ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  เสน่ห์ของการพายสำรวจคลองน้ำกร่อยใกล้ปากอ่าว

ซับบอร์ดเป็นแผ่นกระดานที่ออกแบบมาให้ยืนพาย มีทั้งชนิดที่เป็นแผ่นแข็งและที่เป็นแบบสูบลมให้พองออกมาเป็นแผ่นรับน้ำหนักการยืนได้สบายๆ

ซับบอร์ดมาจากภาษาอังกฤษว่า SUP (Stand Up Paddle board) แปลตรงตัวคือบอร์ดยืนพาย แต่ใครจะนั่งพาย คุกเข่าพายก็ไม่ว่ากัน

ข้อดีของการพายซับบอร์ดคือได้ยืน คนพายสามารถมองไปไกลๆได้ชัดกว่านั่งพายเรือนานๆ ซึ่งการนั่งจะค่อนข้างเมื่อยขบ ข้อจำกัดเล็กน้อยของซับบอร์ด คือ การทรงตัวต้องใช้สมาธิมากกว่า ต้องคำนวณน้ำหนักที่เรากดลงที่ฝ่าเท้าสองข้างให้พอดีตลอดเวลา ไม่ว่าจะตอนลุกตอนนั่ง ตอนเลี้ยว ตอนมีคลื่นเรืออื่นเข้ามา หรือตอนจะเบรคชะลอเรือ

สุดสัปดาห์คราวนี้ ผมได้รับการชักชวนจากคุณต้น นักธุรกิจจากสมุทรสาครให้ไปร่วมคณะพายซับบอร์ดสำรวจคลองพิทยาลงกรณ์ที่รอยต่อระหว่างเขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ กับจังหวัดสมุทรสาครใกล้กับย่านนาเกลือที่ผมเคยไปดูนกน็อตนั่นเองครับ

นับเป็นที่ทำกิจกรรมสารพันใกล้กรุงที่เดินทางสะดวกดี

การพายซับบอร์ดในคลองระดับท้องถิ่นอย่างนี้ดีตรงที่วิวสวย เรือแล่นไปมาน้อย ต้นไม้ต่างๆของป่าชายเลนยังมีเป็นแนว แม้ไม่ถึงกับพุ่มหนาทึบ แต่พายแล้วให้ความรู้สึกอยู่กลางธรรมชาติ สงบ และมีลมสบาย

การจัดกิจกรรมแบบใกล้ปากอ่าวอย่างนี้ ผู้จัดอธิบายว่าต้องมีการเตรียมการเเยะพอควร  คำนวณเรื่องน้ำขึ้น-น้ำลงให้ดี เพราะถ้าขาไปเป็นน้ำลงขากลับอาจมาได้ไม่ถึงจุดตั้งต้น เพราะแรงไหลของน้ำคืนทะเลจะทำให้พายสวนแรงน้ำได้ยากขึ้น  และบางช่วงของก้นคลองอาจตื้นเขินจนเกิดสันดอนเลนที่แม้แต่แผ่นกระดานซับบอร์ดก็อาจครูดติดท้องคลองได้

ผู้จัดเล่าว่าควรต้องคำนวณเรื่องทิศทางลม และการมาของฝนไว้ล่วงหน้าบ้าง
การยืนพายนั้นทำให้เรามีสภาพที่เหมือนเรือใบอย่างหนึ่ง ถ้าลมพัดแรง เราอาจสู้แรงลมเหนื่อยเอาการ ใครพายแข็งก็แล้วไป แต่ถ้าคนหัดพายใหม่ๆก็ควรเลือกเส้นทางที่มีทิวแสมทิวโกงกางบังลมให้น่าจะดีกว่า

ส่วนเรื่องพยากรณ์อากาศ แม้คนทำกิจกรรมทางน้ำจะไม่กลัวเปียก แต่การยืนพายโด่เด่อยู่กลางลำน้ำขณะฟ้าคะนองก็ไม่ใช่เรื่องสนุก

