ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

ทีมควบคุมไฟป่าของพื้นที่ 4 ป่าใหญ่ภาคเหนือ ร่วมกับสภาลมหายใจถอดบทเรียนหลังหมดฤดูฝุ่น

 

วันที่ 8 สิงหาคม 2567 นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ ดร.เจน ชาญณรงค์ รองประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯและประธานชมรมนักเรียนทุนมูลนิธิอานันทมหิดล  นายปัณรส บัวคลี่ ประธานสภาลมหายใจภาคเหนือ เข้าร่วมประชุมถอดบทเรียน ( After Action Review)กับ นายนฤพนธ์ทิพย์มณฑา  และผู้คณะบริหารสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ ตาก เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ร่วมกับ ผู้แทนกรมป่าไม้ ผู้แทนกองทัพภาค  หน่วยทหาร กอรมน. กำนัน ผู้แทนฝ่ายปกครอง ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ผู้แทนสาธารณสุขพื้นที่ เข้าร่วมประชุมรับฟังแลกเปลี่ยนข้อมูลผลการควบคุมและระงับไฟใน 4 เขตป่าคือ แม่ปิง แม่ตื่น อมก๋อย แม่พริก ที่หอประชุมเกษม จาติกวนิช เขื่อนภูมิพล อำเภอสามเงา จังหวัดตาก

โดยสถานการณ์ไฟป่า 2567 ที่ผ่านมา Hot Spot ในป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศลดลง 28.64% พื้นที่เผาไหม้ในป่าอนุรักษ์ภาคเหนือ17จังหวัดลดลง46.89%

นับว่าเป็นการทำงานลดฝุ่นจากการเผาได้มากที่สุดพื้นที่หนึ่ง ด้วยมาตรการเชิงรุก จัดชุดทหารเคาะประตูผูกมิตรกับกลุ่มบุคคลที่เข้าข่ายจับตาว่าอาจเข้าป่าจุดไฟ ตัวแทนหน่วยพัฒนาและกำนันชักชวนเปลี่ยนอาชีพหรือเปลี่ยนพฤติกรรมได้ราวครึ่งหนึ่ง สตรีชาวบ้านพากันชักชวนภรรยาของกลุ่มเสี่ยงมาช่วยหารายได้อื่นเสริมหรือไปกดดันสามีให้หยุดพฤติกรรมเสี่ยงตามชายป่า ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ที่รักษาป่าก็เข้มงวด ลาดตระเวณ เฝ้าดูจุดตรวจ จุดเสี่ยงเคร่งครัดจริงจังขึ้น

ปีที่ผ่านมา 17 จังหวัดภาคเหนือเกิดไฟป่าทั้งหมด 9.7 ล้านไร่

ในอดีต ไฟในป่าเหนือเขื่อนภูมิพลนี้ไหม้ซ้ำซากมาร่วม 10 ปี และอยู่ในเขตของ 3 ป่าอนุรักษ์ที่เชื่อมต่อกันเป็นรอยต่อสามจังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน และตาก ทั้งนี้ต้นปี 2566 กรมอุทยานฯ เคยรายงานผลรอยไหม้จากดาวเทียม Landsat-8 ของป่าสามผืนนี้ว่า
พบรอยไหม้ในป่าแม่ตื่น 3.7 แสนไร่ คิดเป็น 48% ของพื้นที่

พบรอยไหม้ในป่าแม่ปิง 2.4 แสนไร่ หรือราว 38%ของพื้นที่

และพบรอยไหม้ในป่าอมก๋อย 2.3 แสนกว่าไร่ หรือราวๆ 30% ของพื้นที่

รวมเป็นราวๆ 8แสน4หมื่นไร่ของป่าที่ถูกไหม้ไปอย่างน่าเสียดาย

ดังนั้น เมื่อนำมาคำนวณกับ
พื้นที่เผาไหม้ป่า 17 จังหวัดภาคเหนือซึ่งทั้งหมดอยู่ที่ 9,768,928 ไร่
จึงทำให้ที่นี่เคยเป็นไฟแปลงใหญ่ที่สุด เกิดผลกระทบมากสุดเป็นลำดับต้นของภาคเหนือ โดยไฟจะเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนมกราคมต่อเนื่องกุมภาพันธ์ ไปถึงต้นๆ มีนาคม ซึ่งช่วงนั้นลมจะพัดเปลี่ยนจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นมา แทนลมตะวันออกเฉียงเหนือและจะหอบฝุ่นควันเข้าแอ่งเชียงใหม่ไล่ขึ้นไปอบอวลอยู่ในภาคเหนือตอนบน

ดังนั้น เมื่อต้นปี 2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงนามจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก”

ซึ่งในปี 2567 กรมอุทยานฯ ตั้งเป้าหมายจะลดพื้นที่เผาไหม้ลงร้อยละ 50 จากปี 2566

แต่ที่พิเศษคือคำสั่งตั้งศูนย์ดังกล่าวมีการแต่งตั้งที่ปรึกษา จำนวน 20 คน โดยนำเอาผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 310, ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33, นายอำเภออมก๋อย, นายอำเภอดอยเต่า, นายอำเภอลี้, นายอำเภอสามเงา, นายอำเภอแม่ระมาด, ผอ.เขื่อนภูมิพล เข้าไปด้วย เพื่อให้สามารถจัดประชุมทำงานระดับพื้นที่ร่วมกัน โดยไม่ต้องติดขัดเรื่องอำนาจที่แตกต่างระหว่างหลายๆหน่วย แต่เอาเป้าหมายลดความเสียหายของป่าและของสุขภาพสังคมไปด้วยกัน

