'วีระศักดิ์' ส่งมอบหนังสือรับรอง 'GBAC STAR' สู่ 6 สุดยอดผู้บริหารไทย
'วีระศักดิ์' ส่งมอบหนังสือรับรอง 'GBAC STAR' สู่ 6 สุดยอดผู้บริหารไทย หลังได้รับการรับรองมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากลจากสหรัฐฯ 26 ม.ค. 2567 นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานกล่าวเปิดและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง 'มาตรฐานสุขอนามัยในกระแสการท่องเที่ยวของสากล' ที่อาคารศูนย์การประชุมบางแสนเฮอริเทจ จังหวัดชลบุรี โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และนายกเทศมนตรีเมืองแสนสุขร่วมให้การต้อนรับ
สำหรับงานดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวแนะนำโครงการและนางสาวนวลสมร อุณหะประทีป หัวหน้าโครงการ รายงานผลการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากลจบแล้ว
หลังจากนั้น นายวีระศักดิ์ ก็ได้ขึ้นทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีมอบหนังสือรับรอง การเป็นผู้ได้รับการรับรองมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล หรือ GBAC STAR ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา ให้กับผู้บริหารของไทย 6 แห่งที่ได้รับการรับรองในปีนี้ ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต, ศูนย์การประชุมบางแสนเฮอริเทจ ชลบุรี, บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซนทรัลเวิลด์, บ้านปารค์นายเลิศ, บริษัทนิกรมารีน ภูเก็ต และ บริษัทสุโข เวลเนสแอนด์ สปา จำกัด โดยเมื่อรวมกับที่ได้รับไปรุ่นแรกในปีก่อนหน้าอีก 4 แห่ง คือ ไทเกอร์มวยไทย, ป่าตองเบย์วิว, เกาะยาวใหญ่วิลเลจ และ อ่าวนางปรินซ์วิลล์ รีสอร์ตแอนด์ สปา ก็ทำให้ไทยมีสถานที่ที่ได้รับตรามาตรฐานนี้รวมแล้ว 10 แห่ง
อนึ่ง มาตรฐาน GBAC STAR ได้ถูกใช้ในสถานประกอบการมาตรฐานนับพันแห่งทั่วโลก เช่น สนามบิน JFK, สนามบินลากัวเดียร์, สนามบินนวอค์, ท่าเรือนิวยอร์ก, ท่าเรือนิวเจอร์ซีย์, ศูนย์ประชุมนานาชาติออราเคิลและสนามกีฬาที่แอตแลนตา จอร์เจีย ซึ่งเป็นเมืองเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน เป็นต้น ขณะนี้มีกิจการต่างๆ รอรับการประเมินให้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GBAC STAR อีกหลายพันแห่งทั่วโลก
สำหรับการขอรับรองตรามาตรฐาน GBAC STAR ของไทย เป็นการร่วมมือผ่านงานวิจัยที่นักวิจัยและวิชาการจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยงบประมาณจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ทำงานร่วมกับแต่ละสถานที่เพื่อใช้ประโยชน์จากฐานเดิมที่สถานประกอบการหลายๆ แห่งในไทยเคยพัฒนาระบบมาตรฐานสุขอนามัยผ่านระบบ SHA และ SHA+ ที่ดำเนินการโดยททท.และกระทรวงสาธารณสุขมาก่อนในช่วงรับมือโรคระบาด โควิด19
ดังนั้น ด้วยการดำเนินการเพิ่มการบันทึกเอกสารและขั้นตอนรายละเอียดอีกเพียงไม่มาก ผู้ประกอบการก็เข้าเกณฑ์ที่จะผ่านการประเมินของ GBAC STAR ที่ตลาดสหรัฐฯ, แคนาดา, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ให้ความเชื่อถือต่อมาตรฐานนี้อย่างยิ่งได้แล้ว
อีกทั้งผู้ประกอบการต่างพึงพอใจที่นอกจากจะมีตรารับรองที่ตลาดไว้วางใจแล้ว ยังได้มาตรฐานที่สร้างความปลอดภัยให้พนักงานหน้างานของตนเอง มีแผนรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน มีแผนประเมินความเสี่ยงที่อาจมาถึง และมีการเปลี่ยนแปลงที่กระตุ้นให้ Supply Chains และนิเวศของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยตื่นตัว และเท่ากับช่วยยกระดับมาตรฐานของการเดินทางและท่องเที่ยวไทยไปด้วย
นอกจากนี้ ผลพลอยได้ที่เกิดจากกิจกรรมคือ นักวิจัยไทยจากโครงการนี้ ซึ่งมีทั้ง มอ.ภูเก็ต และ นิด้า ได้กลายเป็นผู้มีความชำนาญในการออกแบบติดตามและประเมินมาตรฐานตามระบบของ สมาคม ISSA Worldwide Cleaning Industry Association USA และได้รับการรับรองให้เป็นบุคลากรเชี่ยวชาญในการประเมินอิสระให้ GBAC STAR ในระดับภูมิภาคด้วย
ที่มา https://thestatestimes.com/post/2024012636