นักท่องเที่ยวยุโรปตาบอดกับปากคลองตลาด โดย “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์”
Cr: By BLT Bangkok https://www.bltbangkok.com/lifestyle/travelers-list/42200/#google_vignette
เรื่อง: นักท่องเที่ยวยุโรปตาบอดกับปากคลองตลาด โดย “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” สมาชิกวุฒิสภา, อดีตเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
วันก่อนในกิจกรรมที่คุณนัตตี้ ด้วยการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำคณะนักท่องเที่ยวตาบอดจากยุโรป 10 คนที่ซื้อตั๋วซื้อทัวร์เดินทางมาไทยและกำลังจะออกไปเที่ยวที่ปากคลองตลาด ตลาดดอกไม้ชื่อดังของกรุงเทพฯ
ผมจึงอาสาเดินทางไปทำหน้าที่ผู้ช่วยไกด์กิตติมศักดิ์ รับคณะเดินทางจากด้านหลังตลาด ซึ่งจะมีพื้นที่ให้รถตู้ 3 คันจอดส่งผู้โดยสารตาบอดลงรวมตัวกันใต้เงาอาคารได้อย่างสะดวก และปลอดภัย
การพาเดินเข้าตลาดจากด้านหลังจะมีคนน้อยกว่า สามารถพาเดินผ่านช่องต่าง ๆ ผ่านชั้นวางชั้นแขวนดอกไม้สารพัดอย่าง
เดินลึกเข้าไปเจอเข่งตะกร้าหลายใบใส่ใบเตย เราจึงหยุดให้แขกต่างชาติของเราได้สูดกลิ่นของใบเตย (pandan leaf) ที่พ่อค้ามัดรวมไว้รอจำหน่าย ใบเตยใช้ต้มทำเครื่องดื่ม ใช้คั้นเอาน้ำไปผสมในอาหารและของหวาน ทำขนม สรรพคุณของใบเตยช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ดื่มดับกระหาย คลายอ่อนเพลีย
ผอ.นรินท์ ทิจะยัง จากสำนักงานใหญ่ททท. ซึ่งมาสังเกตการณ์ด้วย รู้เทคนิค จึงเดินจ้ำล่วงหน้าไปกระซิบบอกพ่อค้าแม่ค้าให้ทราบว่า นี่คือกลุ่มนักท่องเที่ยวพิเศษ สายตามองไม่เห็น และตั้งใจมาขอเยี่ยมสัมผัสกับตลาดที่นี่ พ่อค้าแม่ค้ายิ้มพยักหน้ารับทราบ
ว่าแล้วพ่อค้าก็ยื่นช่อกล้วยไม้มาให้ผมส่งให้แหม่มชาวอังกฤษผมทองที่ตาบอดสนิทได้สัมผัส เธอยิ้มตื่นเต้นดีใจ
กล้วยไม้อาจดูเป็นพืชพื้นๆ ของบ้านเรา แต่กับชาวตะวันตกเมืองหนาว เขาจะตื่นเต้นกับกล้วยไม้กัน ถือเป็นพืชหายาก ในยุโรปมีราคาแพงเพราะต้องเอาขึ้นเครื่องบินส่งเข้าไปจำหน่าย
เราเดินผ่านแผงขายกระทง แม่ค้าสาวอายุน้อยยิ้มรับ พยักหน้าอนุญาต ผมจึงหยิบกระทงขึ้นมาให้กลุ่มนักท่องเที่ยวตาบอดของเราได้สัมผัสกระทง ทุกคนต่างลูบคลำกระทงด้วยความสนใจ แม่ค้าฝากผมแปลว่ากระทงนี้ประดิษฐ์จากต้นข้าวโพดแห้ง และอธิบายประกอบเพิ่มถึงประเพณีลอยกระทงปลายฤดูฝนของเรา ที่น้ำจะเต็มตามตลิ่ง แขกต่างชาติอมยิ้มนึกภาพตามด้วยความสุข
การใช้กระทงวัสดุธรรมชาติเหล่านี้นับว่าได้ประโยชน์หลายต่อ ในแง่ที่เก็บขึ้นจากน้ำได้ง่าย และอย่างน้อยก็ดีกว่าจะถูกจุดไฟเผาทิ้งในไร่ที่ปลูกให้กลายเป็นฝุ่นควันรบกวนสิ่งแวดล้อมเปล่าๆ
แม่ค้าอีกฝั่งใจดี ยื่นพวงมาลัยแช่น้ำแข็งพวงเล็กๆ ให้นักท่องเที่ยวตาบอดได้ดมกลิ่นมะลิ (jasmine) หอมสดชื่น
