ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

 

 บทความ ประชุมสมัชชา คนตาบอดโลก โลกที่คนตาดี ยังมองไม่เห็น!

 



ประชุมสมัชชา คนตาบอดโลก โลกที่คนตาดี ยังมองไม่เห็น!

บทความโดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 

การประชุมสมัชชาสหภาพคนตาบอดโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (World Blind Union-Asia Pacific Mid-Term Regional Genera Assembly) วันที่ 26-29 พฤศจิกายน 2566 ผมได้มีโอกาสต้อนรับ Miss Martine Williamson สตรีตาบอดทั้งสองข้างชาวนิวซีแลนด์ เธอเป็นประธานสหภาพคนตาบอดโลก มีประสบการณ์เดินทางไปครบทุกทวีปทั่วโลก เพื่อขึ้นกล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับการกระตุ้นให้กำลังใจแก่ประชาคมต่างๆ ในการทำกิจกรรมร่วมกับคนตาบอด

Miss Martine ได้เดินทางมาที่ จ.ภูเก็ต เพื่อกล่าวปาฐกถาในการประชุมสมัชชาสหภาพคนตาบอดโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เมื่อช่วง 26-29 พฤศจิกายน 2566 เธอออกบินจาก นิวซีแลนด์บ้านเกิด โดยใช้เวลาบิน 10 ชั่วโมงครึ่ง แล้วแวะเปลี่ยนเครื่องที่สิงคโปร์ จากนั้นบินต่ออีกเกือบ 2 ชั่วโมงเข้าถึงสนามบินนานาชาติภูเก็ต เครื่องบินมาถึงสนามบินภูเก็ตช่วงเช้าตรู่ ตรงเวลากับที่ ผมและคุณกฤษนะ บินจากดอนเมืองไปถึงสนามบินภูเก็ตเช่นกัน เราได้เชิญ Miss Martine ขึ้นรถตู้ จากสนามบินภูเก็ตไปส่งยังโรงแรมที่พักเพื่อจะได้ดูแลเป็นเพื่อนเธอไปด้วย

ฝนตกพรำๆ และตกยาวๆ ทำเอารถติดตลอดทางการจราจรเคลื่อนตัวช้า ทำให้เรามีโอกาสสอบถาม Miss Martine ว่าในการเดินทางของเธอไปประเทศต่างๆ นั้น อะไรคือบริการการท่องเที่ยวที่เธออยากได้รับมากที่สุด เธอตอบอย่างชัดเจนว่า สำคัญที่สุดคือ มิตรภาพ และความมีไมตรีของคนในพื้นที่ ส่วนในแง่การบริการนั้น เธออยากได้ความปลอดภัย
ในการเดินเที่ยวในละแวกรอบๆที่พักแรม อยากใช้ประสาท สัมผัสต่างๆรับประสบการณ์ที่มีเสน่ห์ของเมืองนั้นๆ สิ่งที่
จะช่วยได้มาก คือการมีไกด์หรือเครื่องอุปกรณ์เช่นหูฟังอิเล็กทรอนิกส์ที่จะบอกเล่าให้ทราบถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เช่น การไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ การไปหอแสดงนิทรรศการ เธออยากรับรู้สิ่งรอบตัว และเมืองรอบข้าง เธอบอกว่าอย่างที่ผมกำลังสื่อสารอยู่กับเธอนี่แหละ ที่เธออยากได้รับ เนื่องจากในการพาเธอนั่งรถ ผ่านสวนยาง ผ่านย่านการค้า ผ่านอนุสาวรีย์ ผ่านทุ่งโล่ง ผ่านสถานศึกษา ผมก็จะสารยายให้ข้อมูลเธอไปเรื่อยๆ ทำให้เธอสามารถหลับตาจินตนาการตามได้เป็นระบบ ผมใช้นิ้วชี้ของผมลองเขียนแผนที่ประเทศไทยลง บนฝ่ามือของเธอเพื่ออธิบายว่าภูเก็ตอยู่ตรงไหนของประเทศไทย วาดรูปแผนที่ขวานท่อง และประเทศเพื่อน บ้านของไทยในแต่ละทิศ ลักษณะอาหารการกินและภูมิประเทศโดยง่ายๆ ของแต่ละภาคของไทย เหล่านี้ช่วยทำให้เธอมีความสุขกับการรับรู้ข้อมูล ผ่านการสัมผัสและการลากเส้นสมมุติบนฝ่ามือของเธอ เธอกล่าวขอบคุณอย่างพึงพอใจ ซักถามอะไรต่อ ไปอีกหลายๆ อย่างด้วยความตื่นตาตื่นใจ ความสามารถในการรับนักเดินทางต่างชาติที่ ตาบอด ถือเป็นความท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งของระบบการท่องเที่ยวเดินทาง ถ้าไม่นับการขนย้ายผู้ป่วยเข้ามารับรักษานะครับ ถ้าเราสามารถพัฒนาบุคลากรประจำเมือง ประจำพื้นที่ให้ดูแลแขกต่างชาติและคนไทยที่มีความจำเป็นหรือต้องการพิเศษได้เป็น สถาปนิกวิศวกรท้องถิ่นก็ออกแบบ ห้องพัก โรงแรม ทางเดินเข้าออกสนามบิน อาคารสาธารณะ ฟุตบาททางเท้า ห้องน้ำ ลานจอดรถ ที่คำนึงถึงผู้พิการจากต่างภาษาได้ เราก็จะสามารถมั่นใจได้ว่า เราย่อมพร้อมรับใครๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะคนไทยและคนต่างชาติจากต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมจากทั่วโลกทางลาด ห้องน้ำ ราวจับ ทางข้ามถนน ป้ายสัญลักษณ์และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ดี จะทำให้ทุกคนใช้งานสะดวกและปลอดภัย ไม่ว่าจะเด็ก ผู้สูงอายุ คนท้อง รถเข็นทารก คนที่ลากกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ นักกีฬาใส่เฝือก ทำแล้วแม้ยังไม่มีแขกต่างชาติมาใช้ แต่ก็คนไทยเราเองนั่นแหละ ได้ประโยชน์ ที่เหลือก็คงเป็นเรื่องผู้จัดบริการ การใส่ใจ อธิบาย ให้ความอบอุ่น ให้ความมั่นใจ ให้ความปลอดภัย ให้ความสะอาดถูกหลักอนามัย และเสน่ห์จากวัฒนธรรมต่างๆที่
เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของไทย ให้กันและกัน เท่านั้นเองครับ