ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

ศูนย์ราชการุณย์ เขาล้าน กับพระเมตตาคุณอันยิ่งใหญ่

"...ด้วยทรงมีพระประสบการณ์เลี้ยงดูเด็กและผู้ป่วยเจ็บมาก่อน พระองค์ยังพระราชทานคำแนะนำให้เจ้าหน้าที่ว่าเนื่องจากคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็กทารกไม่ได้ดื่มนมมานาน จุลินทรีย์ที่จะใช้ย่อยนมจึงไม่น่าจะมีเหลือในลำไส้แล้ว จึงไม่ควรให้ดื่มนมจนกว่าจะได้รับการฟื้นฟูสภาพร่างกายด้วยน้ำสะอาดไประยะหนึ่งก่อน มิฉะนั้นจะเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อทารกได้..."

ในคราวที่ผมได้รับเชิญไปร่วมกิจกรรมปั่นร้อยใจไทย-เกาะกง เชื่อมสัมพันธ์2แผ่นดิน ซึ่งตั้งต้นปั่นจักรยานจากจังหวัดตราด ข้ามเส้นเขตแดนไปสู่เกาะกงในประเทศกัมพูชานั้น

นับเป็นครั้งแรกที่ผมได้นั่งรถผ่านส่วนที่แคบที่สุดของแผนที่ประเทศไทย

ผมนึกว่า จุดแคบสุดของไทยอาจจะอยู่แถวประจวบคีรีขันธ์ ที่คลองวาฬ เพราะเวลาเราฝึกวาดแผนที่ประเทศไทยตอนเด็ก เราจะจำได้ว่าต้องวาดให้ช่วงหนึ่งในแถวๆประจวบคีรีขันธ์ซึ่งเป็นกลางด้ามจับของขวานให้แคบที่สุด

ที่จริงแล้ว ส่วนแคบที่เราวาดนั้น คือความกว้างประมาณไม่เต็ม 12 กิโลเมตร ซึ่งนับว่าแคบมาก

แต่พอนำไปเทียบกับ บริเวณของแผ่นดินไทยที่ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 81กับ 82 ของถนนสายตราด-คลองใหญ่ นั้น มีจุดที่ทั้งแคบและคอดตามเส้นแบ่งระหว่างไทยกับกัมพูชาอยู่ และเป็นจุดที่แคบที่สุดของแท้ของประเทศไทย

เพราะจุดนี้แคบเพียง 450 เมตรเท่านั้นเอง

ความตกลงแบ่งเขตแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศสกำหนดใช้สันปันน้ำของเทือกเขาบรรทัดเป็นเส้นแบ่ง และเผอิญมีจุดนี้ที่เส้นสันเขาเว้าเข้ามาอยู่ใกล้ชายหาดทะเลฝั่งไทยอยู่มาก

ที่นี่จึงแคบจริงๆ

เดี๋ยวนี้จุดนี้กลายเป็นจุดเช็คอินแวะถ่ายภาพกับป้ายว่าจุดแคบสุดของไทย กลายเป็นที่แวะเที่ยวอีกอย่างของจังหวัดตราด

ไม่ไกลนักจากจุดที่แคบที่สุดของประเทศไทยนี้ เป็นบริเวณที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทางเฮลิคอปเตอร์เมื่อปีพศ. 2522 ในช่วงที่ยังมีเสียงปืนดังและการต่อสู้ตึงเครียดในคาบสมุทรอินโดจีนอยู่

ผู้บริหารรัฐบาลในเวลานั้นไม่อยากให้เสด็จพระราชดำเนินไปเลย เพราะนั่นคือช่วงที่สงครามภายในกัมพูชาระหว่างกองกำลังเขมรแดงกับกลุ่มต่อต้านฝ่ายต่างๆยังรุนแรงอยู่มาก

และเหตุที่ยังไล่ล่าฆ่ากันแหลกลาญในห้วงนั้นยาวนานจึงทำให้ราษฎรกัมพูชาก็ดี กำลังติดอาวุธของฝ่ายต่างๆในกัมพูชาก็ดี ล้วนแต่อดอยาก ลำบากไปทุกฝ่าย

อาหารหยูกยาเป็นของหายากยิ่ง ผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลจึงบ่ายโฉมเดินเท้าอพยพหลบหนีทั้งความยากแค้นและการไล่ล่าฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุมาสู่ชายแดนไทยแทบทุกจุด

ในเมื่อ จุดข้ามสันเขาที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เป็นแนวยาวที่มียอดสันปันน้ำไม่สูงชัน จึงเป็นอีกบริเวณที่มีผู้อพยพจำนวนมากจูงลูกอุ้มหลานพยายามเดินทางข้ามพรมแดนเข้ามาหนีภัยในไทย

หลายคนรอนแรมอดโซจนผอมเหลือแต่กระดูก ติดโรคไข้จากป่าสารพัน ขาดน้ำดื่ม ขาดสารอาหาร ความยากแค้นเหล่านี้ได้คร่าชีวิตผู้คนมากมายก่อนจะมาถึงชายแดนไทยด้วยซ้ำ มีเรื่องเล่าว่าแม่ที่อุ้มลูกเล็กกับจูงลูกโตหน่อยเดินทางรอนแรมหลบหนีจากการถูกเขมรแดงตามจับมาเรื่อยๆจนหลงทาง น้ำและอาหารก็ไม่มี แม่ผู้พยายามสู้ถึงที่สุดต้องตัดใจลุกออกเดินทั้งน้ำตาในขณะลูกคนที่โตกว่ายังผล็อยหลับอยู่ใต้ร่มไม้ ด้วยหวังว่าเด็กโตคล่องตัวอาจพอมีทางรอดได้เพราะการกระเตงไปด้วยกันแบบนั้นจะยิ่งถ่วงกันเองแล้วอาจอดตายหรือถูกจับได้ทั้งหมด แม่ผู้ใจสลายตัดสินใจอุ้มลูกเล็กแล้วเดาทางไปหาทางรอดดาบหน้า


เรื่องนี้น่าสะเทือนใจมาก

ที่เล่ามานี้เพื่อจะบอกว่า มีผู้อพยพเข้ามาทั้งชายหญิง เด็กและผู้สูงอายุซมซานเข้ามาพึ่งแผ่นดินไทยนับหมื่นนับแสนผ่านพรมแดนด้านนี้

เรื่องราวหลายเรื่องยังถูกบันทึกบอกเล่าด้วยนายทหารสหรัฐ ที่โตมาจากเด็กน้อยผอมโซชาวกัมพูชาที่รอดชีวิตผ่านพระหัตถ์อันอ่อนโยนของพระราชินีของประเทศไทย ที่ศูนย์กาชาด ที่เขาล้านนี่เอง

ร้อยโท ดนัย คมคาย คือเด็กชายคนนั้น


เมื่อความทุกข์ทรมานจากภัยสงครามทราบถึงพระเนตรพระกัณฑ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในขณะนั้น พระองค์รับสั่งให้เตรียมการเดินทาง แล้วเสด็จพระราชดำเนินด้วยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปยังบริเวณชายแดนอำเภอคลองใหญ่ทันที

เครื่องเฮลิคอปเตอร์ยกตัวผ่านแนวยอดไม้สุดท้ายที่ชายทะเลของเขาล้าน ทุกคนจึงเห็นคนนั่งนอนกันอยู่เต็มไปหมดราวฝูงมดตลอดแนวหาด

พระองค์ทรงรับสั่งให้นำเครื่องลง แล้วทรงพระดำเนินไปบนหาด ผู้ตามเสด็จในเหตุการณ์เล่าว่าคนเจ็บคนป่วย แม้แต่คนตายนอนนั่งเรียงรายไปมากมาย แน่นอนว่าห้องสุขาไม่มีและหลายคนเป็นโรคท้องร่วง มีกองขับถ่ายจำนวนมากตามดินทรายในบริเวณนั้น

แต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถก็ไม่สะทกสะท้าน ยังทรงพระดำเนินเข้าไปตรวจเยี่ยม แตะตัวเด็กๆเพื่อดูสภาพร่างกาย ตรวจอาการไข้และรับสั่งให้หมอหลวง และผู้ตามเสด็จฯรีบเข้าช่วยเหลือผู้อพยพเหล่านั้นในทันที ใครพกอะไรติดมาก็หยิบยื่นช่วยบรรเทาทุกข์ตรงหน้า เท่าที่แต่ละท่านจะมีติดตัว

แม้แต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถก็ทรงให้นำกระติกน้ำดื่มส่วนพระองค์ออกมาส่งให้ผู้อพยพที่นอนเจ็บป่วยได้จิบดื่ม เพราะมีอาการขาดน้ำรุนแรง

ด้วยทรงมีพระประสบการณ์เลี้ยงดูเด็กและผู้ป่วยเจ็บมาก่อน พระองค์ยังพระราชทานคำแนะนำให้เจ้าหน้าที่ว่าเนื่องจากคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็กทารกไม่ได้ดื่มนมมานาน จุลินทรีย์ที่จะใช้ย่อยนมจึงไม่น่าจะมีเหลือในลำไส้แล้ว จึงไม่ควรให้ดื่มนมจนกว่าจะได้รับการฟื้นฟูสภาพร่างกายด้วยน้ำสะอาดไประยะหนึ่งก่อน มิฉะนั้นจะเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อทารกได้

จากนั้นทรงให้จัดตั้งหน่วยบรรเทาทุกข์ในนามสภากาชาดไทยขึ้น โดยใช้อุปกรณ์และวัสดุที่พอจัดหามาได้ในพื้นที่ก่อน

ทรงให้หาผ้ามาผูกบนหลังคาเต็นท์แล้วทากากบาทสีแดงขนาดใหญ่ให้เห็นได้ง่ายจากที่ไกลๆ เพื่อประกาศให้ทุกฝ่ายรู้ว่าจุดนี้เป็นพื้นที่กาชาด ที่ควรปลอดจากการถูกโจมตี จากนั้นยังทรงกำหนดประทับแรมในพื้นที่เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ทั้งผู้อพยพและบรรดาเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆตลอดจนอาสาสมัครชาวบ้านในพื้นที่ที่เข้ามาช่วยงานกาชาดดูแลเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

เสียงกระสุนเสียงระเบิดจากทั้งปืนครกและปืนกลดังอยู่ไม่ไกลเป็นระยะๆ

การเดินทางมาปั่นจักรยานสัมพันธ์2แผ่นดินของผมและนาวาตรี วรวิทย์ เตชะสุภากูร อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีท่องเที่ยวคราวนี้ จึงทำให้ผมมีโอกาสแวะเยี่ยมศูนย์ราชการุณย์ สภากาชาดไทยที่เขาล้านแห่งนี้

ที่นี่ยังมีสภาพร่มครึ้ม ต้นไม้ขึ้นหนาตา มีอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวที่ผมเล่ามาข้างต้นพร้อมภาพถ่าย สิ่งของและหุ่นจำลองในแต่ละช่วงเหตุการณ์ให้ผู้สนใจได้ชม มีชาวบ้านที่เติบโตทันเหตุการณ์มาช่วยนำชม และสามารถอธิบายเรื่องราวให้ผู้มาเยี่ยมเยือนได้รับรู้อย่างคล่องแคล่ว

แม้จะได้ชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นครั้งแรก แต่ผมกลับรู้สึกภูมิใจมาก เรื่องราวส่วนใหญ่ข้างต้นนี้ ผมเองเคยได้รับฟังรับรู้มาก่อนนานแล้วตั้งแต่คราวเป็นรองประธานกรรมการหาทุนสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ด้านเด็ก ของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อ โรงพยาบาลเด็ก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ


เพราะคณะกรรมการหาทุนฯ นี้มี ศาสตราจารย์ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นประธาน มีท่านองคมนตรี ดร.จรัลธาดา กรรณสูตร เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ พวกเราเคยได้ทำการบ้านเสาะแสวงข้อมูลจากข้าราชบริพารผู้เคยตามเสด็จฯเพื่อทำความเข้าใจถึงความผูกพันและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าฯที่เกี่ยวกับกิจการแม่และเด็ก เนื่องจากเราต้องเตรียมจัดทำสาระในป้ายนิทรรศการที่จะถวายเพื่อทอดพระเนตรและเตรียมคำกราบบังคมทูลของ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานกรรมการหาทุนฯในโอกาสที่พระองค์ท่านจะเสด็จพระราชดำเนินมาวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านเด็กด้วยพระองค์เอง ในคำกราบบังคมทูลที่ ดร.สุรเกียรติ์อ่านถวายในวันนั้น มีข้อความตอนหนึ่งที่ระบุถึง’’พระมหาราชการุณยธรรม’’ที่ทรงมีต่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ สัญชาติหรือความแตกต่างทางศาสนา

ดังนั้นจากเรื่องเล่าที่เคยเฝ้าฟังมา

และจากประสบการณ์ที่ได้ร่วมเฝ้ารับเสด็จพระราชดำเนินที่โรงพยาบาลเด็ก ผมได้เห็นร้อยโท ดนัย คมคาย คลานเข้าไปกราบพระบาท ถวายรายงานให้ทรงทราบว่าเขาคือเด็กชายชาวกัมพูชาที่รอดชีวิตด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่เคยช่วยเขาและชาวกัมพูชาอพยพหลายหมื่นคนในอดีตกว่า 40 ปีที่แล้วนั้น บัดนี้ได้เติบใหญ่กลายเป็นคนมีอนาคต ได้เข้ารับราชการเป็นนายทหารของกองทัพบกสหรัฐ

ทันทีที่พระองค์ท่านรับฟังแล้ว ผมเห็นสายพระเนตรอันอ่อนโยนระคนแปลกพระทัยเสมือนเป็นเซอร์ไพรส์ เพราะเมื่อคณะกรรมการหาทุนฯโรงพยาบาลเด็กทราบว่ามีเรื่องราวอันงดงามนี้ และได้ทราบว่ายังมีเด็กที่เคยผ่านพระหัตถ์นี้มีชีวิตอยู่ในต่างประเทศ และยังมีคนพอจะติดต่อได้คณะกรรมการหาทุนฯจึงให้สืบเสาะและเชื้อเชิญให้ร้อยโท ดนัยบินเข้ามากราบพระบาทฯ คุณดนัยตอบรับทันที

ในระหว่างคุณดนับก้มกราบพระบาทนั้น ผมอยู่ห่างมาไม่ถึงสองเมตร จึงพอจะได้ยินพระรับสั่งออกมาเบาพอให้ผู้เข้าเฝ้าฯอยู่ในที่นั้นได้ยินว่า ‘’…ฉันจำได้…ตอนนั้นเขายังเล็กๆอยู่เลย …ปลื้มใจจริงๆ…’’แล้วทรงเอื้อมพระหัตถ์ไปแตะที่บ่าของร้อยโท ดนัยอย่างเมตตายิ่ง

…เราทุกคนในที่นั้นอดน้ำตารื้นขึ้นมาไม่ได้

ปัจจุบัน ร้อยโท ดนัยลาออกจากราชการทหารในสหรัฐแล้วย้ายมาใช้ชีวิตกับครอบครัวที่จังหวัดตราด อุทิศตัวช่วยเหลือผู้คนในละแวกเพื่อสืบสาน รักษาต่อยอดความดีงามด้วยรำลึกคุณที่สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเคยมีให้ในวัยเยาว์

เมื่อผมได้เยือนพื้นที่ประวัติศาสตร์ในจุดที่ทรงเคยเสด็จมาประทับอยู่อย่างกล้าหาญ พระราชทานความช่วยเหลือแก่เพื่อนมนุษย์ที่แม้มิใช่ราษฎรไทยอย่างเมตตาแน่วแน่ จึงเป็นความสุขใจของผมอย่างยิ่งที่จะพยายามจดจำนำภาพจากสถานที่จริงมาเผยแพร่ต่อให้สาธารณะได้ร่วมรับรู้

เมื่อท่านผู้อำนวยการศูนย์ฯกาชาดเขาล้าน พาชมศาลาพิพิธภัณฑ์เสร็จ ท่านเอ่ยชวนว่าอยากพาไปชมจุดที่เป็นสถานที่ตั้งของที่ประทับแรมซึ่งอยู่ติดต่อกับบริเวณที่เคยเป็นเต็นท์โรงพยาบาลสนาม เคยใช้ผ่าตัดคนไข้สนามในเหตุการณ์ช่วงนั้น

ผมรีบรับคำชวนโดยไม่ลังเล หลังลงนามในสมุดเยี่ยมของพิพิธภัณฑ์ฯแล้ว ผมโดดขึ้นท้ายรถกระบะโดยขอให้รถของผู้อำนวยการกาชาดนำไปจอดข้างป่า ณ จุดซึ่งเคยประทับแรม ทั้งของสมเด็จพระนางเจ้าฯและอีกจุดห่างไปไม่ไกลเป็นที่เคยประทับแรมของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมารในเวลานั้น


ทุกคนที่ไปจึงเห็นได้ชัด ว่าทรงเสียสละความปลอดภัยส่วนพระองค์ขนาดไหนที่ไปประทับอยู่เป็นมิ่งขวัญให้ทุกฝ่ายในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน ท่ามกลางภัยชุลมุนของสงคราม

อนึ่ง ผู้ที่หลบลี้หนีภัยได้พึ่งพระบรมโพธิสมภารในเวลานั้น ไม่ได้มีเฉพาะราษฎรกัมพูชาเท่านั้น แต่มีทั้งผู้บาดเจ็บที่เป็นเขมรแดงบ้าง ฝ่ายกำลังเขมรเสรีบ้าง ดังนั้น การระแวงกันไปมาตามโอกาสและจังหวะจึงยังมีอยู่

แม้จุดที่ตั้งที่ประทับแรมอยู่ใกล้ขอบชายแดนส่วนแคบสุด มีจุดสูงข่มบนเขาใกล้ๆที่ใครๆก็สามารถมองลงมาเห็นทุกความเคลื่อนไหวอย่างง่ายดาย เสียงปืนจากแนวชายแดนยังดังอยู่เป็นช่วงๆ

แต่พระองค์ก็ทรงแน่วแน่ที่จะประทับอยู่เพื่อช่วยเหลือ

จุดที่ประเทศไทยแคบที่สุด กลับกลายเป็นพื้นที่แสดงน้ำพระราชหฤทัยที่กว้างใหญ่ไพศาลอย่างที่สุด สะท้อนพลังความมีเมตตาธรรมตามวัฒนธรรมไทยอย่างชัดแจ้ง จนองค์กรองค์การนานาชาติใหญ่น้อย ต่างเทอดทูนสดุดีถวายรางวัลต่างๆมากมาย

กิจกรรมที่ศูนย์บริการสภากาชาดไทยที่เขาล้านนี้ทำภารกิจด้านมนุษยธรรมอย่างไม่เลือกฝ่าย ไม่เลือกข้าง ช่วยเหลือทุกชีวิตที่หนีร้อนเข้ามาพึ่งเย็นต่ออีกหลายปี จนสงครามในกัมพูชาผ่อนคลายลง และผู้อพยพทยอยเดินทางกลับมาตุภูมิหรือได้รับการช่วยเหลือให้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม

ศูนย์บริการภาคสนามแห่งนี้จึงได้ปิดตัวลง

เวลาและฝนฟ้าอากาศอันชุ่มฉ่ำของภาคตะวันออกของไทยก็ค่อยๆทำหน้าที่ของตัวเอง สิ่งปลูกสร้างชั่วคราวต่างๆในศูนย์บริการกาชาดในพื้นที่นี้จึงค่อยๆเสื่อมสภาพสลายไปตามกาลเวลา

เหลือไว้แต่ตำนาน

และ’’ศาลาราชการุณย์ ‘’

พิพิธภัณฑ์ที่ยังบอกเล่าข้อมูลอันทรงคุณค่าที่โลกยกย่องในความมีน้ำพระราชหฤทัยที่หยิบยื่นให้แก่เพื่อนมนุษย์อย่างไม่เลือกฝ่าย

สมดังพระราชเสาวนีย์ที่ทรงเอ่ยไว้ในช่วงเวลานั้นว่า ‘’…ฉันตัดสินใจจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เหล่านี้เท่าที่กำลังความสามารถฉันจะมี…’’

นับเป็นพระมหาการุณยธรรมที่แผ่บุญกุศลแก่หลากชีวิตยิ่งแล้วพระพุทธเจ้าค่า

ขอกราบถวายพระพรให้พระองค์ทรงพระเจริญ…ยิ่งยืนนาน

ที่มา