ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

นาเกลือ สมุทรสาคร : แหล่งแวะพักสุดท้ายของนกใกล้สูญพันธุ์จากไซบีเรีย

ที่นาเกลือ แถวโคกขาม ชายทะเลสมุทรสาคร อำเภอพันท้ายนรสิงห์วานนี้ ผมได้รับเชิญให้มาร่วมสังเกตการณ์กลุ่มนก น็อต (Knot ) ฝูงสำคัญ ที่นักดูนกมักจะเฝ้าติดตามอีกครั้ง

ในฤดูผสมพันธุ์ นกชนิดนี้จะมีขนอกสีฉูดฉาด แต่เมื่อบินหนีหนาวลงใต้มายังอาเซียน มันจะจิกขนสีสดออก เหลือเพียงสีเทาตุ่น ๆ คล้ายการเปลี่ยนชุดเสื้อผ้าเมื่อมาถึงเขตร้อน นกชนิดนี้เป็นขวัญใจของนักนิยมส่องนกเพราะ IUCN ประกาศเป็นนกอพยพที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง เหลือในธรรมชาติเพียงหลักหมื่นสุดท้ายของโลก ! 

พวกมันเป็นนกอพยพไกลในช่วงกลางคืน ส่วนเวลากลางวันพวกมันจะต้องแวะพักตามพื้นป่าชายหาด ป่าชายเลนที่มีความโล่ง เช่นแถบนาเกลือในสมุทรสาคร หรือเพชรบุรี ของไทย มันใช้จงอยปากซึ่งมีความยาวสอดลงไปไชหากินในพื้นดินร่วนซุยหรือทราย จากนั้นสะสมพลังแล้วออกบินต่อลงทิศใต้ไปเรื่อยจนถึงออสเตรเลีย แล้วย้อนบินกลับไซบีเรียตอนเหนืออีกครั้ง

พวกมันเป็นนกที่ไม่ทำรังบนต้นไม้ ไม่โผเกาะกิ่งไม้ แม้ไม่มีสัตว์อื่นเป็นคู่ปรับธรรมชาติที่จะล่ามัน แต่การมีลักษณะเฉพาะของพวกมัน ทำให้การรักษาลานดินตามป่าชายหาดและป่าชายเลนมีความสำคัญกับวงจรชีวิตของมันมากๆ

อย่างไรก็ดี ในเมื่อที่ดินชายทะเลจำนวนมากตั้งแต่เกาหลี จีน ถูกแปรสภาพเป็นเมืองใหม่ของมนุษย์ พวกมันจึงไม่ค่อยมีจุดแวะพักและเติมอาหารในระหว่างเดินทางไกล แม้มีที่โล่งจากการถมทะเลแต่ก็ไม่มีระบบนิเวศน์ใต้ผืนทรายหรือดิน คือไม่มีอาหารให้มันหากิน พวกมันจึงลดจำนวนลงเรื่อยๆจนสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ หรือ IUCN จัดสถานะพวกมันเป็น Endangered คือเสี่ยงจะสูญพันธุ์ !!

มีผลถึงขนาดนั้นเลย

น่าเสียดายมั้ยครับ

นกเหล่านี้มีความสามารถในการกรองความเค็มของน้ำทะเลจากกระพุ้งแก้มของมัน มันจึงไม่ต้องออกบินไปหาแหล่งน้ำจืดตลอดชีวิตของมัน

นี่อาจเป็นหนึ่งในมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่มนุษย์ในยุคน้ำจืดหายากอาจได้ศึกษามาทำประโยชน์

มันมีกระเปาะไขมันที่ก้นของมัน สำหรับใช้ปากไปแตะเพื่อนำน้ำมันมาทาขนตัวเองมิให้ฝนและน้ำทะเลทำให้มันเปียกแล้วบินต่อไม่ได้ จึงต่างจากนกน้ำหลายพันธุ์ที่ยังต้องหาที่อาบแดดกางปีกเพื่อตากขนให้แห้ง

‘’พี่ตี๋ ‘’สุชาติ แดงพนต์ ผู้เฝ้าดูนกกลุ่มนี้มาตลอด26ปี ได้กรุณาเดินทางมาอธิบายเรื่องราวข้างต้นให้ผมฟังอย่างออกรสอีกหน ต่อจากปีที่แล้วที่ผมเคยมาปั่นจักรยานสำรวจย่านนี้ พี่ตี๋และคุณต้นนักธุรกิจในสมุทรสาครกำลังพยายามช่วยชุมชนแถบนาเกลือนี้อนุรักษ์ ทั้งอาชีพทำนาเกลือและอนุรักษ์ที่โล่งแถบนี้ไว้ให้นกสำคัญเพื่อแฟนๆนักดูนกได้มีที่ประจำมาดูนกหายากไปได้อีกนานๆ

สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย สมาคมท่องเที่ยวสมุทรสาคร และองค์การสหประชาชาติเพื่อการพัฒนา (UNDP) ต่างก็ช่วยสนับสนุนให้พื้นที่และชาวชุมชนในจุดที่นกนี้บินมาร่อนลงเป็นประจำในย่านนี้ ได้มีโรงเรือนเพื่อการทำกิจกรรม’’คนไม่กวนนก’’ มีกิจกรรมให้ความรู้ มีร้านกาแฟ ร้านอาหารที่มีนักท่องเที่ยวมาร่วมสำรวจและใช้เป็นที่ทำกิจกรรมหนาตาขึ้นช้าๆ โดยไม่กระทบกับการมาของฝูงนก

บ่ายที่เราไปส่องนกกลุ่มนี้ก็เจอคุณทองอยู่ สุภวิทยากรณ์และคณะผู้บริหารเครือข่ายการท่องเที่ยวที่เผอิญมาแวะดื่มกาแฟ เพื่อสำรวจให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย

เพราะคุ้นเคยกัน จึงเฮฮาทักทายกันอย่างอบอุ่น

แล้วต่างฝ่ายต่างออกสำรวจกันต่อ

กลับมาเล่าเรื่องนกอพยพสักหน่อย

กังหันลมผลิตไฟฟ้า เป็นอันตรายต่อนก เพราะรัศมีการเหวี่ยงของใบพัดเป็นสิ่งที่นกไม่เข้าใจ จึงโดนใบพัดอยู่บ่อยๆ
แสงของเมืองในเวลากลางคืนที่สะท้อนขึ้นสู่ท้องฟ้า ทุ่งโซลาร์เซลล์ ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้นกอพยพหลงทิศ หรือบินร่อนลงมาชนกับแผงโซลาร์เซลล์ตายเพราะเข้าใจผิดว่านั่นคือที่ราบชายฝั่ง

ที่เขียนนี้ไม่ได้แปลว่าไม่ควรสร้างกังหันลมและโซลาร์เซลล์นะครับ แต่แปลว่าเราควรพยายามเก็บนาเกลือไว้ให้นกได้มีจุดแวะพักสำคัญเท่านั้นแหละ

ในหลายประเทศ รัฐจะประกาศให้พื้นที่ร่อนลงเป็นประจำของนกอพยพหายากเป็นพื้นที่สงวนที่มีกฏหมายคุ้มครอง บ้างก็ยกระดับเป็น Ramsar Site หรือพื้นที่สงวนชีวมณฑลก็มี เช่นที่เมียนมาร์

ในขณะที่นาเกลือของจังหวัดชายฝั่งทะเลไทยทยอยหดหาย ผู้คนทิ้งอาชีพแล้วขายที่ดินเปลี่ยนมือกันไป เจ้าของใหม่หลายรายเปลี่ยนนาเกลือเป็นอย่างอื่น นกจึงมีพื้นที่ลงพักน้อยลงเรื่อยๆ

ผมส่องดูนกฝูงนี้แล้วเห็นมันหลับพักผ่อนกันบนพื้นนาเกลือเปียกๆนี้กันนิ่ง พี่ตี๋บอกว่าแม้มีฝนหนักลมแรงยังไง พวกมันก็ยังหลับยืนนิ่งอยู่อย่างไม่สะทกสะท้าน

ถ้ามันหิวและมีแรงคืนมาก็จะบินสั้นๆไปที่หน้าชายหาด เก็บหาเพรียงทะเลหรือสิ่งมีชีวิตเล็กๆกินแล้วกลับมายืนที่นี่เพื่อ’’งีบเอาแรง’’ต่อ

เห็นมั้ยครับ เรื่องอย่างนี้ต้องอาศัยนักส่องนกที่ชำนาญช่วยบันทึกแล้วแนะนำ เราจึงจะพอเข้าใจวงจรของพวกนก

พี่ตี๋บอกว่าสีเทาตุ่นๆของมันเหมาะกับการเดินทางไกล เพราะไม่ล่อตาผู้ล่า เกลื่อนกลืนกับสีพิ้นดินที่มันต้องลงจอด

โชคดีที่นาเกลือบ้านเรามีแต่หมาถิ่นหลายฝูง แมวจรไม่ค่อยมาซุ่ม
ไม่งั้นเจ้านกหายากเหล่านี้อาจเป็นมื้ออาหารของเหมียวบ้านไปหมด

ชายฝั่งอ่าวไทยเป็นส่วนสุดท้ายของแผ่นดินทวีป และนกน้อยเหล่านี้ต้องลงจอดเติมพลังให้ได้ ก่อนจะบินยาวข้ามทะเลไปอีกไกล

ถ้าลงเติมพลัง กินและนอนไม่พอ ยังไงขืนบินต่อก็คงเสี่ยงหมดเรี่ยวแรงหน้ามืดตกทะเลตาย

ในมุมมองการท่องเที่ยวโดยชุมชน ถ้าเราประชาสัมพันธ์ไปให้ถูกที่ นาเกลือเหล่านี้ จะกลายเป็นแหล่งดึงดูดนักดูนกจากทั่วโลกให้มาเยือนอยู่เป็นประจำ ทำรายได้เพิ่มสำหรับชุมชนเจ้าของย่านในการจัดบริการที่พัก อาหาร ซุ้มซุ่มโป่งซ่อนตัวเพื่อดักถ่ายรูป บริการให้เช่ากล้องส่องทางไกล บริการไกด์นำชม บริการรถรับส่ง รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนที่จะจัดทัศนศึกษาได้ง่ายๆเพราะถนนเข้าถึงสะดวกมาก และนิเวศน์ของระบบอันซับซ้อนจะได้ถูกถนอมไว้ให้เราถอดรหัสธรรมชาติออกมาให้ประโยชน์แก่ทุกๆชีวิตได้ต่อไป