ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

ไอเดีย อ.เอ : ฝุ่นควันกับการท่องเที่ยว

 

ตั้งชื่อเรื่องอย่างนี้ เพราะถ้ารอไปเขียนเอาช่วงปลายปีก็คงได้แต่เขียนแบบสวดยะถาสัพพี กรวดน้ำกันแล้ว เพราะวงจรเผาและวงจรฝุ่นมันจะตลบอบอวลจนนักเดินทางท่องเที่ยวกระเจิงไปหมดเรียบร้อย

ไฟไหม้ในป่าภาคเหนือมักเกิดตอนฤดูหนาวที่นักท่องเที่ยวอยากจะไปสัมผัสความเย็น ส่วนไฟไหม้ตอซังพืชไร่ ทั้งในภาคเหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก และตะวันตก ก็มักจะช่วงเดียวๆ กัน

ช่วงปลายปี ความกดอากาศมักจะสูง จึงเหมือนมีโดมแก้วมาครอบให้อากาศไม่ไหลเวียน ควันและฝุ่นจึงลอยสูงไม่ได้ ทำให้อากาศบริเวณภาคพื้นเหมือนมีฝุ่นหนาแน่นขึ้นอัตโนมัติ ถ้ามีหุบเขาล้อมด้วย ก็ยิ่งเกิดสภาพอากาศนิ่งเพิ่มอีก

กรุงเทพฯ มีกำแพงแห่งบรรดาอาคารสูงบังลมอยู่เยอะแยะ ลมก็จะพัดผ่านน้อย ฝุ่นจึงยิ่งไปไหนไม่ได้ ชาวต่างประเทศที่จะเดินทางมาจับจ่าย ช็อปปิ้ง ก็อาจจะลังเล ปลายปีเป็นฤดูวันหยุดยาวของคนทำงานทั้งชาวไทยและต่างประเทศ การเดินทางท่องเที่ยวจึงมีมากในช่วงปลายปี มากขนาดที่อุตสาหกรรมไมซ์หรือการประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติจะบางเชียว เพราะปกติจะจัดช่วงไม่ใช่วันหยุดพักผ่อนประจำปี

ปกติฤดูท่องเที่ยวในไทยจะเริ่มราวกลาง ต.ค. ไปจนสุดปลาย ก.พ. โดยเฉลี่ย

ภายหลังคนจีนเดินทางท่องโลกเยอะขึ้นจนเป็นแชมป์ วันชาติจีนเริ่ม 1 ต.ค. ฤดูเดินทางของโลกจึงขยับมาเริ่มตั้งแต่ปลายสุดของ ก.ย. ยาวไปถึงจบตรุษจีนโน่นเลย

นั่นคือสภาพที่เป็นมาตลอด 10 ปี

โควิดมาปีนี้ บวกกับสภาพที่เศรษฐกิจโลกยอบแยบมาตั้งแต่ก่อนโควิดอาละวาด เศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่เราควรคั้นออกมาใช้ในปลายปีนี้ให้ดี จึงสำมะคันยิ่ง…

ปลายปีนี้ มาตรการที่เกี่ยวกับวินัยการเดินทางข้ามประเทศคงนิ่งและเป็นมาตรฐานที่คุ้นเคยกันหมดแล้ว มาตรฐานการเดินทางทางอากาศในประเทศก็คงนิ่งและคุ้นชินกันทั่วแล้ว เที่ยวบินจำนวนมากคงกลับมาบินกันเรียบร้อย

คนไทยที่เคยบินไปเที่ยวเมืองนอกปีละ 10 ล้านคน คงกำลังเล็งที่เที่ยวสบายตัวสบายใจในไทยนี่แหละ

คนต่างชาติที่ทำงานและมีถิ่นที่อยู่ถาวรในไทยก็คงยังลังเลที่จะบินกลับบ้านเกิด เพราะตอนนี้โลกยังติดเชื้อกันไม่หยุด  คนเหล่านี้พร้อมเที่ยว พร้อมจะใช้จ่าย และถ้าเที่ยวไทยเสียเลยเขายิ่งชอบใจ

แต่ถ้าฝุ่นควันมาเยือนตามปกติอีก ย่อมน่าผิดหวัง เพราะรายได้ที่พึงชุบชีวิตคนในวงการเดินทางท่องเที่ยวเป็นที่สุดจะหดหายไปเสียอีกปี

น่าเสียดายไหมครับ ?

นี่แหละ…ถึงต้องวางบทความนี้เสียตั้งแต่เดือน ก.ค. จะได้มีเวลาให้ฝ่ายต่างๆ ที่หวังว่าท่องเที่ยวปลายปีจะชุบชีวิตให้เมือง ให้ชุมชน และให้กิจการ ได้ขยับได้ทัน จากนี้ไปแค่ไม่เกิน 100 วัน เราก็เดินไปถึง “ฤดูท่องเที่ยว” แล้วนะครับ

ตอนนี้หน้าฝน ภาคเหนือป่ายังเปียก  สิ่งที่ควรทำในปีนี้คือ เร่งทำแผนป้องกันการเผาให้เร็วขึ้น  ถ้าสามารถจ้างคนว่างงานที่กลับถิ่นมาช่วยกันเป็นเหมือน อสม. เพื่อช่วยกันรณรงค์งดเผาตอซัง ระวังไฟจากคน และรณรงค์ไม่รับสินค้าจากป่าที่ปกติจะได้มาด้วยเหตุเผาเสียแต่เนิ่นๆ

เพื่อให้นักเผารู้ล่วงหน้า ว่าผู้บริโภคและตลาดทุกระดับ ไม่ต้อนรับสินค้าประเภทนี้อีกแล้ว อย่าไปเผาให้เสียของไปเปล่าๆ เลย

อย่างนี้ก็คงพอมีผลสัมฤทธิ์อะไรให้หวังได้อยู่หน่อยหนึ่ง แต่แผนใหญ่กว่านี้มีครับ

ปีนี้ประเทศไทยมีทีเด็ดที่ต้องใช้ให้เป็น

50 ปี เพิ่งมีโอกาสอย่างนี้หนแรกเลย เพราะ 21 ก.ค. 2563 เป็นวันสุดท้ายที่อุทยานแห่งชาติทั้ง 131 แห่ง ปักเขตแดนต้องเสร็จ และสำรวจแปลงที่ดินที่มีราษฎรมาอยู่ในเขตป่าครบเรียบร้อย ตามบทเฉพาะกาลของกฎหมายอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเท่าที่ติดตามก็ทำได้ดีตามแผน

ทีนี้ตามผลของ ม.64 ของ พ.ร.บ.อุทยานฉบับใหม่ 2562 ให้เอาผลสำรวจนี้ไปเข้าคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเพื่อเสนอโครงการ “คนอยู่กับป่า” ให้คณะรัฐมนตรี ที่คงปรับ ครม.ใหม่เสร็จไปแล้ว ให้ความเห็นชอบเนื้อหาโครงการและออกพระราชกฤษฎีกาครั้งแรกตามกฎหมายอุทยานใหม่ในบทเฉพาะกาล  ที่จะทำให้คนนับล้านพิสูจน์ว่าตัวเขาและครอบครัวเป็นคนที่สังคมควรยอมให้อยู่กับป่าต่อไปได้

ดังนั้น ถ้าเขียนโครงการให้กำหนดเงื่อนไขว่า ในรัศมีสัก 1 กิโลเมตร รอบเขตที่ดินที่เขากำลังจะขออยู่กันต่อในเขตป่าเหล่านี้ ปีนี้เขาจะต้องดูแลกันดีจนไม่มี “ไฟป่า”!

ถ้าจุดความร้อนเกิดขึ้น แล้วดับไม่ได้ใน 48 ชั่วโมง…ถือว่าสิทธิที่จะได้อยู่ต่อเพื่อคุ้มครองป่า ถูกหักคะแนน

ส่วนหักกี่คะแนน จากคะแนนเต็มกี่คะแนน ค่อยว่ากันไปโดยคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติแล้วกัน

แปลว่าปีนี้ ถ้าเรียงเงื่อนไขให้ดี เพราะเป็นปีแรกที่คนจะได้พิสูจน์ฝีมือต่อหน้ากฎหมายว่าพร้อมจะอยู่กับป่าแบบพิทักษ์รักษาและยินดีจะเสริมวัฏจักรความอุดมสมบูรณ์แก่ความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศหรือไม่

แหม…ผลการปฏิรูปประเทศเรื่องคนอยู่กับป่า บังเอิญทำกันมา 5 ปี แล้วเป่าปรี๊ดเริ่มที่กลางปีนี้พอดิบและพอดี !!

ผมจึงขอบอกทั้งในฐานะอดีตรัฐมนตรีท่องเที่ยว และในฐานะรองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา ว่า เรามาใช้เรื่องข้อกฎกติกาที่ยังไงก็ต้องออกประกาศใช้หนนี้ให้สมประโยชน์ให้ดีที่สุด

พิสูจน์ฝีมือกับยามรักษาป่าภาคประชาชนนับล้านคน  เอาให้มุ่งได้ผลมากกว่าแค่ไม่เสียป่าและสัตว์ป่าจากเปลวไฟ แต่ยังประหยัดงบดับเพลิงป่า รักษาชีวิตของจิตอาสา และได้เมืองไทยน่าเที่ยวยามฤดูหนาว ที่ไม่ต้องเจอฝุ่นควันอย่างสิ้นหวังในกลางฤดูท่องเที่ยวของแต่ละปีด้วย

โอม…เพี้ยง

 วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

ที่มา ไอเดีย อ.เอ : ฝุ่นควันกับการท่องเที่ยว (businesstoday.co)

---------------------------------------------