ซับบอร์ดมาตรฐานจะมาพร้อมพายก้านยาวที่ตัวพายจะลอยน้ำเองได้ถ้าทำพายตกน้ำไป
มีสายรัดข้อเท้าผู้พายให้ผูกติดกับแผ่นบอร์ดเผื่อตกน้ำจะได้ว่ายกลับมาขึ้นบอร์ดได้ง่าย
ใต้แผ่นบอร์ดจะมีครีบที่ถอดเก็บได้ยามขึ้นฝั่ง ครีบนี้จะช่วยให้บอร์ดพุ่งไปข้างหน้าแบบมีทิศทางหน่อยเวลาที่เราพายครับ

การพายที่ถูกต้องควรเป็นการยืนตรงไม่ย่อเข่า  มือจับพายในลักษณะที่เมื่อยกพายชูขึ้นเหนือศีรษะด้วยสองแขนแล้วข้อศอกสองข้างของผู้พายจะตั้งฉากเท่าๆกัน

สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างคือเสื้อชูชีพไว้พยุงตัวหากตกจากแผ่นบอร์ดลงไปในน้ำ ไม่ว่าคุณจะว่ายน้ำเก่งเพียงใด

ความปลอดภัยก็ต้องมาก่อนเสมอ

อ้อ ใครสวมแว่นตาควรมีสายรัดขาแว่นให้เรียบร้อย เพราะแว่นตาจมลงคลองไปจะกู้คืนได้ยาก

สำหรับผู้ที่เพียงต้องการลองกิจกรรมก็สามารถเช่าบอร์ดจากผู้ให้บริการมาลองใช้เป็นครั้งคราวได้ ในราคาไม่กี่ร้อยบาทต่อหน

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ผู้มาร่วมกิจกรรมสามารถเช่ายืมแผ่นบอร์ดอย่างดีพร้อมอุปกรณ์คือพายและเสื้อชูชีพในราคา 800 บาท แถมน้ำดื่ม และอาหารหนึ่งอิ่มให้ด้วยในตอนจบ ใครพายไม่เป็นก็สอนให้ และระหว่างพายไป ผู้จัดยังมีทีมตามสนับสนุนทั้งไปและกลับ

กิจกรรมการพายซับบอร์ด สามารถร่วมไปกับการพายแคนู และพายคายัคได้ 
(แคนูต่างกับคายัคอย่างไรดูที่  https://www.x-trailjam.net/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80/)

แต่เนื่องจากคายัคและแคนูเป็นการนั่งพาย จุดศูนย์ถ่วงของคายัคและแคนูจึงอยู่ต่ำกว่า การทรงตัวก็จะง่ายกว่าจึงสามารถจ้วงจ้ำเคลื่อนเรือไปได้เร็วกว่ายืนพายซับบอร์ด อีกทั้งทรงเรือเป็นแบบแหลมตัดคลื่น ไม่ได้มาเป็นแผ่นๆอย่างซับบอร์ด จึงแหวกน้ำไปได้ดีกว่า
แต่ถ้าเป็นการพายเป็นกลุ่ม การควบคุมปรับระดับความเร็วร่วมๆกันไปย่อมสามารถทำได้

ซับบอร์ดมีแรงพยุงดีมาก คนน้ำหนักเยอะก็สามารถใช้ซับบอร์ดได้ไม่ยาก
การขึ้นลงก็ง่ายกว่า วันนี้มีผู้ร่วมกิจกรรมนำสุนัขไซบีเรียนฮัสกี้ ตัวโตสง่า อายุเพิ่งจะขวบเดียว สวมเสื้อชูชีพช่วยพยุงพร้อมสายจูงมายืนบนบอร์ดพายไปด้วยกัน สร้างสีสันให้คณะสำรวจกิจกรรมเป็นอย่างดี

บางรุ่นมีคนนัดพาสุนัขแสนรักไปออกพายร่วมกันก็มี

น้องสุนัขไซบีเรียนที่มาวันนี้ดูชิลมาก ไม่กลัวน้ำ ไม่กลัวโคลง และไม่ตื่นเมื่อมีใครพายเข้ามาใกล้
เชื่อฟังเจ้าของอย่างสุภาพ และนิ่งอย่างเหลือเชื่อ

สาวๆหลายคนพายซับบอร์ดด้วยการนั่งพายบ้าง คุกเข่าพายบ้าง นัยว่าคงทรงตัวแบบนั้นถนัดกว่า และคงไม่อยากต้องยืนรับแดด

บางบอร์ดเป็นครอบครัวของพ่อกับลูก หรือแม่กับลูก ใช้บอร์ดเดียวกันร่วมกับเด็กเล็กได้ร่วมกันซึมซาบกับลมธรรมชาติ และเพลินไปกับความเงียบ มีเสน่ห์ของคุ้งน้ำ และลำคลองที่เป็นน้ำกร่อย

คราวนี้เราเลือกเส้นทางที่พายไปกลับระยะทาง 6 กิโลเมตรครับ

เอาแผ่นซับบอร์ดลงน้ำกันราวบ่าย3โมง เลือกมุ่งเส้นทางที่เราจะหันหลังให้แดดบ่ายไปเรื่อย เพื่อเวลาขากลับก็จะเป็นเวลาราว5โมงเย็นเศษ แม้มีแสงแต่จะไม่เป็นแดดแยงตา เวลาขาออกเป็นเวลาน้ำทะเลกำลังจะขึ้นสูงสุด ดังนั้นเมื่อออกพายไปน้ำจะนิ่งสงบ  จากนั้นน้ำจึงค่อยๆเคลื่อนกลับทะเลอย่างช้าๆ ช่วยดึงให้เราเคลื่อนไปข้างหน้าเบาๆ

เราเลี้ยวเข้าคลองซอยที่แคบลงเพื่อให้ทุกคนได้ซึมซับกับวิวต้นไม้เขียวๆแน่นๆทั้งสองฝั่งน้ำ ช่วงนี้ผักตบชวาไม่มีเลย ทั้งที่คลองแรกซึ่งเราตั้งต้นกิจกรรมและในคลองย่อย นับว่าดีงามมาก

อย่างไรก็ดี เรายังพอจะพบเห็นขยะลอยน้ำบ้าง ติดตามกิ่งก้านต้นแสมต้นโกงกางบ้าง มีทั้งขยะเล็กและใหญ่ บางชิ้นคงลอยน้ำมานานแล้วจนตะไคร่จับลื่นมือ บางชิ้นน้ำขึ้นพัดเข้าไปติดในดงกิ่งไม้ ส่วนใหญ่เป็นขยะบกที่น่าจะถูกลมพัดจนปลิวหรือกลิ้งมาตกคลอง

ซับบอร์ดกินน้ำไม่ลึก จึงช่วยให้เราพายตามเข้าไปในย่านน้ำตื้นริมฝั่งเพื่อคว้าขยะลอยน้ำเหล่านั้นขึ้นวางบนแผ่นบอร์ดเพื่อเอากลับออกมารวบรวมได้

ผมเหลือบเห็นลังโฟมขนาดใหญ่ที่ลอยติดอยู่ในดงกิ่งไม้ จึงเลือกที่จะพายเข้าไปเก็บลังโฟมนั้นมาวางบนบอร์ดของตัวเอง แล้วย้ายขยะสารพัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก และขวดเครื่องดื่มมาใส่ในลังโฟมแทน

ขยะพลาสติกกับโฟมนั้นร้ายกาจนัก ย่อยสลายช้าเป็นร้อยปี ไม่เก็บออกก็จะคาอยู่เป็นศตวรรษ ไม่ก็ลงทะเลไปซึ่งจะยิ่งเก็บยาก

วันนี้เราเก็บได้ตั้งแต่ฝาถังพลาสติก ขาดพลาสติก ถุงพลาสติก ถุงขยะเล็กที่มัดปากถุงหลุดลอยน้ำมา ยางในของรถมอเตอร์ไซค์ ซองขนมอบกรอบ และปลายเชือกสารพัดความยาวมาพอสมควร

ในช่วงที่เราพายกลับ เกิดมีฝนลงเม็ดจากซาๆ เป็นซ่าๆ แล้วก็กลายเป็นซู่ๆ

คือฝนทยอยตกหนักขึ้นหนักขึ้นแบบไม่ลืมหูลืมตา ดีที่ไม่มีฟ้าคะนอง ผมเห็นประโยชน์ของปีกหมวกที่สวมศีรษะอีกครั้งก็ตรงนี้ เพราะปีกหมวกช่วยลดน้ำฝนที่จะกระเด็นเข้าตาได้ดี

