วิทยากรบรรยายในหลักสูตร ‘’การพัฒนานักกฏหมายภาครัฐระดับชำนาญการ‘’
30 มิถุนายน 2565 ในการบรรยายของ คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา เป็นวิทยากรบรรยายในหลักสูตร ‘’การพัฒนานักกฏหมายภาครัฐระดับชำนาญการ‘’ ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความยาว 3 ชั่วโมง ในหัวข้อ ‘’…กฎหมายกับการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม …’’ ที่โรงแรมเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ วันนี้
คุณวีระศักดิ์ได้บรรยายเปรียบเทียบให้เห็นกรณีตัวอย่างหลายกรณีเพื่อเปรียบเทียบให้เห็น ความแตกต่างของการออกแบบกฎหมายที่สามารถใช้บริหารจัดการประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมไว้ 4 กรณีตัวอย่าง
ตัวอย่างแรกเป็นเรื่องของชุมชนบ้านน้ำพุ จังหวัดราชบุรี ที่ต้องทนทุกข์จากการรั่วไหลของสารเคมีอันตรายลงปนเปื้อนแหล่งน้ำทางบนดินผ่านระบบน้ำใต้ดินมาเป็นระยะเวลาถึง20ปี และทั้งที่มีบทบัญญัติของพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย ที่ให้อำนาจแก่ทางการและหลายหน่วยหลายกระทรวงที่จะสามารถขอใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายได้เมื่อมีเหตุจำเป็น แต่ก็ยังไม่เคยมีหน่วยใดขอใช้อำนาจอันครอบคลุมของพระราชบัญญัตินี้
กรณีตัวอย่างที่ 2 เป็นกรณีการแย่งกันสูบน้ำพุร้อนเค็มอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติพิเศษที่มีคุณค่ายิ่งและหาได้ยากมากในโลก จากระดับใต้ผิวดินขึ้นมาใช้ โดยขาดกติกาควบคุม ที่เขตแหล่งน้ำพุร้อนคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ซึ่งเมื่อการขุดน้ำพุร้อนเค็มขึ้นมาต่างคนต่างใช้นี้เป็นการขุดเจาะในระดับตื้นกว่า 10 เมตร ดังนั้นพระราชบัญญัติน้ำบาดาลจึงเข้าไปกำกับเองไม่ได้เพราะกฎหมายมีนิยามคำว่าน้ำบาดาลให้นับเฉพาะ การสูบน้ำจากใต้ดินที่ลึกกว่า 10 เมตรลงไปเท่านั้น
ดังนั้น การขุดสูบน้ำจากระดับเพียงไม่ถึง 10 เมตรจึงไม่เข้าข่ายเป็นน้ำบาดาล
หน่วยงานจึงควรเร่งหยิบสาระใน พระราชบัญญัติ ทรัพยากรน้ำ 2563 ขึ้นมาใช้โดยเร็ว เพื่อจะได้สามารถคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่านี้ให้ทันก่อนจะสูญเสียความสมดุลย์ไป
กรณีตัวอย่างที่ 3 คือการถ่ายโอนแหล่งน้ำขนาดเล็กจากหน่วยงานต่างๆไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดทั้งภาระและการไม่สามารถจัดการของหน่วยปกครองท้องถิ่นขนาดเล็ก ผลคือแหล่งน้ำเหล่านั้นเสื่อมสภาพ เสียหาย หรือใช้การต่อไม่ได้มากมาย ซึ่งเรื่องนี้สมควรที่หน่วยงานที่บริหารนโยบายการกระจายอำนาจไปสู่ส่วนท้องถิ่นควรเร่งหาทางคลี่คลายแก้ไขให้ได้โดยเร็ว เพราะยิ่งปล่อยไปก็จะยิ่งเสียหายทั้งต่อระบบจัดการน้ำท่วมและภัยแล้ง ตลอดจนเป็นภาระที่หนักขึ้นเรื่อยๆของการซ่อมแซมและฟื้นฟูให้กลับมาใช้ได้ตามเดิม
ส่วนกรณีตัวอย่างสุดท้ายที่คุณวีระศักดิ์หยิบยกมานำเสนอคือกรณีตัวอย่างที่กลุ่มผู้พิการที่บ้านแม่หล่ะ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ที่ไม่ต้องอาศัยงบประมาณทางราชการ จำนวน 37 คน ร่วมกันทำโครงการเปลี่ยนเขาหัวโล้นให้กลับเป็นป่าสมบูรณ์ได้สำเร็จใน 5 ปี ด้วยการอาศัยความในมาตรา33-35 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่ให้ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างทุกๆร้อยคนต้องจ้างงานผู้พิการ หนึ่งคน ให้จ้างผู้พิการไปปลูกและคอยดูแลต้นกล้าที่ปลูกในเขตป่าเสื่อมโทรม ผลที่ได้กลายเป็นทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ และสิ่งแวดล้อมได้รับการฟื้นฟู ผู้พิการได้รับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความภูมิใจในศักยภาพ และความมีศักดิ์ศรีของชีวิต ด้วย
‘’…อีกเรื่องสุดท้ายที่ได้แนะนำผู้เข้ารับการอบรมที่ล้วนเป็นนิติกรระดับชำนาญการของกรมต่างๆในครั้งนี้คือขอฝากการบ้านให้ทุกท่านกลับกรมไปสำรวจดูว่า แบบฟอร์มที่เคยออกแบบกำหนดให้ประชาชนต้องกรอกเวลายื่นคำร้องนั้น มีคำถามใดที่ไม่น่าจะจำเป็นต้องให้ประชาชนกรอกหรือไม่ เพราะนั้นก็เป็นอีกเรื่องง่ายๆที่นิติกรมีศักยภาพเบื้องต้นที่จะเสนออธิบดีให้ปรับปรุงและลดภาระ ลดขั้นตอนที่ประชาชนต้องรอคอยหรือต้องไปค้นหาเอกสารหรือสำเนามายืนยันหรือประหยัดเวลาในการเดินเรื่องกับหน่วยงานของรัฐได้ …‘’ นายวีระศักดิ์กล่าวในตอนท้าย
---------------------------------------------
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา, ประธานอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ของวุฒิสภา, ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการกีฬา ของวุฒิสภา, รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ที่มา https://www.facebook.com/Weerasak-Kowsurat
---------------------------------------------