ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

ขยะทางแก้ที่ต้องไม่เอาแต่แขยง ตอนที่ 7 แบตเตอรี่โซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ

 

โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา
 
เมื่อขึ้นถึงยอดภูหลวง จังหวัดสุโขทัยแล้ว ผมเอาเป้วางที่เต็นท์ ทั้งๆ ที่ดื่มน้ำจากประปาภูเขาไปหลายขวด แต่ไม่ยักปวดเบา…คงเพราะร่างกายรีดน้ำออกทางเหงื่อนมากพอสมควรแล้ว จึงขอให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติรามคำแหง…คุณสว่าง ซึ่งปีนมาถึงพร้อมๆ กัน ช่วยพาไปดูกองขยะบนยอดเขาที่ว่ากันว่าเป็นปัญหาทีเถอะ… หัวหน้าอุทยานพาผมเดินเลาะผ่านเรือนไม้เก่าๆ ของที่ทำการอุทยานบนยอดดอย ไปจนเลยเรือนปั่นไฟก็เจอกองขยะที่นักท่องเที่ยวเคยทิ้งไว้ในถังบ้าง นอกถังบ้าง ทั่วบริเวณยอดเขา แล้วเจ้าหน้าที่อุทยานไปรวบรวมมากองหลบสายตาอยู่ ผมกับคณะอ้าปากค้าง…30 ปีของอุทยานมีขยะตกค้างเยอะขนาดนี้เชียว เจ้าหน้าที่บอกว่าปริมาณนี้ราวหนึ่งตันปลายๆ จากนั้นพาไปดูอีกจุดหลังเรือนอาบน้ำยาวอีกด้าน นั่นก็หลายร้อยกิโลกรัม…และที่ผมสังเกตตามแคร่ที่พักต่างๆ ระหว่างทางขึ้นมานั้น หัวหน้าอุทยานบอกว่าก็ยังมีเทกอง...หลบสายตาไว้อีกรวมๆ แล้วก็จะครบ 2 ตัน! พอดี (เอาเข้าจริงเมื่อนำลงพื้นมานับได้ 3 ตันครับ)
หลังจากนั้น หัวหน้าอุทยานก็พาผมเดินกลับลานกางเต็นท์ที่พัก ผมแลเห็นเรือนสังกะสีโทรม ๆ ผุ ๆ มีเต็นท์กางเรียงเป็นตับอยู่ด้านใน…ได้ความว่ากางไว้ให้เผื่อกรณีฝนตกหนัก จะได้มีเต็นท์ให้พวกจิตอาสาเผ่นย้ายมา เพราะอย่างน้อยก็มีหลังคาสังกะสีกันให้อีกชั้นหนึ่ง ทีนี้สายตาช่างสงสัยก็มองไปสุดด้านใน เห็นเป็นแผงอะไรแปลก ๆ เดินบุกเข้าไป…หัวหน้าอุทยานบอกว่า เป็นระบบแผงโซลาร์เซลล์เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้ยอดเขาหลวงนี้ แต่โครงการหมดสภาพแล้ว เหลือแต่ชุดแบตเตอรี่ในห้องเก็บข้าง ๆ
…ผมขอดูถึงกับตะลึง เพราะมันคือชุดแบตเตอรี่ขนาดใหญ่กว่าเราใช้ในรถยนต์ จำนวน 150 ลูก เรียงกันเป็นระเบียบเรียบร้อย สายไฟระโยงระยางเพียบ หัวหน้าอุทยานบอกว่า นี่คือปัญหาที่น่าหนักใจที่สุด เพราะขยะแบตเตอรี่เหล่านี้ เกินกำลังที่เจ้าหน้าที่จะจัดการกันเองไหว โครงการนี้ จนท. จำไม่ได้ว่ามาเมื่อไหร่ โดยใครบ้าง เราลองเอาแบตเตอรี่มาตรวจดู สภาพยังไม่เสียหายแต่ไม่เก็บประจุไฟแล้ว น้ำหนัก 10 กิโลกรัมต่อลูก ถ้าลูกใหญ่ก็ราว 18-20 กิโลกรัม น้ำกรดยังเต็มทุกลูก…หนักอึ้กเลยครับ
คิดไปขยะอันตรายเหล่านี้ก็เหมือนระเบิดเวลา เพราะถ้ารั่วไหลย่อมมีผลต่อสิ่งแวดล้อม ป่าต้นน้ำ!... คืนนั้น พวกเรานอนคิดวิธีขนขยะลงและคิดวิธีจัดการแบบเตอรี่จำนวนมากเหล่านี้กันจนดึก ในที่สุดก็ตกลงใจกันเบื้องต้น…ที่จะทยอยว่าจ้างลูกหาบชาวบ้านที่รอรับงานขนสัมภาระนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว ให้ค่อย ๆ ช่วยขนลงสู่พื้นราบ ซึ่งต้องใช้การขนหลายเที่ยวและหลายเดือนกว่าจะหมด คิดเป็นกิโลกรัมก็อีกราว 1,620 กิโลกรัม ส่วนพวกเราก็คงขนได้เท่าที่กำลังจะมีพรุ่งนี้ขาลง
