ขยะทางแก้ที่ต้องไม่เอาแต่แขยง ตอนที่ 8 ขยะทะเล: ปัญหาปลายทางที่ต้องแก้ให้ได้
โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา
ในการรณรงค์ของผมระหว่างที่ยังเป็นรัฐมนตรีท่องเที่ยว เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวรู้สึกไม่เคอะเขินที่จะมีรูปถ่ายตัวเองกับปิ่นโตไทยนั้น
ปรากฏว่าตรงกับช่วงเวลาโดยไม่ต้องนัดหมายที่รัฐมนตรีว่าการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเวลานั้น
พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ก็กำลังออกประกาศกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อทำให้หาดทรายดัง ๆ ที่คนชอบพาครอบครัวไปตากอากาศสูดโอโซน....เป็นเขตห้ามสูบบุหรี่ โดยจะตั้งกระถางทรายไว้ใต้ร่มไม้ ซึ่งลึกเข้ามาชิดขอบถนนที่นำไปถึงหาดนั้นๆ ไว้หลายๆ จุด เพื่อให้ผู้สูบบุหรี่ได้สูบบุหรี่ที่นั่น ในขณะที่สามารถมองเห็นทะเล และมีลมพัดถึงสะดวก คนที่ไม่เข้าใจก็คงนึกฉงน ว่าถ้าลมพัดดีอยู่แล้ว ทำไมจึงต้องห้ามสูบบุหรี่ที่ริมหาด จะยืนสูบโดยเอาเท้าแช่น้ำ หรือนั่งเก้าอีเผ้าใบสูบไม่ได้รึไง คำตอบคือควันบุหรี่ก็ส่วนหนึ่งที่จะถูกลมพัดไปถึงผู้ไม่สูบบุหรี่ที่ชายหาด แต่อีกส่วนที่ถ้าไม่ได้มีกิจกรรมเก็บเศษก้นกรองบุหรี่ที่ทะเลมาด้วยตนเองกับคณะอาสาสมัคร เราจะนึกไม่ถึงว่าแค่หาดทรายหาดเดียว เราเคยเก็บเฉพาะก้นกรองบุหรี่ขึ้นมาได้ถึง 5 กิโลกรัม เรียกว่าสามารถยัดหมอนได้เต็มหลายๆใบ !! ผู้สูบบุหรี่ไม่มีใครสูบเสร็จแล้วยัดกระเป๋ากางเกงไว้รอทิ้งที่อื่น แทบทุกคนจะทิ้งลงแล้วเอารองเท้าขยี้แบบในหนังเคาบอยทั้งนั้น ที่ชายหาดก็เช่นกัน ถ้าไม่สวมรองเท้าก็ดีดลงน้ำหรือไม่ก็กดก้นบุหรี่ลงในทรายแล้วเดินจากไป เด็ก ๆ และครอบครัวที่ชอบลงตักทรายมาก่อปราสาท บ่อยครั้งจึงได้ปราสาทที่มีสารประกอบที่มากกว่าทราย ไส้กรองบุหรี่ประกอบด้วยใยสังเคราะห์ ซึ่งเมื่อถูกทิ้งไว้สักพักเดียวมันก็จะยุ่ยเป็นไมโครพลาสติก ฝังอยู่ใต้ทราย รายงานการศึกษาวิจัยล่าสุดเผยว่า ขยะพลาสติกที่เราเห็นกันดาดดื่นตามชายหาดนั้น ยังเทียบไม่ได้กับส่วนที่มันยังถูกทรายกลบไว้ และพลาสติกเหล่านั้นจะสลายตัวออกเป็นไมโครพลาสติก ที่จะไหลลงทะเลตามจังหวะน้ำขึ้นน้ำลงต่อไป กิจกรรมเดินเก็บขยะหาดทรายจึงเพียงแต่กวาดขยะออกได้จากสายตา แต่สิ่งที่ตาเปล่ามองไม่เห็นยังคงอยู่ต่อไป ขยะชายหาดจึงท้าทายกว่าที่เราเคยจัดการกันด้วยวิธีดั้งเดิมขึ้นเรื่อย ๆ ขยะชายฝั่งอีกประเภทที่เก็บยากก็คือขยะในป่าชายเลนครับ เพราะต้นแสม ต้นโกงกางจะแทงรากขึ้นมาเพื่อเติบโตแยกเป็นต้นใหม่ เป็นจำนวนมาก จึงเหมือนตะแกรงดักจับขยะอย่างดี แต่คนไม่สามารถบุกเข้าไปเก็บเศษขยะในป่าโกงกางได้ เพราะน้ำขึ้นน้ำลงทำให้ขยะถูกส่งลึกเข้าไปในป่าชายเลน ครั้นพอน้ำลงขยะก็จะติดขัดอยู่ใต้โพรงรากบ้าง แขวนอยู่ตามกิ่งบ้าง ใครที่เคยพยายามบุกเข้าไปเก็บขยะในป่าชายเลนจะรู้ดีว่า ใส่รองเท้าอะไรก็ไปยากเพราะรากอากาศและรากน้ำที่แทงขึ้นมานั้นทั้งซับซ้อนและมีปลายแหลมแข็งพอควร ป่าชายเลนคือจุดเริ่มชีวิตของสัตว์ทะเลแทบทุกอย่าง ทั้งกุ้งหอยปูและปลา ไมโครพลาสติกมีขนาดเล็กจึงเทียบเคียงได้กับแพลงตอนที่ปูปลาหอยและหมึกกิน ตามธรรมชาติ มนุษย์เราอาศัยจับสัตว์น้ำชายฝั่งกินเลี้ยงครอบครัวกันมาเป็นพันๆปี มาบัดนี้จึงเท่ากับจะได้รับไมโครพลาสติกที่เข้าไปสิงสถิตอยู่ในวงจรชีวิตสัตว์น้ำตั้งแต่มันเพิ่งฟักออกจากไข่
เราจึงต้องทำใจกับการได้รับไมโครพลาสติกในอาหารจากทะเล ไม่ว่าจะมาจากโฮมเมด ตกเอง จับเอง หรือซื้อหามาจากตลาดในอนาคต จนบัดนี้ มนุษย์ก็ยังไม่มีวิธีทำลายไมโครพลาสติกที่อยู่ในทะเล ทางเดียวที่ยังพอจะรณรงค์ให้ทำกันได้คือพยายามอย่าให้มีพลาสติกเพิ่มลงไปในทะเล แคมเปญเรื่องขยะทะเลจึงมีเครือข่ายที่ใหญ่มากที่สุดเครือข่ายหนึ่งของมนุษย์ในด้านสิ่งแวดล้อม เพราะแหล่งโปรตีนที่มนุษย์บริโภคมานานที่สุด และมากที่สุด ยังไม่ใช่ไก่นะครับ แต่โปรตีนของมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดมาจากทะเล จะปลากระป๋องที่จับกันมาในทะเลลึก หรือปลาเค็มที่หามาได้จากชายฝั่ง เมื่อแปรรูปถนอมอาหารแล้วจึงไปถึงผู้คนที่อาจจะอยู่ลึกเข้าไปบนยอดเขา และกลางทะเลทรายอันแห้งแล้งได้ อาหารสัตว์ทั้งในปศุสัตว์และในบ่อเลี้ยงปลาทั่วโลกจะประกอบไปด้วยองค์ประกอบคล้ายกัน มีคาร์โบไฮเดรต ซึ่งมักใช้มันสำปะหลังหรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีโปรตีนที่มักใช้ถั่วเหลืองหรือเศษปลาและสัตว์ทะเลป่นเป็นส่วนประกอบ ถ้าสัตว์ทะเลปนเปื้อนเสียแล้ว ทั้งมนุษย์และปศุสัตว์ทุกที่ย่อมได้รับผลกระทบตามกันไปแน่นอน
รออ่านตอนต่อไปนะครับ
ที่มา
-------------------------------------------------------------------------
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา
#weerasakorg