ศึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและบทบาทสำคัญของแมลงกับนิเวศวิทยาของแมลงการเพาะเลี้ยง
วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2565 คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา นำโดย นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะและนายบุญมี สุระโคตร กรรมาธิการ พร้อมคณะอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เดินทางไปศึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและบทบาทสำคัญของแมลงกับนิเวศวิทยาของแมลงการเพาะเลี้ยง ขยายพันธ์ุผีเสื้อและแมลงที่มีประโยชน์ การส่งเสริมอาชีพเกี่ยวกับแมลง ที่ ศูนย์ฮังแมลงชุมแพ ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 2 ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
หลังนำคณะปล่อยผีเสื้อที่เพาะเลี้ยงขึ้นมาเพื่อไปเป็นผู้ช่วยขยายการผสมเกสรในป่า คณะยังได้ร่วมกันปลูกต้นไม้เป็นที่ระลึกอีกด้วย
‘’…นอกจากแมลงจะเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของมนุษย์ในอนาคตแล้ว แมลงหลายอย่างมีบทบาทสำคัญต่อการผสมเกสรให้พืชติดดอกออกผล เช่นผึ้งชันโรง อีกทั้งแมลงหลายอย่างเช่นแมลงวันลายมีฤทธิ์ขับไล่แมลงวันบ้าน โดยไม่เป็นพาหะนำโรค แถมตัวมันยังมีสารกำจัดกลิ่นอาหารเน่าเสียได้ หรือแม้แต่เพาะแมลงวันลายไว้เป็นอาหารไก่ ก็ให้ผลใกล้เคียงหัวอาหารได้ทีเดียว ส่วนแมงแคงหรือมวนลำใยนั้น มีตลาดรับซื้อเพื่อนำไปบริโภคกันในราคาถึงกิโลกรัมละเกือบ 2พันบาท นี่คือเศรษฐกิจฐานชีวภาพที่โลกยังต้องพึ่งพาจากป่าเขตร้อนอย่างเรามากๆ แต่แมลงที่ดีๆเหล่านี้ทนเคมีการเกษตรและมลพิษไม่ได้ มันจึงเป็นทั้งดัชนีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี และเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่ต้องช่วยกันถนอมแมลงประเภทนี้ไว้ เริ่มจากการสนใจศึกษาให้มีความรู้เกี่ยวกับแมลงที่ดีๆในท้องถิ่นของตัวเองนี่เอง…‘’
นายวีระศักดิ์กล่าวก่อนปิดท้ายว่า ‘’…ในประเทศไทยยังมีศูนย์ศึกษาเพาะเลี้ยงเกี่ยวกับแมลงที่ให้ความรู้และประสบการณ์ดีๆอย่างนี้อยู่เพียง 3 แห่ง คือ ที่เชียงใหม่ ขอนแก่น และตราด ครับ…’’
---------------------------------------------
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา, ประธานอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ของวุฒิสภา, ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการกีฬา ของวุฒิสภา, รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ที่มา www.weerasak.org / https://www.facebook.com/Weerasak-Kowsurat