ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

กิจกรรมพายเรือแคนู-ซับบอรด์ ปั้นโปรโมทตลาดน้ำไทรน้อย

 

บ่ายวันลอยกระทง 19 พฤศจิกายน 2564 ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมให้กำลังใจแก่ทีมทำงานของ หอการค้าจังหวัดนนทบุรี และทีมนักบริหาร YEC ของหอการค้าจังหวัด ที่ร่วมกับเทศบาลไทรน้อยพยายามปั้นให้ตลาดน้ำไทรน้อย ที่เคยคึกคักมาแต่โบราณ ให้เกิดมีกิจกรรมสำหรับการพายเรือแคนู พายซับบอรด์ เพื่อดึงดูดให้คนมาร่วมพัฒนาให้คลองนี้ มีมากกว่าการเป็นย่านการค้า แต่เป็นเสมือนสวนสาธารณะทางน้ำที่มีชีวิตชีวา

บ่ายนี้รองผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมนายอำเภอหญิง ทีมของเทศบาลไทรน้อยและผู้แทนหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ทีมท่องเที่ยวกีฬาจังหวัด และทีมททท.สำนักงานกรุงเทพมาร่วมจากฝ่ายราชการ ฝ่ายเอกชนจากในหอการค้านั้นมาเพียบอยู่แล้ว แถมมีเชิญทีมสวัสดีเอื้องหลวงของการบินไทยมาช่วยอบรมบุคลากรในการดูแลบริการต่างๆให้เป็นมาตรฐานระดับสากล มีนายกสมาคมท่องเที่ยวในประเทศ คุณเม่น ภูริวัฒน์ นั่งรถมาจากกิจกรรมสุดท้ายที่จ.ตราดมุ่งมาร่วมพร้อมคณะอย่างอบอุ่น มีผู้บริหารจากสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติที่บ้านอยู่ในละแวกนี้ก็มาร่วม

ภาคประชาชนมีทูตอารยสถาปัตย์ นำทีมโดย คุณหนึ่งบนวีลแชร์ไฟฟ้าจากหลักสี่และนักท่องเที่ยวกลุ่มมนุษย์ล้อและผู้พิการทางการเคลื่อนไหวมาร่วมจากปากเกร็ดและอีกจากหลายโซนมาร่วมงาน ท่าน้ำแห่งนี้นับว่าอยู่ไม่ไกลกรุงเทพเลย ถ้าลงสุดทางด่วนที่ถนนกาญจนาภิเษก วงแหวนตะวันตก ก็แล่นต่ออีกราว 30 นาทีก็พอจะถึงที่หมายได้

น้ำในคลองพระพิมลราช ซึ่งเป็นคลองขุดตรงเชื่อมระหว่างนนทบุรียาวไปถึงบางเลน นครปฐมนี้ ยังมีคุณภาพตามควร ที่นี่ไม่ค่อยมีปัญหาน้ำท่วมบ่อยนัก เพราะมีประตูควบคุมระดับน้ำอยู่ทั้งสองด้าน หัวและท้ายคลอง ข้อดีคือที่นี่ไม่เห็นมีเรือหางยาวแล่น คงเพราะถนนเข้าถึงทุกบ้านมานานแล้ว ดังนั้นคนริมน้ำจึงไม่ต้องมีคลื่นกระแทกฝั่งแรงๆหรือเสียงบิดแรงๆ ให้ต้องหลบต้องทน หลังพิธีเปิดผ่านไป ผมลงพายคายัคแล้วแว่บแยกจากเหล่าไปล้วงหาเศษถุงเศษขวดพลาสติกในกอผักตบ พอได้ขยะพลาสติกและโฟมออกมาอีกรวมเป็นถุงเล็กๆ ส่งให้เทศบาลรับไปจัดการต่อ เพราะในกอสวะ กอผักตบมักจะมีเศษขยะหลบตาคนเก็บเสมอ ลงเรือพายครั้งใดจึงอดไม่ได้ที่ต้องคืนชีวิตให้สายน้ำตามอำนวย 
 
จากนั้นคุณหนึ่งบนวีลแชร์ไฟฟ้าอยากเห็นผมลองพายซับบอรด์ ผมเลยถามคุณหนึ่งว่าเคยลงนั่งในคายัคมั้ย ถ้าสนใจจะลอง วันนี้เรามีทีมนักพายคายัคมาร่วม ไม่ผมก็นักกีฬาทีมชาติกีฬาพายเรือชุดนี้น่าจะดูแลให้คุณหนึ่งได้ลองวางตัวให้นั่งรับฟีลลิ่งในเรือได้ ถ้าเป็นวันอื่น คนที่เชี่ยวชาญคงไม่ได้มีให้อุ่นใจได้ครบคนอย่างนี้ คุณหนึ่ง สนใจลอง ถอดรองเท้าหนังที่สวมออกเลย บอกว่านี่จะเป็นประสบการณ์ครั้งแรกกับคายัค นายกเม่น คุณภูริวัฒน์ คุณโทนี่เจ้าของไอเดียโครงการนี้ และผมจึงประคองคุณหนึ่งมาลงนั่งในเรือแคนูลำใหญ่ดูก่อน ว่าสามารถจัดท่าได้มั่นคงมั้ย แคนูใหญ่มีเบาะพิงหลังอย่างแข็งแรง ในการประคองคุณหนึ่งลง ผมสามารถยืนถ่ายน้ำหนักหนึ่งขาบนท่าเทียบกับอีกหนึ่งขาเหยียบไว้ที่เส้นกลางในเรือได้สบาย ปรากฏว่าขนาดตัวคุณหนึ่งลงนั่งในที่นั่งในเรือได้ ไม่คับไปไม่หลวมไป จึงสวมชูชีพให้เรียบร้อย แล้วนักพายเรือคายัคดีกรีทีมชาติก็พาเรือเคลื่อนออกไปลอยลำช้าๆในคลองที่ไม่มีคลื่น โดยผมและน้องๆ ซึ่งเป็นครูสอนพายเรือพายซับบอรด์ประกบอยู่ไม่ไกล