ขนาดเราปีนขึ้นมาขาเดียว ยังสะบักสะบอมขนาดนี้…ต่อให้ลูกหาบชินทาง ชินงานขนาดไหนก็ไม่ง่าย...ที่จะเอาของหนักขนาดนี้ลงภูเขาสูงชัน...ปกติลูกหาบจะรับขนของได้ราวเที่ยวละ 40 กิโลกรัม ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวของเขาหลวงจะไม่หนาแน่น ปีหนึ่งมาราว 15,000 คน เทียบกับภูกระดึง ซึ่งปีหนึ่ง ๆ มีถึงราว 60,000 คน ดังนั้น งานหิ้วของลงก็น่าจะสร้างรายได้ที่ยาวพอควรให้ลูกหาบชาวบ้านล่ะ ถ้ามีวิธีที่สร้างสรรค์กว่านี้อีกก็คงดี…แต่คืนนั้นยังคิดไม่ออก
กลางคืนบนเขาหลวง ลมพัดแรงมาก พวกเราหลายคนไม่ชินกับการนอนในเต็นท์ที่ถูกลมตีแรง ๆ ตลอดคืน...จึงนอนไม่หลับ หลายคนยังสู้กับตะคริวที่คอยจะเต้นตุบตับ เสียงลมพัดต้นไม้และผ้าใบเต็นท์ดังสนั่นตลอดคืน บางเต็นท์ถูกลมพัดถอนสมอบกที่ตรึงเชือกขึงไว้กับดินจนหลุดลอยเข้าป่าไปทั้งหลังตอนเจ้าของเต็นท์ลุกไปเข้าห้องน้ำ... ต้องรอตอนเช้ามีแสงแล้วจึงจะออกไปกู้สมบัติส่วนตัวและเต็นท์
หลังตื่นอาบน้ำ…พวกเราสวมถุงมือ รับปากคีบ และกระสอบพลาสติกเหนียว เดินเรียงแถวหน้ากระดานบุกไปที่จุดแอบขยะ ลุยคีบแยกประเภท เลือกเอาคนละประเภทแล้วมัดปากถุง จากนั้นเก็บสัมภาระ 
เดินลงจากเขา…ตอน 09.00 น.
ภาพนี้งดงามนัก… อาสาสมัครทุกคนยิ้มแย้มไม่มีเสียงบ่น…สะพายเป้เสื้อผ้าของตัว ส่วนมือก็หิ้วกระสอบขยะที่ตัวเองบรรจงคัดแยกมาพาดบ่าเดินแถวเรียงหนึ่งลง “มอตะคริว” นับร้อยคน
ขาลงไม่มีใครคุยกันมากนัก…มีพักดื่มน้ำ…พักขากันเล็กน้อยแล้วงุดๆ ไต่ลงราวมดงาน… ทุกคนรู้ว่าขาลงไม่มีข้าวระหว่างทาง…เจ้าภาพอุทยานและองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหรือ อพท.จัดอาหารเที่ยงรอเลี้ยงที่พื้นราบ...ใช้เวลาชั่วโมงครึ่ง…จิตอาสาคนแรกก็ถึงพื้น และคนสุดท้ายลงถึงราว 2 ชั่วโมงถัดมา ทุกคนเอากระสอบขยะไปเทกองแยกตามประเภท ชั่งน้ำหนักแล้วส่งไปร้านรับซื้อขยะ มีการปีนเก็บอีกหลายเดือนกว่าจะนำแบตเตอรี่ข้างบนลงมาหมด ผมไปร่วมยกลูกสุดท้ายลงสู่พื้น ได้เซ็ตซีโร่ให้เขาหลวงไปเรียบร้อย
อุทยานแห่งชาติรามคำแหงได้เซ็ตซีโร่…ขยะอีกครั้ง นับแต่นั้นก็ได้ตั้งกติกาเรื่องการนำสิ่งที่จะกลายเป็นขยะไม่ให้นำขึ้นภูเขาไป เว้นแต่จะวางมัดจำไว้แต่ต้น จริงอยู่ว่า…การเก็บขยะบนภูเขาเป็นการแก้ไขระดับปลายเหตุ...แต่ไม่ว่าเราจะเปลี่ยนพฤติกรรมสังคมเกี่ยวกับขยะไปได้ดีแค่ไหน ขยะบนเขาก็ยังจะคาอยู่อย่างนั้น ถ้าเราไม่ขนมันลงมาจัดการให้เรียบร้อย ปีนี้คงมีแต่คนไทยเที่ยวไทยเป็นหลัก ช่วยกันลดขยะและเก็บขยะที่เจอตามที่ต่างๆให้บ้านเมืองเราสะอาดและมีการจัดการอย่างยั่งยืนกันครับ
 
รออ่านตอนต่อไปนะครับ
 
 
 
 
 
ที่มา
-------------------------------------------------------------------------
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา 
#weerasakorg