ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

ท่องเที่ยวสร้างสรรค์ : ขบวนรถไฟล้านนา (เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง)

 

13 กุมภาพันธ์ 2565 วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 
 
ท่องเที่ยวสร้างสรรค์ : วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ท่องเที่ยวสร้างสรรค์ : ขบวนรถไฟล้านนา (เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง) 
 
4 ปีก่อน ขณะยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬานั้น ‘’อาจารย์ภา’’ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช จากสำนักงานสกสว.(ย่อมาจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม) นำแฟ้มปึกเบ้อเริ่ม พร้อมคณะนักวิจัยจากสารพัดเครือข่ายต่างๆมาเข้าพบเพื่อนำเสนอผลวิจัยอันหลากหลายเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวให้ผมได้รับฟังและเปิดโอกาสให้ผมซักถามด้วยความน่าสนใจยิ่ง

ผมจำได้ว่าเราได้ประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ในผลวิจัยหลายชิ้นมากทีเดียว แถมยังได้นัดรับฟังกันต่ออีกหลายหน มีนัดที่ไปใช้สถานที่นั่งคุยวงใหญ่ที่รัฐสภาถนนอู่ทองในบ้าง ไปที่กระทรวงท่องเที่ยวฯบ้าง

และนี่แหละคือหนึ่งในที่มาของนโยบายสาธารณะที่ผมใช้ในการชี้นำหน่วยงานในกำกับหลายๆเรื่อง

งานวิจัยจึงไม่อยู่ที่หิ้ง …แต่ทะลุห้าง ไปถึงตัวผู้วางนโยบายได้อย่างมีชีวิตชีวา

ดังนั้น เมื่อข้อมูลวิจัยผนวกเข้ากับประสบการณ์ส่วนตัวของผู้สั่งนโยบาย
ประกอบเข้ากับข้อมูลที่รับฟังจากผู้ประกอบการ และมัคคุเทศก์ จนถึงจากผู้บริหารท้องถิ่น ประชาคมชุมชนต่างๆแล้ว ผลตอบรับในการชี้นำนโยบายจึงก่อให้เกิดกิจกรรมที่เคลื่อนตัวต่อได้ราบรื่นดี

หนึ่งในหลายเรื่องที่ผมเคยเสนอเป็นแนวคิดสาธารณะคือเรื่อง
‘’การท่องเที่ยวโดยรถไฟในไทย’’
ว่ามีอะไรน่าทำอีกแยะจริงๆ

เพราะนอกจากประหยัดพลังงานกว่าต่างคนต่างนั่งรถพ่นควันไอเสียไปเที่ยวหรือนั่งรถบัสไปทางไกลๆแล้ว

การนั่งรถไฟยังเอื้อให้กิจกรรมกลุ่มระหว่างเดินทางท่องเที่ยวเกิดขึ้นตลอดการเดินทาง ทั้งยังปลอดภัยกว่า บรรยากาศในขบวนรถไฟนั้น เดินสนุกนั่งลุกสบายกว่าการเดินทางในโหมดอื่นๆมาก

ผู้ที่ต้องทำงานระหว่างเดินทางไม่ต้องถูกบังคับปิดสัญญาณมือถือ ผู้โดยสารมีห้องน้ำใช้เพียงพอ มีตู้เสบียง มีอ่างล้างมือล้างหน้ากว้างขวาง
กระเป๋าสัมภาระใหญ่น้อยมีติดตัวได้สบาย ไม่ต้องถูกตรวจสกัดของเหลวที่จะพกพาติดตัว จะห่ออาหารน้ำดื่มติดตัวไปก็ไม่มีใครว่า ไม่ต้องเข้าคิวถูกตรวจตัวถอดเข็มขัด ถอดรองเท้าราวกับตกเป็นผู้ต้องสงสัย ก่อนเข้าสู่ยานพาหนะ

การนั่งรถไฟเป็นวิธีเดินทางที่โลกยอมรับว่าลดภาวะก๊าซเรือนกระจกได้ดีกว่า ตรงเวลากว่า และให้ประสบการณ์ต่อผู้เดินทางได้แปลกใหม่กว่า แถมพาให้ไปผ่านภูมิประเทศที่แปลกตามากกว่า

สมาชิกทั้งคณะ ทั้งครอบครัวไปถึงสถานีจุดหมายอย่างสดชื่นเท่าๆกัน เพราะไม่ต้องมีใครคนหนึ่งที่อ่อนเพลียจากการขับรถทางไกล

ส่วนชุมชนใกล้สถานีรถไฟนั้นมักเกิดขึ้นมาคู่กับสถานีเป็นเวลานานแล้ว พื้นที่ย่านสถานีรถไฟมักเป็นประตูดั้งเดิมของเมืองยุคกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค

และแน่นอนว่า จะมีสถานที่เก่าแก่ของชุมชนอยู่ไม่ไกลกัน พาหนะของชุมชนสามารถพาผู้เดินทางออกจากสถานีรถไฟไปเยี่ยมในละแวกโดยแฝงเสน่ห์ได้เสมอ บ้างใช้สามล้อถีบ บ้างใช้รถอีแต้กอีแต๋น ใช้สามล้อพ่วงข้าง ใช้รถสองแถวก็มี

