ่งหลบหลีกได้ยากมาก
จะเพราะกำลังยืนอยู่ที่ลาดเอียงบนเขา ยืนอยู่ในซอกในร่องเขา หรืออยู่ในที่มืดมองหาทางหลบก็ไม่เห็น
ปัญหาควัน ปัญหาฝุ่น จึงเป็นปัญหาไฟพุ่งไฟกลิ้งมาคร่าชีวิต ทำร้ายร่างกายของผู้พยายามช่วยสังคมพิทักษ์ป่า ปีละจำนวนไม่น้อยด้วย
ด้วยข้อสังเกตที่สามนี้นี่แหละ ที่ทำให้ต้องคิดเสนอให้จ้างคนตามพื้นที่ต่างๆ ในปีโควิดที่ทำคนตกงาน ให้มาร่วมสร้างแนวกันไฟให้มาก ถ้ามีแนวกันไฟอยู่แล้วก็ควรขยายให้แนวกันไฟกว้างขึ้น ถี่ขึ้น
รวมถึงออกกติกาการลดปริมาณเชื้อไฟในป่าสม่ำเสมอ จะทำโครงการกวาดเก็บใบไม้ตามชายป่าออกมาเพื่อผสมดินเป็นปุ๋ย จำหน่ายจ่ายแจกแก่เกษตรกร หรือจะจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลส่งโรงไฟฟ้าชุมชน เท่าที่พอทำได้
หรือจะทำกิจกรรมเข้าป่าลึกหน่อยเพื่อจัดแบ่งเขตเป็นตารางย่อย จากนั้นจึงเผาเป็นพื้นที่เล็กๆแล้วรีบดับเพื่อจะได้ลดเชื้อไฟจากเศษใบไม้ไม่ให้สะสมไว้มากเกินไป
สิ่งที่ได้ตามต่อๆมาคือทุ่งหญ้าระบัดใบใหม่ ซึ่งจำเป็นต่อกิจกรรมของสัตว์ในป่า และอาจจะได้ทำแอ่งน้ำไว้ในป่าเพิ่มเสียด้วย
ที่จริงวิธีดูแลบำรุงรักษาป่านั้น คนชายป่าเค้ารู้ดีกว่าคนเมืองครับ
แต่ต้องจัดวางระเบียบกติกา กฏเกณฑ์ในแต่ละถิ่น ที่ให้เกียรติ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อดึงเอาเทคนิคและความรู้จากผู้ที่เข้าใจระบบธรรมชาติมาร่วมมีส่วนสนับสนุนและรับผิดชอบมากขึ้น
เพราะที่ผ่านๆมา
เราคนเมืองมักจะสนใจควบคุมไม่ให้มีไฟเกิดในป่าแบบเด็ดขาด พยายามใช้กฏหมายและระบบอำนาจควบคุม เป็นแนวหลัก
แต่กลับไม่ค่อยมีความรู้มากพอเกี่ยวกับธรรมชาติของไฟในป่า
แถมยังไม่ได้ใจจากคนชายป่าเสียอีกด้วย
ข้อสังเกตที่สี่คือเรื่องฝุ่นควันที่มาจากไฟในทุ่ง
เพราะไฟในทุ่งนั้น ยังไงก็ต้องพยายามใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยลดการเผาทำลายตอซัง เพราะเกษตรกรเห็นว่าทำได้ง่ายกว่า ถูกกว่าวิธีอื่น แต่ถ้าสังคมจะให้หยุดใช้วิธีเผาในไร่ สังคมเองก็คงต้องเข้าสนับสนุน ร่วมกับรัฐ ไม่ว่าจะรัฐบาลกลาง หรือรัฐบาลท้องถิ่น และร่วมกับตลาดใช้กลไกราคา และใช้กลไกส่งเสริมการรวมตัวลดการเผาเพื่อเก็บเกี่ยว เช่น การเผาไร่อ้อยเพื่อทำลายหนามใบอ้อย เพียงเพื่อเปิดทางให้แรงงานเข้าตัดอ้อยส่งโรงงานได้สะดวกขึ้น ซึ่งถ้าทำกลไกสนับสนุนด้านราคาและบริหารเวลาทันตามฤดูกาลได้ ก็จะสามารถนำรถตัดอ้อยเข้ามาใช้งานแทนการจ้างคนงานต่างด้าวเข้าตัดอ้อย โดยไม่จำเป็นต้องเผามากมายอย่างเดิมอีก ควันและฝุ่นก็จะน้อยลงมาก
ด้วย 4 ข้อสังเกตข้างต้น ผมจึงนำมาเล่าเสนอให้คนเมืองได้เกิดมุมคิดที่มากกว่าการหวังง่ายๆเพียงว่ารัฐจะใช้กฏหมายไปห้ามเผา แล้วจะได้ผลอย่างที่คิด ราวกับการจุดและดับไฟในเตาแก้สในครัวบ้านของคนเมือง เรื่องใหญ่พอๆกับไฟในป่า ก็คือ "ไฟในใจคน " ที่เรายังไม่สามารถดึงเข้ามาอยู่ในสมการที่จะให้ได้รับประโยชน์ร่วม จากการลดไฟลดควันลดฝุ่น ที่เราบ่นเรากังวลนี่แหละ
-------------------------------------------------------------------------
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา
#weerasak.org