ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

บทสัมภาษณ์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ Hard Power ใน Soft Power จาก Way Magazine (2)

 

บทสัมภาษณ์ กับ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : Hard Power ใน Soft Power จาก Way Magazine

https://waymagazine.org/weerasak-kowsurat-interview/

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์: hard power ในธุรกิจหนังไทย soft power ในข้าวเหนียวมะม่วง และเกมต่อรองของคนรู้สี่รู้แปด

ต่อจากตอนที่แล้ว บทสัมภาษณ์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ Hard Power ใน Soft Power จาก Way Magazine (1)

 

ตัวอย่างมาเลเซียที่รัฐให้การอุดหนุนหนังที่สามารถเข้าฉายในโรงได้ แบบนี้ถ้าเอามาทาบกับของไทยที่เจ้าของโรงหนังเป็นเจ้าของค่ายหนังเองด้วย กรณีแบบนี้เราควรจัดการอย่างไร

ถ้าอย่างนั้นลองพิจารณา พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ถ้าเขาครอบงำตลาดได้ แปลว่าต้องถูกกำกับแล้วล่ะ เพราะมันไม่เสรีตั้งแต่ต้น วงการหนังต้องการนักกฎหมายที่มีความรู้กว้างพอที่จะสร้างความชอบธรรม ทั้งในแนวราบคือการแข่งขันกับหนังต่างประเทศ และแนวดิ่งคือความเป็นธรรมในการจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมหนัง

ในที่ประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ เคยมีการหยิบยกประเด็นการจ้างงานที่เป็นธรรม การคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานในอุตสาหกรรมหนังไทยบ้างไหม

เคยมี แต่วาระนี้ไม่เคยขึ้นมาอยู่ในลูกโม่ลูกแรกในการประชุม

เพราะอะไร

เพราะมีเรื่องอื่น เรื่องฐานะการเงินของวงการ เรื่องข้อเสนออื่นๆ ทั้งเรื่องที่คิดจะทำอะไรแปลกๆ และเรื่องที่ฟังดูเข้าท่า แต่ว่ายังไม่ดีที่สุด คนในวงการเรามักอยากได้สิ่งที่ดีที่สุด แต่มีผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งที่พอจะคุ้นเคยข้อเท็จจริง เขาจะบอกว่าไม่เป็นไร อยากได้ 10 แต่ได้แค่ 4 ก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย เราก็ต้องคอยประคองความรู้สึกคนอีกจำนวนหนึ่งที่บอกว่า ถ้าไม่ได้ 9 หรือได้ 10 แล้วจะเสียเวลาไปทำทำไม หมดเวลาไปกับเรื่องการประคองอารมณ์แบบนี้

บรรยากาศแบบนี้ทำให้วาระสภาพการจ้างยังไม่ถูกพูดถึงในลำดับต้นเสียที ทั้งที่ในความเป็นจริง มันมีมาตรฐานสากลที่สามารถลอกมาได้เลย ฝ่ายลูกจ้างเองก็ยังไม่เรียนรู้ในสิ่งที่เรียกว่าสหภาพ คืออย่าเพิ่งไปวุ่นวายถึงองค์กรสหภาพนะ แต่ให้เรียนรู้ในการประชุมคุยกันแล้วเลือกหยิบว่า มาตรฐานกองถ่ายจากต่างประเทศเป็นอย่างไร ก็เลือกหยิบเอามาแปลเป็นของไทยซะ ให้เป็นภาษาที่ลูกจ้างอ่านรู้เรื่อง แล้วบอกว่าต่อไปนี้คือสัญญามาตรฐาน ถ้าไม่ได้ตามนี้เราขอแนะนำให้สมาชิกของเราอย่าไปเซ็นสัญญากับเขา

แต่ก็อีกนั่นแหละ คนจำนวนหนึ่งก็จะไม่เข้าร่วมสมาคมการทำงานแบบนี้ ส่วนใหญ่จะไปเจอกันตามวงเหล้าซึ่งการพูดคุยมีอารมณ์ แต่ไม่มีเนื้อหาที่จะทำเป็นลายลักษณ์อักษรเอกสารได้

ผมจึงเสนอว่าแทนที่จะจัดประชุมทางการ ต้องมีเจ้าภาพรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ทำไมเราไม่จัดแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้สมาพันธ์ฯ เป็นเจ้าภาพแล้วจัดวาระการคุย ช่วงนี้เป็นวาระระดับเถ้าแก่คุยกัน ที่เหลือฟังแล้วทิ้งคำถามไว้ แต่อย่าเพิ่งไปปะทะกับเขา วาระที่สองเป็นลูกจ้างระดับเงินเดือนสูงคุยกัน วาระถัดไปเป็นช่วงมนุษย์ลูกจ้างทั้งหลายคุยกัน แล้วเปิดให้คนวงนอกเข้ามาแจมช่วงท้าย

ไล่จากการทำระบบโควตาหนังต่างประเทศ การให้รัฐสนับสนุนเงินทุน การสร้างแพลตฟอร์มให้คนในอุตสาหกรรมหนังมีโอกาสได้คุยกันอย่างถูกที่ถูกทาง ถัดจากนี้เราควรมีอะไรอีก

เราต้องดึงภาคธุรกิจอื่นเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ด้วย ไม่ใช่มีปัญญาเข้ามาได้แค่ tie-in ในหนัง กรณีหนังเกาหลีจะเข้าฉายในเวียดนาม แต่เถ้าแก่เจ้าของโรงไม่อยากได้เพราะคิดว่าผู้ชมดูไม่เป็น เจ้าของหนังเกาหลีเขาก็ไม่มีเงินไปจ่ายเถ้าแก่โรงหนังเวียดนามหรอก ต่อให้ยกหนังไปฉายฟรีเขาก็ไม่อยากฉาย แต่สุดท้ายเขาทำอย่างไรไม่รู้ให้แดวู ซัมซุง ซึ่งเข้าใจอิทธิพลหนังเข้ามาร่วม แดวู ซัมซุงไปเจรจาต่อว่า ถ้าเถ้าแก่โรงหนังเวียดนามเอาหนังเกาหลีเรื่องนี้ไปฉาย ซัมซุง แดวูจะซื้อโฆษณาทั้งหมดที่ล้อมโรงหนัง และซื้อกระทั่งในจอฉายด้วย แม้จะไม่มีใครเข้ามาดูในโรงเลย เขาทำแบบนี้อยู่ 2 ปี ถัดจากนั้น ประชากรเวียดนาม 90 กว่าล้านคน หันมาใช้หันมาบริโภคของเกาหลีทั้งที่อ่านยี่ห้อไม่ออกด้วยซ้ำ

จากวันนี้ควรนับไปอีกกี่ปี เราจึงจะไปถึงเกาหลีหรือบอลลีวูด

เท่าที่ผมดู เวลาที่อะไรจะเปลี่ยนแปลง มันใช้คนแค่พันคนก็เปลี่ยนได้ แต่คนพันคนนั้นต้องพูดเรื่องเดียวกัน ตอนนี้ยังไม่เกิดคนพันคนนั้น จึงยังตอบไม่ได้ ผมเห็นคนพันคนหรือคนหมื่นคนนั้น แต่ตอนนี้พวกเขายังไม่พูดเรื่องเดียวกัน

เวลาเราพูดคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) อาจารย์คิดว่าคนที่เกี่ยวข้องเขาพูดเรื่องเดียวกันอยู่ไหมครับ ตกลงซอฟต์พาวเวอร์มันคือข้าวเหนียวมะม่วงที่มิลลิกินโชว์บนเวทีคอนเสิร์ต หรือมันคือซัมซุง แดวู แบบที่เกิดขึ้นในเวียดนาม

ผมเข้าใจว่าคนมองไม่เหมือนกัน รวมทั้งโจเซฟ นาย (Joseph Nye นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผู้บัญญัติศัพท์ soft power) คำถามคือแล้วไงครับ สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ไม่ต้องมองเหมือนกันก็ได้ แต่เราเรียนรู้ที่จะซาบซึ้ง (appreciate) อ่านผลวิเคราะห์คลื่นที่กระทบใบบัวแล้วเขาเรียกว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์หรือไม่ ถ้าบอกว่าใช่ อย่างน้อยเราก็ก้าวไปในทิศทางเดียวกัน

ยกตัวอย่าง นักท่องเที่ยวจีนแต่งตัวเป็นนักเรียนไทย ก็ยังอุตส่าห์มีความเห็นทำนองว่า กลัวจะนำไปสู่การหลอกลวง กลัวจะเป็นการไปละเมิดสิทธิ์ของโรงเรียนหรืออื่นๆ นั่นแสดงว่าคุณเห็นแต่กฎหมาย แต่คุณไม่เห็นซอฟต์พาวเวอร์ ผมดีใจที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการบอกว่า เท่าที่ดูนักท่องเที่ยวเหล่านี้ไม่ได้มีแนวโน้มการกระทำนำไปสู่ความเสียหาย มองให้ดูเป็นเรื่องน่ารัก มันก็น่ารัก