เราเลยขอซื้อมาลัยมะลิพวงเล็กๆ แจกให้ทั้งคณะได้ติดข้อมือไป อยากถือดมไปนานแค่ไหนก็ได้ แม่ค้าติดราคาไว้แค่พวงละ 10 บาท แต่แม่ค้าบอกว่าขอไม่รับเงิน แต่เรายืนยันว่าไม่ขอรบกวน แค่อนุญาตให้คณะได้ยืนมุงบังหน้าร้านนานอย่างนี้ก็ขอบคุณยิ่งแล้ว
ที่จริงสรรพคุณของดอกมะลิที่คนไม่ค่อยทราบ คือ มะลิที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงในการปลูกนั้น สามารถใช้เป็นยาสารพัดได้ตามตำรา ทั้งบำรุงครรภ์ สมานแผล แก้ไข้ แก้ท้องเสีย กลิ่นของมะลิมีผลช่วยคลายเครียด
ผ่านไปเจอโต๊ะที่วางขายกุหลาบห่อใหญ่ๆ หลายๆ มัด แม่ค้าชี้ไปที่ถุงพลาสติกใบใกล้ๆ เรา เราจึงยกถุงมาส่อง มันเป็นดอกกุหลาบตูมล้วนๆ จึงส่งถุงให้นักท่องเที่ยวของเราได้พากันสูดดมกลิ่นกุหลาบที่แม่ค้าเด็ดไว้สำหรับแยกจำหน่าย
ผู้ซื้อบางกลุ่มนำกุหลาบตูมพวกนี้ไปสกัดน้ำมันหอมระเหย บางกลุ่มนำไปทำชากุหลาบ บางกลุ่มนำไปผสมในยาแผนโบราณ รักษาสิว สมานแผล งานวิจัยบอกว่ากุหลาบมีสารต้านอนุมูลอิสระ
สักพักเดินไปเห็นถุงที่เต็มไปด้วยดอกจำปี คงมีไว้ร้อยกับมาลัย เราเลยพาแขกของเราลองดม ดอกจำปี (champaka) ซึ่งให้กลิ่นหอมกรุ่นปะทะจมูกจังๆ นักท่องเที่ยวต่างชาติสื่อสารส่งเสียงกันเองไปมาให้ลั่นไปหมด เพราะจมูกเค้าคงไม่คุ้นกับกลิ่นใหม่นี้
ผมซื้อยกถุงขนาดเล็กมาแจกให้ทุกคนมีดอกจำปีสดไว้ติดในกระเป๋าสะพาย เวลากลับเข้านั่งในรถจะได้มีกลิ่นหอมๆ เย็นๆ ในรถต่อ ราคาไม่แพงเลย 40 บาท ได้มาน่าจะเกือบร้อยดอก!!
นักท่องเที่ยวของเรายังตื่นเต้นที่ได้สัมผัส ลูบคลำ ผลแก้วมังกร (dragon fruit) ซึ่งคนไทยนิยมทานหลังมื้ออาหาร มีคุณสมบัติ ช่วยลดท้องผูก บำรุงฟันและกระดูก คลายร้อน และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
นักท่องเที่ยวถามผมว่าแก้วมังกรมีสีอะไร ผมตอบว่าสีชมพู เธอยิ่งสนใจใหญ่
แม่ค้าผลไม้อมยิ้มอย่างเมตตา ว่าแล้วแม่ค้าก็ยกโทรศัพท์ขึ้นถ่ายรูปนักท่องเที่ยวตาบอดเก็บไว้เป็นที่ระลึก
จากนั้นเราถามหาร้านขายดอกบัว แม่ค้าชี้ส่งไปที่แผงดอกบัว เราซื้อบัวสัตตบงกชมา 3 ห่อ แบ่งให้หนุ่มๆ สาวๆ ตาบอดได้ถือเดินชมตลาดต่อ
แขกชาวต่างชาติหลายๆ คนที่ก็มาเดินตลาดสนใจถามผมว่าทำไมจึงนิยมนำดอกบัวไปบูชาพระ คำตอบที่ผมให้ไปก็คือ ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของจิตบริสุทธิ์ เพราะแม้บัวจะงอกมาจากใต้ตมใต้โคลน แต่เมื่อขึ้นชูรับแสงสว่างเหนือน้ำแล้ว เราจะไม่เจอเศษโคลนติดขึ้นมาด้วย
และแม้จะมีเศษตมใดๆ กระเด็นมาเปื้อนในภายหลัง เพียงไม่นานผิวของดอกบัวก็จะทำให้สิ่งปนเปื้อนร่วงหลุดออกไปได้เอง เป็นดั่งความบริสุทธิ์แห่งศีล สมาธิและปัญญา ตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง
แขกต่างชาติพยักหน้ากันหงึกหงัก จากนั้นก็เล่าให้เราฟังเรื่องกรรม (karma) แบ่งเป็นกรรมดีกรรมชั่ว ซึ่งพวกเขาก็เชื่ออย่างนั้นหลายคน