ที่ลำปางใช้รถม้า ที่ลำพูนใช้รถราง นี่เป็นตัวอย่าง

การกระจายรายได้เข้าถึงภาคส่วนต่างๆในชุมชนจึงทำได้ดีกว่า

ปีที่แล้ว สกสว./บพข. (บพข.ย่อจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ)ได้สนับสนุนงบวิจัย การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยรถไฟ บนเส้นทางยุคสมัยแห่งล้านนา ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางเสนอ

นับว่าถูกต้องอย่างยิ่ง

ยิ่งไทยกำลังจะมีรถไฟทางคู่ทั่วประเทศในทุกๆภาค แถมจะมีรถไฟความเร็วสูงที่แล่นเชื่อมนครใหญ่ต่างๆ ทั้งระยอง หัวหิน เชียงใหม่ โคราช

สิ่งที่ต้องเร่งเตรียมไว้แต่เนิ่นๆจึงยังมีอีกมาก

โดยต้องเริ่มทำไปเลยในระหว่างรองานก่อสร้างวางรางเพื่อเดินรถไฟใหม่ๆเหล่านั้น

การเตรียมบุคลากร เตรียมเส้นทางกิจกรรมท่องเที่ยว เตรียมแผนการเชื่อมงานกับนายสถานีรถไฟต่างๆ จึงต้องได้ลองทำไว้เพื่อถอดข้อสังเกตแล้วปรับปรุงไปเรื่อย

เพราะไม่มีทางเพอเฟคได้ในเวลาสั้นๆ

ถ้ารอจนรถไฟออกวิ่งจริงแล้วค่อยมาทำย่อมจะสายเกินแกง
เสียดายโอกาสเปล่าๆ

ในเมื่อทางการอุตส่าห์ลงทุนไปหลายแสนล้าน กิจกรรมเศรษฐกิจท่องเที่ยวและกิจกรรมสร้างสรรค์ที่สร้างขึ้นควบคู่กับระบบรถไฟจึงยังมีอะไรให้ค้นเจออีกมาก

มาปีนี้

ก่อนวาเลนไทน์เพียงวันเดียว ผมได้รับเชิญไปร่วม’’ทดสอบ’’การ’’ปล่อยขบวนรถไฟดีเซลรางปฐมฤกษ์’’ที่ จัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ร่วมมือกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย ภายใต้ทุนสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผ่าน สกสว./บพข.

เป็นการจัดรถไฟท่องเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับระหว่างเชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง เป็นครั้งแรก

น่าประทับใจครับ

อาจารย์และนักศึกษาได้ใช้ความรู้แขนงต่างๆผลิตอุปกรณ์ไปติดตั้งในโบกี้รถไฟ แบบให้ถอดเก็บได้เมื่อไม่ใช้งาน เพราะรถไฟท่องเที่ยวไม่ได้แปลว่าจะมีลูกค้าหนาแน่นในทุกฤดูกาล

หน้าฝนเป็นอุปสรรคแน่ เพราะแม้ไปถึงปลายทาง แต่จะออกนอกสถานีก็ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง

ผมไปร่วมสำรวจคราวนี้ ได้พบว่า การแต่งโครงเพดานด้านในโบกี้รถไฟ ด้วยลวดลายโลหะแกะฉลุ ใส่แสงสว่างเพิ่มในหลืบของชั้นวางกระเป๋าสัมภาระเหนือที่นั่งโดยสารช่วยให้การเดินทางดูมีชีวิตชีวามากขึ้น

ดูเรียบหรู แต่ทนทาน ล่ะ

ทีมพัฒนาโครงการติดฟิล์มลวดลายฉลุใส่ช่องประตูไฟฟ้าที่คั่นระหว่างตู้รถไฟให้ดูย้อนยุคสู่สมัยเริ่มเดินหัวรถจักรรุ่นแรกๆ ทำให้นึกถึงสมัย’’มาลานำไทย’’อยู่บางๆ

ม่านผ้าของการรถไฟเดิมที่ติดอยู่ข้างกระจกหน้าต่างนั้น ทีมพัฒนาได้เย็บถุงผ้าพิมพ์ลายดั้งเดิมของนครลำปางในโบกี้หนึ่ง และลายจากนครลำพูนในอีกโบกี้หนึ่งมาห่อหุ้มผ้าม่านเดิมไว้ให้เป็นซองยาวๆ ดูเรียบร้อยงามตา มัดเชือกเส้นเล็กดูประณีตบรรจง

มีผ้าคลุมพนักพิงและเบาะนั่งโดยสารให้เสริมเป็นการเติมบรรยากาศ

ผู้จัดได้จัดให้นักศึกษาชายหญิงที่เรียนด้านการท่องเที่ยวมาเพิ่มประสบการณ์ฝึกงานบริการผู้โดยสาร โดยให้แต่งเครื่องแบบด้วยลวดลายบนผ้าที่แสดงเอกลักษณ์ของสถานที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเป้าหมาย

ในที่นี้คือนครลำพูน และนครลำปาง เจ๋งครับ

ขอเล่ารายละเอียดต่อตอนจบในภาค2นะครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาบ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 

ที่มา https://www.facebook.com/Weerasak-Kowsurat

---------------------------------------------

 

ทริปนี้พาลูกชายมาร่วมกิจกรรมครับ