กทท. เปิดวงเสวนาท่องเที่ยวปลอดภัยปราศจากการค้ามนุษย์
กทท.’ เปิดวงเสวนา ‘ท่องเที่ยวปลอดภัยปราศจากการค้ามนุษย์’ ดึงภาคเอกชนวางเรดาร์ป้องอาชญากรรม...
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichon.co.th/region/news_5064073
‘กรมการท่องเที่ยว ’เปิดวงเสวนา ‘ท่องเที่ยวปลอดภัยปราศจากการค้ามนุษย์’ ดึงภาคเอกชนวางเรดาร์ป้องอาชญากรรม
เมื่อเร็วๆ นี้กรมการท่องเที่ยวจัดการประชุม ในหัวข้อเรื่อง การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย และปราศจากการค้ามนุษย์ (Tourism Industry VS Human Trafficking) ที่ห้องประชุมนนทรีย์ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยมี น.ส.วรธีรา สุวรรณศร ผู้อำนวยการกองพัฒนาบริการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนองค์กรภาคเอกชน ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมประชุมด้วย
น.ส.วรธีรา ผู้อำนวยการกองพัฒนาบริการท่องเที่ยว กล่าวว่า โครงการงานวิจัยของกรมการท่องเที่ยวที่จัดขึ้นในครั้งนี้เพื่อ ต้องการให้มีการปกป้องและต่อต้านการค้ามนุษย์ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ชาวต่างประเทศ ที่เข้ามาในประเทศไทย และนักท่องเที่ยวไทยเอง จึงกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต่างๆ คือ จังหวัดเชียงใหม่ อุดรธานี ชลบุรี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดภูเก็ต ที่อาจจะเกี่ยวข้องเนื่องจากมีประชากรแฝงจำนวนมาก เพื่อให้ได้หลักสูตรออกมา อย่างน้อย 3 หลักสูตร และผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องนำหลักสูตรนั้นไปอบรม ให้ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่อีกต่อหนึ่ง ให้ได้ 400 คน และประโยชน์ที่จะได้รับ คือ แนวทางการดำเนินการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวและเครือข่าย เฝ้าระวังปัญหาที่เกิดขึ้นและแนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Tourism Goals : STGs ที่มีอยู่ข้อหนึ่งในเป้าหมายย่อย เป็นเรื่องของการขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็ก ทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมทั้งการค้ามนุษย์ ในการแสวงหาประโยชน์ในทางเพศต่างๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทำอย่างไรให้ภาคส่วนการท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการแก้ไข
ผู้อำนวยการกองพัฒนาบริการท่องเที่ยวกล่าวอีกว่า เนื่องจากสถิติข้อมูล เกี่ยวกับผลประโยชน์ทางเพศมีสูงถึง 39% และเด็กที่เป็นเหยื่อประมาณ 18% จนทำให้ไทยอยู่ในอันดับ TIER 2 (ประเทศที่ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองเหยื่อจากการค้ามนุษย์โดยสมบูรณ์ แต่กำลังใช้ความพยายาม อย่างยิ่งในการปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านั้น) ที่เคยปรับมาจาก TIER 2 WATCHLIST (ประเทศที่มีการรายงานถึงเหยื่อการค้ามนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น หรือไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลของประเทศนั้นๆ ได้พยายามต่อต้านการค้ามนุษย์) แต่ยังอยู่ในความดูแลและจับตามองของประเทศต่างๆ อยู่ ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การค้ามนุษย์ ที่องค์ประกอบในเรื่องของการกระทำ ความผิดมี 3 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการค้าประเวณีสื่อลามกผลประโยชน์ทางเพศหรือแม้แต่การเป็นขอทานเป็นการหาประโยชน์โดยมิชอบทั้งสิ้น ในช่วงที่ผ่านมานั้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดีและการ ช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการหรือบูรณาการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ค่อนข้างชัดเจน แต่หลายจังหวัดที่ไปประชุมมา การทำงานยังไม่ชัดเจน
“สำหรับการจัดเก็บข้อมูล Real Time จนถึงปัจจุบัน มีข้อมูลเป็นคดีสูงถึง 381 คดี มีผู้เสียหายที่ได้รับการช่วยเหลือ คุ้มครอง ประมาณ 600 คน และผลกระทบเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการแกะรอยขอทาน Lounge เถื่อนที่แม่สาย รวมทั้งกรณีการหลอกลวงดาราซิงซิงชาวจีน ออกไปบริเวณชายแดนที่แม่สอด เรื่องนี้เป็นผลกระทบมากๆ สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะมาประเทศไทย First Visit อาจจะมีผลกระทบในการเข้ามาท่องเที่ยว หลายคนก็ติดต่อเรามา เช่น ให้หารถตู้ที่ปลอดภัย เป็นความกังวลของนักท่องเที่ยวส่วนนักท่องเที่ยวที่เคยมาแล้วมองเห็นภาพต่างๆ ดี อย่างไรก็ดีในภาคส่วนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเราจะทำอย่างไรให้จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพได้ จำนวนนักท่องเที่ยวที่ตั้งเป้าไว้ในปีนี้คือ 39 ล้านคน ส่วนปีที่ผ่านมาตั้งไว้ที่ ประมาณ 36.7 ล้านคน แต่เข้ามา 35.54 ล้านคน” ผู้อำนวยการกองพัฒนาบริการท่องเที่ยวกล่าว