ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

โลกที่คนตาดี’’ยังมองไม่เห็น’’

 


ด้วยเหตุที่ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย แต่งตั้งผมเป็นที่ ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน การประชุมสมัชชาสหภาพคนตาบอดโลก ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก เพราะไทยได้รับเลือกให้เป็นประเทศเจ้าภาพจัดประชุม World Blind Union-Asia Pacific (Midterm Regional General Assembly) ในระหว่าง 27-29 พฤศจิกายน ที่มาถึงนี้ ที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีคนตาบอดเดินทางเข้ามาภูเก็ต จากประเทศสมาชิกซึ่งมีไทยด้วย นับร้อยคน !!

แค่จินตนาการผมก็นึกภาพไม่ออกแล้วครับ ว่าน่าจะต้องใช้ทีมสนับสนุนเยอะขนาดไหน

ผมจึงเช็ควันเวลา ที่บรรดาคนตาบอดนานาชาติจะซื้อตั๋วเครื่องบิน ออกเดินทางมาถึงประเทศไทย แล้วนัดหมายชักชวนคุณกฤษณะ ละไล เจ้าของรายการกฤษณะทัวร์ยกล้อ ให้ขนทีมงานถ่ายทำรายการแห่กันไปดักถ่ายทำรายการการมาถึงไทยของบรรดา วีไอพีนานาชาติแห่งโลกอันมืดมิด ที่จะมาเยือนไทยแลนด์ แดนเฟรนลี่ดีไซน์ของเรา เพราะโอกาสแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นได้บ่อยๆ และนี่ไง Tourism for all ระดับโคตรท้าทาย !

การท่องเที่ยวเพื่อและของคนทั้งมวล ตามเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติและ UN SDGs ที่เราต้องบริหารจัดการให้คนที่มีข้อจำกัดต่างๆสามารถเดินทาง ใช้ชีวิตได้ทัดเทียม เข้าถึง ปลอดภัย และได้มาตรฐาน

ส่วนในมุมการท่องเที่ยวจัดประชุมในไทย นี่ก็กลุ่มใช้จ่ายระดับสูงกว่า นักเดินทางท่องเที่ยวปกติ เพราะพวกเขาคือนักเดินทางที่มีความรู้ มีทักษะทางอาชีพ มักมีผู้ติดตาม และต้องการใช้บริการการเดินทางและที่พัก มาตรฐานสูง

นักเดินทางประเภทนี้ใช้จ่ายต่อหัวต่อวันสูงกว่านักท่องเที่ยวทัวร์ปกติถึง 3 เท่า

เราคำนวณกันแล้ว ในเมื่อวันพิธีเปิดการประชุมนี้จะเป็นเช้าวันจันทร์ ดังนั้น คนตาบอดที่จะมาร่วมประชุมก็น่าจะบินเข้าไปถึงสนามบินภูเก็ต ตั้งแต่วันอาทิตย์เพื่อจะได้มีเวลาเช็คอิน เข้าค้างแรมหนึ่งคืน ตื่นเช้ามาจะได้เข้าร่วมพิธีเปิดประชุม ซึ่งจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คุณท้อป วราวุธ ศิลปอาชามาเป็นประธานกล่าวต้อนรับ และกล่าวเปิดการประชุมเป็นภาษาอังกฤษ

รัฐมนตรีท้อปนั้น สปีคอิงลิชและสปีชภาษาอังกฤษ ไม่ใช่งูๆปลาๆ แต่เป็นระดับปราศรัยได้ไหลลื่น ฟังแล้วคนไทยชื่นใจ ฝรั่งชื่นชม

ท่อนนั้นผมไม่ห่วงแน่นอน ผมไม่ต้องไปร่วมพิธี ก็มี กรมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือ กรม พก. และทีมงานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เขาไปดูแลบริการระหว่างงานพิธีและงานประชุม จัดโชว์ต้อนรับ จัดหาอาหารท้องถิ่นชาวบ้านจากภูเก็ต เมืองที่ยูเนสโกให้รางวัลเมืองที่มีความสร้างสรรค์ด้านอาหาร เมืองแรกของไทยเขารอบริการจากอาหารชุมชนอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง มีแต่จะน้ำลายสอ อยากไปขอชิมกับเค้าเท่านั้นแหละ สำหรับผมกับคุณกฤษณะอะนะ

แต่ท่อนที่ว่าด้วยการเดินทางไกล เปลี่ยนถ่ายจากเมืองตั้งต้นการเดินทาง มาเปลี่ยนเครื่อง เปลี่ยนโหมดการเดินทางจากเรือบิน ไปสู่รถยนต์ เพื่อไปเข้าให้ถึงห้องที่พักโรงแรมนี่สิ ที่ผมเป็นกังวล เพราะเขาน่าจะเปราะบางกว่ากลุ่มไหนๆในการเดินทางระหว่างประเทศ แม้เขาพูดภาษาอังกฤษได้ แต่เขามองอะไรๆก็ไม่เห็น อ่านป้าย อ่านเอกสารใดๆไม่เห็น มาพร้อมสัมภาระเพื่อมาค้างแรมในไทยหลายคืน มีของสำคัญ สิ่งมีค่าติดตัวมาใช้จ่าย ใช้สอย เพราะเขามาธุระ ไม่ใช่มาเที่ยวเฉยๆ อุปกรณ์ที่พกมาอย่างน้อยก็ต้องแทบเลต หรืออุปกรณ์พิเศษสำหรับใช้ทำผ่านระบบอักษรเบลล์แบบมีปุ่มนูนๆให้สัมผัส ของเหล่านี้เป็นเหมือนชีวิตจิตใจของพวกเขา ข้อมูลสำคัญสารพัดอยู่ในนั้น ถ้าเสียหายจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้

ผมและคุณกฤษณะจึงเลือกบินลงจากดอนเมืองเช้าตรู่ เพื่อไปดักรอรับคนตาบอดจำนวนมากที่กำลังเดินทางมุ่งภูเก็ต ขาไปได้พบกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อดีตอาจารย์กฏหมายจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์สอนกฏหมายคนแรกของไทยที่ตาบอดสนิทสองข้าง แถมจบโทกฏหมายภาษีมาจาก มหาวิทยาลัยฮาร์วารด์ ทันรุ่น กับศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ที่จบปริญญาเอกที่นั่น

คู่นี้เคยเป็นคู่อ่านหนังสือกฏหมายภาษาอังกฤษภาษาละตินมาด้วยกัน ตั้งแต่สมัยไปเรียนที่ฮาร์วารด์ คนตาดีมีหน้าที่อ่านออกเสียงให้คนตาบอดฟังเป็นเล่มๆ คนตาบอดใช้การฟังและจำโดยแทบไม่จด แต่สามารถบอกคนตาดีได้ว่า ‘’สุรเกียรติ์…คุณช่วยหยิบเล่มที่วางบนหิ้งชั้นที่สองของตู้เหนือโต้ะเขียนหนังสือของผม เล่มที่แปด เปิดบทที่ 4 ยืนยันให้ผมฟังหน่อย ว่าคดีเรื่องนี้สู้กับคนนี้ ศาลฏีกาสหรัฐวินิจฉัยว่าที่ยกฟ้องนั้นเพราะอะไรนะ’’ ดร.สุรเกียรติ์เคยบอกผมตั้งแต่สมัยที่ผมยังเป็นนิสิตว่าน่าทึ่งที่สุด อาจารย์วิริยะจำได้แม่นยำราวจับวางขนาดนั้น

ผมเลยจำชื่อ อาจารย์วิริยะ มาแม่นกว่า 30 ปี แม้จะเคยร่วมกิจกรรมปั่นไปไม่ทิ้งกัน ระดมทุนสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดภาคเหนือมา ในสมัยที่ผมยังเป็นรัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬามาแล้ว ได้เห็นความอุตสาหะของคนตาบอดที่สอนหนังสือระดับยากๆ ลงทุนปั่นจักรยานสองตอน ให้คนตาดีจับแฮนด์จักรยาน คนตาบอดซ้อนอยู่ท้ายแต่ช่วยปั่นจากกรุงเทพไปขึ้นเหนือจนถึงที่ตั้งที่ดินที่จะสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่โน่น

วันปล่อยตัว พระองค์ภาฯ (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิตติยาภาฯ ในปัจจุบัน) เสด็จไปทำพิธีปล่อยขบวนนักปั่นตาดีตาบอด ออกเดินทางไกล แบบ’’ปั่นไปไม่ทิ้งกัน’’ นับเป็นพระมหากรุณายิ่งต่อวงการคนตาบอดในคราวนั้น ตกลงผมเลยได้เป็นผู้พาเดินนำให้อาจารย์วิริยะขึ้นเครื่องที่ดอนเมือง นั่งข้างกัน ระหว่างเดินทาง จัดแจงเรื่องอาหารการกินให้อาจารย์ระหว่างบิน และพาเดินจากเครื่องบินเข้าถึงสายพานกระเป๋าเดินทางที่สนามบินภูเก็ตด้วยกัน

อาจารย์วิริยะ ไม่ได้บอดมาแต่กำเนิด แต่เสียการมองเห็นไปเมื่ออายุ 15 ท่านอธิบายว่าคนตาบอดแต่กำเนิดที่ผ่านการฝึกฝนตนเองมาเข้มข้นจริงๆ บางคนสามารถเดินโดยพึ่งไม้เท้าน้อยมากได้ เพราะใช้เสียงดีดนิ้วของตัวเองที่สะท้อนกลับมาที่ใบหูก็คำนวณได้เองว่าข้างหน้าและข้างๆมีสิ่งกีดขวางใหญ่ๆหรือไม่

แต่พวกฝาท่อระบายน้ำเปิดคาไว้ที่พื้นทางเท้า หรือแผ่นป้ายโฆษณาสินค้าที่ยื่นมากระแทกหน้าผากนั้น ยังไงก็โดนกันมาแล้วแทบทั้งนั้น ในเที่ยวบินเดียวกันมีคนตาบอดอีกหลายคนมาด้วยแต่ล้วนเป็นคนไทย และส่วนมากมาพร้อมผู้ช่วย เช่น คุณเอกมล แพทยานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย คุณต่อพงศ์ เสลานนท์ คนตาบอดที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช. มีอาจารย์หญิงที่ตาบอดจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เป็นต้น ดังนั้น กลุ่มนี้ไม่มีอะไรต้องห่วง เค้าดูแลกันเองพอได้

เที่ยวบินอื่นๆ ที่มาลงที่ภูเก็ตในวันอาทิตย์มีคนตาบอดมาหลายชาติ นิวซีแลนด์ เมียนมาร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน ลาว ญี่ปุ่น จีนแผ่นดินใหญ่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ออสเตรเลีย มากันทีมละหลายคน การเดินทางกับสายการบินทั้งในและระหว่างประเทศของคนพิการนั้น สายการบินแต่ละสายมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป ท่านที่สนใจรายละเอียดเรื่องนี้อาจศึกษาเพิ่มเติมเป็นตัวอย่างได้จาก https://www.wonderfulpackage.com/article/v/1813/ เช่น บางสายการบินยอมให้มีคนตาบอดขึ้นเครื่องพร้อมกันได้ไม่เกินเที่ยวบินละ 4 คนบ้าง 5 คนบ้าง ดังนั้นเพื่อมาตรฐานด้านความปลอดภัย กติกานี้จึงอาจสร้างข้อจำกัดบางอย่างที่เคยมีประเด็นถกเถียงเวลามีการจองตั๋วโดยไม่ได้แจ้งความพิการมาล่วงหน้าได้เหมือนกัน 

คนตาบอดแต่ละกลุ่ม จึงต้องกระจายกันบินมาถึงที่ภูเก็ตก่อนวันอาทิตย์แล้วก็มี อย่าง สว. มณเทียร บุญตัน ก็ล่วงหน้ามาก่อนแล้ว เล่ามาซะนาน ยังไม่เจอคนตาบอดต่างประเทศสักที แต่พื้นที่หมดแล้ว 

รออ่านภาคสอง เป็นตอนเด็ดนะครับ 

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

อดีตเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย