วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ทูตอารยสถาปัตย์ นักสู้ผู้คิดแก้ความเหลื่อมล้ำ (Friendly Design Ambassador)
ผมลงภูเก็ตไปสมทบกับคณะของ คุณกฤษณะ ละไลย ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์ ที่ไปติดตามการพัฒนาทางเท้า ทางลาด ห้องน้ำสาธารณะของภูเก็ต ในมิติด้านการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ เข้าถึงที่จอดรถยนต์ เข้าถึงห้องสุขา เข้าถึงที่พัก ร้านอาหาร เพราะปัจจุบันไทยมีผู้พิการ รวมกับผู้สูงอายุชาวไทยไม่น้อยกว่า 20 % ของจำนวนประชากรแล้ว
ภาพผู้บริหารมาช่วยเข็นรถผู้พิการเป็นภาพน่าอบอุ่น และทำให้ได้ประสบการณ์เวลาที่ต้องผ่านทางเท้าไม่เรียบ มีร่อง มีหลุม มีตะแกรงหรือร่องระบายน้ำขวาง หรือมีเสาบอกทาง เสากล้องวงจรปิด หรือมีถังขยะ ตู้ชุมสายโทรศัพท์ แผงลอยรุกล้ำ หรือการจอดพาหนะกีดขวาง
สิ่งเหล่านี้ คือการเชื่อมประชาชนและผู้พบเห็น…ด้วยความน่าชื่นใจ
ผมสังเกตเห็นสายตาชาวต่างชาติและคนเมืองภูเก็ตที่นั่งรถผ่านแล้วส่งยิ้มมาให้ บ้างก็ยกมือถือขึ้นมาบันทึกภาพ บ้างก็ส่งเสียงทักทายซักถาม
เหล่านี้คือ อีกsoft power ที่ทำให้คนทั่วไปรู้สึกอุ่นใจว่าสังคมไทยยุคใหม่ตื่นตัวต่อเรื่องอย่างนี้
ก่อนสำรวจทางเท้าในเมืองเก่าภูเก็ต คณะเราจัดประชุมกิจกรรมที่ ชั้นสองของอาคารบริการนานาชาติ ศูนย์ประสานการส่งเสริมสุขภาพอันดามัน ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
ผมสังเกตเห็นสุภาพสตรีท่านหนึ่งที่นั่งจัดกล้องไลฟ์สดอยู่ด้านหลังผม แต่เล็งแล้วเหมือนจะไม่มีมือทั้งสองข้าง เดาว่ามุมกล้องก็ไม่ถนัดแน่ ผมจึงไปเรียนเชิญเธอให้มานั่งข้างๆ ผมระหว่างประชุม
คุณวิไลวรรณ ดำนุ้ย สาวผู้พิการคนนี้ มีแขนสองข้างก็จริง แต่เมื่อเลยข้อศอกมาเล็กน้อยก็แทบไม่มีมือหรือนิ้วออกมาอีก..
ส่วนขานั้นแม้มีสองข้าง แต่ข้างขวากลับมีมาเพียงท่อนสั้นๆ พร้อมกับมีนิ้วเท้าสองนิ้ว จึงต้องสวมขาเทียม โดยได้รับสนับสนุนจากมูลนิธิขาเทียม ใน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
แต่วรรณโตมาโดยการฝึกฝนตนเองตั้งแต่เล็ก เพื่อชดเชยสิ่งที่ผู้อื่นมองว่าขาด
วรรณสามารถดูแลตัวเองตั้งแต่แปรงฟัน อาบน้ำ เช็ดตัว ใส่เสื้อผ้า หุงข้าว ทำอาหาร ก่อเตา จัดตารางสอน แบกกระเป๋าไปโรงเรียนที่พัทลุง ในสมัยที่ยังเด็ก ด้วยการเดินเท้าข้ามเขาวันละ 5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดิน 3ชั่วโมงทุกวันเพื่อไปถึงโรงเรียน
ขากลับจากโรงเรียนก็แบบเดิม
ในบางช่วง เธอต้องผ่าฟืน ขนน้ำจากบ่อน้ำมาใช้ในบ้านเอง รีดผ้าด้วยเตาโลหะที่ใส่ถ่านไม้ร้อนๆเข้าไป จนภายหลังจึงได้ใช้เตารีดไฟฟ้า
เธอเล่าเรียนจนจบมัธยมปลาย ตามการศึกษาภาคบังคับ
จากนั้นเข้ากรุงเทพไปเรียนเย็บปักถักร้อยและวิชาการใช้จักรเย็บผ้า เธอสามารถสนเข็มสอดด้ายเอง แม้ไม่มีนิ้ว เธอควบคุมจักรเย็บผ้าได้ ตัดเย็บสอยผ้า ปะชุน ออกแบบเสื้อผ้าได้ จากนั้นก็ลองทำอาชีพอีกหลายอย่าง ทำอาชีพค้าขาย หารายได้เลี้ยงดูตัวเองมาจนปัจจุบันอายุเลยเลข 4 มาเล็กน้อย
รายรับของเธอในการค้าขายต่อวัน คือ หลักหมื่น!!
ใช่ครับ หมื่นบาท
เธอเป็นนักขายออนไลน์ สินค้าขายดีคืออาหารเสริมสุขภาพและโปรตีนผงที่สกัดจากพืช และธรรมชาติ
เธอเป็นไลฟ์โคชด้วย
เธอขับรถไปไหนมาไหนด้วยตนเอง มีใบขับขี่ถูกต้อง และขับรถใหม่ตั้งแต่ยังเป็นป้ายแดงมา5ปีแล้ว
ผมขอนั่งรถไปกับเธอโดยสังเกตว่า เธอไม่ได้ติดอุปกรณ์ดัดแปลงอะไรใส่รถเลย
ทุกอย่างคือของเดิมๆของรถเก๋งปกติที่เรารู้จักกัน
เธอติดแท่นวางโทรศัพท์มือถือที่หน้ารถไว้ เผื่อตั้งจีพีเอสนำทาง เวลาที่จะเดินทางไกลไปในที่ไม่รู้จักคุ้นเคย หรือเวลาขับรถทางไกลข้ามจังหวัดเหมือนเราท่าน
เธอสามารถขับรถไปด้วยรับสายโทรศัพท์เข้าของลูกค้าไปด้วยผ่านหูฟัง ขณะขับรถก็เปิดไฟสัญญาณเลี้ยวซ้ายขวา กดล้อคประตู ใส่สายเข็มขัดนิรภัยเอง ตามกติกาครบถ้วน
https://www.facebook.com/100009061011252/posts/3043450765966927/
สิ่งเดียวที่แตกต่างจากเราท่าน คือ เธอต้องเลื่อนเบาะที่นั่งคนขับไปเกือบชิดพวงมาลัย และตั้งเบาะที่นั่งให้ตรง มีเสริมเบาะรองนั่งด้วยหมอนฟองน้ำเสริมอีกเพียงชิ้นเดียว
ผมนั่งรถที่เธอขับได้อย่างนุ่มสบาย วรรณถอยจอดเข้าช่องในลานจอดรถอย่างคล่องแคล่ว เปิดปิดประตูลงรถเองได้โดยไม่ต้องมีใครช่วย นี่คือ การมีชีวิตอิสระ หรือที่ภาษาสากลเรียกว่า ‘’Independent living ‘’ ก่อนขึ้นรถ ผมช่วยเธอยกลังสินค้าที่หนักพอดูไปใส่ท้ายรถ นั่นคงเป็นสินค้าอาหารเสริมที่เธอกำลังจะะนำไปฝากส่งที่ไปรษณีย์ เธอเป็นคนขนลังเหล่านี้มาใส่ที่เบาะหลังของรถเองทั้งหมด
https://www.facebook.com/100009061011252/videos/750200382678375/
ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ค่อนข้างละเอียดเพราะต้องการให้ผู้อ่านเห็นว่า เรามีผู้พิการที่เป็นทั้งพลเมือง ที่เรียกว่า active citizen เป็นทั้งผู้ประกอบการทางธุรกิจ ที่มีรายได้เพียงพอที่จะดูแลความเป็นอยู่ของตนเองได้ด้วยความสามารถ ความรู้รอบ และมีทักษะในการค้าขาย ใช้เทคโนโลยีเป็น แถมยังมีใจเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมของพื้นที่
วันนี้ เธอวางภารกิจการขับรถเอาสินค้าไปส่งลูกค้าไว้ก่อนเพื่อมาร่วมประชุมและออกสำรวจว่าพื้นที่ต่างๆในภูเก็ตมีอะไรจุดไหนที่ผู้พิการอยากไปเยี่ยมเยือน แต่ขาดทางลาด ขาดห้องน้ำ ขาดป้ายบอก หรือขาดอะไรอื่นๆ
เธอมาช่วยทำหน้าที่เป็นผู้ถือกล้องไลฟ์สดยื่นไม้เซลฟี่ แล้วกดโปรแกรมถ่ายคลิปยิงออกอากาศผ่านเฟซบุ้คให้ภาคีเครือข่ายอารยสถาปัตย์ และแฟนคลับของเธอได้ติดตามรับรู้ ว่าวันนี้มีอะไรน่าสนใจเกิดขึ้นในสังคมของพื้นที่ภูเก็ตที่เธอย้ายภูมิลำเนามาอยู่บ้าง
ทุกคนทึ่งในสมรรถนะของเธอ
แต่นั่นไม่เทียบเท่า ทึ่งในทัศนะ ต่อชีวิต ที่เธอมี ผมชวนคุยระหว่างนั่งรถไปกับวรรณว่า อะไรคือกิจกรรมที่วรรณรู้สึกว่ายาก หรือติดขัดที่สุด
วรรณตอบโดยไม่ต้องคิดว่า…’’ไม่มีค่ะอาจารย์…’’ ‘’หนูก็ทำทุกอย่างเองมาได้ตลอด…’’
ผมนิ่งเงียบไปด้วยความทึ่ง ไม่นึกว่าทัศนคติต่อชีวิตของวรรณจะเป็นบวกและสร้างสรรค์ขนาดนี้ มนุษย์เราไม่มีใครไม่ทุกข์ ไม่มีใครไม่กลัว แต่วรรณสามารถบริหารทั้งอารมณ์และการตอบสนองต่อบทสนทนาได้อย่างมีวุฒิภาวะยิ่ง
ขอคาราวะด้วยความทึ่งต่อสาวร่างเล็ก แต่หัวใจใหญ่ยิ่งท่านนี้ และขอน้อมคาราวะต่อทูตอารยสถาปัตย์ทุกคนทั่วไทยที่มีอุดมการณ์และความเข้มแข็งยิ่งที่จะลดความเหลื่อมล้ำให้กับสังคมไทย
ทุกท่านเป็นครูของสังคมจริง ๆ
ที่มา https://www.facebook.com/Weerasak-Kowsurat
---------------------------------------------