ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

เชิญชมงานนิทรรศการ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก

 

วันนี้คอลัมน์นี้ งดเรื่องการเมืองหนึ่งวันเรามาคุยกันเรื่องน้ำใจคนไทยที่มีให้แก่กันโดยมี อาจารย์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมการบริหารมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยากเป็นผู้เล่าให้ฟังถึงน้ำพระทัยของพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงเป็นสะพานบุญเชื่อมน้ำใจของผู้มีจิตกุศลทั้งหลาย เชิญอ่านกันให้อิ่มบุญอิ่มใจนะครับ...

“...เมื่อใครเอ่ยถึงชื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก คนมักจะพอทราบว่า มูลนิธินี้มีประวัติมานานด้านการเข้าช่วยบรรเทาทุกข์แก่ราษฎรผู้ประสบภัยน้ำท่วมมายาวนานแล้ว

แต่ผู้คนอาจไม่ทันสังเกตว่า มูลนิธิฯมีอายุมาถึง 27 ปี ในปีนี้

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เคยมีพระดำรัสเล่าว่า“…ปี 2538 ครั้งแรกที่เราไปเยี่ยมประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม ประชาชนจำนวนมากยืนแช่น้ำรอเฝ้า เราได้รับธนบัตร 20 บาท ที่เปียกโชกจากชาวบ้าน เขาบอกขอถวายเพื่อสำหรับไว้ไปช่วยเหลือคนอื่นๆ ต่อ…นี่จึงเป็น 20 บาทแรกที่ได้มาสำหรับทำมูลนิธิฯ…”

อีกสิ่งที่ผู้คนคุ้นตา คือ ถุงยังชีพพระราชทานของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก โดยมี ทั้งถุงสีส้มและถุงสีม่วงที่เป็นสีวันพระประสูติของ “ทูลกระหม่อมภา”สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี (สีส้ม) และสีวันประสูติของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีกรมหมื่นสุทธนารีนาถ (สีม่วง) โดยทรงมุ่งเน้นให้ถุงยังชีพพระราชทานถูกส่งไปให้ถึง ผู้พิการผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง สตรีมีครรภ์และเด็กเล็ก เป็นลำดับต้น โดยจะมีอาสาสมัครของมูลนิธิฯ เข้าตามไปเยี่ยมผู้ประสบภัยจนกว่าระดับน้ำจะลดลงเป็นปกติ ด้วยทรงตระหนักว่า ผู้อ่อนแอเหล่านี้ ต้องการอาหารที่เพียงพอ ครบทุกหมู่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอาจต้องการยารักษาโรคที่ต่อเนื่องด้วย

ในพื้นที่ประสบภัยที่รุนแรงมาก เสียหายมาก มีน้ำท่วมขังในพื้นที่เป็นบริเวณกว้างมาก จนไม่สามารถออกมาจากพื้นที่น้ำท่วมนั้นได้ หรือ มีผู้สูงอายุที่อาศัยในพื้นที่ ก็จะพระราชทานถุงยังชีพสีน้ำเงิน เพราะจะบรรจุสิ่งของบรรเทาทุกข์หลากหลายมากชิ้น มากรายการกว่าถุงสีส้ม หรือ ถุงสีม่วง

นอกจากนี้ก็ยังมีถุงสีจีวร เพื่อบรรจุสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่เหมาะสมในการถวายแด่พระสงฆ์ ซึ่งก็ต้องอพยพออกจากเขตวัดวาอารามและที่ธรณีสงฆ์เมื่อน้ำท่วมด้วย

ในหลายกรณียังทรงโปรดให้ส่งรถประกอบอาหารของมูลนิธิฯเข้าไปทำอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทานในพื้นที่หรือเปิดโรงครัวพระราชทานในพื้นที่ด้วย ด้วยทรงตระหนักว่า ผู้เดือดร้อนจากอุทกภัยจะมีกำลังใจดีขึ้น ถ้าอย่างน้อยเขามีอาหารร้อน และอร่อยได้รับประทาน ไม่ต้องเสียเวลาไปหุงหา หรือต้องรับของสดไปเก็บรักษา ซึ่งอาจบูดเสียง่าย

นั่นคือพระภารกิจ “ด้านการบรรเทาทุกข์” ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

