ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : น้ำบาดาลหมื่นปี! ของดีที่ไทยต้องรักษาและใช้อย่างยั่งยืน

 

ในฐานะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา เราติดตามข่าวกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเทคโนโลยีเข้ามาทดลองขุดเจาะที่ภาคอีสานเมื่อช่วงปี2564ที่ผ่านมา

เป็นครั้งแรกในไทยและในอาเซียนที่มีการขุดเจาะลึกลงไปถึงระดับความลึก 1 พันเมตรจากผิวดินสำเร็จเป็นแห่งแรกที่ ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นนี่เอง

ผลการขุดเจาะพบชั้นหินที่เป็นแหล่งกักปริมาณน้ำจืด ขนาดใหญ่ ที่ระดับความลึก 600 เมตร และสามารถจะนำน้ำจืดนั้นขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้

คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภาจึงเดินทางไปสำรวจข้อมูลเรื่องนี้ที่ขอนแก่นกัน หลังจากเคยเชิญอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมาร่วมประชุมให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการตั้งแต่มีข่าวการขุดเจาะสำเร็จใหม่ๆ

คณะเดินทางมีสว.นายแพทย์ อำพล จินดาวัฒนะ สว.สุรเดช จิรัฐิติเจริญ จากจังหวัดสระแก้ว สว.บุญมี สุระโคตร อดีตเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติจากจังหวัดศรีษะเกษ มีอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีนาวาโท วรวิทย์ เตชะสุภากูร มีคุณเปรมพิมล พิมพ์พันธุ์ พตอ.สุรภัค รอดโพธิ์ทอง และคุณชวพงศ์ พิพัฒน์เสรีธรรม ในฐานะที่ปรึกษาและอนุกรรมาธิการร่วมเป็นทีมเข้าพื้นที่กัน

ไปถึงผมก็ได้ความรู้ใหม่ทันที

เพราะผมนึกไว้ว่า บ่อบาดาลลึกพันเมตร แม้เจอน้ำจืดปริมาณมากที่ระดับ 480-600เมตร ก็คงต้องใช้เครื่องสูบพลังมหาศาลสูบน้ำขึ้นมา

แต่เปล่าเลย

น้ำบาดาลมันดันตัวเองขึ้นมาจ่อที่เกือบถึงขอบบ่อบนแท่นซีเมนต์ที่เราไปยืนกันเลย

ทีมวิศวกรและนักวิชาการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลชี้แจงให้เราฟังว่า

เพราะแรงดันจาก’’แหล่งเติมน้ำหรือจุดเติมเข้าของน้ำ ‘’ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของระดับน้ำที่อีกปลายด้านหนึ่งของแหล่งกักเก็บนี้ น่าจะถูกเปลือกโลกดันจนยกขึ้นสูงเกือบเท่าผิวดินที่ ตำบลสาวะภี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจากการอ่านแผนที่ประกอบการคำนวณ นักวิชาการของกรมฯเชื่อว่า หัวน้ำที่ว่าอาจอยู่แถวเนินเขาใกล้เขื่อนอุบลรัตน์ไปทางตะวันตกโน่น

นี่จึงทำให้ระดับน้ำใต้ดินจากจุดเจาะพบที่ลึก 480-600 เมตรดันตัวเองให้เอ่อขึ้นมาที่ระดับ 1 เมตรใต้ผิวดินได้เอง!!

แปลว่าแทบจะเอาหลอดดูดยื่นลงไปดูดมาใช้ได้เลย

น่าทึ่งดี

กลายเป็นแหล่งน้ำใต้ดินแบบมีแรงดัน หรือ Confine Aqufer

อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้เครื่องสูบน้ำขนาด 30ลบ.เมตร/ชม.จากท่อนี้ไปต่อเนื่องสัก 3 วัน หรือ 72 ชั่วโมง ระดับน้ำบาดาลในท่อนี้จะค่อยๆลดลงจนไปถึงระดับความลึกราว 300 เมตร แล้วเสถียรอยู่

จากนั้นแม้จะสูบน้ำขึ้นมาใช้นานๆน้ำก็ไม่ลดระดับลงไปอีก

และถ้าหยุดสูบน้ำไปสักพักใหญ่ๆ ระดับน้ำบาดาลก็จะค่อยๆไต่กลับมาถึงแค่ 1 เมตรจากผิวดินอีก

เรื่องนี้บอกอะไรเราได้บ้าง?

ข้อแรก น่าดีใจที่เราพิสูจน์ได้ว่าใต้แผ่นดินอีสานอันแห้งแล้ง และอยู่นอกเขตชลประทานเป็นส่วนใหญ่ แถมสภาพดินร่วนปนทรายเก็บน้ำผิวดินไม่ค่อยอยู่นั้น แท้จริงเรามีน้ำจืดที่โลกยุคดึกดำบรรพ์ ทยอยสะสมไว้ให้เราอยู่อีกมากพอประมาณ

เพียงแต่มันอยู่ลึกมากกว่าที่เราคุ้นเคย และถ้าวันหนึ่งมีการเคลื่อนไหวใต้เปลือกโลกอีก น้ำเหล่านี้ก็พร้อมจะไหลไปสู่ช่องว่างใหม่ตามแรงโน้มถ่วง มุ่งไปหาที่ๆลึกลงไปเรื่อย

ข้อ 2 น่าดีใจที่น้ำในชั้นความลึกที่ 600 เมตรบ่อนี้ ไม่เค็ม ไม่กร่อยเหมือนบ่อบาดาลที่เราเจอบ่อยในภาคอีสาน บางบ่อแม้ไม่เค็มแต่น้ำจืดก็มีปริมาณน้อย

ใต้แผ่นดินอีสานมีแหล่งแร่โปแตชขนาดมหึมาซ่อนอยู่ รวมทั้งมีหินเกลือกระจายตัวอยู่ทั่วไปหมด น้ำบาดาลที่เจอจึงกร่อยเป็นส่วนมาก

ครั้นเมื่อคนพยายามเจาะให้ลึกลงไปอีกด้วยความหวังจะเจอชั้นน้ำจืดถัดไป ก็มักไม่ได้ใส่เทคโนโลยีสกัดมิให้น้ำของชั้นที่กร่อยนั้น ไหลตามหลุมเจาะลงไปถึงอีกชั้นน้ำจืด เลยกลายเป็นพาน้ำเค็มไปปนเปื้อนชั้นน้ำจืดที่อยู่ลึกกว่าอย่างไม่ตั้งใจ

หรือเพราะเจาะบาดาลโดยไม่ขออนุญาต ไม่ศึกษาไว้ดีพอ หรือสูบน้ำใช้จนหมดแต่ไม่อุดกลบบ่ออย่างถูกวิธี ก็ทำให้น้ำจากแหล่งหรือระดับอื่น ไหลลงสู่ชั้นหินอุ้มน้ำระดับล่างไปโดยไม่ตั้งใจ

รวมทั้งมีน้ำเปื้อนเคมีการเกษตร เช่นปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงไหลลงไป

ทำความเสียหายต่อระบบน้ำใต้ดินไปเสียอีก

แต่บ่อบาดาลน้ำลึก 1,000เมตร ซึ่งเราไปเยี่ยมคราวนี้ มีความระมัดระวังต่อประเด็นนี้ อย่างรัดกุม

เทคนิคป้องกันการปนเปื้อนของน้ำจากต่างระดับนี้พัฒนามาจากความรู้ของงานขุดเจาะปิโตรเลียม ที่ปกติเจาะลงไปลึกกว่าการเจาะบ่อบาดาลมาก และน้ำใต้ดินไม่ใช่สิ่งที่แท่นขุดเจาะปิโตรเลียมต้องการเลย แถมต้องหาทางสกัดไม่ให้น้ำบาดาลเข้าไปปนกับน้ำมันดิบที่จะนำขึ้นมา จึงมีการสวมท่อโลหะลงไปเป็นชั้นๆ เพื่อทำให้มีปลอกโลหะที่จะใช้เสมือนเป็นแบบหล่อ แล้วจึงฉีดซีเมนต์ลงไปให้ถึงก้นหลุม รอให้ซีเมนต์แข็งตัว ทีนี้ก็จะทำให้ภายในบ่อเจาะ ไม่ต้องปนเปื้อนกับสิ่งไม่ประสงค์อื่นใดอีกในทุกชั้นความลึก

ผมค้นดูข้อมูลจากต่างประเทศ พบว่าในยุโรปอเมริกา มีระบบขุดเจาะน้ำบาดาลที่ลึกไปถึง 1,500เมตรด้วย ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิภาคว่า แนวหินอุ้มน้ำระดับลึกของแต่ละพื้นที่จะอยู่ที่ระดับไหนบ้าง และต้องใช้แท่นขุดรุ่นไหน

ในการค้นคว้าเรื่องนี้ต่อ พบว่าวงวิชาการของตะวันตก ด้านวิทยาการธรณียังชี้ด้วยว่า เอาเข้าจริงน้ำและโมเลกุลของน้ำใต้ดินของโลกใบนี้ มีปริมาณมากกว่าน้ำมหาสมุทรทั้งหมดที่เราเห็นเสียอีกด้วย เพียงแต่มันอยู่ในระดับลึกหลายร้อยกิโลเมตรลงไป และไม่อยู่ในสถานะของเหลว เพราะแรงกดดันของโลกบวกกับอุณหภูมิที่ร้อนจัดใต้พิภพทำให้โมเลกุลน้ำแตกตัวเล็กลงจนฝังอยู่ระหว่างโมเลกุลของแร่ธาตุต่างๆไปเสียอีก กล่าวคือมีปริมาณมากแต่เอามาใช้อะไรไม่ได้

เป็นอันว่าเรื่องน้ำใต้ดินนั้น มีความลับภาคพิศดารให้ค้นอีกแยะ

แต่สำหรับเมืองไทยตอนนี้ เราได้เข้าถึงอีก’’ปฐมบทใหม่’’ของประสบการณ์น้ำใต้ดินล่ะ

ข้อ 3 เมื่อนักอุทกธรณีวิทยาเข้าศึกษาจากหลุมขุดเจาะเทียบเคียงในความลึกเดียวกันที่ขอนแก่น ก็สามารถประมาณอายุน้ำจากหินชั้นที่อุ้มน้ำจืดมวลนี้คือตั้งแต่เมื่อ… 2หมื่นปีที่แล้ว!!

คณะเดินทางของเราเห็นพ้องกันว่า ‘’แบบนี้เราต้องระมัดระวังความคิด ว่าน้ำจืดเหล่านี้ ต้องดูแลกันอย่างไร จึงจะทำให้มรดกธรรมชาติ2หมื่นปีที่โลกสะสมมาใต้ประเทศเรา ถูกใช้อย่างระมัดระวังและคุ้มค่าจริงๆ ’’

อนึ่ง นอกจากหลุมเจาะแรกที่ขอนแก่นแล้ว หลุมเจาะบาดาลระดับลึกบ่อที่2ของประเทศไทย ก็ถูกเจาะสำเร็จแล้วเช่นกัน ที่บริเวณ วัดสหกรณ์โฆษิตาราม จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งใกล้ทะเลน้ำเค็มเสียเลย

ผลคือเมื่อกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเจาะลงถึงระดับลึกแล้วก็เจอชั้นน้ำจืดอีกหลายชั้นที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพใช้งานได้ดีมากและกำลังจะสามารถแจกจ่ายน้ำจืดให้ราษฏรใช้ในปลายปีนี้

นับเป็นข่าวดีมาก อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลให้ข้อมูลไว้ด้วยว่า ปริมาณน้ำจืดใต้ดินระดับลึกที่สมุทรสาครบ่อนี้ มีปริมาณมากกว่าน้ำหลายเขื่อนใหญ่รวมกันด้วยซ้ำ และมีแผนจะขุดเจาะเพิ่มที่สมุทรปราการ และสมุทรสงคราม เพราะปริมาณน้ำจืดในเขตนั้นมีมากพอ แต่คงต้องคำนวณเรื่องอัตราการทรุดตัวให้ดีด้วยไม่งั้นจะเสียหายไปอีกแบบ

เรื่องนี้คงต้องมีนักวิชาการเฉพาะด้านติดตามกันต่อไป

สำหรับปริมาณน้ำจืดบ่อลึกที่ภาคอีสานยังมีการสำรวจประเมินเพิ่มเติมอยู่ และน่าเชื่อว่าก็มีปริมาณมหาศาลเช่นกัน

เรื่องนี้จึงกลายเป็นโจทย์ใหม่ที่เราอาจช่วยขบคิดกันต่อ

เพราะกรุสมบัติ’’น้ำเก่าแก่ หมื่นปี’’ ถูกขุดได้แล้ว
อย่างน้อยเราก็ได้ตระหนักว่า เรามีชั้นน้ำจืดหายากเหลืออยู่อีกประเภท
และตระหนักว่าเรามีชั้นหินเก็บน้ำที่ธรรมชาติได้ให้ไว้ ถ้าเรามีระบบสำหรับเติมน้ำฝนลงไปใส่ได้ เราก็จะมีอุโมงค์สำหรับเก็บน้ำไว้ใช้ในอนาคตเช่นกัน

ข้อคิดส่งท้าย
ไม่ว่าอย่างไร…สิ่งที่สำคัญพอๆกับการค้นหาน้ำจืดของเรา

ก็คือการมีวินัยในการถนอมรักษาและรู้จักจัดสรรแบ่งปันและเวียนใช้ทรัพยากรน้ำอันมีค่าของเราให้เป็นไปได้ …อย่างยั่งยืน

---------------------------------------------

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา, ประธานอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ของวุฒิสภา, ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการกีฬา ของวุฒิสภา, รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 

ที่มา www.weerasak.org / https://www.facebook.com/Weerasak-Kowsurat