กิจกรรมเสวนาวิชาการ ‘’บทบาทภาคเอกชนกับความมั่นคงของชาติ’’
14 กรกฎาคม 2566 นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นวิทยากรร่วมกับ นายณัฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย อภิปรายในเวทีเสวนาวิชาการ ‘’บทบาทภาคเอกชนกับความมั่นคงของชาติ’’ ที่ห้องประชุมประชาสนเทศ สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ถนนวิภาวดีรังสิต
โดยนายวีระศักดิ์ชี้ว่า ท่องเที่ยวมิใช่เป้าหมายแต่เป็นเครื่องมือต่างหาก ขึ้นกับว่าจะใช้เป็นเครื่องมือทำอะไร นอกสร้างเศรษฐกิจ จ้างงานตลอดจนรองรับผลผลิตสินค้าจากภาคชุมชน ผลผลิตภาคเกษตร และเพิ่มลูกค้าให้ภาคขนส่งเดินทางแล้ว ยังสามารถเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ ใช้สร้างสันติภาพในพื้นที่ขัดแย้ง ใช้สร้างบรรยากาศการเรียนรู้สำหรับผู้ร่วมกิจกรรมเดินทาง
‘’…การนำนักท่องเที่ยวนั่งเรือออกไปชมวาฬในอ่าวไทย ปกติต้องใช้เวลาชั่วโมงเศษจึงจะไปถึงบริเวณที่วาฬจะปรากฏตัว หากเราใช้เวลาระหว่างนั่งเรืออธิบายให้ผู้โดยสารทราบว่า แพลงตอนพืชในทะเล คือผู้ผลิตออกซิเจนกว่า65% ของโลกและคือผู้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์กลับไปไม่น้อยกว่า30%จากชั้นบรรยากาศ ดังนั้น วาฬที่เหลือเพียงล้านตัวทั่วโลกนี้เท่านั้น ที่เป็นผู้เดินทางปล่อยมูลอันเป็นสารอาหารหลักที่แพลงตอนทั่วโลกต้องการ และทำให้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ นักท่องเที่ยวก็จะตระหนักและเคารพระบบนิเวศน์อันเปราะบางนี้ได้ และระมัดระวังในเรื่องขยะทะเลมากขึ้น …’’
‘’ถ้าเรามองว่า ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ ความมั่นคงจากการมีอากาศสะอาด เป็นความมั่นคงของชาติที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจ …การสื่อสารเพื่อคุ้มครองวาฬ และรักษามหาสมุทรก็เป็น จิตวิทยาเพื่อความมั่นคงได้แบบหนึ่งเช่นกัน’’
อนึ่ง นายวีระศักดิ์ยังได้ชี้ให้เห็นหลัก ESG หรือการดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และการมีธรรมาภิบาลเสมอในทุกขั้นตอน ก็จะทำให้กิจการนั้นเป็นผู้มีส่วนสร้างความยั่งยืนให้กับชาติเช่นกัน
‘’…ขอเพียง สนใจ เข้าใจ และตั้งใจ ทำให้ต่อเนื่อง ปัญหาใดๆก็จะแก้ไขได้ป้องกันได้ กับขอเพียงฝึกฝนทักษะในการสื่อสารที่มีพลังต่อเนื่องให้เพียงพอ…’’นายวีระศักดิ์กล่าวในตอนท้าย