จะว่าไป การพานักท่องเที่ยวต่างชาติเดินตลาดสดของไทย ช่วยให้พวกเขาเข้าใจถึงความหลากหลายทางชีวภาพต่างๆ ในไทย ช่วยสร้างหัวข้อการสนทนาซักถาม แถมช่วยให้เรื่องพื้นๆ ของชาวบ้าน กลายเป็นอีกหนึ่งความทรงจำที่ดีของชาวต่างชาติที่จะไปเล่าต่อในต่างแดน
สำหรับคนตาบอดแล้ว ความสามารถในการใช้ประสาทสัมผัสทางกลิ่น การใช้นิ้วลูบสัมผัสของนุ่มๆ เย็นๆ มือ ช่วยให้เขาตื่นตัวรับรู้และสดชื่น ตลาดสดของไทยเป็นแหล่งเดินเที่ยวที่ชาวต่างชาติชื่นชอบได้เสมอ เพราะได้รับรู้ว่าของสด ของท้องถิ่น และอาหารพื้นที่ของที่นั่น มีอะไรเป็นส่วนผสม และแน่นอนว่าแตกต่างจากบ้านเขามาก
การนำผู้พิการทางการมองเห็นเดินในสถานที่ทั่วไปนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือให้คนตาบอดจับไหล่เรา เขาจะสามารถเดินตามได้ปลอดภัย เพราะบ่าเราจะบิดหรือยกขึ้นลงโดยไม่ทำให้คนตาบอดสับสน ต่างจากการจูงข้อมือ ซึ่งบิดไปมาสร้างความงุนงงให้ผู้ถูกจูงที่ตามองไม่เห็นได้ บางตำราบอกว่าให้เค้าใช้มือทาบกลางหลังเราก็ได้เช่นกัน
แต่นั่นคือเหมาะสำหรับอัตราหนึ่งต่อหนึ่งคือตาดีหนึ่งคนนำคนตาบอดหนึ่งคน หรือจะแตะหลังหรือจับไหล่เดินตามกันเป็นแถวก็ได้
แต่ในกรณีนี้ 2 สาวนักท่องเที่ยวตาบอดจากสโลวีเนียขอเดินคล้องแขนผมทั้งสองฝั่ง บวกกับอีกคนเป็นสาวอังกฤษซึ่งแม้สายตาจะไม่บอดสนิท เธอรับรู้แสงและรับสีได้แต่จะไม่เห็นเส้นรอบรูป กล่าวคือเห็นเพียงเบลอๆ มัวๆ เธอจึงขอเลือกที่จะใช้มือเกาะเป้สะพายหลังของคนตาบอดด้านหน้าแล้วขยับตามก็เพียงพอ ทั้งสามอยากได้ยินการอธิบายเรื่องดอกไม้ผลไม้ต่างๆ ได้โดยใกล้ชิดด้วยความสนใจ
แขกตาบอดของเราทุกคนถือไม้เท้าขาวที่พับเก็บหดสั้นได้ รวมทั้งเมื่อยืดออก จะมีลูกกลิ้งพลาสติกสีขาวที่สุดปลายเพื่อใช้ถูกวาดไปข้างหน้า ทำให้คนตาบอดรับรู้สภาพผิวพื้นที่กำลังจะผ่านเข้าไป ว่าขรุขระ เปลี่ยนแปลงระดับ หรือมีร่องหรือไม่ สีขาวของลูกกลิ้งช่วยให้คนตาดีมองเห็นได้ง่ายขึ้นว่า มีไม้เท้าของคนตาบอดกำลังกวาดไปมา จะได้ระวังระยะให้กันและกันได้
การพานักท่องเที่ยวตาบอดชาวยุโรปเดินเที่ยวปากคลองตลาดและซื้อดอกบัวไปบูชาหลวงพ่อพระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอนที่วัดโพธิ์คราวนี้ สร้างความชื่นใจให้ทั้งคนตาบอด และคนตาดีที่ได้พบเห็น
ผมแอบเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของหลายต่อหลายคนที่เราเดินผ่านไป
นักท่องเที่ยวปกติที่เป็นชาวต่างชาติต่างก็พลอยปลื้มใจ ที่เค้าเห็นประเทศไทยมีศักยภาพในการดูแลและให้บริการนำเที่ยวแก่แขกต่างประเทศที่ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งห้องน้ำ ที่จอดส่ง ทางลาด และบุคลากรที่พยายามเข้าใจและรู้จักการให้บริการ
