อุ้มผาง : ธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพอันรุ่มรวย (ตอนที่ 2)
โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ความเดิมตอนที่แล้ว เล่าถึงความไกลปืนเที่ยงของการเดินทางไกลสู่อุ้มผาง อำเภอที่มีขนาดที่ดินกว้างที่สุดของประเทศ และตั้งอยู่ไกลจากศาลากลางจังหวัดที่สุดของสยาม
ข้อเขียนตอนนี้จะเริ่มที่ผมและคณะตื่นแต่เช้าที่อุ้มผาง กำลังเตรียมออกไปจุดล่องเรือยางเป็นระยะทางไกล เพื่อใช้เวลาในเรือยางราวชั่วโมงครึ่ง หวังจะไปช่วยทำความสะอาดเก็บขยะทางน้ำก่อนจะไปสำรวจน้ำตกทีลอซู
ปรากฏว่ายังไม่ทันได้ทานมื้อเช้าในที่พักด้วยซ้ำ ผมก็มีอันต้องหน้าซีด ตัวงอเป็นกุ้งต้ม ผอ.ททท.ตาก (คุณธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ) คุณหน่อง เจ้าบ้านจึงพาผมไปโรงพยาบาลอุ้มผาง… โรงพยาบาลที่น่าจะเรียกได้ว่าตั้งอยู่ห่างไกลจากตัวจังหวัดมากที่สุดในไทย !!
เคยทราบมาว่าที่นี่เขามีแคมเปญรับบริจาคยาจากผู้ที่มียาทานเหลือ แต่ยังอยู่ในแพ็คเกจดั้งเดิม ไม่หมดอายุ เพื่อนำมาคัดสรรใช้แทนที่จะทิ้งเป็นขยะตามบ้าน สามารถประหยัดงบประมาณได้ถึงปีละ 20 ล้านบาททีเดียว
เมื่อไปถึงผมก็ต้องสุดประทับใจ เพราะห้องฉุกเฉินที่นี่มีอุปกรณ์ครบครัน แม้ขนาดห้องกะทัดรัดมาก แต่คุณหมอและพยาบาลมีประสบการณ์อย่างดี คุณหมอซักประวัติแล้วตรวจเช็คร่างกายผม เจาะเลือดเข้าตรวจในแล็บ นำทั้งเครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจวัดชีพจร ตรวจความดันสลับกันเข้ามาหนีบนั่นคีบนี่อย่างคล่องแคล่ว ท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง นายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ จบแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒแล้วมาบรรจุที่นี่ จากนั้นก็อยู่ที่นี่ต่อโดยไม่ขอย้ายไปไหนอีก นับว่ามีความเสียสละ เห็นแก่พื้นที่ห่างไกล เป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่ผู้ยากไร้ และกลุ่มชาติพันธุ์และแม้แต่คนเดินทางที่เผอิญต้องมามีเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง ได้ทราบมาว่าท่านเพิ่งได้รับการประกาศยกย่องโดยแพทยสภา นับว่าสมควรมาก
สักพักคุณหมอห้องฉุกเฉินก็สามารถวินิจฉัยว่า ผมน่าจะเจอตะกอนนิ่วในถุงน้ำดีที่เคยมีประวัติอยู่เดิม ทำฤทธิ์เข้าให้แล้ว สันนิษฐานอาจมาจากการทานของทอด ซึ่งร่างกายต้องหลั่งน้ำดีออกมาย่อยมากกว่าปกติ หมอแนะให้ไปพบแพทย์ประจำตัวเพื่อวางแผนจัดการกับนิ่วในถุงน้ำดีต่อไป เมื่อกลับกรุงเทพ แต่ในชั้นนี้ตรวจเลือดแล้ว ยังไม่พบอาการอักเสบ ผมทราบเหตุของอาการเมื่อเช้าแล้วก็สบายใจ ทำภารกิจต่อได้ พวกเราปีนขึ้นรถสองแถวแล้วตรงไปจุดลงเรือยาง