ตามนิยามของโปรเฟสเซอร์นาย แกจะพูดถึงต้นทุนสำคัญสามอย่างคือ วัฒนธรรมที่สอดคล้องกัน ค่านิยมทางการเมืองที่สอดคล้องกัน และนโยบายต่างประเทศที่สอดคล้องกัน มันจึงจะเกิดซอฟต์พาวเวอร์หรืออำนาจโน้มนำโดยไม่ต้องใช้เงินหรือกำลังบังคับ

ใช่ คำว่าโน้มนำเป็นหัวใจสำคัญของนิยามนี้

คำถามคือ เรากำลังเจอกับดักขนาดใหญ่ในสังคมไทยใช่หรือไม่ เนื่องจากเรามักมีคำอธิบายว่า สังคมไทยมีลักษณะเฉพาะ ที่ไม่ค่อยเหมือนหรือไม่ค่อยสอดคล้องกับทิศทางที่ชาวโลกส่วนใหญ่เขายอมรับกัน

ก็เปล่า ผมกลับมองว่าเราก็มีเหมือนชาวบ้านนั่นแหละ แต่เรายิ้มแย้ม ยืดหยุ่น และหย่อนยาน หาชาติไหนยิ้มแย้มเหมือนชาติเราไม่ได้ เพราะเขามีความเจ็บปวดจากประวัติศาสตร์ที่ถูกกดขี่ทั้งสิ้น ประเทศที่เคยตกเป็นประเทศราช รอยยิ้มของเขามันไม่เหมือนเรา ข้อนี้ผมเห็นด้วยว่าเราไม่เหมือนเขาจริงๆ เรายืดหยุ่นก็เพราะเราไม่เคยถูกรุกรานจริง พม่าชนะศึกยึดกรุงศรีอยุธยา พม่าก็ไม่ได้ยึดเหยียบเมืองออกกฎหมายให้คนไทยอยู่ในสภาพนั้นนานนัก ญี่ปุ่นเข้ามาก็ขอแค่เดินทางผ่าน เราจึงไม่เคยเห็นคนเหล่านั้นเป็นผู้รุกรานที่ต้องไล่ออกไป ขณะเดียวกันเราก็รับวัฒนธรรมจีน วัฒนธรรมอินเดีย ผสมผสานวัฒนธรรมมลายู ขอม มอญ ปนกันเยอะมาก จนกระทั่งเราแทบไม่รู้ว่าเราเป็นอะไร กลายเป็นความยืดหยุ่น แต่พร้อมๆ กันนั้นเราก็หย่อนยาน ซึ่งก็เป็นเสน่ห์เพราะถ้าตึงกว่านี้ เราคงยกอาวุธฆ่ากันตายกลางเมืองหลายครั้งแล้ว แต่แน่นอน ในขณะเดียวกันมันก็ขาดประสิทธิภาพ

ภูมิภาคอาเซียนก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน ถ้าแข็งกว่านี้มันจะไม่มีลักษณะเป็นลูกตะกร้อ แต่จะกลายเป็นลูกโบว์ลิ่ง ใครๆ ก็เดาะไม่ได้ ทุกวันนี้ที่มันอยู่ร่วมกันได้เพราะความยืดหยุ่น แต่ถามว่ามีประสิทธิภาพไหม ก็ไม่มากเท่าไร

ทีนี้เราก็มาดูว่า แล้วเรามีซอฟต์พาวเวอร์ที่ดีอะไรบ้างที่สามารถขายได้ เราไม่เคยรู้เลยว่าเรือหางยาว ตุ๊กตุ๊ก เป็นเรื่องน่าสนใจของเขา ผัดไทยเป็นของอร่อยของเขา เวลาผมไปบรรยายเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ผมมักจะยกนิยามโปรเฟสเซอร์นาย และยกตัวอย่างแมคโดนัลด์ที่มีส่วนทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย ผมจะพูดเสมอว่าเวลาใช้ซอฟต์พาวเวอร์ อย่าใช้เงินเป็นตัวนำ ถ้าเรามีแผนจะผลักดันอุตสาหกรรมไหน คิดได้ แต่อย่าตะโกน ทำแบบเงียบๆ ค่อยๆ รดน้ำไป ถ้าคุณจะขายมวยไทยเพราะเห็นว่าสามารถแตกยอดนำไปสู่อย่างอื่น คุณก็ทำในส่วนที่เป็นหัวใจที่สุดของมวยไทย ประเดี๋ยวก็จะมีคนถูกโน้มน้าวให้เห็นประโยชน์แล้วเขาก็จะไปสร้างอะไรของเขาต่อ อย่าไปสร้างเองหมด

ลักษณะเฉพาะของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมร่วมในภูมิภาคนี้ มันจะเป็นอุปสรรคในการเคลมหรือไม่ว่า ตกลงมันเป็นของใครกันแน่

ผมก็ไม่เห็นฝรั่งชาติไหนเคลมว่า วัฒนธรรมการจับมือเป็นของชาติใดชาติหนึ่ง การถอดหมวกแสดงความให้เกียรติก็คงเกิดครั้งแรกในที่ใดที่หนึ่ง แต่สุดท้ายมันก็เป็นวัฒนธรรมร่วม การจะบอกว่าอะไรเป็นของเราจึงควรทำอย่างระมัดระวัง เราเรียกมันว่าอะไรก็ได้ เวลาเราเรียกฝอยทองก็ไม่เห็นคนโปรตุเกสเขาว่าอะไร เพราะฉะนั้นความเป็นเจ้าของไม่สำคัญเท่าคุณเป็นเจ้าภาพมันได้หรือไม่

ในทางวัฒนธรรมเรามักจะแยกบทบาทเจ้าของ เจ้ามือ และเจ้าภาพ กันไม่ค่อยออก ของบางอย่างเราไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของ แต่เราเป็นเจ้าภาพได้

ในอุษาคเนย์เราน่าจะมีขีดความสามารถในการเป็นผู้นำหรือเป็นเจ้าภาพได้ไม่ยาก แต่ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนในประเทศนี้เข้าใจว่า ของบางอย่างเป็นวัฒนธรรมร่วม ไม่จำเป็นต้องทะเลาะทวงความเป็นเจ้าของ

วารสารอย่าง ศิลปวัฒนธรรม ที่เขาเขียนเรื่องเหล่านี้ลึกๆ ก็บังเอิญเป็นของที่คนไทยไม่ค่อยนิยมอ่านเสียด้วย อีกอย่างคือวัฒนธรรมร่วมภูมิภาคเราเป็นวัฒนธรรมฟังพูด ไม่ใช่อ่านเขียน ในขณะที่ฝรั่งโตมากับวัฒนธรรมอ่านเขียนมากกว่าฟังพูด แต่เวลาเราต้องเข้าสู่ระบบชี้วัดแบบฝรั่ง เราก็ต้องก้าวไปสู่วัฒนธรรมอ่านเขียน ซึ่งตอนนี้เราก้าวข้ามอ่านเขียนมาสู่การทำคอนเทนต์ ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวหนังสือ แต่เป็นการผลิตและแสดง เราเล่นกับเรื่องดรามา เราทำมีมทำอะไรต่างๆ ได้ไม่เลวเลย มันเป็นวิธีการเล่าเรื่องแบบหนึ่ง

เมื่อครู่ที่พูดถึงอุตสาหกรรมเกาหลี ผมบอกว่า 2 ใน 3 เป็นนโยบายการเมืองรวมชาติ แต่อีก 1 ส่วนสำคัญคือ เศรษฐกิจเกาหลีร่วงถึงพื้นในเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง ร่วงในที่นี้คือร่วงจริงเนื่องจากเขาเป็นแชโบล (Chaebol ตระกูลใหญ่ที่ครอบงำธุรกิจเกือบทั้งหมดในเกาหลีใต้) ญี่ปุ่น ไต้หวัน SME แข็งแกร่ง แต่เกาหลี SME น้อยมาก เขาเรียนรู้แล้วว่า 5 เจ้าใหญ่อุ้มประเทศไม่ได้ ที่เหลือบนหน้าตักคือวัฒนธรรม ก็ต้องเอามันออกมา อย่างน้อยก็ให้คนเกาหลีดู เพราะวัฒนธรรมการดูหนังในเกาหลีแข็งแรงมาก โรงหนังในเกาหลีมีคนเข้าตลอด

ในหนังของเขาเปลี่ยนภาพลักษณ์ผู้ชายเกาหลีจากคนดื่มจัด ดุดัน เอะอะส่งเสียง แต่พระเอกในหนังเกาหลีเป็นแฟนตาซีเป็นจินตนาการที่สาวเกาหลีอยากจะได้แบบนี้ แปลว่าทั้งหมดนี้เขาไม่ได้เริ่มต้นคิดจากการอยากได้เงิน แต่เขากำลังปรับบุคลิกภาพของมนุษย์และสังคมของเขา นั่นคือเขาผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว

เราเคยมีแผนแม่บทเรื่องอุตสาหกรรมหนังหรือไม่

เหมือนจะเคยมี แต่สิ่งที่เขียนกับสิ่งที่ทำไม่ค่อยจะตรงกัน เพราะราชการเขียนแผนประมาณ 1-3 สัปดาห์ แต่เวลาทำใช้เวลาเป็นปีๆ และเปลี่ยนคนทำบ่อย ผมคุ้นเคยมากกับเรื่องแบบนี้ พอตั้งรัฐบาลเจ้ากระทรวงก็ส่งว่าจะทำอะไรบ้าง แล้วให้นายกฯ แถลงว่านี่คือเรื่องที่จะทำในเวลา 4 ปี ทั้งหมดนี้มีเวลาให้คุณเขียนแผน 4 วัน และส่วนใหญ่สภาพัฒน์ฯ ก็ร่างเอาไว้ให้แล้ว ถ้าจะเติมสุ่มสี่สุ่มห้า เขาก็จะบอกว่าเรื่องนี้ไปอยู่ในแผนระดับสองระดับสามได้มั้ย ถ้าคุณไม่แข็งแรงไม่ทุบโต๊ะ แผนคุณก็จะไม่ได้ขึ้น และต่อให้แผนคุณผ่าน กว่าคุณจะได้เงินคือปีหน้า ซึ่งคุณอาจจะพ้นจาก ครม. ไปแล้ว

สื่อต่างประเทศบางสำนักวิเคราะห์ว่า ละครซีรีส์วายของไทยน่าจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของเราในอนาคต แต่ในขณะเดียวกัน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ก็ยังถูกดองเอาไว้ ประเด็นแบบนี้มันจะกลับไปสู่สิ่งที่โปรเฟสเซอร์นายเสนอเอาไว้ไหมว่า ค่านิยมหรือวัฒนธรรมที่โลกยอมรับจะเป็นจุดเริ่มต้นของการโน้มนำโดยซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งในเงื่อนไขสังคมไทย เราจะเจอตัวอย่างความไม่เข้ากันทำนองนี้เต็มไปหมด

สหรัฐพยายามขายคำว่าเสรีภาพ แต่ถามว่าทุกวันนี้คนต่างผิวสีก็ยังหวาดกลัวเวลาต้องเดินเข้าไปในบางพื้นที่ เพราะฉะนั้นการที่สังคมมีพลังอย่างหนึ่ง แต่กฎหมายยังตามไม่ทัน ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้แปลว่าผมชอบที่มันเป็นแบบนี้ แต่มันต้องใช้เวลา ถ้าเลือกจังหวะเวลาได้ถูก เดี๋ยวมันก็จะกลับสู่สภาวะที่ถูกต้องได้

กลับมาสู่เรื่องที่ผมเล่าว่า เวลาประชุมกับผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรม เราเสียเวลาในการอธิบายมากระหว่างคนหัวก้าวหน้าที่พยายามต่อรองว่า หากไม่ได้เต็ม 10 ก็ต้องขอสัก 8 หรือ 9 ขณะที่คนมีประสบการณ์หรืออาวุโสหน่อยก็จะบอกว่า 4 ก็เอาแล้ว ถ้าซีรีส์วายเป็นสิ่งที่เขามองเห็น ซึ่งผมก็หวังว่าจะไม่ใช่สิ่งเดียวที่เขามองเห็นนะครับ มันก็ดีแล้วเราก็เติมน้ำใส่ปุ๋ยไป แต่ในเมื่อฐานทางกฎหมายยังไปได้แค่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งบอกว่าไม่รับ เพราะมันไม่ใช่ 8–9 แต่คนอีกกลุ่มอาจจะบอกว่า 4 ก็เอาไว้ก่อน เราก็เสียเวลาในการเถียงกันเรื่อง 8-9 หรือเราจะเอา 4 เพราะทั้งคู่มันไม่ใช่ 10 ทำไมเราไม่ทำความเข้าใจว่าความเห็นต่างเกิดขึ้นได้ และบันทึกเอาไว้ว่าเธออยากได้ 8-9 ฉันรับฟัง ส่วนพลังที่ต่อรองได้ 4 ก็เอา 4 ไป แล้วเราก็บันทึกข้อตกลงเอาไว้

เหตุที่ เนลสัน เมนเดลา ก้าวมาสู่รางวัลโนเบลไม่ใช่เพราะแกติดคุกนานนะครับ แต่เพราะแกสามารถทำให้คนต่างผิวสีอยู่ร่วมกันได้ วิธีคิดของแกคือเราแก้ประวัติศาสตร์ไม่ได้ แต่เราบันทึกรับทราบ (acknowledge) ได้ เขาจึงทำบันทึกว่ามีคนผิวสีกี่คน ชื่ออะไรบ้าง ถูกกระทำจากอำนาจรัฐและคนผิวขาวด้วยวิธีอะไร เขาจะทำบันทึกไว้ จากนั้นหากมีใครต้องการทราบ ต้องการเชื่อมโยงเหตุการณ์เข้ากับชื่อเหยื่อผู้ถูกกระทำ ก็สามารถทำได้ ชื่อและตัวตนของเหยื่อทุกคนถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ โดยมีรัฐรับรองว่าสิ่งไม่ถูกต้องนี้เคยเกิดขึ้นจริง มีคนตกเป็นเหยื่อจริง สังคมที่ควรจะแตกและฆ่ากันจึงถูกดับไฟแค้นอย่างรวดเร็วและอยู่ร่วมกันได้ นี่ไม่ใช่พลังแห่งการให้อภัย แต่เป็นพลังแห่งการยอมรับ

เงื่อนไขสำคัญคือต้องยอมรับเสียก่อนว่าอะไรคือความผิดพลาด?

ถูกต้อง

ทำอย่างไรให้เรายอมรับกันให้ได้ว่า การรัฐประหารคือความผิดพลาด

ผมคิดว่าถ้าหากไม่เริ่มต้นด้วยการ blame and shame สังคมไทยเป็นสังคมที่รอมชอม หาทางลงให้กันได้

ซอฟต์พาวเวอร์มันจะเติบโตในเนื้อดินแบบไหน เราพูดได้ไหมว่าเราจะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ได้ก็ต่อเมื่อค่านิยม วัฒนธรรม รวมถึงวิธีใช้อำนาจของเราต้องสอดคล้องกับทิศทางการยอมรับของประชาคมโลกตามที่โจเซฟ นาย ให้นิยาม

ไม่จำเป็น คาบูกิไม่เห็นเป็นสากล มวยไทยก็ไม่ใช่มวยสากล นายพูดในฐานะโปรเฟสเซอร์ทางการเมือง แกสอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ฮาร์วาร์ด และอเมริกาก็พยายามตั้งตนเป็นมาตรฐานสิ่งที่เป็นสากลของโลก ซึ่งแน่นอนเราถกเถียงกันได้ แต่ซอฟต์พาวเวอร์ในความหมายที่เรากับเกาหลีใช้มันไม่ได้เป็นไปตามนิยามของโปรเฟสเซอร์นาย แต่มันก็มีพลังหลายอย่างในตัวมันเอง ในขณะที่สื่อมวลชนสหรัฐซึ่งมีเครือข่ายกว้างขวางในตะวันตก เขาก็พยายามสร้างบรรทัดฐานบางอย่างขึ้นมาเพื่อบอกว่ามาตรฐานโลกควรจะเป็นแบบนี้ แล้วมันก็ทำให้ทุกคนต้องท่องมนตร์ตาม

ถ้าเรามองเห็นสิ่งที่เกาหลีทำ เอาท่าเต้นม้าย่องกังนัมสไตล์เผยแพร่ไปทั่วโลก ถ้าเราเห็นสหรัฐเอาแมคโดนัลด์เข้าไปครอบงำโซเวียตโดยไม่ต้องยิงขีปนาวุธ ถ้าเรามองเห็นนิยามที่โปรเฟสเซอร์นายเสนอ สายตาเราก็จะกว้างไกลขึ้น ยังไม่ต้องนับสำนักอื่นๆ ที่พูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ด้วยนิยามอื่น

ในฐานะนักจัดการ นักต่อรอง ที่อาจารย์พูดว่าเต็ม 10 ถ้าไม่ได้ 8-9 จะเอา 4 ไหม ถามจริงๆ ว่าตอนนี้สถานการณ์อุตสาหกรรมหนังไทย การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ตัวเลขการต่อรองที่ได้อยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ครับ

ไม่เกิน 3

----------------------------------------------

ที่มา https://waymagazine.org/weerasak-kowsurat-interview/