อีกอย่างที่ได้ประโยชน์มากคือถุงกันน้ำ ใส่โทรศัพท์มือถือ ใส่กล้องถ่ายรูปและหรือกระเป๋าสตางค์ได้ปลอดภัย ไม่กลัวตกน้ำ ไม่กลัวฝนเปียก

ฝนหนักเอาเรื่อง และไม่มีทีท่าจะหยุดง่าย
ฟ้าเริ่มอ่อนแสงลงอย่างรวดเร็วเพราะเมฆบัง

เราทุกคนต่างเร่งฝีพายมุ่งกลับ สู้ทั้งลมและฝน สู้ทั้งจังหวะน้ำลง  แต่ทุกคนก็สามารถพายกลับมารวมตัวในจุดตั้งต้นได้โดยเรียบร้อย ขนขยะขึ้นฝั่ง เพื่อรอส่งให้รถขยะเทศบาลมารับไปจัดการในวันต่อไป

ผู้จัดกิจกรรม เป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวในพื้นที่ มีเพื่อนมีพี่ที่เคยทำกิจกรรมร่วมกันจากที่อื่นมาช่วยๆกัน พยายามสร้างแผนกิจกรรมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงกีฬาทางน้ำ กิจกรรมเชิงผจญภัยในท้องถิ่น กิจกรรมสำรวจศึกษาธรรมชาติใกล้ชานกรุง กิจกรรมที่ร่วมกันได้ง่ายของคนในครอบครัว นับว่าเป็นความตั้งใจที่ดีงาม

หลังขึ้นจากน้ำ เพียงใช้นิ้วกดกระเดื่องเอาลมออกจากในซับบอร์ด ถอดครีบใต้บอร์ดออก ม้วนแผ่นซับบอร์ดเก็บ จนเหลือขนาดเท่าๆม้วนผ้านวมใส่ท้ายรถได้  หลังทุกคนล้างตัวแล้ว ผู้จัดกิจกรรมเตรียมผัดไทยกุ้งสดฝีมือชาวบ้านให้ทานพอคลายหิวคืนพลังก่อนอำลาแยกย้าย ขับรถกลับถิ่นด้วยความอิ่มใจที่ได้ออกกำลังกาย ได้มิตรใหม่ ได้รับรู้ว่าธรรมชาติใกล้กรุง ใกล้ปากอ่าวนั้น สงบ มีเสน่ห์ และยังค่อนข้างสะอาด

ระหว่างนั่งรถกลับบ้าน ผมนึกดีใจที่ได้ไปตากแดด อาบน้ำฝนและตกเรือเปียกปอนด้วยกันกับผู้ร่วมกิจกรรม

อิ่มใจที่ได้เห็นคนถิ่นเลือกทำกิจกรรมที่มีสีสัน ไม่รบกวนธรรมชาติ ไม่รบกวนวิถีชีวิตชาวบ้าน เปิดบริการให้ผู้มาเยี่ยมเยือนจากภายนอก สามารถมีกิจกรรมร่วมกันและร่วมกับคนในท้องถิ่นอย่างนี้

นับเป็นกิจกรรมสีเขียว โลว์คาร์บอนที่ลำน้ำส่วนใหญ่ในไทยก็พอทำได้ ถ้าสำรวจเส้นทางไว้อย่างรอบรู้

ท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวครั้งใหม่ ด้วยความใส่ใจ และใช้ประโยชน์ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างทะนุถนอม ไทยเที่ยวไทยอาจไม่ทำให้รวยเร็ว แต่ถ้ารวยมิตรและเป็นกำลังช่วยให้คลองในไทยทุกที่มีสภาพที่ดี มีสภาพแวดล้อมที่รื่นรมย์ เราก็คงได้ทั้งความยั่งยืน และได้หยิบยื่นรอยยิ้มให้กันและกันได้งดงามในทุกที่ที่ท่องไป

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา