ประธานวุฒิสภา ให้การรับรอง ประธานคณะกรรมาธิการสมาชิกรัฐสภาสมาคมการค้าเสรียุโรป และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการและหารือข้อราชการ
วันที่ 7 กันยายน 2565 เวลา 14.10 นาฬิกา ณ ห้องรับรองพิเศษ 202 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ให้การรับรองนางสาวอิงกิเบิร์ก โอเลิฟ อิซัคเซน (Ms. Ingibjörg Ólöf Isaksen) ประธานคณะกรรมาธิการสมาชิกรัฐสภาสมาคมการค้าเสรียุโรป และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการและหารือข้อราชการ โดยมีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ รองประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุวรรณ เลิศปัญญาโรจน์ รองเลขานุการคณะกรรมาธิการการคมนาคม และนางสาวนภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา ร่วมให้การรับรอง
ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า การเดินทางมาเยือนไทยในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและประเทศสมาชิก EFTA และเปิดโอกาสในการหารือแนวทางผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-EFTA โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ได้มีโอกาสพบกับนายอเล็กซ์ คูเพรซท์ (Alex Kuprecht) ประธานวุฒิสภาสมาพันธรัฐสวิส (ในขณะนั้น) และนายเบเนดิกท์ เวือร์ท (Benedikt Würth) หัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาสวิส ในคณะกรรมาธิการสมาชิกรัฐสภา EFTA โดยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-สวิส และการเริ่มต้นการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีไทย-EFTA จึงมีความยินดีที่ประเทศไทยและ EFTA ได้ร่วมประกาศเปิดการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีไทย-EFTA ที่เมืองบอร์การ์เนสอีกครั้ง และได้จัดการเจรจารอบแรกในกรุงเทพฯ ตลอดช่วงปีที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการสามัญที่เกี่ยวข้องของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรได้รับทราบเกี่ยวกับพัฒนาการการจัดทำ FTA จากกระทรวงพาณิชย์อย่างเสมอ ซึ่งรัฐสภาได้ให้ข้อเสนอแนะตั้งแต่ช่วงต้นของกระบวนการ โดยข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับ EFTA จะเป็นข้อตกลงการค้าเสรีฉบับแรกของไทยกับกลุ่มประเทศยุโรป เชื่อว่าข้อตกลงการค้าเสรีนี้จะสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับบริษัทและธุรกิจของทั้งไทยและ EFTA ตลอดจนช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างงาน และความกินดีอยู่ดีของประชาชนในประเทศภาคีสมาชิกทั้ง 5 ประเทศ นอกจากนี้ ประธานวุฒิสภายังเน้นย้ำขอให้เชื่อมั่นว่า วุฒิสภาไทยพร้อมสนับสนุนการฟื้นการเจรจาจัดทำ FTA และจะเร่งกระบวนการให้สัตยาบันความตกลงเขตการค้าเสรี EFTA-ประเทศไทย เมื่อมีการนำเสนอต่อรัฐสภาในเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งวุฒิสภาไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคีผ่านการทูตรัฐสภา การแลกเปลี่ยนข้อมูล และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในด้านประชาธิปไตย และพร้อมที่จะฟื้นฟูการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างรัฐสภาไทยกับรัฐสภา EFTA ให้กลับมามีพลวัตอีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง หวังว่าการเดินทางเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้มีการเจรจาอย่างสร้างสรรค์และเป็นรูปธรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันในเกิดความก้าวหน้าในกระบวนการเจรจาที่ตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีต่อไป
ด้านประธานคณะกรรมาธิการสมาชิกรัฐสภาสมาคมการค้าเสรียุโรป กล่าวว่า การเดินทางเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ EFTA มุ่งหมายเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีของคณะกรรมาธิการสมาชิกรัฐสภาสมาคมการค้าเสรียุโรป โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อแสดงการสนับสนุนในมิติด้านการเมืองและมิติการทูตรัฐสภาต่อกระบวนการการเจรจาหรือการปรับปรุงข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศนั้น ๆ นอกจากนี้ ได้มีการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสมาชิกวุฒิสภา ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การค้า การลงทุน ความร่วมมือ BCG ในภูมิภาคและกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และการบรรลุเป้าหมาย SDG โอกาสนี้ได้ขอให้วุฒิสภาสนับสนุนการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-EFTA ให้ประสบความสำเร็จร่วมกันต่อไป