สำหรับผมแล้ว การที่คนตาบอดตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบิน ซื้อทัวร์ จองที่พัก แล้วออกเดินทางข้ามทวีปมาเยือนเรา แสดงให้เห็นถึงความไว้วางใจที่เขามีให้สังคมเราอย่างสำคัญยิ่ง
เขาได้เอาสวัสดิภาพ และความปลอดภัยในทุกด้านมาวางไว้ในมือของสังคมเรา
ประเทศไทยประกาศนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (tourism for all) การที่เรารับนักท่องเที่ยวทุพพลภาพได้ ย่อมแม่นยำวางใจได้ว่า เราจะรับกลุ่มอื่นๆ ได้
มีสิ่งที่เรายังควรปรับปรุงให้ดีกว่านี้ได้อีกเยอะ และเมื่อปรับปรุงให้ถูกต้อง ดี มีมาตรฐานแล้ว คนไทยของเราทุกคนก็จะสะดวก และได้ใช้กันถ้วนทั่วเช่นกัน
ในโลกเรามีคนพิการกว่า 600 ล้านคน (ข้อมูลขององค์การท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ UNWTO) และโลกกำลังมีประชากรสูงอายุเพิ่มเร็วมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน รวมทั้งไทยด้วย
นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ไม่ใช่กลุ่มที่จะไปเมาอาละวาด ทะเลาะกัน ไม่ใช่กลุ่มที่จะเที่ยวเขียนกำแพงทำความเลอะเทอะ ไม่ยุ่งกับการเสพสารเสพติดใดๆ แน่ มีเพียงปัญหาว่าพวกเขาจะนำเงินที่เก็บมาทั้งชีวิต ไปให้รางวัลสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ แก่ตัวเองได้ที่ไหน ที่จะมีเอกลักษณ์ หลากหลาย สะอาด ปลอดภัย เข้าใจเขา ทำให้เข้าถึงได้ และเท่าเทียม
วันนี้ นักท่องเที่ยวคณะนี้เดินทางต่อ ออกจากกรุงเทพฯ ไปแล้ว และกำลังมุ่งไปอยุธยา เชียงใหม่ พะเยา แล้วจะบินลงใต้ไปพัทลุง ตรัง และจบการเดินทางท่องเที่ยวที่สนามบินภูเก็ต ทริปนี้ของพวกเขายาว 10 วันในไทย จะได้ทำทั้งสัมผัสกับช้าง นั่งรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง สานตะกร้า นั่งสมาธิ ทานอาหารท้องถิ่น และแม้แต่เดินชายหาด นวดแผนไทย ทำกลอง และตีกลองหนังของไทย
อีกไม่นาน พวกเขาก็จะบินกลับยุโรปและอเมริกา กลับบ้านไปเล่าถึงในสิ่งที่ตามองไม่เห็น แต่สัมผัสได้ถึง “ความงาม’’ ที่ซ่อนอยู่ในสังคมไทยให้โลกรอบตัวของพวกเขาได้รับรู้
ผมมั่นใจว่าพวกเขาแต่ละคน จะได้รับเชิญให้ไปขึ้นเวทีกล่าวเล่าประสบการณ์ชีวิตตามที่ต่างๆ อยู่เสมอ
ผมต้องขอขอบคุณผู้ทำแพคเกจทัวร์ ขอบคุณทีมสนับสนุน ขอบคุณคนขับรถตู้ ที่ช่วยดูแลแขกพิเศษเหล่านี้อย่างมีความรู้ ผ่านการฝึกกันมา ขอบคุณในน้ำใจของพ่อค้าแม่ค้า คนขนของ คนเข็นผักและเพื่อนนักท่องเที่ยวต่างชาติอื่นๆ ที่เมื่อเจอกลุ่มนักท่องเที่ยวตาบอดของเรา ทุกคนจะเอื้อเฟื้อ หลีกทางให้บ้าง หรืออนุญาตให้เราหยิบสินค้าของร้านของเขามาให้แขกของพวกเราได้สัมผัส แล้วส่งยิ้มอย่างอบอุ่นให้
นี่แหละครับ ความน่ารักของสังคมที่เห็น “ใจ” กันและกัน แม้ไม่ต้องส่งเสียงอะไรออกมาเลยก็ตาม
นี่คือสังคมที่จะพัฒนาได้ด้วย “สปริตที่ยั่งยืน”