อากาศไม่ร้อน ลมเย็นสบายๆ ระหว่างรอทีมจัดวางอุปกรณ์ลงเรือยางที่ริมฝั่งน้ำ พวกเราก็เริ่มเก็บขยะพลาสติกบนบกไปพลางๆ ขยะบกที่นี่ก็ไม่ต่างกับที่อื่น ซองขนม ขวดเครื่องดื่ม ถุงพลาสติก ก้นบุหรี่ กล่องนม หลอดดูด ส่วนมากจมเกือบมิดดินหรือไม่ก็หลบในพงหญ้า หรือใต้พุ่มไม้ เราเก็บได้มาสองถุงใหญ่ ยกถุงลงเรือแล้วดันตัวออกจากฝั่งไป
กระแสน้ำพาเรือยางไหลเข้าสู่หุบเขาสูงชันอย่างรวดเร็ว ต้นไม้ใหญ่หนาแน่นขนาบข้าง ริมตลิ่งมีต้นไม้ใหญ่น้อยที่ล้มอยู่เป็นระยะ กอกิ่งที่ยื่นสูงพ้นน้ำ มีเศษพลาสติก เศษเสื้อผ้า ตะกร้า ฝาเข่งฯลฯติดคาอยู่
น้ำป่าคงพัดพาอะไรมาแยะเมื่อปีที่แล้ว แม้แต่ทีวีติดคาอยู่บนง่ามไม้ ดีที่มีคนมาช่วยระดมเก็บออกไปแล้ว แสดงว่าน้ำมาสูงมากๆ และไหลแรงมากด้วย
น้องคนพายเรือบอกว่าพวกผมกับชาวบ้านพากันเก็บขยะออกไปเยอะแล้ว ที่เหลือนี่คงต้องเอาพร้ามาฟันกิ่งก้านแห้งๆที่ตายแล้วแต่ยังมีขยะติดที่ยอดให้ร่วงลงมาจัดการต่อไป
พวกเราเสนอว่างั้นวันนี้เราเล็งหาเฉพาะขยะที่เรายังพอเอื้อมคว้าถึงไปก่อน
เราเอาเรือยางพายเข้าเทียบเนินทรายที่คะเนเห็นแล้วว่ามีขยะพลาสติกติดค้างอยู่ที่กอกิ่งไม้แห้งๆหลายชิ้นพอประมาณ
พวกเรากระจายกันย่ำเนินทรายกลางน้ำที่ว่า เก็บขยะพลาสติกขึ้นมาใส่ถุงได้หลายชิ้น พลันสายตาผมก็เหลือบเห็นสิ่งที่หน้าตาแปลกๆ คงเป็นของเล่นเด็กชิ้นใหญ่ นอนจมอยู่ในกองขอนไม้ นึกว่าเป็นจักรยานสามล้อพลาสติกสำหรับเด็กปั่นเล่นเบาๆ
แต่พองัดกองไม้ที่ทับออกจึงตระหนักว่า นี่คือมอเตอร์ไซค์3ล้อไฟฟ้า น้ำหนักเยอะเอาการ โครงสร้างเป็นเหล็ก มีแบตเตอรี่ มีมอเตอร์ไฟฟ้าและชุดเฟือง เพียงแต่มีพลาสติกมาประกบให้ดูพองๆเป็นทรงของเล่นมีสีสัน และเมื่อมันถูกน้ำป่าพัดพามาจมเนินทรายอยู่ที่นี่ มันจึงมีทรายไหลเข้าไปอุดอยู่ในโครงสร้างแน่นปังไปหมด ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นไปอีก
พวกเราช่วยกันพลิกรถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าให้คว่ำๆหงายๆ เคาะและล้วงเอาโคลนเลนชุ่มน้ำออกจากร่องหลืบให้มากที่สุด โดยใช้น้ำแม่น้ำมาหยอดตามร่องตามหลืบ
จากนั้นแบกขึ้นวางท้ายเรือยางอย่างระมัดระวัง เพราะก้านโลหะของมันอาจกรีดบาดผิวเรือยางจนรั่วได้ถ้าไม่ระวัง
เราล่องเรือยางกันต่อไปเรื่อย เจอะเจออะไรที่พอคว้าได้ก็ทำ
วิวตลอดทางมหัศจรรย์มาก หน้าผาหินปูนมีทั้งที่เป็นน้ำตก มีทั้งรากต้นไม้ใหญ่น้อย มีเถาวัลย์เกี่ยวเกาะ ตะไคร่ ไร มอส เฟิร์น และไม้ป่าแปลกๆขึ้นเกาะมากมายตลอดทาง เห็นนกสีสดตัวเล็กตัวใหญ่บินไปมาเป็นระยะๆ
แดดส่องไม่ถึงพวกเราหลายช่วง เพราะภูเขาที่ขนาบเราไว้สูงชันบังแดดไปเยอะ บางมุมของน้ำตกตามหน้าผาจะทำให้พอเห็นสายรุ้งบางๆ ผมเห็นแมลงปอที่มีท่าบินแปลกตา คงบินแบบพับปีกด้วยความเร็วต่ำๆ ดูแล้วคล้ายการกระพือปีกของผีเสื้อมากกว่า ไม่ยักเหมือนแมลงปอปกติที่เคยเห็น ซึ่งขยับปีกด้วยความเร็วสูงมาก แมลงปอทั่วไปจึงบินทั้งเร็วและนิ่งกว่า แต่ตัวนี้ไปแบบกระดุบกระดุบ ช้าๆ
ล่องเรือยางเก็บขยะไปราวชั่วโมงเต็มก็มีจุดให้สามารถแวะขึ้นฝั่งไปชมบ่อน้ำร้อน เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯจัดแต่งภูมิสถาปัตย์ให้น่าสนใจขึ้น เพราะปกติบ่อน้ำร้อนที่อื่นจะเป็นบ่อคอนกรีตเหมือนสระเลี้ยงปลาเศรษฐกิจ หรือไม่ก็ปล่อยเป็นบ่อดินดิบๆ ดูแล้วไม่มีอะไรให้เข้าไปมีส่วนร่วมได้
แต่ที่นี่เจ้าหน้าที่ขุดหลุมขนาดใหญ่ใต้ร่มเงาไม้ป่า ทำบันไดลงไป ทำสะพานพาดและทำที่นั่งไม้ไผ่ให้ดูเชิญชวน โรยหินลงพื้นให้เหยียบนวดเท้าได้เวลาเดินย่ำ ลงนั่งที่นั่งไม้ไผ่เพื่อแช่เท้าในน้ำอุ่นได้สบายๆ
ปรบมือให้เลยครับ…
น้ำไม่ร้อนจัด เปลี่ยนจากบรรยากาศนั่งเรือยางมาเต็มชั่วโมงได้อย่างมีสีสัน
นักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆมาสมทบด้วย สอบถามแล้วเดินทางไกลมาจากนครสวรรค์บ้าง จากพิษณุโลก จากอุตรดิตถ์ พาคุณพ่อคุณแม่มาสัมผัสอุ้มผาง
น่าชื่นชมครับ
ล่องเรือชมป่าดิบไปอีกครึ่งชั่วโมงก็ถึงจุดขึ้นฝั่ง เรียกว่า’’ผาเลือด’’ เพราะธาตุเหล็กในหินหน้าผาจำนวนมากโดนความชื้นของอากาศจึงเป็นสนิมเกิดเป็นแนวสีแดงทั่วหน้าผาเป็นปื้นใหญ่ๆ
เราช่วยกันยกซากมอเตอร์ไซค์3ล้อคันหนักอึ้ง พร้อมถุงขยะที่รวบรวมได้ขึ้นฝั่งที่นี่ ตลิ่งมีความลาดชันตามควร เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์มีน้ำใจมาช่วยเรายกขยะต้นน้ำขึ้นฝั่งอีกแรง
ทุดคนยิ้มให้กัน อย่างน้อย เราก็ช่วยลดขยะแปลกปลอมออกจาก’’ธนาคารความหลากหลายกลางป่าต้นน้ำ’’ได้จำนวนหนึ่ง
ขยะอิเล็กทรอนิคส์อย่างนี้ ย่อมปล่อยสารพิษออกมาใส่ดินใส่น้ำ และสัตว์ป่าที่ไม่รู้เรื่อง จากจุดนี้ เราต้องเปลี่ยนพาหนะเป็นกระบะขับเคลื่อน4ล้อของชาวบ้าน เพื่อแล่นไปให้ถึงทางเข้าน้ำตกทีลอซู ซึ่งห่างไปอีก10กว่ากิโลเมตร ทางเส้นขรุขระเอาเรื่อง
มิน่า ตำนานการไปทีลอซูสมัยเก่าจึงโหดน่าดู เพราะไม่มีพาหนะอะไรทั้งนั้น เดินป่ากันยาวๆและจำต้องนอนกลางป่าแล้วเดินต่อกว่าจะถึงน้ำตก!!
