แนวทางการรับมือภาษีทรัมป์
“ไทยเจอกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ 36%” ประเด็นพาดหัวข่าวที่กำลังเป็นที่ร้อนแรงในเวลานี้สำหรับประเทศไทย ไม่ต่างจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เพียงไม่นาน ทำเอารัฐบาลไทยระส่ำระส่ายไปตามกัน เพราะมีปัญหาต่อแถวเข้ามาให้แก้ไม่หวาดไม่ไหว ทางด้านฝั่งนักวิชาการ นักวิเคราะห์ และสำนักข่าวมากมายก็ออกมาพูดถึงประเด็นนี้อย่างพร้อมเพรียงกัน
และจากเหตุการณ์นี้เอง ทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริงทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในหลากหลายประเด็นมากขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือสินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทยไปยังสหรัฐฯ ไม่ใช่สินค้าเกษตร หรือสินค้าที่เราเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง แต่มันกลับเป็นสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์และอุปกณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยางรถยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และหม้อแปลงฟ้า ที่มีประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเท่านั้น และรายได้จากการส่งออกนี้ได้กินสัดส่วน 15-18% ของภาคการส่งออกทั้งหมดของไทยทีเดียว ซึ่งประเด็นนี้เอง น่าสนใจตรงที่ในเมื่อเราเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แล้ว เราก็ควรมีเทคโนโลยีที่จัดการขยะประเภทนี้ด้วยเลยดีไหม?
คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ หรืออดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ The Leader Insight ทาง YouTube Channel เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ถึงแนวทางการรับมือภาษีทรัมป์ นี้ว่า ประเทศไทยควรใช้วิกฤตนี้ เป็นโอกาสในการเดินหน้าแก้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับรักษาเสถียรภาพทางการค้าควบคู่ไปด้วยกัน
“ไทยไม่ควรเอามิติทางการเมืองไปแลกกับสหรัฐ อย่าแก้ปัญหาด้วยการซื้ออาวุธ เพราะยิ่งซื้อก็ยิ่งพึ่งพา ของพวกนี้มันต้องซ่อมทำนุบำรุง เราต้องเอาเรื่องที่ยังไงก็ต้องเสียตังอยู่แล้วอย่างสิ่งแวดล้อม เข้าไปต่อรองกับสหรัฐฯ ผ่านการพึ่งพาเทคโนโลยี และองค์ความรู้ของเขา เพราะสหรัฐฯ มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาไปไกลกว่าหลายประเทศแล้ว”
“แนวโน้มขยะอิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบันมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการของตลาด ตอนนี้อายุแบตเตอรี่โซลาร์เซลรุ่นแรกๆ ก็ทยอยหมดอายุกันแล้ว หากเราซื้อเทคโนโลยีนี้ เราก็สามารถเป็นศูนย์กลางในอาเซียนที่สามารถจัดการขยะเหล่านี้ได้ เพราะยังไงมันก็เป็นราคาที่ต้องยอมจ่าย ไม่มีใครอยากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อนมลพิษหรอก”
นอกจากนี้คุณวีระศักดิ์ ก็ได้เสนอแนวทางอื่นๆ เพิ่มเติมอีก เช่น เทคโนโลยีการจัดการบำบัดน้ำ, เทคโนโลยีซีเมนต์ zero carbon, เทคโนโลยีการทำฟาร์ม และการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่มีการเผา ทั้งหมดนี้นอกจากจะช่วยให้การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยั่งยืนแล้ว ก็ยังเป็นการนำประเทศให้เข้าใกล้กับเป้าหมายด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) ด้วยเช่นกัน
แต่ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลไทยจะให้เรื่องไหนเป็นสำคัญ
ที่มา :