สัมมนาอบรมอนาคตของอุบลราชธานีที่ยั่งยืนระหว่างข้าราชการรุ่นเยาว์กับทีมผู้ประกอบการรุ่นใหม่หอการค้าอุบลราชธานี
25 สิงหาคม 2567 นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและอดีตสมาชิกรัฐสภาบรรยายพิเศษในหัวข้อ "ภาพรวมและอนาคตของจังหวัดอุบลราชธานี" ในกิจกรรม YPC (Young Public and Private Collaboration) ที่อาคารสัมมนา เขื่อนสิรินธร อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
โดยมี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้นำคลื่นลูกใหม่จังหวัดอุบลราชธานี (Young Public and Private Collaboration: YPC)นายมงคล จุลทัศน์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน ข้าราชการ และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ กว่า 40 คนเข้าร่วมฝึกอบรมฯ ซึ่งจัดโดยหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี
กิจกรรมนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อพัฒนาความพร้อมของผู้นำรุ่นใหม่ในภาคราชการและเอกชนให้เข้าสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาระบบราชการและเศรษฐกิจตามสภาวการณ์ที่มีแต่จะเปลี่ยนแปลงไป และเพื่อพัฒนาขีดความสามารถ ความรู้ ทักษะ ทัศนคติ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วยการพัฒนาแผนพัฒนาจังหวัดให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์จากการลงพื้นที่ ระหว่างผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากทั้งภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน
การจัดฝึกอบรมนี้จะมีไปจนถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2567 รวม 3 วัน นอกจากการบรรยายให้ความรู้หัวข้อ แนวทางความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยคนรุ่นใหม่ (YPC)/ ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยอัตตลักษณ์จังหวัด /ภาพรวมและอนาคตของจังหวัดอุบลราชธานี
"CEO Talk พบ YPC" และการเสริมสร้างพลังและพัฒนาศักยภาพสู่การเป็นผู้นำการ เปลี่ยนแปลงในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัด รวมทั้งหลักการเขียนแผนงาน/โครงการแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมกลุ่ม สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดอย่างยั่งยืนด้วย
นายวีระศักดิ์ได้จุดประกายมุมมองใหม่จากข้อมูลจังหวัดด้านพลังงานว่า เวลานี้อุบลราชธานีมีความสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้น่าสนใจมาก ทั้งพลังน้ำ พลังแสงอาทิตย์จากการใช้แผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนซึ่งนับว่าเป็นการมีแผงพลังแสงอาทิตย์ลอยน้ำที่ใหญ่ติดอันดับโลก มีไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล ดังนั้นกล่าวได้ว่า อุบลราชธานีไม่มีไฟฟ้าที่มาจากพลังงานฟอสซิล ไม่ว่าจากน้ำมัน ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งย่อมมีผลให้ลดแหล่งรั่วไหลของมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ร้ายแรงไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว อุบลราชธานียังเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำสำคัญ3สาย ทั้งโขง ชี และมูล จนมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งแทบทุกปีในหน้าน้ำ แปลว่ามีทั้งน้ำจืด มีทั้งพลังงานสะอาด มีพื้นที่เหลือเพื่อการพัฒนาอีกมาก อยู่บนที่ราบสูง จึงไม่มีประเด็นให้ต้องกังวลเรื่องน้ำทะเลยกตัวทั่วโลก ไม่มีปัญหาน้ำเค็มรุกถึงแน่นอน ทั้งลำน้ำโขงท่อนที่ผ่านอุบลราชธานี มีปริมาณน้ำที่ไหลออกมาจากภูเขาและลำน้ำต่างๆจากในประเทศลาวเป็นหลักใหญ่ ทั้งลาวเป็นเขาสูงมีป่าไม้มากทำให้ฝนตกสม่ำเสมอ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้เอื้อโอกาสให้เป็นพื้นที่สำหรับดึงดูดกลุ่มอุตสาหกรรมข้ามชาติที่ยังต้องเตรียมย้ายออกจากเขตที่จะถูกน้ำทะเลยกระดับ ขาดน้ำจืดสำรอง ขาดพลังงานสะอาด แม้ทางรถไฟจีน-ลาวจะไม่มาในเส้นทางอีสานใต้ แต่อีสานใต้ก็มีทางรถไฟและระบบถนนที่เชื่อมต่อกับทั้งอนุภูมิภาคได้อย่างเข้มแข็ง วัฒนธรรมในพื้นที่เอื้อต่อการรับการผสมผสาน มีพรมแดนทางบกติดทั้งลาวและกัมพูชา ต่อเนื่องออกทะเลผ่านกัมพูชาหรือเวียดนามตอนใต้ เพราะถึงเวลาหนึ่งชายฝั่งทะเลจะขยับลึกเข้ามากว่าปัจจุบันได้อีกมาก โดยเฉพาะดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำหลักของโลกทั้งหลาย
ดังนั้นคนรุ่นใหม่จึงยังสามารถพัฒนาเครือข่ายให้ดึงดูดทุนและการบริการการศึกษาวิจัยให้เข้าในพื้นที่ได้อีกมาก ทั้งด้านวิทยาศาตร์นวัตกรรมการเกษตร การจัดการน้ำ การจัดการดิน การจัดการแร่ธาตุ การเป็นเมืองการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เจริญทั้งด้านเทคโนโลยีและวิชาธรรม ทั้งธรรมชาติ และรสพระธรรม กลุ่มเป้าหมายที่ควรเริ่มเชื่อมต่อไปเรื่อยๆให้ต่อเนื่องจึงอาจมีได้ทั้งจากเอเชียใต้ และตะวันออกกลาง เป็นต้น เพราะพื้นที่เหล่านี้จะถูกภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงกระทบอย่างรุนแรงมากจนจะต้องย้ายแหล่งประกอบการพร้อมกับขยับขยายการค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมที่มีค่าเข้ามาในพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่าทางธรรมชาติ