ใช้เวลาราวสองสามนาที ได้ฟีลแล้วล่องพาคุณหนึ่งกลับขึ้นฝั่งเรียบร้อย คายัคใหญ่อย่างนี้ปลอดภัยดี เพราะเมื่อจัดลงที่นั่งได้ จุดศูนย์ถ่วงของทั้งลำเรือจะอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำนอกเรือเอง แถมท้องเรือแบนออก ไม่ใช่เรือท้องกลมจึงจะไม่พลิกคว่ำง่าย ต่างกับเรือแจวที่เรานั่งอยู่เหนือระดับน้ำ จุดศูนย์ถ่วงจะอยู่สูงขึ้นมามากกว่า แถมท้องเรือกลมการเลี้ยงตัวจะต้องคุ้นชินมากกว่า ขอเพียงไม่เอื้อมตัวไปหาอะไรไกลๆ ด้านข้างเรือ เรือแคนูใหญ่ก็จะไม่มีโคลงเคลงอย่างเรือแจว จากนั้นผมออกพายซับบอรด์ต่ออีกเล็กน้อย แล้วขึ้นฝั่งอำลากัน จะได้คืนเรือให้ครอบครัวชาวบ้านที่มาเยือนได้ลองพายบ้าง ก่อนจะแปรพื้นที่เป็นท่าลอยกระทงไปในช่วงมืดค่ำหลังจากนั้น สิ่งที่ที่นี่น่าจะทำแผนปรับปรุงได้ต่อคือห้องน้ำที่มี อารยสถาปัตย์แบบไม่ต้องหรูหรา มีจุดจอดรถที่สำรองให้รถเข็นวีลแชร์ รถเข็นเด็กเล็ก สามารถเปิดปิดประตูขึ้นลงพาหนะได้สะดวก กับถ้าจะมีกิจกรรมไปถึงช่วงค่ำ ก็เพียงเติมแสงสว่างตามจุดต่างๆไปตามจำเป็น ใช้พลังโซลาร์เซลล์ประกอบได้เพราะไม่จำเป็นต้องเปิดไฟทั้งคืน

คุณหนึ่งเล่าเรื่องนี้ให้ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดฟัง ท่านรองผู้ว่าฯก็ไว เชิญทีมเทศบาลมารับประเด็นไปพัฒนาต่อ ทีมเทศบาลตอบว่ากำลังศึกษากันอยู่พอดีเลยประเด็นนี้ 
งั้นเบาใจ…พวกเราแยกย้ายกันกลับพร้อมขนมท้องถิ่นอร่อยๆไปฝากคนที่บ้านค่ำนี้กัน

ที่ใดที่ผู้พิการไปเที่ยวได้ ย่อมแปลว่าคนสูงอายุ เด็กเล็กในรถเข็น สตรีมีครรภ์ และทุกคนในครอบครัวก็จะไปได้สะดวก เดินได้ทั่ว ช้อปได้สนุก

นี่คือสิ่งที่แหล่งท่องเที่ยวไทยควรทำ ใช้ทุนไม่สูง แต่ต้องใส่ใจให้มาก ใช้วัสดุและช่างท้องถิ่นก็ทำได้ แต่ต้องมีแผน มีแบบ และมีทีมทดสอบก่อนตรวจรับงาน

เป็นอันจบภารกิจงานวันลอยกระทงแบบเน้นให้เกิดพื้นที่อนุรักษ์คูคลอง สร้างการท่องเที่ยวเชิงชุมชน เพิ่มรายได้ให้ชาวบ้านและวางจุดเริ่มของการสร้างแหล่งท่องเที่ยวระดับครอบครัว ที่จะมาหลากหลาย ให้ขยับรับทันก่อนที่จะถึงการเปิดเส้นทางโทลเวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี-พุน้ำร้อน ชายแดนไทย-เมียนมาร์ ที่งานสร้างทางเสร็จไปเกิน60%แล้ว

ในไม่ช้า ท่าน้ำและสวนสาธารณะทางน้ำสำหรับพายเรือเล็ก พายคายัค และซับบอรด์ ตลอดถึงกิจกรรมอื่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพลังงานสะอาดก็อาจจะประคองตัวเป็นที่หมายใหม่ให้ผู้เดินทางหรือผู้หากิจกรรมครอบครัวได้ใช้เป็นที่นัดหมายได้อีกแห่ง ในจังหวัดนนทบุรี

ถิ่นที่อยู่อันรุ่งเรืองและกลมเกลียวของวัฒนธรรมในสายน้ำภาคกลางของไทยพุทธ ไทยรามัน ไทยจีน และไทยมุสลิมที่สืบทอดมานานหลายศตวรรษตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแห่งนี้ต่อไป
 
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา

รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา

ที่มา https://www.facebook.com/Weerasak-Kowsurat

 ---------------------------------------------