ผลของการทำงานร่วมแบบนี้จึงให้ผลลัพท์ที่แตกต่างจากอดีต

อย่างไรก็ตาม ในการถอดบทเรียน ที่ประชุมสามารถสรุปอุปสรรคที่ยังท้าทายได้แก่

1. เส้นทางเข้าถึงลำบาก ต้องใช้การเดินเท้าขึ้นเขาเป็นหลัก ใช้ระยะเวลานานจึงจะเข้าถึงพื้นที่ได้ การส่งกำลังทางอากาศน่าจะช่วยลดปัญหานี้ได้
2. กระแสลมแรงบนภูเขาสูงชันย่านนี้ ทำให้ลูกไฟกระจายเร็วและตกกลิ้ง ยากแก่การควบคุม และทีมสนามต้องรอจังหวะการเข้าปะทะควบคุมเพลิงในพื้นที่เพราะไม่มีสัญญาณสื่อสาร ทำให้การรายงานทำได้อย่างล่าช้า การรอดูผลรอบดาวเทียมถัดไปเพื่อประเมินวางแผนหน้างานปฏิบัติจึงต้องช้าตามไปด้วย
3. ปัญหาน้ำดื่มไม่เพียงพอ แหล่งน้ำอยู่ห่างไกล ห้วยเล็กห้วยน้อยแห้งผากหมด (แม้ในชั้นต้นสนับสนุนเกลือแร่ซองเพื่อบรรเทาความอ่อนเพลียแล้วแต่ก็ต้องใช้น้ำสะอาดอยู่ดี จึงควรมีสถานีส่งน้ำหรือเก็บรักษาน้ำสะอาดไว้ตามจุดกระจายให้เพียงพอ
4. ควรพิจารณาทำฝายหินเตี้ยๆตามลำธารน้ำบนเขาไว้เป็นช่วงๆ รักษาความชื้นไว้ให้พอเป็นแนวกันไฟในหน้าแล้ง เพื่อไม่ให้ไฟลามเร็วเกินไป

นายวีระศักดิ์ กล่าวสรุปว่า "...ทีมที่จะเสี่ยงเข้าดับไฟมีน้อยกว่าขนาดพื้นที่มาก ทรัพยากรและอุปกรณ์สนับสนุนยังจำกัดมาก งบกลางแม้มีให้มาเป็นครั้งแรกก็มาถึงช้ามาก สิ่งเหล่านี้จึงควรที่ผู้นำระดับนโยบายต้องเข้ามาช่วยแก้ไขให้ลุล่วง ส่วนอีกด้านคือด้านป้องปรามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนจุดไฟ ซึ่งคาดกันว่าในไทยมีไม่น่าจะเกิน 3-4พันคน กระจายอยู่ตามชุมชนใกล้ป่า แต่ชาวบ้านด้วยกันไม่มีพลังในการห้ามปรามคนเหล่านั้น ดังนั้นการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจและฝ่ายปกครอง ตลอดจนนักจิตวิทยา ให้เข้าไปร่วมกับชาวชุมชนเพื่อจะทั้งกดดันทั้งชวนกลุ่มเสี่ยงให้เปลี่ยนกิจกรรม. ก็จะช่วยลดไฟในพื้นที่และดับไฟในใจผู้จุดลงได้อีกมาก ..."

"..ร่าง พรบ.อากาศสะอาดคงจัดระบบสนับสนุนและอำนวยการไปได้ก็จริง แต่ผลชี้ขาดจะอยู่ที่ภาคสนามที่มีทั้งแผนรุกเข้าดับไฟในใจผู้จุด ดังนั้น ภาคการเมืองและผู้มีอำนาจระดับต่างๆจึงควรสนับสนุนกลไกเหล่านี้ให้ต่อเนื่องจริงจัง..ถ้าชุมชนเข้มแข็ง ทีมเจ้าหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ทุกท้องถิ่น การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่สู้ทนกันมาเป็นสิบปี ก็จะมีความหวังได้ ดีขึ้น

ส่วนในเรื่องจุดความร้อนนอกราชอาณาจักร เราคงหนีไม่พ้นที่ต้องไปช่วยเพื่อนบ้านทั้งในระดับราชการและภาคประชาสังคมเช่นกัน

ซึ่งสัปดาห์หน้ากรมอุทยานฯและกรมกิจการชายแดนจะจัดฝึกอบรมการควบคุมป้องกันไฟในป่าให้ทีมของ สปป.ลาวเป็นครั้งแรก และคงจะต้องหาทางจัดให้เพื่อนบ้านอื่นๆต่อๆไปอีกด้วย ซึ่งจะดีมาก หากภาคธุรกิจมีส่วนสนับสนุนให้กิจกรรมดีๆอย่างนี้ก้าวหน้าไปได้เร็ว..." นายวีระศักดิ์กล่าวในที่สุด