วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : แหล่งน้ำใต้พิภพ 3 หมื่นปีของลุ่มเจ้าพระยา
ในทางวิทยาศาสตร์นั้น โลกมีน้ำจืดใต้ดินเป็นปริมาณมากกว่าน้ำจืดในแม่น้ำ ทะเลสาปและลำธารทั้งหมดรวมกันกว่า 3 เท่าตัวเสียอีก เพียงแต่มันอยู่ลึกลงไปในดินมาก
บ่อบาดาลที่เราใช้นั้นนับว่ายังเป็นระดับตื้นๆแทบทั้งนั้น
ในการเข้าพื้นที่เพื่อติดตามเทคโนโลยีการขุดเจาะบ่อบาดาลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา นำโดยพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานกรรมาธิการได้เป็นหัวหน้าคณะนำพวกเราไปที่ตำบล โคกคราม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล คุณธัญญา เนติธรรมกุล พาเราชมบ่อบาดาลน้ำลึกบ่อล่าสุด ซึ่งแม้อยู่ห่างชายฝั่งทะเลเพียงไม่กี่กิโลเมตร แต่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลขุดเจาะในที่ดินวัดสหกรณ์โฆษิตาราม ลึกลงไปจากผิวดินกว่า 1 กิโลเมตร (คือ 1,008เมตร) ได้พบน้ำจืด คาดว่าปริมาณมหาศาลและมีคุณภาพน้ำในขั้นที่ดี
คำว่ามหาศาลนี่ ซักไซ้จนได้ใจความว่า ปริมาณน้ำใต้ดินของแอ่งเจ้าพระยาน่าจะมีมากกว่าเขื่อนใหญ่ๆรวมกันกว่า 10เขื่อน!! และมีศักยภาพจะถูกใช้เป็นน้ำดิบเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ในอนาคต
ฝนที่ไหลลงจากภาคเหนือและภาคตะวันตกต่อเนื่อง’’หลายๆหมื่นปี’’นั้น มีหลายส่วนมากที่ซึมลงจนถึงชั้นหินอุ้มน้ำที่อยู่ลึกลงไปมากๆ
ผลการวิเคราะห์อายุน้ำและชั้นดินชั้นหินทางธรณีวิทยาและอุทกธรณีวิทยาชี้ว่า น้ำใต้ดินที่พบในแอ่งนี้คือน้ำฝนที่สะสมมากว่า 3 หมื่นปีครับ !
อธิบดีธัญญา พาเราไปดูปากท่อเหล็กที่อยู่กลางแท่นซีเมนต์และปิดล้อมรั้วใส่กุญแจป้องกันความปลอดภัย เราชะโงกมองลงไปในปล่องก็รู้ว่า ถ้าใครทำแว่นตา นาฬิกาหล่นร่วงลงไปก็เป็นอันแทงสูญได้
หมดปัญญาที่ใครๆจะงมขึ้นมาแน่นอน!!
นักวิชาการของกรมฯอธิบายวิธีขุดเจาะดิน วิธีวัดความลึกของระดับน้ำด้วยสายหย่อนยาวๆที่ตรงปลายมีหัวเซนเซอร์ไฟฟ้า เพื่อดูค่าการนำและการต้านทานกระแสไฟฟ้า สายนี้ยาวมากๆ ด้านในมีเส้นทองแดงนำไฟฟ้าบางๆไปตลอดสาย
ส่วนในเรื่องน้ำในบาดาลบ่อนี้ คณะฯของเราพากันซักไซ้ไว้หลายอย่างที่พอจะประมวลมาเขียนเล่า เช่น
1.การสูบน้ำบาดาลชั้นลึกเหล่านี้ขึ้นมาจะทำให้เกิดการทรุดตัวของดินด้านบนหรือไม่
จับความได้ว่า ถ้าอัตราการเติมน้ำฝนจากแอ่งเจ้าพระยา ซึ่งกินความตลอดพื้นที่ภาคกลาง มีการจัดการให้น้ำฝนถูกเติมลงไปในระดับความลึกต่างๆได้ถูกต้องเพียงพอ การยุบตัวก็อาจจะไม่แตกต่างไปจากเดิม แต่ต้องศึกษากันดีๆ
2. น้ำจืดใต้ดินที่ระดับความลึกมากอย่างนี้มีกี่ชั้น
คำตอบที่ได้คือตั้งแต่ผิวดินลึกลงไปจนถึงครึ่งกิโลเมตรแรก มี น้ำจืดแยกชั้นอยู่จำนวน 7 ชั้น และจากความลึก600-1พันเมตร ซึ่งเป็นการค้นพบใหม่ ในหนนี้ พบว่ายังมีต่ออีก 6 ชั้น
รวมกันจึงนับเป็น 13 ชั้น
3. แอ่งน้ำใต้ดินของลุ่มเจ้าพระยามีอัตราการสูญเสียตามธรรมชาติหรือไม่ เช่นไหลรั่วลงสู่อ่าวไทย เพราะหลุมเจาะนี้แสดงว่า แอ่งน้ำใต้ดินนี้อยู่ใกล้ชายทะเลมาก
คำตอบคือ ก้นทะเลอ่าวไทยมีความลึกเฉลี่ยไม่ถึง60เมตร มีจุดลึกสุดที่ 85 เมตรเท่านั้น ดังนั้น แอ่งน้ำบาดาลในระดับลึกกว่า100เมตร ลงไป จึงไม่อาจรั่วไหลลงสู่อ่าวไทย เพราะมันอยู่ลึกกว่าก้นอ่าวไทยเสียอีก
แต่อาจมีบ้างที่หากน้ำจืดจากชั้นหินด้านใต้ที่มีแรงดันสูงพอ ก็สามารถจะดันตัวเองทะลุก้นทะเลขึ้นมาเองได้ ในต่างประเทศเคยมีการพบกรณีแบบนั้นเช่นกัน และสามารถมองเห็นได้จากใต้น้ำ เพราะความเข้มข้นของน้ำจืดกับน้ำทะเลจะต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
นี่คือสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่9 เคยมีรับสั่งถึงแม่น้ำใต้ดิน ว่ามีน้ำไหลอยู่ข้างใต้ลึกๆมากมายที่ยังมีศักยภาพมาก แต่สมัยนั้นคนยังไม่ค่อยเข้าใจ
4. น้ำที่ระดับความลึกขนาดนั้น ต้องใช้พลังงานการสูบเพียงใด จึงจะสามารถนำน้ำจืดใต้ดินระดับนี้ขึ้นมาใช้สอย
คำตอบข้อนี้อยู่ที่อัตราการสูบ เพราะระดับหัวน้ำในท่อที่เจาะเอาไว้ จะขึ้นลงช้าๆตามอัตราการสูบน้ำขึ้นมา เพราะต้องให้เวลาน้ำใต้ดินซึมเข้ามาทดแทนในท่อได้ทัน
แต่สถิติที่บันทึกไว้เวลานี้คือ ที่ระดับชั้นน้ำความลึกประมาณ500เมตร อัตราไหลของน้ำคือ 73 ลูกบาศก์เมตร ต่อชั่วโมง
และที่ความลึกใต้พิภพจุดนี้ที่ระดับ 900เมตร อัตราไหลของน้ำใต้ดินจะอยู่ที่30 ลูกบาศก์เมตร ต่อชั่วโมง
อุณหภูมิของน้ำค่อนข้างร้อน คือราวๆ40 ‘C ร้อนเท่าๆเครื่องทำน้ำร้อนในโรงแรมและน้ำจากระดับที่ลึกสุดก็จะสามารถร้อน ไปถึงกว่า 60 ‘C ลวกไข่สุกแหละ!!
