ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

Easy minimal Template

 

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เป็นสมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรรมการ และกรรมการบริหาร มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย รองประธานกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติ[3]ประธานกรรมการในคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประธานกรรมการคณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กรรมการ มูลนิธิสุรเกียรติ์ - ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สาขาภาพยนตร์ ]กรรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาชิกคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองเอเชีย  นักคิด นักยุทธศาสตร์ และนักวิชาการด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ

ด้วยความที่เป็นนักวิชาการด้านการเมืองและนักพัฒนาสังคม จึงมีโอกาสได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญหลายตำแหน่ง อาทิ เลขานุการประธานรัฐสภา เลขานุการประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ เลขานุการประธานคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายวุฒิสภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยอีกด้วย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)

นอกเหนือจากทางการเมืองแล้ว ด้านงานวิชาการ ยังเป็นอาจารย์พิเศษ และผู้บรรยายพิเศษ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ประวัติ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ (กลาง) ในพิธีปิดการแข่งขันกีฬาคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 36 (พ.ศ. 2562) "น้ำกกเกมส์"
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ หรือ "อาจารย์เอ" เกิดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2508 (56 ปี) ที่จังหวัดอุบลราชธานี  เป็นบุตรของนายวิชัย และนางนันทนา โควสุรัตน์ 

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เมื่อปี พ.ศ. 2532 นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท เมื่อปี พ.ศ. 2535 นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา (LL.M. Harvard Law School)

ความภูมิใจของวีระศักดิ์ ด้านการศึกษาคือช่วงจบมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และได้เป็นนักเรียนทุน AFS (American Filed Service) ในสหรัฐอเมริกา 1 ปี ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เขามีความพร้อมด้านภาษาอังกฤษและการเข้าถึงวัฒนธรรมสหรัฐ ทั้งเชิงการเมืองและชีวิตนักเรียนอเมริกัน

การทำงาน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเมืองมาเกือบสามทศวรรษ จนได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็น "กุนซือ" ฝีมือเลิศล้ำ ท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีเว็บไซต์ชื่อ www.weerasak.org

พ.ศ. 2532 ได้รับความไว้วางใจให้เป็น ผู้ช่วยของ ศาสตราจารย์ ดร. สุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัฐบาลของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ในทีมที่ปรึกษา "บ้านพิษณุโลก" ตั้งแต่ยังเป็นนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีส่วนร่วมดูแลงานด้านนโยบายสาธารณะ
พ.ศ. 2533 เดินทางไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านกฎหมาย ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา
ระหว่างที่ศึกษาปริญญาโทนี้ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ยังได้เป็นบรรณาธิการที่ปรึกษา ของ นิตยสาร Harvard International Law Journal[ ] (วารสารกฎหมายระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงระดับโลก)

พ.ศ. 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ตัดสินใจอุปสมบท ที่วัดสุปัฏตนาราม อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี เมื่อเดือน ก.พ.2534
พ.ศ. 2535 ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานรัฐสภา (สมัยนายวรรณ ชันซื่อ เป็นประธานวุฒิสภา)
พ.ศ. 2538 - 2539 ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ถูกมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านนโยบายวิชาการ นโยบายสังคม การต่างประเทศ และข่าวกรองแห่งชาติ รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญ ในการร่วมเตรียมการจัดกิจกรรมระดับนานาชาติที่สำคัญ เช่น การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงเทพมหานคร, การแสดงปาฐกถาพิเศษของนายกรัฐมนตรีที่นิวยอร์ก ในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งองค์การสหประชาชาติร่วมกับผู้นำทั่วโลกที่ไปพร้อมกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองโลก ,การจัดให้นายกรัฐมนตรีไทยเยือนพม่าเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ให้ราบรื่นยิ่งขึ้น,การจัดให้นายกรัฐมนตรีเยือนประเทศอาเซียนอย่างเป็นทางการ, การร่วมประชุมผู้นำเอเปกที่ญี่ปุ่น ณ นครโอซาก้า เป็นต้น

พ.ศ. 2540 - 2544 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ หอสมุดตำหนักพระองค์เจ้าหญิงอัพภัณตรีปชา ซึ่งปรับปรุงอาคารโบราณสถานแห่งนี้ ให้เป็นห้องสมุดที่รวบรวมเอกสาร หลักฐานความรู้ทางการเมือง และวิชาการต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ โดยเปิดให้บุคคลภายในและภายนอกพรรคชาติไทย ใช้เป็นที่พบปะ สังสรรค์ พูดคุย วางแผน ตลอดจนศึกษาค้นคว้าข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการพัฒนานโยบายสาธารณะ หลังจากนั้นไม่นานอาคารแห่งนี้ได้รับ รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นี่เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่เขาได้มีส่วนช่วยผลักดันให้อาคารร้างหลังหนึ่ง กลับขึ้นมามีชีวิตชีวา และมีบทบาทในทางบ้านเมือง จนมีภาพยนตร์ ตลอดจนสารคดีหลายเรื่องมาถ่ายทำเรื่องราวและถ่ายทอดความสำคัญของอาคารหลังนี้
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้จุดประกายการทำงานเรื่องใหม่ๆ ให้กับกระทรวงศึกษาธิการด้วยการค้นหาโครงการที่ไม่ใช้งบประมาณ แต่ใช้ความร่วมมือบนความเข้าใจ และเปิดมิติการบริการที่เพิ่มพื้นที่การรู้จักมักคุ้นระหว่างเอกชน ภาคชุมชน กับงานด้านการศึกษา เช่น โครงการโรงเรียนสีขาว ซึ่งเป็นการลดรั้วที่ปิดกั้นการสื่อสารระหว่างผู้บริหารสถานศึกษา กับ ปราชญ์ท้องถิ่น และผู้นำชุมชน ชาวบ้าน ผู้ปกครอง ตลอดจนตัวเด็กนักเรียนเอง

นอกเหนือจากงานที่กระทรวงศึกษาธิการแล้ว วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ยังถูกแต่งตั้งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ ประธานคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาช้างไทย

พ.ศ. 2544 - 2545 ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี
พ.ศ. 2545 - 2547 ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผลงานที่โดดเด่นของวีระศักดิ์ในช่วงนี้ ต้องยกให้เป็นความสามารถพิเศษที่เชื่อมโยงปัญหาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แล้วแยกแยะเป็นมิติต่าง ๆ ง่ายต่อการทำความเข้าใจ เขามักจะเลือกใช้คำพูดง่าย ๆ แต่กินใจ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้รับฟังเกิดพลังร่วมในการขับเคลื่อนประเด่นทางสังคม เช่น โครงการ "บ้านเอื้ออาทร" ซึ่งเป็นชื่อโครงการที่วีระศักดิ์คิดขึ้นเอง โดยมีความหมายว่าให้เกิดความเอื้ออาทรระหว่างผู้อยู่อาศัยในชุมชนดียวกัน แต่น่าเสียดายที่ภายหลังมีการหยิบใช้คำว่า บ้านเอื้ออาทร ไปใช้ในความหมายที่ชวนให้เข้าใจว่ารัฐบาลเอื้อเฟื้อเมตตาแก่ประชาชน ซึ่งไม่ตรงกับความตั้งใจครั้งแรกของเขา
นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของแนวคิดเรื่องโรงรับจำนำชุมชน การติดตามและแก้ปัญหาการค้าหญิงและเด็ก การดูแลเด็กเร่ร่อน การผลักดันกฎหมายคุ้มครองเด็ก กฎหมายผู้สูงอายุ และกฎหมายส่งเสริมการจัดระบบสวัสดิการสังคม เป็นต้น งานด้านความช่วยเหลือสังคม ทำให้ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ได้รับรางวัลมากมาย อาทิ องค์กร UNIFEM ของสหประชาชาติให้เป็นต้นแบบดีเด่นในด้านการรณรงค์ให้ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง, รางวัล "ทูตพิทักษ์สิทธิเด็กดีเด่น" สาขานักการเมือง และภายหลังองค์กรเครือข่ายทำงานเพื่อส่งเสริมสถานภาพหญิงชายมีมติมอบรางวัล "เอกบุรุษ" ซึ่งจะมีผู้ได้รับเพียงปีละ 1 คนเท่านั้น

พ.ศ. 2548 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทย
พ.ศ. 2550 ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคชาติไทย
พ.ศ. 2551 ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ นับเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการริเริ่มผลักดันนโยบายด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวในระดับต่าง ๆ อันก่อให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ แม้จะดำรงตำแหน่งรมต. ไม่ยาวนาน ด้วยบุคลิกที่โดดเด่นในเรื่องการจับประเด็น วิเคราะห์ข้อมูลสมเหตุผล และมีหลักการคิดที่สมบูรณ์ครบถ้วน กล้าคิดกล้าตัดสินใจ สามารถต่อสู้แข่งขันกับนานาประเทศได้ไม่แพ้ใคร ประกอบกับเป็นคนจิตใจเปิดกว้าง คอยติดตามความเคลื่อนไหวของกระแสโลกทันท่วงทีอยู่สม่ำเสมอ และสามารถมองหาแง่มุมที่เป็นจุดแข็งจุดอ่อนของไทยเพื่อเทียบกับของคู่แข่งขันได้แม่นยำ จึงทำให้เกิดผลงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

โดยผลงานที่โดดเด่น คือ เพิ่มรายได้ทางการท่องเที่ยวในตลาดต่างประเทศเป็น 8 แสนล้านบาท เติบโต 30% (จากเดิม 6 แสนล้านบาท) จากภูมิหลังที่ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง ประกอบกับใช้หลักกลยุทธ์บริหารช่องทางการตลาด ททท.ดันตลาดใน รักษาตลาดนอก จึงทำให้การท่องเที่ยวไทยในปีนั้นเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

"ททท. ต้องรุกหนัก หยุดไม่ได้ ด้วยช่องทางเดิมเพื่อไม่ให้จมหาย ในขณะที่ทุกประเทศก็ต้องรักษาฐานเดิมของตัวเองเช่นกัน ในขณะเดียวกันต้องเพิ่มเส้นทางรุกแบบใกล้ชิดในตลาดไทยด้วยเช่นกัน เพื่อช่วยพยุงเส้นเลือดทุกเส้นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ขยับตัวได้อย่างต่อเนื่อง"

และอีกหนึ่งผลงานที่โดดเด่นคือ การแก้ไขวิกฤตการท่องเที่ยวในภาวะฉุกเฉิน (เหตุการณ์การปิดสนามบินสุวรรณภูมิปลายปี 2551) โดยยืนอยู่บนหลักการบริหารจัดการเฉพาะหน้าที่ไม่ตำหนิกันเอง แต่ให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นแกนกลางประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง และผนึกทีมกันทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน เร่งบรรเทาความเดือดร้อนของนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่าแสนคนที่ตกค้าง ภายใน 48 ชั่วโมง โดยใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็น ศูนย์กลางขึ้น-ลง เที่ยวบินระหว่างประเทศ

ในขณะที่อีกด้านหนึ่งคือผลงาน ดำเนินการด้านกีฬา แบ่งออกเป็น 5 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมพัฒนาการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ เช่น การร่วมโอลิมปิกเกมส์, การช่วยประเทศลาว ในการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ปี 2552, 2.การส่งเสริมพัฒนากีฬาเพื่อมวลชน เช่น การจัดมหกรรมกีฬาเพื่อมวลชน, การประกวดวงโยธวาทิต, 3.การส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการกีฬา เช่น การจัดตั้งทีวีกีฬา, เพลงเชียร์กีฬา และมาตรการด้านลดภาษีการกีฬา, 4. การส่งเสริมพัฒนากีฬาความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการพลศึกษา กับ สถาบันพลศึกษาของจีน, 5. การส่งเสริมพัฒนากีฬาพื้นฐาน พัฒนาบุคลากรทางการกีฬาและพลศึกษา

พ.ศ. 2552 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ปลายปีพ.ศ. 2552 -2554 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา สคพ. (ITD) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่พัฒนาองค์ความรู้และเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ การคลัง การลงทุนและการพัฒนา รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ ทำวิจัย และอีกส่วนงานคือการฝึกอบรมและสัมมนา ซึ่งจะมุ่งเน้นในเรื่องของการเปิดเสรีทางการค้าในกรอบของ WTO ASEAN และทวิภาคีต่างๆ
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ มีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเจตนารมณ์ของการจัดตั้งองค์ ITD ซึ่งสามารถเห็นได้จากผลงานที่โดดเด่น อาทิ การจัดงาน เปิดข้อมูลรายงานการลงทุนโลก 2011 (World Investment Report 2011) รายงานตัวนี้ตัวช่วยตัวที่สำคัญชิ้นหนึ่งเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทย เพราะเนื้อหาเจาะลึก ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ แนวโน้มการลงทุนในต่างประเทศ (FDI) โดยตรงทั่วโลก รวมถึงมาตรการใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงการมีส่วนร่วมไปสู่การพัฒนา

พ.ศ. 2556 ดำรงตำแหน่งประธาน สหกรณ์บริการท่องเที่ยวไทย เพื่อการพัฒนา จำกัด
พ.ศ. 2557 - ปัจจุบัน เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
ผลงานที่โดดเด่น

คอลัมน์มองอย่างวีระศักดิ์ นสพ.โพสต์ทูเดย์
ปัญหาช้างไทย
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ มีส่วนสำคัญยิ่งในการแก้ไขปัญหาช้างไทย เมื่อครั้งถูกแต่งตั้งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ ประธานคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาช้างไทย ซึ่งภารกิจนี้ทำให้ได้ศึกษาปัญหาช้างไทยอย่างแตกฉาน ทั้งปัญหาช้างป่า และช้างบ้าน ได้รวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสองกลุ่มปัญหา และมีข้อเสนอแนะในด้านกฎหมาย และการใช้มาตรการที่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาช้างไทยได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน จนทำให้ งานเขียนเรื่องช้างไทยของวีระศักดิ์ได้รับการเผยแพร่โดยองค์กรเอกชนที่สนใจปัญหาเรื่องช้างอย่างกว้างขวาง และเป็นเอกสารอ้างอิงที่ผู้สนใจเรื่องช้างกล่าวถึงเสมอๆ จวบจนปัจจุบันนี้

ปรัชญาที่ได้รับจากการทำงาน
"ผมได้ทำหน้าที่ในฐานะผู้ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ซึ่งผมมองว่าการเมืองเป็นพาหนะ แต่ไม่ใช่เป้าหมาย เป้าหมายคือ การได้เห็นนโยบายสาธารณะที่ดี ๆ ถูกนำออกมาปฏิบัติใช้"
เครื่องราชอิสริยาภรณ์

 

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี