บทสัมภาษณ์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ Hard Power ใน Soft Power จาก Way Magazine
บทสัมภาษณ์ กับ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : Hard Power ใน Soft Power จาก Way Magazine
ที่มา https://waymagazine.org/weerasak-kowsurat-interview/
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์: hard power ในธุรกิจหนังไทย soft power ในข้าวเหนียวมะม่วง และเกมต่อรองของคนรู้สี่รู้แปด
กรณีโรงหนังจัดรอบฉายภาพยนตร์แบบน่าเกลียด ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น
กรณีคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ให้เรตหนัง ด้วยเหตุผลขัดสายตาคนดูหนัง เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
กรณีแรกแม้นว่าจะกระทบกับโอกาสเข้าถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมโดยตรง แต่คนที่รู้เรื่องเบื้องลึกวงการหนังมาค่อนศตวรรษจำนวนหนึ่ง ก็บังเกิดอาการอิหลักอิเหลื่อเกินจะแสดงความเห็น เนื่องจากรู้ๆ กันอยู่ว่ามันเป็นเรื่องทีใครทีมัน ในทางธุรกิจไม่ได้มีใครดีเลวกว่ากันสักเท่าไร
กรณีการให้เรต เป็นดุลพินิจผูกพันกับพื้นฐานข้อตกลงทางวัฒนธรรม ความคิดเก่ากับความคิดปัจจุบันปะทะกันอยู่เสมอ คำปลอบใจคือนี่เป็นกติกาที่ปรับปรุงและต่อรองจากยุคของการตรวจหนังโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งไม่ได้ให้เรต แต่มีอำนาจสั่งห้ามเผยแพร่ได้ทันที
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปัจจุบันเป็น 1 ใน 250 สมาชิกวุฒิสภา บอกเองว่าเขาคือผู้เริ่มต้นผลักดันให้เกิดระบบเรตติงภาพยนตร์แทนระบบแบนห้ามฉาย ระหว่างเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ก่อนจะออกมาเป็น พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551
วีระศักดิ์ หรือ ‘อาจารย์เอ’ เคยเป็นเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ช่วงปี 2555-2560 นั่นทำให้เขารู้จักตัวละครในอุตสาหกรรมหนังไทยมานานเพียงพอจะรู้ว่าใครเป็นใคร แต่ละคนกำลังเล่นบทบาทอะไร
จากยุคที่ธุรกิจหนังไทยเจรจากันด้วยลูกปืน มาสู่ยุคที่สู้กันบนหน้ากระดานโซเชียลมีเดีย เพียงแต่สถานการณ์ปัจจุบันทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่างตกอยู่ในสภาพหนีตาย โดยมีคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) เป็นแสงสว่างทางรอดอยู่ลิบๆ ไม่ว่าแต่ละฝ่ายจะเข้าใจคำคำนี้ว่าอย่างไรก็ตาม
วีระศักดิ์จบปริญญาโทกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หัวใจสำคัญของกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศคือการต่อรองผลประโยชน์ คำเปรียบที่เขาใช้บ่อยคือ ถ้าอยากได้ 10 แล้วไม่ได้ 8-9 คุณจะเอา 4 หรือไม่ได้อะไรเลย
ในสถานการณ์เลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้น นโยบายที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ควรได้รับการเสนออย่างเป็นรูปธรรมจากทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเข้าใจมันในระดับข้าวเหนียวมะม่วง หรือฝันทะเยอทะยานถึง K-pop บอลลีวูดก็ตาม
ปัญหากรณีการจัดรอบฉายหนัง กรณีการให้เหตุผลจัดเรตหนังที่ขัดสายตาผู้คน ซึ่งเรื่องเกิดขึ้นซ้ำเรื่อยๆ สะท้อนให้เราเห็นอะไรในอุตสาหกรรมหนังไทย
สะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์พึ่งพาโรงฉาย แน่นอนว่าคนสร้างหนังทุกคนอยากจะให้หนังของตนเข้าโรงฉาย ไม่ได้อยากให้ดูจากจอเล็กหรือจอแก้ว ตัวอย่างที่ผมประสบเองตอนเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ปี 2547 ก็คือ ตอนที่หนัง โหมโรง เข้าฉายแป๊บเดียวก็ต้องออกจากโรง แต่ยังเป็นกระแสปากต่อปากในประชาคม Pantip ทำให้เราคิดว่าจะทำอย่างไรกับหนังดีแต่ออกจากโรงเร็ว คือจู่ๆ จะไปบอกโรงหนังให้เขาเอากลับเข้ามาฉาย มันก็เป็นสิทธิทางธุรกิจของเขา แต่พอเราจัดรอบพิเศษเชิญทูตานุทูตเข้ามาดู มันก็เป็นข่าว จากนั้นก็เริ่มมีเสียงเรียกร้อง ตลาดเรียกร้อง ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์จึงนำกลับมาฉายใหม่ กลายเป็นหนังทำรายได้สูง
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าเจ้าของโรงหนังกับเจ้าของหนังมีอำนาจในการต่อรองต่างกัน ถามว่ารัฐจะไปแทรกแซงได้ไหม คำตอบคือได้ แต่จะต้องมีประเพณีนั้นเสียก่อน คำถามถัดมาคือ แล้วหนังประเภทไหนล่ะที่รัฐเห็นว่าควรจะให้ประชาชนได้ดู ซึ่งเอาเข้าจริงรัฐเองก็ไม่ได้ดูหนัง ขณะเดียวกันรัฐเองก็อาจมีอคติในการดูหนังด้วย ไม่ว่าจะเป็นรัฐราชการหรือรัฐการเมือง ต่างก็มีอคติทั้งคู่ ยกตัวอย่างตั้งแต่ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ พ.ศ. 2473 แม้ไม่เขียนเอาไว้ตรงๆ แต่ก็อนุญาตให้สันติบาลตัดฉับๆ ได้ เกือบทุกครั้งที่มีฉากตำรวจถูกยิง ทั้งที่ดูแล้วเป็นพระเอก (heroic) จะตายไป รวมถึงฉากติดสินบาทคาดสินบน พฤติกรรมล่อแหลมต่างๆ
กลับมาที่คำถามอำนาจต่อรองระหว่างเจ้าของหนังกับเจ้าของโรง ในความเป็นจริงเจ้าของหนังจะได้เจอแค่ผู้จัดการซึ่งเป็นพนักงานกินเงินเดือนเจ้าของโรง เมื่อใดก็ตามที่เอามนุษย์เงินเดือนมาคุยกับเจ้าของหนังซึ่งเป็นผู้ประกอบการ ฐานการคุยมันจะไม่ค่อยลงตัวหรอก มนุษย์ลูกจ้างก็จะมีอำนาจระดับหนึ่งเท่านั้น ขณะเดียวกันเจ้าของโรงภาพยนตร์ในประเทศไทยก็มีจำนวนไม่กี่เจ้า อาจจะมีหลายโรงแต่ไม่กี่เจ้า เมื่อลูกโม่เขาใหญ่ ลำกล้องกำลังทาบไปยังปฏิทินช่วงวันหยุดสำคัญ ขณะเดียวกันกระสุนเขาก็มีเยอะ มีหนังรอฉายจำนวนมาก เขาก็มีอำนาจต่อรองมีเหตุผลทางธุรกิจเพื่อให้ได้ผลกำไร
ยิ่งเมื่อเทียบกับทุนสร้างหนังไทยกับหนังนอก ของเขา 40 ล้านเหรียญ ของเรา 30 ล้านบาท นี่คือหนังใหญ่แล้วนะครับ มันก็ทำให้คนดูจำนวนหนึ่งรู้สึกว่า แทงหวยกับหนังนอกมีโอกาสถูกมากกว่า ราคาตั๋วขนาดนี้เขาขอเข้าไปดูหนังที่เซอร์ราวด์หนักๆ เบสแรงๆ หนังเล็กๆ ไปดูเอาตามจอเล็กๆ ก็ได้
ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นวิธีคิดของผู้จัดการโรงหนังที่ต้องตอบโจทย์ตัวเลขและความคาดหวังของคนดู นี่คือยังไม่ต้องพูดถึงพฤติกรรมคนดูในกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด กรุงเทพฯ กับปริมณฑล แม้กระทั่งกรุงเทพฯ ก็ยังมีชั้นนอกชั้นใน การใช้ดุลพินิจของผู้จัดการโรงหนังจึงมีโอกาสย้อนแย้งกับเจ้าของหนังเสมอ
แล้วเจ้าของหนังซึ่งเป็นผู้ประกอบการก็มักจะมี charisma พิเศษ คือรักในสิ่งที่ตัวเองทำมาก แต่มันก็มีศิลปินบางคนแม้ว่ารักในงานที่ตัวเองทำมาก แต่ไม่มีใครชอบงานนั้นเลย ไล่ไปจนถึงศิลปินที่อะไรก็ได้ แต่คนส่วนใหญ่ชอบ ส่วนเจ้าของโรงนั้นเขาไม่ใส่ใจเรื่องอารมณ์ความรู้สึกหรอกครับ เขาสนใจแค่ว่าจะขายตั๋วได้หรือไม่ นี่คือยังไม่ต้องพูดถึงผลประโยชน์นอกระบบอื่นใดนะครับ เอาแค่พื้นฐานการต่อรองก็คนละอย่างแล้ว ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ โดยปกติแล้วเจ้าของหนังมักเป็นคนเข้าไปเจรจาด้วยตัวเอง แต่เจ้าของโรงจะให้พนักงานเป็นผู้เจรจา
รัฐสามารถเอื้อมมือเปิดพื้นที่ให้ทั้งสองฝ่ายเจอกันได้ไหม
ถ้าทั้งวงการทั้งผู้ชม ผู้สร้าง หรือใครต่อใครเห็นว่ารัฐควรจะเข้าไปได้ ก็จะเหลือแค่ว่ารัฐจะกล้าเข้าไปหรือไม่ ไม่ใช่ควรเข้าหรือไม่ควรเข้านะครับ ผมน่ะเห็นมานานแล้วว่าควรเข้า แต่รัฐไม่มีความพร้อม ไม่มีมนุษย์ที่มีดุลพินิจตัดสินใจว่าเมื่อไหร่ที่รัฐควรเข้าไป
เพราะทันทีที่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยรัฐก็มักจะเกิดปัญหาเสมอ อย่างกรณีการใช้ดุลพินิจให้เรตหนัง?
ผมพูดเรื่องนี้ได้ยาวนะ เพราะผมนี่แหละเป็นคนเอาระบบเรตติงเข้ามา เนื่องจากเห็นว่ารัฐควรจะกล้าได้แล้ว แต่รัฐไม่ควรจะกล้าหาญจนเกินไป หมายความว่ารัฐไม่ควรดูเอง สมัยก่อนยุค พ.ร.บ.ภาพยนตร์ พ.ศ. 2473 ให้อำนาจตำรวจดูคนเดียว ซึ่งเรามองว่าตำรวจไม่ใช่นักดูหนัง และตำรวจไม่ควรทำตัวเป็นตำรวจศีลธรรมด้วย ถ้าจะมีองค์กรใดรับผิดชอบหน้าที่นั้นก็ควรเป็นองค์กรทางวัฒนธรรม ตอนนั้นผมเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม จึงเข้าไปขอ เสธ.หนั่น (พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์) ให้อำนาจหน้าที่นี้เป็นของกระทรวงวัฒนธรรม
ตอนนั้น เสธ.หนั่น กำลังจะเอาตำรวจออกจากมหาดไทยไปอยู่กับนายกรัฐมนตรี มันมีหูหิ้วกระเป๋าจำนวนมากที่ท่านต้องจัดการ ตำรวจดับเพลิงจะไปด้วยไหม ตำรวจรถไฟจะไปด้วยหรือเปล่า ตำรวจทางหลวงจะทิ้งไว้กับคมนาคมไหม ตำรวจท่องเที่ยวจะทิ้งไว้กับกระทรวงการท่องเที่ยวเลยไหม มันโกลาหลมาก ผมก็ใช้จังหวะนั้นเข้าไปขอกับ เสธ.หนั่น คืองานตรวจภาพยนตร์มันไม่ได้อยู่ในกฎหมายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มันเป็นกฎหมายอยู่ใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ พ.ศ. 2473 เขียนไว้ว่า ให้รัฐมนตรีมหาดไทยรักษาการและให้ตำรวจสันติบาลทำหน้าที่ เสธ.หนั่น ท่านก็ไม่มีปัญหา
ถามว่าวันนั้นผมมีคนในกระทรวงวัฒนธรรมพร้อมจะดูหนังไหม ผมก็ยังไม่มี ดังนั้นในการทำร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์แห่งชาติ ปี 2551 ผมจึงขอให้เอาคนสามประเภทเข้าไปดูหนังด้วยกัน ให้เบี้ยเลี้ยงเบี้ยประชุม เพราะต้องเสียเวลาทำมาหากินมาดูหนัง คนสามประเภทประกอบด้วย หนึ่ง ตัวแทนกลุ่มคนสร้าง สอง ตัวแทนจากภาครัฐ สาม ตัวแทนจากคนดู ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีคณะลูกขุนหรอก จึงต้องใช้ตัวแทนจากนักวิชาการเข้ามา ผมคาดหวังว่าตัวแทนจากกลุ่มที่หนึ่งกับกลุ่มที่สามจะทำหน้าที่ถกเถียงกัน โดยมีข้าราชการคนกลางเข้าไปนั่งฟัง หลังจากนั้นหนังที่ถูกแบนถูกห้ามฉายแทบไม่มีอีกเลย 5 ปีมีสัก 1 เรื่องมั้ง นอกนั้นก็เป็นการให้เรต ฉ.20 ต้องแสดงบัตรก่อนเข้าชม
ตอนที่ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับนี้ออกมา ผมเป็นฝ่ายค้าน ถึงตอนที่ใช้งานจริงผมก็อยู่นอกระบบแล้ว แต่ก็ยังติดตามขอดูรายงานว่าทั้งสามฝ่ายเขาเถียงกันยังไง จริงอย่างที่ผมคาด ฝ่ายตัวแทนรัฐไม่ค่อยได้พูดหรอกครับ คนที่ห่วงสังคมและใช้คำว่าศีลธรรมอันดีมากกว่าใครคือนักวิชาการ คำว่านักวิชาการในที่นี้หมายถึงตัวแทนสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติด้วยนะครับ ผมจึงมาถึงบางอ้อว่าที่เขาเถียงๆ กัน เอาเข้าจริงไม่ใช่รัฐห้ามฉาย รัฐเพียงเข้าไปออกแบบกติกา
มีกระบวนการคัดสรรตัวแทนนักวิชาการที่เข้าไปจัดเรตหนังอย่างไร
ส่วนใหญ่จะมาจากบัญชีรายชื่อ เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมจะมีรายชื่อคนที่เขาเห็นว่ามีคุณสมบัติจะพิจารณา จากนั้นก็เสนอชื่อไปให้คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติมีมติแต่งตั้ง
พูดได้ไหมว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ระเบียบกติกา แต่อยู่ที่ดุลพินิจผู้ใช้กติกา
เราจะเรียกมันว่าปัญหาหรือไม่ก็ได้ แต่มันควรเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันได้ เพราะในระบบวัฒนธรรมไม่มีใครถูกใครผิดเสมอ สิ่งที่เคยผิดมากในวันก่อน อาจจะถูกมากในวันนี้ และสิ่งที่เคยถูกจริงๆ ในวันนี้ ก็อาจจะเป็นเรื่องผิดมากในวันถัดไปก็ได้
เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่าไม่เป็นปัญหาเลย ถ้าวัฒนธรรมคือน้ำที่กำลังไหล ไม่ใช่น้ำนิ่ง น้ำที่ไหลตอนนี้มันกระแทกตลิ่งแน่นอน อยู่ที่ว่าเราเรียนรู้จากการไหลของมันอย่างไรเพื่อให้กลมกลืนกับสภาพตลิ่งในเวลานั้น แต่เมื่อผู้สร้างสร้างขึ้นมาแล้วอยากฉาย แต่ได้เรตที่อาจไม่เอื้อกับการตลาดของเขา เขาก็ต้องสู้ สู้เลยครับแล้วมาว่ากัน แต่ก็ต้องเข้าใจว่า บิสเนสโมเดลของธุรกิจหนังมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ขอบตลิ่งมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะใช้ราชการ ศาล หรือเจ้าหน้าที่รัฐทั่วไป ทำความเข้าใจตลิ่งเป็นเรื่องยากมาก
มีอะไรใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ พ.ศ. 2551 ที่จำเป็นต้องแก้ไขปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วนเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงปัจจุบัน
ตอบทันทีไม่ได้ แต่ผมเห็นว่าไม่มีอะไรที่ปรับไม่ได้ พูดได้ว่ายุคหนึ่งการฉายในโรงหนังเป็นช่องทางหลัก แต่ปัจจุบันโรงหนังเป็นทางเลือกแห่งความภาคภูมิใจ ทุกวันนี้ไม่มีหนังเรื่องไหนถูกปิดกั้นอีกต่อไป เพราะเราดูที่ไหนก็ได้ ถ้ามันเป็นช่องทางหลักทางเดียว การปรับต้องเร่งด่วน แต่ถ้าหากมันเป็นช่องทางแห่งความภาคภูมิใจ การปรับยิ่งต้องละเอียดเนียน อย่าปรับโดยไม่รู้เรื่องเพราะจะยิ่งเละ เราควรฟังกันให้รู้เรื่อง คำถามคือทำอย่างไรให้เรามีแพลตฟอร์มการฟังที่รู้เรื่อง
อาจารย์เคยพูดว่า อุตสาหกรรมหนังไทยมีคนเก่งๆ เยอะ มีผู้กำกับที่เก่ง มีคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์ เหตุใดเราไม่สามารถใช้ต้นทุนที่ดีเหล่านี้ผลักดันให้เคลื่อนไปทั้งระบบได้
ความสามัคคี (ตอบทันที) ในขณะที่เรากำลังขอพื้นที่เปิดเพื่อให้คนของรัฐกับคนในอุตสาหกรรมหนังมาคุยกัน เพื่อให้เกิดความเข้าอกเข้าใจสอดประสานถักทอกันได้ คนในอุตสาหกรรมเดียวกันเองก็อาจจะยังไม่มีพื้นที่ในการคุยกันแบบถักทอ
เรากำลังพูดถึงการจัดแพลตฟอร์มเพื่อให้เจอกันดีๆ จัดดิวิชันให้เหมาะสม ลูกจ้างเจอลูกจ้าง เจ้าของเจอเจ้าของ ผมอยู่ในสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติมาต่อเนื่อง 6 ปี ผมไปนั่งฟังการประชุมทุกครั้ง ฟังไปเรื่อยๆ ผมพบว่าผมกำลังนั่งประชุมกับสมาชิกฝ่ายลูกจ้าง ลูกจ้างในที่นี้ไม่ว่าจะเงินเดือนมากหรือเงินเดือนน้อย แต่ก็คือลูกจ้าง ผมไม่เคยได้นั่งประชุมกับเจ้าของ ถามว่ามีพื้นที่ให้เจ้าของเขาคุยกันมั้ย คงมีมั้ง แต่เขาคุยกันที่ไหนเราไม่รู้
ข้อเสนอเรื่องกำหนดโควตาหนังต่างประเทศแบบที่เกาหลีใต้ทำ สอดคล้องกับข้อเท็จจริงพื้นฐานของอุตสาหกรรมหนังไทยแค่ไหน วิธีการนี้ละเมิดข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศหรือไม่
วันนี้การจะไปปรับให้เข้ากับมาตรฐานที่สากลเขายอมรับ บางเรื่องมันก็ยากเต็มที แต่ในฐานะที่ผมเรียนจบกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ข้อตกลง GAAT (General Agreement on Tariffs and Trade: ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า) ปี 1947 ที่นำมาสู่การเกิดขึ้นของ WTO ในภายหลัง มันเกิดขึ้นภายหลังยุคกีดกันทางการค้า ผู้ร่างคืออเมริกา ฝ่ายชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในมาตรา 4 ของ GAAT ฝรั่งเศสผลักดันประเด็นว่า เปิดเสรีทุกเรื่องยกเว้นภาพยนตร์ เพราะมันเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ (ข้อความในมาตรา 4 เขียนว่า Screen quotas shall be subject to negotiation for their limitation, liberalization or elimination.) ซึ่งสุดท้ายสหรัฐยอม จึงถือเป็นกติกาสากลว่า ทุกประเทศสามารถกำหนดโควตาการฉายภาพยนตร์ต่างประเทศได้ ของเราเก๋กว่าอีก เพราะใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ พ.ศ. 2473 เขียนไว้ว่า คณะกรรมการภาพยนตร์สามารถกำหนดสัดส่วนจำนวนหนังนอกกับหนังไทยได้ เพียงแต่ไม่เคยมีการใช้อนุมาตรานี้เลย อนุมาตรานี้ก็ถูกลอกมาอยู่ใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับปัจจุบัน และมันก็ไม่เคยถูกใช้อีกเช่นกัน
ถามว่าทำไม ตอบสั้นๆ ว่าเพราะรัฐไม่รู้เรื่อง ตัวแทนคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายรัฐ ตัวแทนฝ่ายผู้สร้าง และตัวแทนฝ่ายผู้ชม แต่ไม่มีใครเอาเรื่องนี้ขึ้นมา เนื่องจากคนที่รัฐได้ยินเสียงมากที่สุดคือเจ้าของโรงหนัง เวลาเกิดข่าวดีโรงหนังจะประกาศข่าวดีก่อน เรื่องนี้ได้ร้อยล้านพันล้าน แล้วก็จะมีตัวแทนรัฐไปร่วมถ่ายรูปแสดงความชื่นชมยินดี แต่ฝ่ายผู้สร้างเป็นที่รู้กันว่า สร้าง 10 เรื่อง โด่งดังทำกำไรสัก 2 เรื่อง ที่เหลือเจ๊ง แล้วผู้สร้างส่วนมากจะเป็นขบถ (rebellion) เป็นเช เกวารา ทำหนังก็อดไม่ได้ที่จะต้องด่า ต้องวิจารณ์อำนาจรัฐ ซึ่งก็เป็นธรรมชาติเป็นธรรมดา แต่เวลาตัวแทนรัฐฟังคนเหล่านี้ในที่ประชุมก็อดไม่ได้ที่จะแสลงใจ ทำไมชอบด่าจังเลย
แพลตฟอร์มคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ ฝ่ายเลขาธิการผู้บันทึกการประชุมคือข้าราชการประจำจากกระทรวงวัฒนธรรม กระบวนการบรรจุวาระการประชุมจึงเป็นไปแบบราชการ ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าไปนั่งซึ่งก็ควรมีประเด็น ควรมีลูกกระสุนแปลกๆ ว่าควรพูดประเด็นอะไรบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่แม่นยำระบบระเบียบราชการ จึงไม่รู้ว่าจะเอากระสุนตัวเองไปบรรจุใส่ลูกโม่ใส่แมกกาซีนของระบบราชการได้อย่างไร พอถึงเวลาก็จะแสดงหลักฐานให้สั้น กระชับ อ้างอิงหลักระเบียบกฎหมายกันได้ไม่มากนัก ส่วนใหญ่มักจะมากันด้วยอารมณ์ เพราะฉะนั้นในที่ประชุมราชการเขาก็จะปล่อยให้ผู้มีอารมณ์ศิลปินเหล่านี้เผาให้เต็มที่ จากนั้นก็เปลี่ยนวาระ หามติอะไรก็ไม่ได้ ปล่อยให้บ่นไป แต่ไม่จดบันทึก เพราะฉะนั้นใครที่มาอ่านรายงานการประชุมไม่เก็ตหรอกครับ ไม่รู้เลยว่าอารมณ์เบื้องหลังของแพลตฟอร์มนี้เป็นอย่างไร
ดูเหมือนอาจารย์จะมีโมเดลบางอย่างอยู่ในมือ ที่อาจช่วยให้เราไปพ้นจากวงจรเงื่อนไขเดิมใช่ไหม
มี 2-3 โมเดลที่เราศึกษาได้ เกาหลีเป็นหนึ่งในโมเดลที่น่าสนใจ อาจเลียนแบบได้สัก 1 ใน 3 ของเขา เพราะที่เหลืออีก 2 ส่วน เขาไม่ได้เขียนเอาไว้และไปค้นในอินเทอร์เน็ตให้ตายก็ไม่เจอ แต่ผมไปเห็นเองจากตอนที่ถูกเชิญไปพูดที่เกาหลี ผมถามเขาว่าทำไมรัฐของยูจึงกล้าหาญชาญชัยเอาเงินใส่เข้าไปในอุตสาหกรรม K-pop ไม่กลัวโกงกันบ้างหรือไง เขาตอบว่าของแบบนี้ก็ต้องมีอยู่บ้าง ไม่ใช่ว่าเกาหลีจะไม่โกง เราเห็นเรื่องอื้อฉาว เห็นคนโดดหน้าผา จับประธานาธิบดีเข้าคุกมานักต่อนัก แต่วาระหลักคือเขากำลังรวมชาติเกาหลีเหนือเกาหลีใต้ ภาพยนตร์คือเครื่องมือที่ชาญฉลาดแยบยล (slick) ที่สุด หนังเก่า 8 ปีก็ยังดูได้เพราะใช้ภาษาเดียวกัน วัฒนธรรมเดียวกัน อู่อารยธรรมเดียวกัน ยา อาหาร การแต่งตัว และพระเจ้าแผ่นดินองค์เดิมองค์เดียวกัน การรวมชาติเป็นยิ่งกว่านโยบายการเมือง แต่เป็นวาระแห่งชาติ สังเกตดูหนังเกาหลีจะไม่ค่อยมีเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้รบกัน
ไม่ได้เริ่มจากตั้งเป้าหมายว่าจะส่งออกวัฒนธรรมไปขายชาติอื่น?
ไม่ใช่เป้าหมายแรก แต่เมื่อทำออกมาได้ดีมันก็ได้เติบโตเติบใหญ่โดยที่เขาไม่ได้ตั้งใจ อาทิ ในตะวันออกกลาง ซีรีส์ จูมง (2549) สอดคล้องกับวัฒนธรรมเจ้าผู้ครองนครของตะวันออกกลาง การที่จูมงทำให้คนดูเห็นว่าเจ้าผู้ครองนครเป็นผู้เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ มีความเป็นธรรมสูง และยังมีความรัก มีความเป็นมนุษย์ มันก็ทำให้เกิดกลุ่มคนดูนิยมชมชอบ
เริ่มจากกำหนดเป้าหมาย กำหนดโควตาหนังต่างประเทศ เติมเงินเข้าไปในอุตสาหกรรมหนังในประเทศ ลำดับถัดไปมีอะไรอีกครับ
ถ้าจะเติมเงินเข้าไปในอุตสาหกรรมหนัง ต้องเติมให้ถูกที่ ต้นไม้บางประเภทเป็นไม้กระถาง รดน้ำมากรากจะเน่า บางประเภทเป็นไม้ใหญ่เติมเข้าไปแล้วต้องรอ แต่เวลาที่รัฐจะรดน้ำ รัฐมักจะใช้ฝักบัวเบอร์เดียว แล้วก็หวังว่าไม้ทุกต้นจะโตเหมือนกัน
กลับมาที่เรื่องโควตา จีน เกาหลี ทำได้เพราะอยู่ในสภาวะสงคราม ต้องการกระแสชาตินิยม สมัยก่อนไปเกาหลีเราแทบไม่เห็นรถญี่ปุ่นรถอเมริกัน มาเลเซียเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจกว่า เขารู้ว่าราชการดูหนังไม่เป็น แต่เจ้าของหนังสามารถเอาหนังเข้าไปฉายในโรงชั้นหนึ่งของประเทศได้ รัฐให้เงินอุดหนุนทันที ถ้าหนังยืนระยะได้ เจ้าของโรงหนังก็ได้เงินอุดหนุนด้วย ในมาเลเซียเจ้าของโรงหนังจึงเริ่มมีใจกับหนังท้องถิ่น
กรณีผู้สร้างกับเจ้าของโรงหนัง ผมก็รู้ว่ามันมีการเอาเปรียบ แต่การสร้างแพลตฟอร์มการพูดคุย เราควรจะมาด้วยท่าทีที่เป็นมิตรมากขึ้น ข้อเสนอที่กลางๆ มากขึ้น อย่ามาด้วยความโกรธแค้น เพราะไม่มีใครชอบแบบนั้น ถ้าจะคุยกันเราควรเริ่มจากการหาลิสต์ในสิ่งที่เห็นพ้องกัน แต่ละฝ่ายที่เข้ามาต่างก็ต้องการรักษาฐานของตัวเองทั้งนั้น แต่พร้อมที่จะรับฟังหรือไม่ว่าอะไรที่มันจะหายไป ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม เรามาคุยประเด็นที่ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกันเถอะ ไม่ว่าความบาดหมางในอดีตจะถึงขั้นยิงกัน แต่ถามว่าทุกวันนี้สายหนังที่เคยมีอิทธิพลในอดีตจะมีที่ยืนต่อมั้ย ผมยังตอบยากเลย
อ่านต่อตอน 2 บทสัมภาษณ์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ Hard Power ใน Soft Power จาก Way Magazine (2)
----------------------------------------------