พูดง่ายๆคือน้ำใต้ดินระดับลึกแอ่งนี้มีทั้งปริมาณมาก และมีพลังความร้อนแถมมาด้วย
การออกแบบระบบที่คิดจะใช้น้ำนี้จึงต้องอาศัยทั้งการคำนึงและคำนวณเยอะกว่าการใช้น้ำบาดาลระดับตื้นเยอะเลยล่ะครับ
สิ่งที่น่าดีใจคือ เราได้รู้เสียทีว่า ภาคกลางมีแหล่งน้ำจืดสำรองมหาศาลขนาดไหน
แต่ถ้าพฤติกรรมการใช้น้ำของเรายังเป็นอย่างเดิมๆ การสูบน้ำร้อนใต้โลกออกมาใช้ อาจสร้างปัญหามากกว่าการแก้ปัญหาได้อยู่ดี
5. ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครบอกว่า น้ำประปาของสมุทรสาครต้องอาศัยซื้อน้ำดิบผ่านท่อที่ต่อมาจากราชบุรีโน่น
จะซื้อประปาจากการประปานครหลวงซึ่งสมุทรสาครมีเขตติดกับกรุงเทพที่บางขุนเทียนก็ไม่สำเร็จ เพราะกฏหมายการประปานครหลวงไม่ได้ระบุชื่อจังหวัดสมุทรสาครไว้ หากการประปานครหลวงขายน้ำมาให้ก็จะกลายเป็นการกระทำเกินอำนาจที่กฏหมายการประปานครหลวงให้ไว้
ผมกลับจากทริปนี้ก็จึงได้อ่านคำในพรบ.การประปานครหลวง ซึ่งตราขึ้นเมื่อพ.ศ. 2510 ซึ่งคือ 55 ปี หรือเมื่อกึ่งศตวรรษที่ผ่านมาโน่น
โดยมาตรา 6(2)พรบ.การประปานครหลวงระบุว่า ให้การประปานครหลวงมีวัตถุประสงค์ ผลิต จัดส่ง และจำหน่ายน้ำประปาให้จังหวัดพระนคร จังหวัดธนบุรี (ซึ่งก็ไม่เป็นจังหวัดแล้ว) จังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดนนทบุรี
กล่าวคือ ไม่ได้ใส่คำว่าจังหวัดสมุทรสาคร แค่นั้นเอง!!
การประปานครหลวงเลยขายน้ำให้สมุทรสาครไม่ได้ซะยังงั้น
ถ้าขายให้ก็อาจผิดจากที่กฏหมายบัญญัติไว้
สมุทรสาครเลยต้องซื้อน้ำที่ส่งไกลจากราชบุรี และเลยมีอัตราค่าน้ำแพงกว่าน้ำประปาที่ไหลอยู่ในเขตบางขุนเทียน ซึ่งติดชิดสนิทกับสมุทรสาคร!!
สมุทรสาครเป็นจังหวัดเล็ก แต่มีการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆผ่านเรือกสวน และโรงงานสารพัด โดยเฉพาะโรงงานเกี่ยวกับอาหารทะเล รวมกันแล้ว GDP ของสมุทรสาครติดtop 6 ของประเทศไทยเลยเชียวล่ะ
เรื่องนี้ คงต้องวานให้ฝ่ายบริหารลองทบทวนสักหน่อยว่าจะเพิ่มคำว่าจังหวัดสมุทรสาครเข้าไปในมาตรา 6(2)ดีมั้ย
6.แล้วค่าเจาะบาดาลน้ำลึกอย่างนี้ ต้องใช้จ่ายสักเท่าไหร่
คำตอบคือบ่อแรกอย่างนี้ ค่าเจาะพิสูจน์คุณภาพและปริมาณน้ำรวมแล้วราว 50 ล้านบาท เพราะค่าเจาะเป็นเพียงส่วนเดียว แต่ค่าสำรวจ ค่าศึกษาทางห้องปฏิบัติการ ค่าทดสอบดิน น้ำและตะกอน จากทุกความลึกทีละเมตร และค่าทำรายงาน ค่าเกาท์บ่อด้วยซีเมนต์เพื่อกันไม่ให้น้ำแต่ละชั้นความลึกไหลลงไปปนกัน ฯลฯ จึงทำให้ราคาเทียบไม่ได้กับค่าเจาะบาดาลน้ำตื้น ที่เราคุ้นเคย
อย่างไรก็ตาม นี่ยังไม่รวมค่าเครื่องสูบน้ำที่จะใช้กับบ่อบาดาลบ่อนี้หรอกนะครับ
7.ในต่างประเทศ มีการเจาะบาดาลน้ำลึกแบบนี้มั้ยและเค้าทำทำไม
คำตอบคือมีครับ เพื่อเป็นการดึงน้ำมาใช้ในจุดที่ขาดแคลนน้ำจืดมาก และน้ำนั้นจะถูกใช้อย่างระมัดระวังและเป็นไปโดยประหยัดน้ำ กล่าวคือ ใช้ผลิตประปาเพื่ออุปโภคบริโภคตามจำเป็น ถ้าใช้ในการเกษตรก็จะใช้เพื่อการปลูกพืชที่ผลผลิตมีราคาสูงเพียงพอ
พลเอกสุรศักดิ์ เล่าว่าสมัยที่ท่านเป็นรัฐมนตรีแรงงานก่อนจะมาเป็นรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ท่านไปอิสราเอลเพื่อพบแรงงานไทย ก็เลยพลอยได้ทราบว่าอิสราเอลมีการขุดบ่อบาดาลน้ำลึกแบบนี้กลางทะเลทรายมากมายเพื่อเอาน้ำมาป้อนภาคการเกษตรของอิสราเอล ผ่านระบบน้ำหยดแล้วเก็บผลผลิตไปขายในยุโรปด้วยราคาแพงๆ
8. เมืองไทยมีบ่อบาดาลน้ำลึกอย่างนี้กี่บ่อ และจะมีได้อีกกี่บ่อ
บ่อบาดาลน้ำลึกในไทยบ่อนี้เป็นบ่อที่สองที่ขุดเสร็จแล้ว บ่อแรกอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งที่ขอนแก่นเป็นบ่อบาดาลน้ำลึกบนชั้นหินแข็ง บ่อที่ขอนแก่น ผมและคณะก็เคยไปเรียนรู้มาแล้ว และที่นั่นก็มีปริมาณน้ำจืดคุณภาพดีเยอะมากเช่นกัน แต่ระดับน้ำสะสมจะจบที่ระดับ 600เมตร ส่วนที่ระดับลึกกว่านั้น เจาะไปก็ไม่เจอน้ำอีก
ที่สมุทรสาครนี้เป็นบ่อบาดาลน้ำลึกในชั้นดินตะกอน และมีน้ำในแทบทุกระยะ
ส่วนที่ว่า แต่ละแอ่งน้ำบาดาลใหญ่ๆอย่างนี้จะสามารถมีการขุดเจาะได้กี่บ่อ ข้อนี้คงอยู่ที่ความสามารถในการคำนวณอัตราการชดเชยปริมาณน้ำฝนที่จะสามารถเติมให้ลงสู่ชั้นใต้ดินแต่ละชั้น ว่าจะบริหารให้น้ำลงไปได้แค่ไหนที่จะคุมทั้งคุณภาพและปริมาณน้ำดิบใต้ดินไว้ให้สมดุลได้
ตามแผนภาพที่นำมาแสดงประกอบ ดูแล้วมีจัดที่จะไปเจาะสำรวจเพิ่มในภาคกลางตอนบน ตอนล่าง และภาคเหนือของไทยอีกราว12จุด
ในฤดูฝนที่น้ำท่วมหลาก ถ้าไทยสามารถแบ่งเก็บน้ำฝนส่งลงเก็บในชั้นใต้ดินในหลายๆจุดอย่างมีระบบ แล้วพอหน้าแล้งค่อยใช้โซลาร์เซลล์ปั้มน้ำขึ้นมาใช้เป็นระยะสั้นๆ รักษาดุลยภาพเเละความมั่นคงของน้ำจืดที่จะใช้ไว้ได้ ที่เก็บน้ำใต้พิภพอย่างนี้ อาจเป็นอีกคำตอบของการแก้น้ำท่วมและภัยแล้งที่เราอาจลดความสูญเสียมากมายซ้ำๆซากๆ ทั้งในในการเยียวยาและป้องกันกันทุกปีต่อเนื่องมาครึ่งศตวรรษก็อาจเป็นได้
แต่ไม่ว่าอย่างไร เราก็ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้น้ำจืดของเราจากทุกแหล่งให้ได้ ไม่ว่าจะใช้เพื่อเพาะปลูก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือเพื่ออุปโภคทั่วไปก็ตาม
เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้ความจำกัดของทรัพยากร
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา