ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

ทางเลือกทางออก ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว: ในภาวะโควิด19

 

18 ตุลาคม 2563 ทางเลือกทางออก ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว: ในภาวะโควิด19 โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์สมาชิกวุฒิสภา

ข้อมูลที่รายงานเข้าสู่คณะรัฐมนตรีไทยสัปดาห์ที่แล้ว โดยททท.มีวาระที่อธิบายถึงความคืบหน้า โครงการไทยแลนด์อีลีท quarantine (TEM-Q) ว่า จากจำนวนสมาชิกอีลีทการด์ 7 พันกว่ารายนั้น พบว่ามีสมาชิกที่ตอบรับโครงการ TEM-Q และนำส่งกระทรวงการต่างประเทศผ่าน ททท.แล้วจำนวน 448 คน มีสมาชิกที่ได้รับอนุมัติเข้าไทยจากกระทรวงการต่างประเทศแล้วจำนวน 304 คน มีสมาชิกที่ได้รับ Certificate of Entry และได้เที่ยวบินแล้วจำนวน 49 คน

มีสมาชิกที่เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้วและอยู่ระหว่างกักตัว 35คน และมีสมาชิกที่เสร็จสิ้นการกักตัวในเดือนกันยายนในไทยแล้วทั้งสิ้น 14 คน

ส่วนโครงการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Visa (STV) นั้น มีผู้แจ้งความประสงค์จากทั่วโลกรวมๆแล้ว 1,615 คน เกินกึ่งหนึ่งจะเดินทางมาจากในเอเชียตะวันออก คือจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง คือ 924 คน จากอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ 229 คน จากยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง 462 คน 

ดังนั้น สมมุติว่าทุกรายได้ผ่านด่านและได้รับการคัดกรองและกักตัวครบ14วันเรียบร้อยตามนี้หมดครบถ้วน ประเทศไทยก็จะเพิ่มนักเดินทางชาวต่างชาติเข้ามาในราชอาณาจักรในช่วงใกล้ๆนี้ราว สองพันคน เท่านั้นแหละ และแม้แขกพิเศษในยามที่โควิดโลกกำลังอาละวาดระลอกสองเหล่านี้จะยอมใช้จ่ายมากกว่าปกติหลายเท่าตัว เพื่อให้ตัวและครอบครัวที่รัก ได้มาอยู่ในประเทศที่ "เอาอยู่" อย่างโล่งใจ 

2 พันคนอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วไทยได้ไม่มากนัก แต่ก็คงต้องทำ เพราะถ้าบริหารการควบคุมโรคจากคนมีตังค์ที่เต็มใจเข้ามาตามช่องทางที่เปิดเผยไม่สำเร็จ ก็ไม่ต้องเดาว่าจะบริหารคนนับแสนนับหมื่นที่จะทยอยเดินเท้าเข้าไทยตามช่องทางธรรมชาติหลังฤดูฝนผ่านไปได้ดีหรือไม่ รายได้จากนักเดินทางระหว่างประเทศหนนี้จึงน่าจะเป็นเรื่องรอง สิ่งที่น่าจะทำให้ได้ดีด้วยคือต้องทำให้ได้เสียงชื่นชมจากกลุ่มสองพันคนนี้ที่จะโพทะนาให้โลกฟัง ว่าในวันที่โลกเอาไม่อยู่นั้น 

เค้ามาอยู่ในเมืองไทยด้วยความอบอุ่นประทับใจอย่างไรต่างหาก เพราะถ้าลองว่ากลุ่มนี้ บ่น ไม่ว่าจะบ่นว่า ไม่ปลอดภัย ไม่สะอาด ไม่ได้บริการระดับที่คาดหวัง อาหารไม่อร่อย ราคาถูกขูดเค้น ไปไหนก็โอเวอร์ชารจ์ บลา ๆ ๆ แบบนั้นจะเสียหายแน่ จึงควรเตรียมการให้ละเอียด เช่น เรื่องความเร็วและค่าติดตั้งสัญญานอินเทอร์เน็ตวายฟาย สภาพและค่าเช่ายานพาหนะ เพราะงวดนี้แขกเหล่านี้จะมาอยู่นาน เขาต้องทำงานทำการหรือเรียนหนังสือกันต่อ สมาชิกในครอบครัวคงมีหลายช่วงอายุและความสนใจ การบริการระบบสนับสนุนจึงควรตระเตรียมให้ครอบคลุมและไม่ควรให้มีราคาชารจ์แบบที่เคยเรียกเก็บเอาจากนักท่องเที่ยวในปีปกติ รวมทั้งงานเอกสารต่างๆก็ควรทบทวนแบบพิธีให้เยิ่นเย้อน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ดังนั้น จึงควรขอความร่วมมือของทุกฝ่ายในการถนอมความรู้สึกของแขกพิเศษในยามยากของเราในคราวนี้กันให้ดี นี่เรื่องแรก

เรื่องถัดไปคือ บัดนี้สถานประกอบการท่องเที่ยวหลายแห่งยังไม่เปิด บางแห่งท่าทางจะไม่เปิดกลับมาอีกแล้วในปีนี้ หรือเปิดเพียงบางส่วนของกิจการ จึงทำให้ในยามมืดค่ำ ไฟส่องสว่างอาจจะลดไป นี่ก็จะทำให้พื้นที่ที่แขกพิเศษของเราไปเจอเข้าก็อาจกังวลหดหู่ เผลอๆจะหวาดหวั่นได้

ดังนั้น ผู้ที่จะวางแผนรับแขกพิเศษมาพักในสถานประกอบการโรงแรมและรีสอรท์ของท่าน ก็ควรได้ศึกษารอบบริเวณและตามเส้นทางที่แขกพิเศษของท่านมักจะเลือกเดินเล่น หรือออกค้นหากิจกรรม ค้นหาที่ทานอาหาร ค้นหาที่ช้อปปิ้ง ที่เค้าจะไม่ไปตกอยู่ในสภาพที่ไม่น่าประทับใจ ควรไปบอกกล่าวให้ชุมชนที่อาจจะมีแขกพิเศษของท่านไปผ่านไปเยี่ยมได้รับรู้ว่าควรคุ้มครองและให้ความเป็นมิตรแก่แขกเหล่านี้อย่างไร โดยยังควรยึดถือหลักการป้องกันโรคระบาดต่อไปอย่างสุภาพและเคร่งครัดเพื่อสร้างความมั่นใจให้ทุกฝ่าย อย่าให้เกิดปัญหาได้ ไม่ว่ากับฝ่ายใด

เรื่องที่สาม วงการท่องเที่ยวรับมรสุมโควิดมาก่อนอุตสาหกรรมใด และถูกคลื่นพายุการเงินสภาพคล่องซัดมาครบ 10 เดือน นาวาธุรกิจหลายลำจมไปเงียบ ๆ หลายลำจอดที่ฝั่งรอวัน และหลายลำกำลังเมาคลื่นเจียนจวนจะพลิกคว่ำ สิ่งที่ควรพิจารณาเร่งด่วนคือการร่วมมือระหว่างท่านรัฐมนตรีคลังท่านใหม่ คือท่านรัฐมนตรี อาคม เติมพิทยาไพสิฐกับท่านผู้ว่าการธนาคารชาติท่านใหม่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ซึ่งผมยกย่องนับถือในความรู้ความคิดความสามารถและความเอื้อเฟื้อที่อบอุ่นแก่กันมานาน จะได้ร่วมมือกันหามาตรการเพิ่มที่จะช่วยวงการท่องเที่ยวให้สามารถปรับตัวอยู่ไปต่อได้ในทิศทางที่สร้างความยั่งยืนทั้งแก่ธุรกิจ และต่อประเทศไทย

ในเวลานี้ สินเชื่อ สำคัญมากๆครับ หลายเงื่อนไขจึงอาจจะลองช่วยทบทวนกำหนดกันใหม่ให้เห็นว่า เรามีความ "เชื่อ" ร่วมกันว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยังไงก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องได้อาศัย 

ทำให้วงการท่องเที่ยวเข้าถึงสินเชื่อจนได้ อาจเป็นสินเชื่อเพื่อรักษาการจ้างงาน สินเชื่อเพื่อรักษาสินทรัพย์ในกิจการ สินเชื่อเพื่อพัฒนามาตรฐาน สินเชื่อเพื่อพัฒนาทักษะพนักงาน สินเชื่อเพื่อการพัฒนาระบบไอที สินเชื่อเพื่อพัฒนารักษาสิ่งแวดล้อมหรือการประหยัดไฟฟ้า ประหยัดน้ำและทรัพยากร

สินเชื่อเพื่อปรับปรุงสถานที่จากที่เคยผิดกติกาให้เป็นถูกกติกาตามกฏหมาย เป็นอาทิ ไม่ว่าจะตามกฏหมายควบคุมอาคาร กฏหมายผังเมือง กฏหมายโรงแรม กฏกระทรวงเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผ็พิการ ทีนี้ก็เรื่องที่สี่ คือการเร่งสำรวจว่าในปีที่โควิดอาละวาด ประเทศอื่นที่เค้าก็พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเค้าทำอะไรที่น่าศึกษาบ้าง ถ้าเข้าท่าก็เอามาเล่าสู่กันและกัน เพื่อช่วยสร้างเครื่องมือคล้ายคลึงกันมาใช้ประโยชน์ในบ้านเรา ถ้าติดขัดที่ระเบียบกติกา ติดที่กฏหมายก็ควรเร่งหารือรัฐสภาแล้วพัฒนาสร้างกฏหมายหรือแก้กฏหมายกันเสียเลย ช่วงนี้แขกเหรื่อมีน้อย มาซ่อมห้องรับแขกกันดีกว่า จะแก้กฏหมายแบบถาวรหรือแก้ใช้ชั่วคราว พอหมดโควิดก็ให้มีบทบัญญัติให้ถอยกลับมาใช้หลักการดั้งเดิมก่อนโควิดโดยอัตโนมัติ ก็สามารถเลือกทำได้ ซึ่งในเรื่องนี้ ผมก็จะช่วยเสริมหาข้อมูลตัวอย่างจากประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวที่น่าสนใจมาเล่ากระจายให้ได้ทราบกันต่อไปตามลำดับ

สุดท้ายเรื่องที่ห้า คือเรื่องตลาดไทยเที่ยวไทยครับ เวลานี้รัฐบาลได้ช่วยโหมกระตุ้นกันอุตลุตอยู่ แต่อยากเชียร์ให้ทำได้หลากหลายแบบเพิ่มอีก เช่น เร่งรัดจัดการให้ภาคราชการ หน่วยงานของรัฐเดินทาง จัดอบรม จัดเสวนา และจัดประชุม แก้ระบระเบียบเพื่อให้เกิดการปฏิรูปกฏหมาย ปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูประบบประเมินผล ลดขั้นตอน เพิ่มประสิทธิผลให้ได้มาก ๆ ผลในเบื้องต้นคืองบประมาณของรัฐถูกนำมาใช้จ่ายกระตุ้นการออกนอกสถานที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ต้องไปไกลหรอกครับ กำหนดให้ไปใกล้ ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบและพื้นที่บริการของหน่วยนั้นนั่นแหละ

จะได้ไปพบไปจับมือจับไม้กับราษฏรที่ต้องดูแลได้ใกล้ชิดขึ้น บ่อย ๆ ขึ้น บรรยากาศบ้านเมืองเวลานี้ต้องการการทำภารกิจที่มุ่งผลลัพท์แต่รักษาความยั่งยืนให้ได้อย่างที่สุดแล้วล่ะครับ ฝ่ายที่ยังเห็นอะไรขัดแย้งคาใจก็ควรเสวนาหาทางออก รับฟังกันและกันอย่างตั้งใจ และให้เกียรติแก่กัน ขอแค่จริงใจ และสื่อสารกันอย่างเห็นใจก็พอ 

ที่มา https://www.facebook.com/Weerasak-Kowsurat-1408820812765288/

 

-------------------------------------------------------------------------
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา 
#weerasak.org