และว่า หากมีปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการค้ามนุษย์จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อทุกฝ่าย ทั้งโรงแรม รีสอร์ต และในวันนี้เมื่อมีการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ หากสามารถป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ จะมีส่วนนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มสูงขึ้น ที่ผ่านมากรมการท่องเที่ยวมี 56 มาตรฐาน ระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน ได้ดำเนินโครงการเกี่ยวกับ การส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับเด็ก (Child Safe Friendly Tourism Project) มีการลงนามความร่วมมือกับ 21 หน่วยงาน ตลอดจนมีการอบรม ให้กับหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับเด็ก และมาถึงโครงการนี้ จะขยายไปสู่ผู้ใหญ่หรือกลุ่มอื่นต่อไป จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวมีองค์ความรู้ในการป้องกันได้ และโครงการท่องเที่ยวที่ศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ ต้องการที่จะมาสอบถามในพื้นที่ โดยเฉพาะภารกิจของหน่วยงานต่างๆ และแนวทางในการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ และคู่มือหรือหลักสูตรที่จะต้องจัดทำขึ้นมาจะต้องพิจารณาครอบคลุมไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เช่น หลายจังหวัดพิจารณาเสนอครอบคลุมไปถึง นักเรียนและนักศึกษา และจริงๆ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ถูกหลอกเป็นจำนวนมาก
ด้าน ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กล่าวว่า เงินสกปรกในโลกนี้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในระดับนานาชาติ อันดับแรกคือ การค้ายาเสพติด รองลงไปเป็นการค้าอาวุธ และการค้ามนุษย์ ประเทศไทยเริ่มตื่นตัวขึ้นมาเนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้รายงานข้อมูลการค้ามนุษย์รายประเทศในขณะเดียวกันองค์การสหประชาชาติเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ สำหรับโครงการที่กรมการท่องเที่ยวดำเนินการอยู่ในวันนี้ เจ้าหน้าที่มาบอกกล่าวหลักการคืออะไรและต้องการมารับรู้ข้อมูลเนื่องจากว่า รูปแบบของการค้ามนุษย์เปลี่ยนประเด็นไปมาก ไม่ใช่เป็นการค้ามนุษย์ของคนชายขอบที่ไม่มีเสียง ยากจนไม่มีการศึกษา เป็นแรงงานไม่มีทักษะ เหมือนในอดีต แต่ในปัจจุบันมีคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกเงินคนไทยไปหลายหมื่นล้านบาท เรื่องนี้กลับเป็นการสร้างปัญหาโดยผู้ที่มีการศึกษา พูดจารู้เรื่องหว่านล้อมเป็นและมีการใช้เทคโนโลยีเป็น โดยเป็นการเอา Generation เด็ก ไม่ว่าจะเป็นแรงงานทางเพศแรงงานประมง หรือแรงงานชนิดไหนก็ตาม เคยมีการไปช่วยเหลือเด็กหญิงที่มาจากประเทศ สปป.ลาว หลอกว่าให้มาทำงานในโรงงานแถวบางแค แต่พอเข้าไปแล้วถูกทุบตีทารุณ ไม่ให้ออก ไม่ให้พักจับใส่ถุงพลาสติกสีดำและเอาน้ำยาล้างห้องน้ำราดลงไปด้วย ให้อยู่ในถุงเป็นวันๆ ในที่สุดพยายามหลบหนีออกมาได้จากห้องแถวที่มีการควบคุมให้ทำงานเกี่ยวกับการถักผ้าลูกไม้ จนเจ้าของถูกดำเนินคดีในข้อหาการค้ามนุษย์
ดร.วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับในภาคส่วนของผู้ประกอบการโรงแรมและการท่องเที่ยว ภาคประชาสังคม ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ และโรงแรมเป็นสถานที่ส่วนหนึ่งที่ผู้ที่ก่อเหตุใช้ดำเนินการบางส่วนบางตอน หรือก่อนการก่อเหตุ เพราะเป็นที่นัดพบกันร้านกาแฟอาจจะเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องมีการตระหนักรู้ มอบหมายให้พนักงานสังเกตการณ์ผู้เข้าพัก ว่าผู้มาติดต่อนั้น เป็นนักท่องเที่ยวปกติหรือมีอะไรแอบแฝง ควบคู่ไปกับกลุ่มภาคประชาชนที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมเช่นเดียวกัน และหากปัญหาการค้ามนุษย์เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบในภาพรวมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองท่องเที่ยวทั่วประเทศ ในขณะเดียวกันยังรวมความไปถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ออกใบอนุญาตโรงแรม เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคม หรืออื่นๆ หากเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบกับเมืองท่องเที่ยว
ดังนั้นการที่มีเรดาร์กว้างขึ้น โดยสังเกตรวบรวมข้อมูลสถิติเช่นปัญหาที่เกิดขึ้น มักจะเกิดขึ้นในโรงแรมระดับ 3 ดาว มากกว่า 4 ดาว ช่วงวันเวลา ที่เกิดเหตุผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 2 หรือ 3 คน การรวบรวมข้อมูลสถิตินี้เป็นข้อมูลทางวิชาการในพื้นที่เมืองท่องเที่ยว ที่จะถูกประมวลผลรวบรวมเอาไปเป็นกรณีศึกษาหรือมีแนวทางป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้...
ที่มา https://www.matichon.co.th/region/news_5064073