‘วีระศักดิ์’ ชี้ไทยน่าวิตก ในสถานะประเทศรับเคราะห์จากก๊าซเรือนกระจกมากกว่า” จี้รัฐเร่งออกกม.สิ่งแวดล้อม 3 ฉบับ
26 พฤศจิกายน 2564 ‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ชี้ให้เห็นความเร่งด่วนของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (climate change ) ว่าน่าห่วง น่าวิตกในสถานะประเทศผู้รับผลกระทบมากกว่าผู้ก่อก๊าซเรือนกระจก
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก อันนำมาสู่การประชุมของผู้นำด้านภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่จบลงแล้วนั้น “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” ในฐานะรองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้อภิปรายติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ในนามคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา เมื่อวันอังคารที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา
นายวีระศักดิ์ ยกตัวอย่างอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปีนี้ ว่าทั้งภาคเหนือ อีสาน ใต้ และกระทบมาถึงกรุงเทพฯ ด้วย “ถึงแม้ประเทศไทยไม่น่าห่วงมาก ในด้านประเทศผู้ก่อก๊าซเรือนกระจก แต่ด้านผู้รับผลกระทบนั้นน่าเป็นห่วงมากขึ้น ในปีนี้ปริมาณของน้ำฝนที่มากกลายเป็นน้ำเหนือไหลบ่าท่วมพื้นที่ทางการเกษตร และบ้านเรือนราษฎร โดยที่เขื่อน ประตูกั้นน้ำก็เอาไม่อยู่ ช่วยไว้ไม่ได้ ขณะที่กรุงเทพฯ พอเจอน้ำทะเลหนุนก็ทำให้พื้นที่ใกล้ริมน้ำท่วมด้วย ผลกระทบดังกล่าวมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น”
จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดเสนอ ร่างพรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่าง พรบ.ความหลากหลายทางชีวภาพ ร่างพรบ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เข้าสู่รัฐสภาตามแผนปฏิรูปด้านนิติบัญญัติ โดยเร็ว
รวมถึงเสนอให้รัฐบาลไทยตั้ง Climate Change Spoke Person คือโฆษกทางการที่สามารถสื่อสารได้หลายภาษาสำหรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศออกมาสื่อสารกับภาคประชาสังคมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างพลังร่วมการเปลี่ยนแปลงระดับสังคมอย่างต่อเนื่อง
ส่วนเป้าหมายการเพิ่มที่สีเขียว เขาเสนอให้มุ่งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวในที่ดินของรัฐด้วย ทั้งในที่ดินที่รัฐนำมาจัดเอกสารอนุญาตให้ราษฏรเข้าทำประโยชน์หรือ ที่ดิน คทช. รวมทั้งเร่งใช้กฏหมายสวนป่ามาส่งเสริมเจ้าของที่ดินเอกชนให้ปลูกไม้ยืนต้น เพราะมีค่าสูงกว่าทางเศรษฐกิจ สามารถรักษาความชื้นและลดภาวะโลกร้อน ด้วยการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ลงสู่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายวีระศักดิ์ ยังชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการให้สินเชื่อพิเศษที่เอื้อการปลูกป่าเอกชน ตลอดจนการพัฒนาเกณฑ์ที่รัฐใช้ประเมินภาษีที่ดินที่น่าจะเป็นอีกเครื่องมือเอื้อให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้น ซึ่งจะดีกว่าปล่อยให้ปลูกกล้วย ปลูกมะนาว เพียงเพื่อจะอ้างว่าเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรเพื่อลดอัตราภาษีที่ดินเฉยๆ และเห็นควรที่รัฐสภาจะเลิกโทษจำคุกในกฏหมายสวนป่า เพราะควรเป็นกฏหมายเพื่อสนับสนุนส่งเสริม มากกว่าจะเพื่อบังคับควบคุม
“กับอีกประเด็นหนึ่ง ขอเรียกร้องให้รัฐยืนยันนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการไม่ต่ออายุการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศตามแผนเดิม แต่เน้นส่งเสริมกิจการภาคสังคมที่พยายามนำขยะพลาสติกในประเทศจากป่าช้าขยะที่ล้นท่วมของเทศบาลต่างๆ ออกมาคัดแยกทำพลังงาน ทำปุ๋ยอินทรีย์ หรือหลอมเป็นวัสดุหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ต่อไป สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ประเทศไทยลดสร้างก๊าซเรือนกระจก และลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม”
---------------------------------------------
ที่มา https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000117245