เรานั่งรถไปอีก45นาที จึงถึงจุดลงรถ แวะรับฟังบรรยายสรุปของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจากหัวหน้รเขตรักษาพันธุ์ จากนั้นออกเดินเท้าอีก กิโลครึ่ง บนทางเดินที่เป็นแผ่นคอนกรีตยกพื้น เพื่อมิให้เหยียบย่ำรบกวนป่ามากเกินไป และเข้าสู่น้ำตกทีลอซู น้ำตกที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของทวีปเอเชีย
หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง (คุณอำนาจ ฟองชัย) เล่าว่า สมัยนี้น้ำตกจะดูเหมือนแคบลงเล็กน้อย เพราะหินผาฝั่งขวาเคยทรุดตัวทะลายลงมาบางส่วน ทำให้ม่านน้ำตกเปลี่ยนทาง
ทางเดินเข้าสู่น้ำตกวันนี้มีคนเยอะพอควร ที่น่าประทับใจคือเห็นลูกๆพาพ่อแม่สูงวัยมาพิชิตอุ้มผางเดินเส้นทางน้ำตกทีลอซูกันครึกครื้น ผมลองชวนคุยกับหลายท่านพบว่าอายุเกิน75 หลายท่าน
อีกครอบครัวพาลูกสาวพิการที่นั่งวีลแชร์มาด้วย
มีขั้นบันไดอยู่เป็นช่วงๆ จึงน่าเห็นใจที่ต้องมีการยกทุกครั้ง ทุกขั้น ทั้งขาไปและกลับ
ต้องยอมใจให้ครอบครัวที่ดั้นด้นพาสมาชิกที่มีข้อจำกัดด้านร่างกาย วัยต่างๆมาร่วมรับรอยยิ้มของผืนป่าและของกันและกันอย่างอบอุ่น
ท่านๆเหล่านี้น่ารัก เมื่อเห็นมีกลุ่มอื่นสวนมาหรือตามมา ท่านจะเเอบข้างทางให้กลุ่มอื่นๆผ่านได้ก่อน
ถ้าสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆทั่วไทยจัดทำทางลาดให้เป็นทางอ้อมลาดม้วนขึ้นทุกครั้งที่เจอชุดบันไดคงจะดีมาก เพราะปลอดภัย เข้าถึง และทัดเทียม เหมาะกับทุกคน
ของแบบนี้ราคาไม่สูง แต่ความตั้งใจต้องเต็มที่ ใช้วัสดุท้องถิ่น ช่างท้องถิ่นก็ทำได้ ขอเพียงเชิญทูตอารยสถาปัตย์ในพื้นที่มาช่วยตรวจการออกแบบปรับปรุง เชิญมาทดลองใช้ตอนลงมือปรับปรุงเบื้องต้น และเชิญมาทดสอบก่อนรับมอบงานก่อนจ่ายตังค์
แบบนี้รับรองว่ารอยยิ้มจะเบิกบานถ้วนหน้าทุกคน
คณะของเราเดินไปอีกก็เจอสาวขาพิการเดินกระเผลกอยู่คนเดียวจนถึงน้ำตก เราจึงขอทักทายให้กำลังใจและขอร่วมถ่ายภาพรับความสุขที่ได้มาอาบป่าลึกแสนไกลจากสังคมเมืองด้วยกัน
ม่านน้ำตกทีลอซูในปลายฤดูฝนนับว่ามีน้ำเยอะที่สุดแล้ว น้ำตกเทลงเป็นชั้นๆไหลหลั่นลงเบื้องล่าง
จุดที่เราชมน้ำตกเป็นชั้นค่อนข้างกลางๆ มองขึ้นก็น้ำ มองลงก็น้ำ
หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯ คุณอำนาจบอกว่า ตะกอนดินไหลมากับน้ำแล้วถูกกักตัวบนอ่างหน้าม่านน้ำตกเยอะ อาจทำให้บ่อบนสุดตื้นเขินสักหน่อย ปริมาณน้ำที่พุ่งออกมาจากยอดน้ำตกจึงเหมือนจะช้ากว่าสมัยอดีตเล็กน้อย
