วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : กฏหมายของประเทศไทย
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตกรรมการพัฒนากฏหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ออกมาเขียนบทความหัวข้อเรื่อง “กฏหมายของประเทศไทย” ไว้น่าสนใจดังต่อไปนี้
1. วางอำนาจไว้ที่อธิบดี จนทำให้เมื่อจำนวนอธิบดีมีกว่า 150 คน จึงเกิดอาณาจักรน้อยๆ ที่มี พรบ.ของแต่ละอธิบดีเป็นเสมือนรั้ว การบูรณาการกันจึงทำโดยธรรมชาติไม่ค่อยได้
2. จึงทำให้ต่อมามีการสร้าง กม. และระเบียบให้เกิดคณะกรรมการจำนวนมากก็เพื่อให้บรรดาอธิบดีมาเจอหน้ากัน ร่วมรับผิดชอบแก้ปัญหาเดียวกัน แพล่บเดียวเท่านั้น ปรากฏว่าเกิดคณะกรรมการจำนวนมากจนอธิบดีตัวจริงก็ไปเองไม่ไหว..ได้แต่มอบลูกน้องไป ส่วนประธานการประชุมที่จะทำเรื่องคร่อมอำนาจหลายกระทรวงก็มักต้องอาศัยรองนรม.หรือหลายอย่างก็ระดับ นรม. ซึ่งก็มีสารพัดภารกิจเมื่อบวกกับภารกิจประธานคณะกรรมการเข้าไปเฉลี่ยท่านละ 30 ชุดก็จะบริหารเวลาแทบไม่ไหว ฝ่ายเลขาการประชุมชุดต่างๆจึงทำได้เพียงนัดและบริการการประชุมไม่ได้มีเวลาทำยุทธศาสตร์การมุ่งสู่เป้าหมาย เป็นเหมือนเอาข้อความมาผสมๆ คนให้รวมๆ กันไป..ประสิทธิภาพย่อมน้อย
3. กฏหมายหลายฉบับเก่าล้าสมัย..จะแก้ไขก็ขาดผู้ชำนาญการในการแก้ไขหรือยกร่าง..นักกม.ในหน่วยราชการปัจจุบันกลายเป็นนิติกรวินัยราชการจนทำงานด้านเขียนกฏหมายและระเบียบไม่ถนัด
4. กฏระเบียบที่เขียนส่วนใหญ่จึงเน้นการทำให้กรมทำงานสะดวกขึ้น แต่เป็นภาระและจำกัดสิทธิเพิ่มหน้าที่ให้เอกชนและประชาชนมากขึ้น
5. มีการกำหนดโทษการฝ่าฝืนที่มากหรือน้อยเกินความเหมาะสมหรือจำเป็นจนบางครั้งไม่ได้สัดส่วน เบาไปบ้าง..หนักไปบ้าง..หรือมีทางเลือกในการแก้ไขบังคับน้อยไปบ้าง
6. ขาดกฏหมายกลางของปประเทศมานาน..ส่วนมากมีแต่กฏหมายของกรมระบบจึงลักลั่นไม่ราบรื่น ไม่ได้แบบแผนที่จะทำให้มีความเป็นอัตโนมัติ ใบอนุญาตแต่ละใบจึงต่างฝ่ายต่างออก..ต่างฝ่ายต่างกำหนดเงื่อนไขเงื่อนเวลา
7.ผู้มีเครื่องมือทางกฏหมาย 99% ก็คือรัฐ รัฐใช้ข้าราชการเป็นคนเขียนร่าง และบังคับใช้ จึงยากที่จะฝากให้ข้าราชการอยากคิดแก้ระเบียบเพื่อลดอำนาจของตัวเองลง..เพราะย่อมทำให้งานของตัวทำยากขึ้น ครั้นจะจ้างให้นักวิชาการสถาบันการศึกษามายกร่างให้..นอกจากจะประสบการณ์บริหารราชการแผ่นดินมีน้อยแล้วยังมีผู้สนใจทุ่มเททำหน้าที่คิดยกร่างภาษากฏหมายแบบอ่านเข้าใจง่ายๆ ก็มีจำนวนน้อยด้วย การพิจารณาปรับปรุงกฏหมายระเบียบ..จึงทำได้ยาก
8. กระบวนการผลิตและแก้ไขกฏหมายขึ้นกับปฏิทินการเมืองด้วย..มีหลายขั้นตอน..และผลก็คือกินเวลานานจนคนทุกฝ่ายล้มหายย้ายงานกันไประหว่างทางเป็นจำนวนมาก ยิ่งภาคประชาชนและเอกชนที่ไม่มีเงินเดือนประจำมาทำงานด้านผลักดันกฏหมายก็ยิ่งยากที่จะมีสายป่านยาวพอจะกัดติดหรือตามติดไหว
9. การกิโยตินกฏหมายในอดีตคือการถามความสมัครใจของกรมให้ไปคิดว่าอยากขจัดกม.ที่ล้าสมัยฉบับใดออกไปบ้าง ซึ่งแม้ขยันทำเต็มที่ก็จะทำได้เพียงสองสามฉบับในสิบปี ต่อมามีคณะกรรมการและคณะทำงานควานหากฏหมายมายกเลิก..ก็อาจทำได้คราวละ 30-40 ฉบับ ด้วยพระราชบัญญัติยกเลิกกฏหมายที่ไม่เหมาะแก่กาลสมัย แต่ย่อมไม่พอที่จะลดปริมาณกฏ
ระเบียบที่ออกใหม่ได้เร็วกว่า ไทยมีกฏสารพัดรวมแล้วราวหนึ่งแสนฉบับ คงอีกนานนับชั่วชีวิตจึงจะเอามาทำความเข้าใจและผูกเข้าเชื่อมกันได้เป็นระบบ ส่วนกิโยตินแบบเกาหลีช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งใช้ความกล้าหาญระดับประธานาธิบดี..ใช้วิธีกลับหลักการที่เคยๆทำมา จากฆ่าทีละฉบับไปเป็นฆ่าทิ้งทุกฉบับ..แล้วค่อยมาพิจารณาว่าจะชุบชีวิตมาตราใดของฉบับไหนบ้าง ในชั่วเวลาไม่นานปรากฏว่าประเทศเดินต่อและพัฒนาไปได้โดยชุบชีวิตกฏหมายกลับมาเกือบไม่ถึงครึ่ง!!
10. ที่ผมอธิบายมานี้ไม่ใช่ความคิดหรือข้อค้นพบใหม่…แต่ถูกบันทึกไว้โดยคณะกรรมการพัฒนากฏหมาย และคณะกรรมการกฤฏีกามาในสามสี่ปีนี้ นี่เป็นอาการและสาเหตุทั่วไปที่ถูกสังเกตไว้ เป็นงานที่ผมคิดว่าท้าทายและน่าขยับมาก..แต่ก็ซับซ้อนพันไปถึงสารพัดเรื่องในระบบนิติบัญญัติและระบบราชการไทยมากๆครับ สถานะของสมาชิกวุฒิสภาจึงดูจะมีความนิ่งมากกว่าองคาพยพอื่นๆที่มีเทอมไม่แน่นอน…ไม่มีโยกย้ายหรือเกษียณอายุ..และรัฐธรรมนูญก็ระบุแล้วว่าใครมาเป็นสมาชิกวุฒิสภารอบนี้ ย่อมต้องห้ามมิให้กลับมาเป็นวุฒิสมาชิกไปตลอดชั่วชีวิต และจะย้อนกลับไปเป็นสส.หรือรัฐมนตรีอะไรก็ไม่ได้อีกจนกว่าจะพ้นจากความเป็นสว.ไปแล้วเต็มสองปี การช่วยกันวางแผนลดจำนวนกฏหมาย ซ่อมปรับปรุงกฏหมายให้ทัน4.0 และการมุ่งปฏิรูประบบของรัฐจึงเป็นภารกิจที่สว.ชุดนี้จะช่วยได้อย่างมีนัยสำคัญมากครับ
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา
รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา
ที่มา ตีพิมพ์ในมติชน
---------------------------------------------