ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

ขยะทางแก้ที่ต้องไม่เอาแต่แขยง ตอนที่ 4 รีไซเคิลขยะ

 

โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา
องค์ประกอบของกองขยะชุมชนเทศบาลไทยถูกสำรวจโดยหน่วยต่างๆหลายหน เมื่อปี 2547 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯสำรวจไว้ทีนึง
2551 กระทรวงพลังงาน ลองสำรวจเป็นค่าเฉลี่ยอีกที และ 2553 นักวิชาการของม.สุรนารีสำรวจอีกที ได้ผลที่พอจะประมวลเล่าแบบรวมๆได้ดังนี้ครับ
ขยะเศษอาหาร มีแนวโน้มลดลงจาก 69%เป็น 49% แต่ยังครองแชมป์ในฐานะเป็นสัดส่วนใหญ่สุดในกองขยะ ห่างอันดับ2 คือขยะพลาสติกแบบไกลลิบ
ขยะพลาสติกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยไต่จาก 17.65%ไปเป็น 18.7%
นี่เมื่อ 10ปี มาแล้วนะครับ
ไม่ต้องเดาว่าแล้วปีโควิด สัดส่วนจะเพิ่มขนาดไหน
ไล่หลังพลาสติกในกองขยะคือกระดาษครับ และมีอัตราเพิ่มเร็วเสียด้วย จากไม่ถึง 10% ไปเป็น 15.9%ในเวลาเจ็ดปี
ตามมาด้วยกิ่งไม้ใบไม้ ที่6.9 ซึ่งก็เพิ่มเร็วเช่นกัน
จากนั้นจะเป็นเศษวัสดุก่อสร้าง ขี้เถ้าและฝุ่นฝอยต่างๆ ที่6.6%
ส่วนจิปาถะที่เหลือคือพวกยาง เศษผ้า แก้ว โลหะ ปิดท้ายด้วยขยะอันตรายเช่นกลอดไฟและถ่านไฟฉาย บลาๆ
ขยะเหล่านี้รีไซเคิลได้แทบทั้งนั้น แต่ต้องมีการรวบรวมเป็นหมวดหมู่ ทำความสะอาด บางรายการต้องตัดแยกส่วนประกอบที่ทำจากวัสดุที่ไม่เข้าหมวดออกให้เรียบร้อย
เช่นขวดน้ำดื่มใสๆ ไม่ใช่พลาสติกอย่างเดียวกับขวดขุ่น รวมไปรีไซเคิลวิธีเดียวกันไม่ได้
ฝาเกลียวของขวดใสก็คนละประเภทกับพลาสติกของขวดใส ต้องแยกทางกันไป
ถ้าขวดใสมีพลาสติกยี่ห้อเครื่องดื่มพันรอบขวด นี่ก็ต้องแกะออกแล้วเอาไปจัดการคนละกระบวนการ
หลอดดูดก็ไปอีกวิธี
นี่แค่หมวดขวดเครื่องดื่มนะครับ
สำหรับผู้สนใจความรู้เรื่องการรีไซเคิลเวียนวัสดุกลับมาใช้ใหม่
ผมขอแนะนำให้เปิดอ่านเพิ่มเติมในเว็บไซด์ ฐานข้อมูลบัญชีของเสียที่เป็นแหล่งทรัพยากรทดแทน http://recycle.dpim.go.th/wastelist/waste.php
ซึ่งให้ความรู้ที่ตรงกับขยะของเสียของบ้านเรามากๆ ข้อมูลนี้จัดทำโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและทรัพยากรเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม
แนวคิดคือ มองกองขยะเหมือนมองเห็นสัมปทานเหมืองแร่ แทบทุกอย่างในกองขยะถ้าเอามาผ่านการหลอมการถลุงด้วยวิธีที่ถูกต้อง ผลลัพธ์ที่ปลายทางก็เหมือนมีโรงแต่งแร่ เพราะมันให้วัตถุดิบสำหรับใช้ประกอบกิจการอะไรๆ ได้ต่อไป เช่น น้ำมันเครื่องใช้แล้วให้กรองตะกอนและสารแขวนลอยออกแล้วนำไปผสมไฮโดรเจนร้อนเพื่อแยกไอออกจากของเหลว แล้วกำจัดโลหะที่ละลาย จากนั้นเติม Hydro Finishing เพื่อขจัดสารคลอรีนและซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ผลของมันคือจะได้น้ำมันที่เอาไปใช้งานทางอุตสาหกรรมอีกต่อหนึ่ง
ฟังดูเป็นภาษาห้องแลปเคมีหน่อย แต่แปลว่าถ้าอยากรู้หรือคิดทำอาชีพใหม่ๆ เราอาจมีกิจการรีไซเคิลที่หลากหลายและไฮเทคกว่ารับซื้อเศษทองแดง กับกระป๋องได้ แถมอาจก้าวไปเป็นกิจการชั้นนำของอนุภูมิภาคนี้ต่อไปได้ด้วย
เว็บไซด์นี้บอกวิธีการรีไซเคิลน้ำมันเบรคใช้แล้ว นี่เป็นสิ่งที่ถูกเททิ้งลงคูน้ำ ท่อระบายน้ำมานาน แทบไม่เคยไปถึงรถขยะ และต่อให้ใส่ถังปิดฝาผนึกแล้วทิ้ง ใครเจอเข้าก็ไม่เชื่อว่าน้ำมันเหนียวๆเขียวๆดำๆในแกลลอนนั้น มันคือสิ่งเดียวกับที่พิมพ์โฆษณาอยู่ข้างแกลลอนนั่นหรือเปล่า มีอะไรเทรวม ๆ ปน ๆ กันมาหรือไม่
