ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

ขยะทางแก้ที่ต้องไม่เอาแต่แขยง ตอนที่ 5 ขยะภูเขา: ประเพณีปีนภูกระดึงเก็บขยะ

 

โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา
 
ในฐานะที่ผมชอบกิจกรรมปีนเขาเข้าถ้ำ จึงพอจะมีประสบการณ์การได้เห็นการจัดการกับขยะในป่าเขาตามควร และเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก บวกกับความรู้อื่นที่สะสมในภายหลัง จึงคิดว่าน่าเอามาเล่าถ่ายทอด ให้เข้าชุดซีรีย์ บทความเรื่อง ขยะ เพื่อให้ครบสาขามากขึ้น โดยเฉพาะบัดนี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการทรัพยากรธรรมชาติฯ คุณวราวุธ ศิลปอาชาประกาศนโยบายไว้ว่า ทุกอุทยานแห่งชาติต้องมีช่วงปิดพักให้ธรรมชาติของอุทยานนั้นๆ มีเวลาพักฟื้น ไม่ว่าจะทางบกหรือทางทะเล อันนี้ดีมากครับ..ผมก็อยากให้มีอย่างนี้มานานแล้ว
ประสบการณ์เรื่องขยะภูเขานี้เกิดในคราวที่ผมไปนำกิจกรรมเก็บขยะที่ภูกระดึงเมื่อหลายปีก่อน... สมัยนั้นผมยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบอรด์ขององค์การมหาชนชื่อ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มีชื่อย่อว่า อพท. ทุกปี อุทยานแห่งชาติภูกระดึงจะประกาศปิดการเยี่ยมชมอุทยานเพื่อพักฟื้นป่าในฤดูฝน สัตว์ป่าจะได้ออกมาหากินสะดวก และเพราะเส้นทางปีนขึ้นภูกระดึงจะลื่น อาจเป็นอันตรายต่อผู้มาเที่ยว.. 
ผมและจิตอาสาอีกราว ๆ 500 คน ก็จึงนัดกันขอปีนขึ้นเป็นกลุ่มสุดท้าย…ก่อนปิดพักป่า…ไม่ได้จะไปดูหมอก ดูใบเมเปิ้ล หรือสนสามใบหรอก ... แต่เป้าหมายของเราอยู่ “ข้างทางระหว่างปีน”… “เรามาด้วยจุดประสงค์เดียวครับ…เก็บขยะบนภูเขา…”
และที่นั่น…เราจึงได้รับรู้ว่า…ก่อนหน้านั้นยังไม่เคยมีกิจกรรมที่คนภายนอกมาช่วยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เก็บขยะลงเขามาก่อนเลย…ทั้ง ๆ ที่ภูกระดึงเป็นสุดฮิตของคนไทยมานาน...
ในที่สุดการปีนสลับเดิน 8 กิโลเมตรก็ถูกพิชิต แต่ไม่ได้เป็นสถิติอะไร เพราะเราไปกันช้ามาก มัวเสาะหาเศษขยะตามมุม ตามซอกต่าง ๆ คีบใส่ถุงไว้แล้วกองรอข้างทาง...เพื่อหิ้วลงตอนขากลับ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยจนถึงยอดภูกระดึง…ลิ้นห้อยไปตาม ๆ กัน เพราะบางช่วงสูงชัน…บางช่วงแค่ราบเอียงเล็กน้อย…ฝนตกลงมาโครมใหญ่ระหว่างขาขึ้น และตกนานจนเราทนหลบฝนใต้กำบังไม่ไหว ด้วยว่าควรไปให้ถึงหลังแปก่อนฟ้ามืด จึงตัดสินใจเดินกึ่งวิ่งฝ่าดงทากที่มารอรับอย่างระริกระรี้ ซึ่งเราก็ไปถึงยอดภูทันเวลา
คณะจิตอาสามีทั้งเด็กแค่ 7 ขวบ ยันผู้สูงอายุใจสู้ 72 ขวบ…ทุกคนพอใจอากาศดีชะมัด…แล้วแยกย้ายเข้าที่นอน ตื่นเช้ามาก็แห่กันลงเขา เก็บคว้าถุงที่เราคีบขยะใส่ไว้ตอนขาขึ้นติดมือลงมาเรื่อยๆ ขาลงนี่ช้ากว่าขาขึ้นเสียอีก เพราะลื่น สักพักฝนเทอีกแล้ว ขยะในกระสอบส่วนมากเป็นขวดพลาสติก ฝาขวดแบบต่างๆ กระป๋องเปล่าๆของปลากระป๋อง และน้ำอัดลม ซองขนมซองลูกอม ถุงเท้าเน่ารองเท้าแยกร่าง ผ้าเย็นซึ่งไม่ใช่ใยผ้าจริง แต่มันคือสปันด์บอนด์ คือเส้นใยพลาสติกละเอียดซึ่งจะไม่ย่อยสลายไปอีกสักร้อยปี
แต่ที่น่าตกใจคือ หลอดดูด…ค่อยๆ คีบออกมาจากพื้นดินเหนียวตามมุมต่างๆ โดยเฉพาะที่ใกล้กับที่นั่งพัก ที่ขายอาหารริมทางที่เรียกว่า “ซำ” ต่างๆ …แทบทุกหลอดยังอยู่ในสภาพแข็งแรงสมบูรณ์…และมีปริมาณมากมายจนน่าตกใจ… ผมมาได้ความรู้ในภายหลังว่า หลอดดูดนั้นทำด้วยพลาสติกเกรดเข้าปากได้ มันต้องแข็งแรงพอ สัตว์ป่ามักเข้าใจผิดกินเข้าไป
...ขยะอีกอย่างที่น่าตื่นเต้น คือ ขวดเครื่องดื่มเกลือแร่ คนปีนเขาเสียเหงื่อ รู้ว่าหากขาดน้ำ ขาดเกลือแร่จะเป็นตะคริวง่าย…ดังนั้นก็จะพกเครื่องดื่มเกลือแร่มาขึ้นภู...ดื่มเสร็จ…จะถือขึ้นหรือถือลงก็คงเห็นว่าหนัก เพราะเป็นขวดแก้ว…  
อย่ากระนั้นเลย…ขว้างทิ้งหรือแอบๆ สอดเข้าใต้พุ่มไม้ หรือซอกหินแล้วกัน…เท่านั้นไม่พอ…เราพบขวดที่แตกบิดอยู่ในดินหลายๆ จุด กว่าจะแงะ จะขุดกู้ซากออกมาได้ก็เล่นเอาเหนื่อย…บางทีเดินบนดินแล้วมีเสียงดังกร๊อบอยู่ใต้ดิน จึงลองขุดก็พบขวดที่แตกอยู่ใต้ดินอีกบางจุด… ขวดเครื่องดื่มเกลือแร่นี้ นักเดินเขาชอบเอามาปักพื้น 3-4 ขวด แล้วใช้แทนขาเตาหุงต้มครับ…ต้มบะหมี่ ต้มกาแฟไปตามเรื่อง พอเดินทางเป็นกลุ่มก็ต้มนานเผื่อแผ่สมาชิก ครั้นจะออกเดินทางต่อ ดินจุดที่ปักขวดไว้ก็แข็งเป็นหม้อดินเผาแล้ว ตัวขวดก็ร้อนจี๋จากการรับบทเป็นขาเตาตั้งไฟ คนต้มเลยต้องยอมทิ้งสโตนเฮนจ์จำลองแล้วเดินจากไป เมื่อดินได้รับน้ำค้าง น้ำฝน ก็อ่อนตัวลง ขวดที่เคยตั้งอยู่จึงล้มเอียง ถ้าไม่ถูกเหยียบหรือถูกเก็บไป มันจะค่อยๆ จมลง ขวดถูกเผานานๆ จะเปราะแตกง่าย กลายเป็นอันตราย.. แถมขยะก็เป็นมลพิษทางสายตา
เราเก็บขยะกระย่องกระแย่งลงมาจนถึงพื้นราบ…ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยและคณะมารอต้อนรับเหล่าจิตอาสาผู้อุ้มกระสอบขยะลงมาจากเขาที่จุดพักก่อนลงเขาจุดสุดท้าย ชื่อ “ซำแฮก” (สมชื่อมาก) และฝนก็เทลงมาแบบฟ้ารั่วอีกหนส่งท้าย เล่นเอาทั้งคณะผู้ว่าราชการและคณะจิตอาสานับร้อยมีสภาพเหมือนคนตกสระน้ำ…เปียกเละทั้งตัว…แต่หัวใจเบ่งบาน ยิ้มให้กัน
เมื่อถึงพื้นราบ ทุกคนเอาถุงขยะมาเทกองรวมกันเพื่อคัดแยก…พบว่ามีน้ำหนักถึงครึ่งตัน หัวใจที่พองอยู่แล้วก็พองใหญ่ขึ้นอีก…เพราะรู้ว่าสิ่งเล็กๆ ที่ตัวทำนั้น เมื่อรวมกัน…มันยิ่งใหญ่พอ…ที่จะกลายเป็นประเพณีปีนภูกระดึงเก็บขยะที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ซึ่งมีการจัดต่อเนื่องทุกปี นับแต่นั้น
 
 
ที่มา
-------------------------------------------------------------------------
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา 
#weerasakorg