น้องเพียว (คุณภานุวัฒน์ บรรลือ)รองเลขาธิการหอการค้าจังหวัดตากซึ่งมาช่วยดูแลคณะด้วย ล้วงโดรนออกมาขออนุญาตหัวหน้าอำนาจเพื่อขึ้นบินถ่ายภาพน้ำตก หัวหน้าอำนาจตกลงอนุญาต เราจึงได้ภาพน้ำตกจากมุมสูงกลับมาเผยแพร่รอบนี้
ผมสอบถามหัวหน้าอำนาจจึงได้ทราบว่า กรมอุทยานฯมีระเบียบว่าการจะบินโดรนถ่ายน้ำตกในเขตอย่างนี้ จะอนุญาตได้ต่อเมื่อต้องไม่นำภาพถ่ายเหล่านั้นไปใช้เพื่อการค้า
เรื่องนี้ผมตั้งใจจะเอากลับมาหารือกับหน่วยงานแม่ผู้ออกกติกาเพื่อขอความรู้ว่ามีเหตุอะไรจึงต้องเข้มงวดถึงขนาดนั้นต่อไป
เส้นทางเดินกลับออกจากน้ำตก เราได้ชื่นชมต้น’’ศรียะลา’’ หัวหน้าอำนาจบอกว่าเป็นพืชที่ถูกค้นพบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก ที่นี่เอง อีกต้นที่สูงใหญ่สวยงามคือยางแดง อายุ200ปี ขึ้นเฉพาะในระดับสูงกว่าน้ำทะเลหลายร้อยเมตรขึ้นไป จึงต่างจากยางนาที่ขึ้นในที่ราบทั่วไป
น่าทึ่งดีนะครับ ว่าเรามีธนาคารสายพันธุ์หายากอยู่ใต้จมูก แต่เราไม่ค่อยทราบ
จากน้ำตกทีลอซู กลับสู่ตัวเมืองอุ้มผาง ใช้เวลาอีกราวหนึ่งชั่วโมง
ค่ำนั้น คุณธันย์ปวัฒน์ ภูริวัฒนเมธา นายอำเภออุ้มผาง และ คุณสเดชชัย สุวรรณจันทร์ นายกเทศมนตรีตำบลอุ้มผาง พาคณะของเราไปชมกิจกรรมถนนคนเดิน ซึ่งเริ่มจัดมาได้เดือนแรก โดยเทศบาลแปลงลำรางที่เคยดูแฉะๆใจกลางเมืองให้เป็นสะพานไม้ไผ่ ประดับด้วยโคมแขวนสีสันสดสวย จัดเวทีแสดงของเยาวชนจากโรงเรียนในเขต ประชาชนท้องถิ่นมาออกร้านวางแผงขายสินค้าพื้นเมือง เครื่องประดับ อาหาร ขนม ของฝาก เพื่อให้ชุมชนมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยว
ปิดทริปหนนี้ด้วยการนั่งรถคดเคี้ยวผ่าน ถนนดอยลอยฟ้ากลับสู่ แม่สอดอีกเกือบ 4 ชั่วโมงในเช้าถัดมา คราวนี้เราจึงเห็นชัดว่าเราอยู่สูงเทียมเมฆอย่างไร
การบ้านใหญ่ที่เราต้องคิดก็คือ เราจะทำยังไงกับ’’ธนาคารความหลากหลายอันทรงคุณค่าของป่าผืนยักษ์’’นี้ เพื่อเกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้จริงๆ เพราะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าขนาดมหึมานี้ มีข้าราชการประจำจริงตามตำแหน่ง คือหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯ คนเดียว ที่เหลืออีกร้อยกว่าคนเป็นลูกจ้างกับพนักงานราชการเท่านั้น แต่นั่นยังไม่น่ากังวลเท่ากับการมีข้อเท็จจริงด้านงบประมาณดูแลป่าสำคัญนี้ว่าเฉลี่ยได้งบประมาณดูแลเพียงเฉลี่ยแล้วตกไร่ละ 5 บาทต่อปี!!(อ่านว่า ห้าบาท )
โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราจะสามารถสงวนรักษาของมีค่าและหาทางค่อยๆสกัดประโยชน์ระดับโลกของธนาคารสายพันธุ์สำคัญอย่างนี้…ได้อย่างไร
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา