ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

เปิดประสบการณ์ใหม่ให้เส้นทางสายไมซ์ที่ จังหวัดพิษณุโลก

 

 

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมการปั่นจักรยาน ‘’เปิดประสบการณ์ใหม่ ให้เส้นทางสายไมซ์ ‘’ ที่จังหวัดพิษณุโลก โดยสสปน.หรือสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB)ในฐานะที่เมืองพิษณุโลกได้รับการประกาศให้เป็นเมืองเจ้าภาพ ของการจัดกิจกรรมกีฬานานาชาติ ตามสิทธิ์ของผู้จัดกีฬาจักรยานที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก คือ ตรู เดอฟรองซ์

ใครที่เคยจำนักปั่นชื่อ แลนซ์ อารม์สตรอง ชาวอเมริกันที่ปั่นชนะเลิศ ตรู เดอฟรองซ์ต่อเนื่องกันหลายปี คงพอจำภาพการปั่นจักรยานทางไกลที่ทั้งสวยแต่โหดของฝรั่งเศส มีช่วงปั่นขึ้นเขา และผ่านสารพัดทุ่งดอกไม้ ผ่านชนบททั่วฝรั่งเศสแล้วมาจบเข้าเส้นชนะที่ประตูชัย กรุงปารีส มีคนเฝ้ารอชมนับแสนคนในการปั่นท่อนสุดท้ายที่ปารีสทุกปี ไม่นับที่รอเฝ้าดูทางการถ่ายทอดอีกกี่ล้านคน

เพราะตรู เดอฟรองซ์ ได้ชื่อว่าเป็นเรซจักรยานที่เก่าแก่และหฤโหดที่สุดรายการหนึ่งของโลก เริ่มมาตั้งแต่ 1903 จากการท้าแข่งความอึดถึกของการปั่นจักรยานกันผ่านหนังสือพิมพ์ของยุคนั้น ปรากฏว่าจากนับร้อยคนที่เข้าร่วมแข่ง มีผู้สามารถปั่นฝ่าความหฤโหดจนมาถึงเส้นชัยได้เพียง 26 คน จากนั้นก็กลายเป็นประเพณี ที่ใครๆก็สนใจติดตามหรือเข้าร่วม ไม่เป็นคนปั่นก็ขอเป็นคนเชียร์ก็ยังดี แล้วสิทธิการจัดแข่งขันชื่อนี้ก็ขยายจากฝรั่งเศสไปเกิดขยายในอิตาลีบ้าง สเปนบ้าง

ต่อมาเจ้าของสิทธิพัฒนาให้มีเรซที่ลดระดับความโหดลงมาอีกขั้น เรียกมันว่าการแข่งขัน เลอแทปป์ และมีเมืองต่างๆในโลกที่ไปดึงงานมาจัดที่เมืองของตนบ้าง

ในประเทศไทย พังงาเป็นจังหวัดแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ เลอแทปป์ ต่อเนื่อง 2-3 ปี และปีนี้พิษณุโลกจะรับความเป็นเจ้าภาพต่อ คือตั้งแต่ ปลาย 2022ไปอีก 3 ปีจนถึง 2024
ต่อเนื่อง 3 ปีติดกัน

โดยอุดรธานีได้รับสิทธิจัดเลอแทปป์แบบขนาดย่อมอีกจังหวัดหนึ่ง

ดังนั้น ถ้าครบทั้ง 3 เมืองนี้เมื่อไหร่ ไทยเราคงพูดได้ล่ะว่า เมืองเจ้าภาพกีฬาจักรยานนานาชาติของเรามีขึ้นแล้วครบทุกภาค คือพิษณุโลกที่ภาคเหนือ อุดรธานีที่ภาคอีสาน พังงาที่ภาคใต้ ส่วนกรุงเทพและภาคตะวันตกนั้นเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬานานาชาติทั้งจักรยานและกีฬาอื่นๆไปพอควรแล้ว

และเท่ากับวัฒนธรรมกีฬาจักรยานของไทยได้เกลื่อนกลืนกับภาคประชาคมของเมืองต่างๆอย่างมีระบบระเบียบเรื่อยมา

นี่จึงนับเป็นทั้งงานเทศกาลที่จะต่อยอดทางเศรษฐกิจ ทางธุรกิจ ทางการท่องเที่ยว ทางกีฬานันทนาการ การพัฒนาเมือง การสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคม และทางด้านการลดใช้พลังงาน ตลอดถึงการรักษาสภาวะแวดล้อมได้อย่างลงตัว

ผมได้รับเชิญให้มาร่วมกิจกรรมการปั่นเพื่อย้อมบรรยากาศ และประกาศชวนเชิญชาวเมืองพิษณุโลกหนนี้ ด้วยการจัดปั่นจักรยาน 2 วัน

วันแรกเป็นการปั่นป่าวประกาศไปพร้อมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกท่านใหม่ ที่เพิ่งย้ายมาจากร้อยเอ็ด ท่านภูสิต สมจิตต์ เพื่อปั่นร่วมกันไปช้าๆในเขตเทศบาลเมืองพิษณุโลก ระยะทางสั้นๆ ราว 15 กิโลเมตรเศษ แต่เราชวนกันจอดบันทึกภาพที่จุดแลนด์มารค์สำคัญของเขตกลางเมืองตั้งแต่ แม่น้ำน่าน สะพานข้าม วัดพระพุทธชินราช (ชื่อทางการของวัดคือ วัดพระศรีมหาธาตุราชวรวิหาร) วัดนางพญา วัดพระเจดีย์หลวง บันทึกภาพที่ ลานสตรีทอารต์ ผ่านย่านที่อยู่อาศัย ร้านรวงและตลาดร้อยปีของตัวเมือง เพื่อบอกกล่าวประชาสัมพันธ์ชักชวนให้ประชาชนเจ้าของเมืองคุ้นชินกับการโบกไม้โบกมือทักทายนักปั่นจักรยานจากทั่วไทยและนานาชาติที่จะทยอยเข้ามาที่นี่ เพราะจุดปล่อยตัวและจุดเส้นชัยจะอยู่ที่พระราชวังจันท์ อันเป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถาน ที่ตั้งของพระตำหนักของ สมเด็จพระนเรศมหาราช ตรงฝั่งแม่น้ำน่านเกือบจะตรงข้ามกับ วัดหลวงพ่อพระพุทธชินราศ นั่นเอง

 

วีระศักดิ์โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตประธาน สสปน. (TCEB) รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกีฬา ของวุฒิสภา