ดังนั้น ถ้าลองอ่านเว็บไซด์ฐานข้อมูลบัญชีของเสียที่เป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนข้างต้นแล้วท่านจะประหลาดใจ ว่ามีของแปลกๆที่คนในบ้านเมืองเราทิ้งๆกันชนิดที่ท่านนึกไม่ถึงขนาดไหน
เศรษฐกิจการรีไซเคิลขยะจึงต้องมีความรู้จริงจัง และควรที่เราต้องเข้าถึงความรู้ใหม่ๆและ สร้างการมีส่วนร่วมให้ได้มาก ๆ
แต่ถ้าจะหวังให้ครัวเรือนแยกขยะได้แม่นขนาดนี้ก็คงไม่สามารถไปถึง
เอาแค่ขอให้ทิ้งแยกถัง วางแยกถุงระหว่างของเปื้อนแล้วกับของไม่เปื้อนก็แจ๋วแล้ว ไม่ว่ากับระดับครัวเรือนหรือระดับชุมชน
ที่ผ่านมาหลาย ๆ ปี เรามีสื่อรณรงค์เรื่องการคัดแยกขยะก่อนทิ้งน่าจะหลายแบบไปหน่อย สำหรับการสร้างนิสัยคัดแยกก่อนทิ้ง เป็นขั้น ๆ
ส่วนว่าสื่อสารด้วยความถี่น้อยไปหรือไม่นั้น อาจเป็นอีกประเด็น
วันนี้ผมจึงขอคิดดังๆ ว่า กว่าที่เมืองไทยจะเอาคอมพิวเตอร์เอไอมาช่วยคัดแยกขยะแทนคนได้ เรายังมีพนักงานเก็บขยะที่ได้อาศัยโอกาสที่เขาเข้าถึงถุงถังและกองขยะและดูจะเต็มใจช่วยคัดแยกหาวัสดุที่พอจะขายได้ออกจากกองขยะแทนชาวบ้านอยู่มากพอควร เพราะนั่นคือรายได้เสริมที่ช่วยดูแลครอบครัวของพวกเขามานาน
เพียงแต่วิธีที่ต้องคุ้ยขยะปะปนกันมาอย่างมั่วๆนั้น อันตรายต่อพวกเขาและครอบครัวไปหน่อย
ครัวเรือนของพวกเราจึงควรฝึกแยกสิ่งที่เปื้อนอาหารออกจาก ของแห้งให้เป็นนิสัยใหม่
ชุมชนควรทำความตกลงเรื่องพื้นที่ทิ้งของแห้งต่างหากให้ไกลสักนิดจากที่ทิ้งสิ่งของที่เปื้อนอาหาร และมีที่ทิ้งขยะอันตรายเช่นแบตเตอรี่ เครื่องใช้ไฟฟ้า และน้ำมันเครื่องอีกจุด
ในขณะเดียวกัน พนักงานเก็บขยะและนักเก็บขยะมือใหม่ก็ควรได้รับสนับสนุน ทั้งเครื่องมือ คู่มือ และการอบรมภาคสนาม ซึ่งงานอย่างนี้ สถาบันวิชาการ องค์กรพัฒนาต่างๆทั้งรัฐและเอกชนน่าจะมีส่วนร่วมเป็นแกนแนะนำกับองค์กรในท้องถิ่น
ที่เล่ามาข้างต้นใช้งบน้อยกว่าสร้างโรงเผาขยะในแต่ละท้องถิ่นแน่ ไม่ใช่โรงเผาขยะไม่ดีนะครับ
แต่อะไรที่เราไม่ต้องเผาได้ ก็คือทรัพยากรที่เอามาใช้ใหม่ได้
หมดยุคที่เราจะปล่อยให้มีขยะที่ไม่ถูกเก็บ ลมพัดปลิวกระจาย
หมดยุคที่ขยะจากเมืองจะถูกขนไปฝังหรือแอบเทในที่รกข้างทาง
หมดยุคที่เราจะละเลยเบือนหน้าหนี เวลาเห็นเด็กและคนเสื้อผ้าขาดๆคุ้ยขยะหาของไปขาย โดยไม่มีอุปกรณ์อะไรป้องกันตัวเอง ไม่มีความรอบรู้ว่าอะไรอีกที่ขายได้ถ้าจัดเก็บได้ถูกวิธี
นี่จะช่วยเพิ่มรายได้และโอกาสให้พวกเขาโดยลดความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพ และถ้าจะให้ดีก็อาจชวนให้เขาเข้าถึงระบบสวัสดิการสังคมที่เค้ามักจะไม่รู้อีกด้วย
รีไซเคิล เป็นส่วนหนึ่งของ เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งเป็นเรื่องที่มากกว่าวิทยาศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม
แต่จะเป็นทางเลือกทางสังคมที่อาจเปลี่ยนวัฒนธรรมการบริโภคอย่างรับผิดชอบและขยับเศรษฐศาสตร์การผลิตไปในทางที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วย
 
ที่มา
-------------------------------------------------------------------------
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา 
#weerasakorg