เยี่ยมภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
28 ตุลาคม 2564 ผม และ นต.วรวิทย์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีท่องเที่ยว ได้รับเชิญให้ไปเยี่ยม ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเรียนรู้กิจกรรมของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านขยะทะเล ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงปฏิญญากรุงเทพ ตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียน ในช่วงที่ท่านพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์เป็นรัฐมนตรี และจัดให้ไทยเป็นเจ้าภาพริเริ่มการประชุมในประเด็นขยะทะเล เป็นการเฉพาะเมื่อ คศ.2019
ซึ่งผมก็ไปร่วมในการประชุมนี้ด้วยในฐานะรัฐมนตรีท่องเที่ยว ซึ่งมีบทบาทอีกด้านในการช่วยรณรงค์ลดขยะทะเล
การไปพบดร.ธรณ์ในวันนี้ เป็นไปเพื่อเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับขยะทะเลในเขตของทะเลไทย โดยเฉพาะในอ่าวไทย แหล่งรับการไหลมารวมกันของขยะที่มาตามทางน้ำในประเทศไทยส่วนใหญ่ และมีบางช่วงที่ขยะจากทะเลนอกอาณาเขตอ่าวไทยถูกพัดเข้ามาเพิ่มปัญหาในอ่าวไทย
สิ่งที่น่าประทับใจคือ ที่นี่เป็นความร่วมมือที่เป็นระดับภูมิภาคอาเซียนทีเดียว เพราะมีความสามารถตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำทะเลจากแหล่งต่างๆ เพื่อจะวิเคราะห์ว่า ไมโครพลาสติกที่ปะปนในน้ำแต่ละบริเวณมาจากพลาสติกชนิดใดบ้าง อันจะช่วยในการสืบหาว่าต้นแหล่งของขยะที่พบน่าจะมาจากกิจกรรมประเภทไหน และของใคร
ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องช่วยสนับสนุนเพิ่มเติมแก่ระบบปฏิบัติการต่อต้านขยะทะเลนี้ ก็คือการเข้าให้ถึง ข้อมูลสนามแบบเรียลไทม์ของทะเลไทยและปากแม่น้ำต่างๆให้มากที่สุด เพื่อจะสามารถบอกได้ว่า ณ เวลาใดเวลาหนึ่อัตราการไหลของน้ำจากแม่น้ำ อัตราการรุกขึ้นของน้ำทะเล มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ช่วยให้คำนวนรูปแบบการเคลื่อนตัวของขยะทะเลเป็นไปได้อย่างแม่นยำเพิ่มขึ้นได้อีก
ในการนี้ ท่านคณบดีคณะประมง และท่านผู้บริหารจากบริษัท GC ได้กรุณามาร่วมให้การต้อนรับในฐานะองค์กรหุ้นส่วนที่สำคัญในการจุดประกายการนำขยะทะเลกลับขึ้นมาสู่ห่วงโซ่ของการใช้ประโยชน์ได้ใหม่ หรือที่คนไทยเริ่มรู้จักในนามกิจกรรม Up Cycling the Ocean ซึ่งช่วยให้เรามีแรงบันดาลใจในการเก็บกวาดขยะทะเลได้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้นด้วย
สิ่งที่ผมได้ทราบเพิ่มจากประสบการณ์ของ GC ก็คือ บัดนี้ขวดใสของน้ำดื่มค่อยๆหายจากทะเลเพราะเก็บขายได้ราคาพอควร (ราวกิโลกรัมละเกิน12บาท) แต่ขวดใสที่เจือสีต่างหากที่เก็บได้จากขยะทะเลเป็นปริมาณมากขึ้นผิดสังเกต
ขวดใสเจือสีเหล่านี้ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้อย่างคุ้มค่า เพราะสีบางๆในขวดใสนี่แหละที่ทำให้คุณภาพเม็ดพลาสติกที่หลอมคืนกลับมาควบคุมไม่ได้
มันจึงไม่มีราคาในการเก็บมาขายคืนจากทะเล คนจึงไม่ช่วยเก็บกลับเข้าฝั่งมา
ขวดใสเจือสีเหล่านี้จึงได้กลายเป็นผู้ร้ายตัวใหม่ในท้องทะเลของเรา
ในช่วงท้ายก่อนลา ท่านคณบดีคณะประมง และอ.ธรณ์กลับ ท่านผู้บริหารจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังได้กรุณามาสมทบ เพื่อรับทราบข้อมูลเพื่อนำไปประมวลออกแบบนโนบายการคลังเพื่อการช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกต่อไปด้วย
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา
ที่มา https://www.facebook.com/Weerasak-Kowsurat-1408820812765288/
---------------------------------------------