ผ่าทางตันการเมือง รัฐบาลต้องใจกว้าง
วันที่ 12 กุมภาพันธ 2557
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : โจทย์วันนี้...คือเปลี่ยนชุดความคิดการอยู่ร่วมกัน ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ รัฐบาลต้องใจกว้าง ไม่แทรกแซงองค์กรที่ตั้งขึ้น เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป (RNN-Reform Now Network) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรวิชาชีพ ทั้งภาคราชการ วิชาการ ธุรกิจเอกชน ประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์ กลุ่มเกษตรกร และอื่นๆ กว่า 70 องค์กร ได้จัดงาน "เวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 1" หัวข้อ "ถอดบทเรียนกระบวนการปฏิรูปของไทยสู่การเดินหน้าปฏิรูป" เมื่อวานนี้ (11 ก.พ.) ตามแนวทาง "เดินหน้าปฏิรูปทันที" ตามที่ได้เปิดตัวเครือข่ายฯเมื่อวันที่ 30 ม.ค.
ทั้งนี้ วงประชุมได้มีการถอดบทเรียน 2 หัวข้อสำคัญ ได้แก่ หนึ่ง "กระบวนการปฏิรูปประเทศไทย: เพื่อการเดินหน้าปฏิรูปอย่างก้าวหน้า" มี นายเดชรัต สุขกำเนิด ถอดบทเรียนกรณีคณะกรรมการปฏิรูป (ชุดที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน) นพ.สมศักดิ์ ชุณหะรัศมิ์ ถอดบทเรียนกรณีคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (ชุดที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน) นายสุรพงษ์ พรมเท้า ถอดบทเรียนกรณีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
ขณะที่ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับ นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ถอดบทเรียนกรณีการปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญปี 2540 และ สอง "กระบวนการปฏิรูปเฉพาะประเด็น: ปัจจัย เงื่อนไขของการขับเคลื่อนการปฏิรูป" มี นายมานะ นิมิตรมงคล ถอดบทเรียนการปฏิรูปการต่อต้านคอร์รัปชัน นายไพโรจน์ พลเพชร ถอดบทเรียนการปฏิรูปการเมือง กรณีการเสนอกฎหมายของภาคประชาชน และ นายประยงค์ ดอกลำไย ถอดบทเรียนกรณีปฏิรูปปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ไฮไลท์ช่วงหนึ่งอยู่ที่การอภิปรายของ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ซึ่งได้ถอดประสบการณ์การปฏิรูปการเมืองช่วงก่อนปี 2540 กระทั่งได้ผลผลิตออกมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 โดยการริเริ่มของพรรคชาติไทย ซึ่งขณะนั้นเจ้าตัวก็เป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองพรรคนี้ด้วย
วีระศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ก่อนปี 2540 เทียบกับสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน มีสิ่งหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน คือ ความดื้อของผู้มีอำนาจ ทำให้สถานการณ์สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปฏิวัติรัฐประหาร ยังดีที่ในขณะนั้น (ปี 2537) นายมารุต บุนนาค ประธานรัฐสภา ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย หรือ คพป.ขึ้นมา และมอบหมายให้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธาน
ทั้งนี้ ปัญหาที่ดำรงอยู่ในช่วงนั้น และปัญหาที่เกิดตามมา ก็คือ ความไม่ไว้วางใจนักการเมือง เนื่องจาก คพป.เสนออะไรก็มักไม่ได้รับการตอบสนองจากฝ่ายการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็ทำไม่ได้ ปรากฏว่าพรรคชาติไทยได้ตัดสินใจทำสัญญาประชาคมที่จะเดินหน้าปฏิรูปการเมือง และนำไปสู่การรณรงค์หาเสียงในเรื่องนี้เป็นครั้งแรก เมื่อได้เป็นรัฐบาลก็เดินหน้าปฏิรูป โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร. หรือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
"นับจากวันที่รัฐบาลพรรคชาติไทยประกาศว่าจะเดินหน้าปฏิรูปการเมือง ไปจนถึงวันที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 26 เดือน หรือ 2 ปีกับ 2 เดือน ทั้งๆ ที่ขณะนั้นสังคมไทยยังไม่แตกแยกขัดแย้งกันรุนแรงเหมือนในขณะนี้ เรียกง่ายๆ ว่าไม่มีแผลเก่า แต่วันนี้มีแผลต่างๆ เต็มไปหมด"
วีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ ณ วันนั้นสรุปเป็นบทเรียนได้หลายข้อ กล่าวคือ 1.ความไม่ไว้วางใจนักการเมืองมีสูงมาก 2.มีความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกติกาของประเทศโดยไม่ผิดกฎหมาย 3.การมีส่วนร่วมของประชาชนต้องกว้างขวางมาก และ 4.ต้องให้เวลาและอิสระในการทำงาน
"ตอนนั้นรัฐบาลท่านบรรหาร (นายบรรหาร ศิลปอาชา) ได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองขึ้นมา มีท่านชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธาน เป็นการตั้งที่ไม่มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีรองรับด้วยซ้ำ มีเพียงคำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่สิ่งที่มีมากพอสมควรคือ Political Will หรือเจตจำนงทางการเมือง"
"อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ พรรคชาติไทยในขณะนั้นไม่ได้ตั้งรัฐบาลได้ด้วยตัวเอง แต่เป็นรัฐบาลผสม 6 พรรคการเมือง ทำให้นายกฯต้องถ่อมตัวมาก ประนีประนอมสูง ผมคิดว่านี่เป็นคุณสมบัติของคนที่จะนำประเทศไปสู่การปฏิรูปได้ในวันนี้ คือ ต้องถ่อมตัว เพราะยืนอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง"
"อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ รัฐบาลต้องใจกว้าง ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว เกี่ยวข้อง แทรกแซงการทำงานขององค์กรที่ตั้งขึ้น อย่างในขณะนั้นมีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องเลย และมีหลายเรื่องที่เกิดก่อนรัฐธรรมนูญปี 40 ด้วยซ้ำ เช่น เรื่องป่าชุมชน" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าว
นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ยังมีบทเรียนจากการทำงานของ ส.ส.ร. 99 คน ทั้งๆ ที่มีกรรมการถึง 99 คน แต่ก็ยังแบ่งการทำงานเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) มากถึง 5 ชุด คือ 1.กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มี **นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน มี กมธ. 29 คน 2.กมธ.ประชาพิจารณ์ มี นายอมร รักษาสัตย์ เป็นประธาน มี กมธ.28 คน 3.กมธ.ประชาสัมพันธ์ มี นายสมเกียรติ อ่อนวิมล เป็นประธาน มี กมธ. 17 คน 4.กมธ.วิชาการ มี นายกระมล ทองธรรมชาติ เป็นประธาน มี กมธ.17 คน และ 5.กมธ.จดหมายเหตุ มี นายเดโช สวนานนท์ เป็นประธาน มี กมธ. 17 คน
"ผมคิดว่าบทเรียนจากการปฏิรูปการเมืองก่อนปี 40 ที่สะท้อนถึงปัจจุบัน คือ 1.ระเบียบ กฎหมาย อาจไม่สำคัญเท่าบรรยากาศ 2.การมีส่วนร่วมของสังคมต้องลงไปถึงระดับชุมชน ท้องถิ่น เพราะสมัยนั้นทำประชาพิจารณ์กันไม่ต่ำกว่า 500 เวที และ 3.สาระสำคัญของการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ คือ ต้องเปลี่ยนชุดความคิดเพื่อการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงกติกาการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง หรือเปลี่ยนแปลงคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเท่านั้น"
นายวีระศักดิ์ ย้ำทิ้งท้ายด้วยว่า การจะเดินไปสู่ความสำเร็จของการปฏิรูปใน พ.ศ.นี้ ต้องใช้กลไกที่ไม่ใช่รัฐ หรือ Non-state actors ด้วย!
ที่มา รมว.ท่องเที่ยวสมัย 3 วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลิกกวัก-เน้นยั่งยืน (ชมคลิป) (matichon.co.th)
---------------------------------------------