ต่อมาด้วยสถิติที่มูลนิธิฯ ติดตาม จึงพบว่า หลายๆ พื้นที่ของไทยประสบปัญหาน้ำท่วมดินโคลนถล่มบ่อยกว่าที่อื่นๆ จึงสำรวจทราบว่า ปกติประเทศไทยจะมีการติดตั้งเครื่องโทรมาตรในพื้นที่ราบที่น้ำหลากเท่านั้น ยังขาดการติดตั้งโทรมาตรที่จะคอยติดตามข้อมูลปริมาณน้ำและส่งสัญญาณเตือนในกลุ่มพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งมักอยู่ในเขตป่าเขา มูลนิธิฯ จึงประสานความร่วมมือติดตั้งระบบสถานีโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติในพื้นที่ต้นน้ำในจุดสำคัญๆ ผลคือทำให้สามารถเตือนภัย และลดระดับความเสียหายในพื้นที่ที่เกี่ยวกับแนวการไหลของน้ำในพื้นที่ด้านล่างลงได้อย่างมาก

นี่จึงทำให้หน้างานของมูลนิธิฯมีอีกด้าน คือ “ด้านการเฝ้าระวังและเตือนภัยล่วงหน้า” สำหรับพื้นที่ชุมชนที่มักเคยประสบปัญหาซ้ำๆ มีการจัดวิทยากรเข้าไปช่วยชาวชุมชนให้อ่านค่ามาตรวัดระดับน้ำฝนเป็น ใช้วิทยุสื่อสารเป็นตัวเชื่อมเครือข่ายการทำงานกับหน่วยต่างๆ เป็น

อีกด้านที่มูลนิธิฯทำคือ งาน “ด้านการฟื้นฟู” ให้กับชุมชนที่ผ่านภัยน้ำท่วม เช่น การช่วยให้ชาวบ้านสามารถกลับมาประกอบอาชีพที่เคยมีทักษะ เช่นทำการเกษตร การย้อมผ้า การย้อมคราม การปั้นเตา โดยการจัดส่งวัตถุดิบ หรือ ต้นพันธุ์ที่ถูกน้ำพัดพาจนสูญหายไปจากพื้นที่ให้ชุมชนสามารถเริ่มตั้งต้นกันใหม่ได้

ในแต่ละปี มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก จึงจัดให้มีงานเพื่อนพึ่งภาฯ ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนโดยเฉพาะคนเมืองหลวงได้ไปเดินชมงาน โดยในงานจะมีจัดนิทรรศการแสดงข้อมูล และความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับภัยน้ำท่วม

มีการออกร้านจำหน่ายสินค้า ฝีมือชุมชน มีการเชิญออกร้านพระบรมวงศานุวงศ์ ร้านโครงการในพระองค์ ร้านโครงการหลวง ทำให้ผู้มาเดินชมงานได้ทั้งโอกาสจับจ่ายสินค้า สิ่งของและทานอาหารหรือขนมที่หาทานยาก

“ตับบดเสวย”สูตรปรุงโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เป็นหนึ่งในสินค้าขายดีเสมอทุกปี

ปีนี้ “งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) 2565” จัดขึ้นแล้ว ที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ตั้งอยู่ข้างสวนจตุจักรโดยเริ่มจัดงานมาตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม และจะมีงานไปจนถึง 11 ธันวาคมนี้

การเดินทางสะดวก เพราะสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ มีทั้งสถานีรถไฟฟ้าบนดิน และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน อยู่ไม่ไกลและมีจัดรถตู้บริการ จากทั้งสองสถานีรถไฟฟ้ามายังบริเวณงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

งานเริ่มทุกวันตั้งแต่ 9 โมงเช้าไปถึง 2 ทุ่ม

เดินงานเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ได้ทั้งความรู้ได้ทั้งโอกาสร่วมกิจกรรมบรรจุถุงยังชีพพระราชทาน ได้ชิมและได้ชมการสาธิตจากอาสาสมัคร ได้เยี่ยมอุดหนุนสินค้าจากหน่วยต่างๆ ที่มาร่วมการออกร้าน

ได้ร่วมแสดงน้ำใจ ร่วมน้ำพระทัยช่วยเพื่อนร่วมสังคมของเราที่ประสบภัยน้ำท่วม

แล้วกลับบ้านอย่างอิ่มอกอิ่มใจกันครับ

สุทิน วรรณบวร

ที่่มา https://www.naewna.com/politic/columnist/53552