ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย รับมอบ “เรือกู้ภัย Wi-Fi”

 

มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย รับมอบ “เรือกู้ภัย Wi-Fi” จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำส่งมอบให้กับเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือและเผชิญเหตุอุทกภัย

วันที่ 17 ตุลาคม 2567 ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย โดยนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมการมูลนิธิฯ เป็นผู้แทนรับมอบ “เรือกู้ภัย Wi-Fi” จำนวน 8 ลำ จากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำหรับจัดสรรกระจายไปยังเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) 8 ชุมชน ใน 7 จังหวัด เพื่อนำไปใช้บรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม

เรือกู้ภัย Wi-Fi มีคุณลักษณะพิเศษของเรือท้องแบนที่สามารถใช้งานได้ทั้งในพื้นที่น้ำท่วมลึกและแม้แต่พื้นที่น้ำตื้น เพียง20-30 เซ็นติเมตร สามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกได้อีก 40 กิโลกรัม มีการติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมโยงสัญญาณ Wi-Fi ในรัศมีไม่เกิน 30 เมตร มีแบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องกัน 4-6 ชั่วโมง มีอุปกรณ์เก็บประจุไฟฟ้าจากระบบโซลาร์เซลล์ที่สามารถจ่ายไฟสำหรับการชาร์จโทรศัพท์มือถือได้ 12 เครื่อง และมีเต้ารับสามารถเสียบคู่กับสวิตซ์ที่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า ตอบโจทย์การใช้ไฟฟ้าในช่วงน้ำท่วม ซึ่งมักมีภาวะติดขัดเรื่องการกระแสไฟฟ้าถูกตัด ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมจึงสามารถส่งสัญญานหรือโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและติดต่อกับภายนอกได้ นอกจากนี้ ยังมีระบบเสียงไซเรนและลำโพงขยายเสียงข่าวสารจากเรือ มีกล้องวงจรปิดถ่ายทอดสดสถานการณ์ ณ จุดที่เรือลอยลำอยู่สู่ภายนอกได้

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. กล่าวว่า “เรือกู้ภัย Wi-Fi ถือเป็นผลงานจากการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อของหน่วยงานในสังกัด อว. ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยการสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งเป็นรูปธรรมสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีจากภูมิปัญญานักวิชาการไทยในการจัดการภัยพิบัติ”
ทั้งนี้ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมการมูลนิธิฯ กล่าวว่า “ตลอดทั้งปี มูลนิธิฯ มีการเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบเหตุอุทกภัยในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยในหลายพื้นที่ประสบอุทกภัยมักเผชิญกับความท้าทายหลากหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของผู้ประสบภัย ตลอดจนประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และอาสากู้ภัย เช่น สภาพแวดล้อมที่มืดและยากต่อการมองเห็น โดยเฉพาะในเวลากลางคืน การขาดระบบเตือนภัยและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และการขาดแคลนแหล่งพลังงาน ส่งผลต่อการใช้งานอุปกรณ์สื่อสารและอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่จำเป็น นวัตกรรมเรือกู้ภัย Wi-Fi นี้จะช่วยให้การทำงานภาคสนามของมูลนิธิฯ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเรือลำนี้ทั้งให้แสงส่องสว่าง จ่ายพลังงานให้กับอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ ตลอดจนเติมพลังงานและสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สายให้กับอุปกรณ์สื่อสารของประชาชนในพื้นที่ประสบภัย และที่สำคัญยังสามารถเติมพลังงานให้ตัวเองได้ด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ฉะนั้น เรือลำนี้จึงเป็นทั้งกำลังใจและแหล่งพึ่งพาทางด้านพลังงานให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบภัย”
สำหรับเรือกู้ภัย Wi-Fi ทั้ง 8 ลำนี้ มูลนิธิฯ จะนำส่งมอบให้กับเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) 8 ชุมชน ประกอบด้วย ภาคเหนือ 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านวังศรีไพร จังหวัดสุโขทัย และชุมชนตำบลนครป่าหมาก จังหวัดพิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนตำบลโนนแต้ จังหวัดชัยภูมิ และชุมชนตำบลวาใหญ่ จังหวัดสกลนคร ภาคใต้ 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนเครือข่ายลุ่มน้ำทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง เครือข่ายชุมชนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรลุ่มน้ำคลองยัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมชนตำบลถ้ำใหญ่ และชุมชุนตำบลเกาะขันธ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
“การเป็นชุมชนเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) หมายความว่าชุมชนนั้นอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก น้ำท่วมเป็นประจำ มูลนิธิฯ จึงจัดให้มีการฝึกอบรมความรู้และทักษะในการรับมือกับเหตุอุทกภัย พร้อมกับมอบเครื่องมืออุปกรณ์จำเป็นในการอพยพประชาชน เพื่อให้ชุมชนมีความพร้อมในการเผชิญเหตุน้ำท่วม ตลอดจนสามารถพึ่งพาตนเอง และช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันได้ก่อนที่หน่วยงานภายนอกจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ปัจจุบัน มีการจัดตั้งเครือข่ายเตือนภัยฯ แล้ว 19 ชุมชนทั่วประเทศไทย โดยมูลนิธิฯ ได้จัดการฝึกอบรมความรู้และทักษะให้กับเครือข่ายเตือนภัยฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้เขาสามารถรับมือและเผชิญเหตุได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งต้องขอบคุณนักวิจัยที่ใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถซ่อมบำรุงได้ง่าย หาอะไหล่เพิ่มเติมจากภายในประเทศได้ ราคาก็จะไม่เกินกำลังของชุมชนในการดูแลรักษาตัวเรือ”

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมการมูลนิธิฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า สภาวะภูมิอากาศแปรปรวน (Climate Crisis) จะทำให้ภัยธรรมชาติเกิดบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น และมีรูปแบบที่แปลกแตกต่างไปเรื่อย ๆ ดังนั้น การมีองค์ความรู้และนวัตกรรมจากนักวิจัยไทยเข้ามาช่วยสนับสนุนเช่นนี้ ย่อมเป็นที่อุ่นใจของประชาชน