ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

ถ้ำในฐานะที่เก็บน้ำสำรอง

ผมและลูกชาย ‘’ปัณณ์’’ นิสิตวิศวะฉลองคริสต์มาส 2021 นี้ ด้วยการบินไปร่วมคณะสำรวจทำบันทึกการเคลื่อนย้ายของทรายจากอิทธิพลของน้ำที่ไหลผ่านภายในถ้ำหลวง และถ้ำทรายทอง ที่อุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายครับ
วันแรกของการเข้าสำรวจของเราเข้าถ้ำหลวงเพียงช่วงโถงหนึ่งถึงโถงสองก่อนเท่านั้น คือ ลึกเข้าไปจากปากถ้ำประมาณ 600 เมตร ส่วนที่ถ้ำทรายทองนั้นเราไปจนสุดทาง สิ่งที่สังเกตเห็นได้คือแนวการเคลื่อนตัวของทรายภายในโพรงถ้ำที่แห้งแล้วในฤดูหนาว ทรายปริมาณมากมายจากฟากหนึ่งในแต่ละโถง เคลื่อนไปอุดกองพูนสูงที่ผนังถ้ำอีกด้าน บางห้องมีช่องใหญ่พอให้รู้ว่าทรายคงเคลื่อนจากห้องนี้ไปห้องอื่นแล้ว แปลว่ามีช่องทางหลืบโพรงที่น้ำเข้ามาได้จากด้านข้าง ไม่ใช่เฉพาะจากเส้นทางเดินในถ้ำเท่านั้น เรามักจินตนาการกันมาว่า น้ำที่ไหลผ่านถ้ำก็คล้ายน้ำไหลผ่านอุโมงค์ใต้ดินที่ท่อคดงอไปมา ไม่ค่อยนึกภาพว่ามีน้ำรั่วเข้ามาจากข้าง ๆ ผนัง
แต่นั่น คือ ความเข้าใจที่ถูกบางส่วนเท่านั้น ที่จริงน้ำอัดเข้าถ้ำผ่านหลืบซอกได้อีกปริมาณมากพอควร ในหลาย ๆ ห้อง
คุณเวิรน์ อันสเวิรด์ (Vern Unsworth) และคุณลักษณ์คู่หูนักสำรวจที่ทำกิจกรรมสำรวจในหลายๆถ้ำทั่วแม่สาย ร่วมกันมาตลอด 15 ปี ช่วยชี้ให้เห็นว่า ทรายละเอียด ๆ ที่เราย่ำไปในถ้ำทีละห้องนั้น มีการเปลี่ยนรูปแบบของเนินทรายทุกปี คล้ายการที่คลื่นทะเลย้ายกองทรายตามหาดแทบทุกปีนั่นเอง เพียงแต่ตอนที่น้ำฝนฤดูฝนทะลักอัดเข้ามาในถ้ำ ย่อมอันตรายเกินกว่าที่ทีมสำรวจไหนจะเข้าไปเสี่ยงศึกษาทำเครื่องหมายไว้ได้ 
บางห้องของโถงถ้ำ น้ำจะท่วมสูงจนมิดหลังคาถ้ำ ซึ่งแปลว่าท่วมหลายเมตรเพราะตลอดเพดานถ้ำห้องนั้นจะคล้ำไปด้วยรอยโคลนทั้งที่ปกติจะเป็นสีเทาขุ่นของหินปูน บางห้องที่อยู่ติดกัน น้ำกลับท่วมแค่เข่าถึงเอว เพราะเพดานยังสว่างใสเมื่อต้องแสงจากไฟฉายที่คาดหมวกบนหน้าผากของเรา และปรากฏรอยคราบน้ำเพียงตามเนินทรายเหมือนรอยที่เรามักเจอตามกำแพงและเสาไฟฟ้าหลังน้ำลดตอนอยู่ในกรุงเทพ การเรียงตัวของตะกอนทราย สามารถบอกรูปแบบการไหลของน้ำที่ผ่านเข้าและผ่านออกจากห้องนั้นด้วย กล่าวคือบางห้องน้ำจะเคลื่อนจากทิศเหนือไปด้านทิศตะวันตก บางห้องน้ำมาจากทิศอื่นแล้วไหลออกไปไปในทิศทางตรงข้ามต่างไป โพรงขาออกของน้ำบางโพรงถูกตะกอนทรายเข้าไปอัดแน่นจนคนออกตามไปไม่ได้ แต่น้ำไปได้
นี่จึงอธิบายได้ว่า ถ้ามีการสำรวจดีพอ เราอาจเจอทางเข้าออกของถ้ำนี้หรือถ้ำหินปูนอื่น ๆ เพิ่มเติมได้เรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้ ชุดสำรวจจึงเชื่อมั่นว่า ไม่เพียงน้ำในถ้ำหลวงจะเชื่อมกับถ้ำทรายทองที่อยู่ห่างไปอีกหลายกิโลเมตรได้ แต่ยังน่าจะมีโพรงที่คนเดินไปเชื่อมกันได้ เพียงแต่มีทรายมาขวางอุดจนนึกว่าไม่มีทางที่คนจะผ่านไปได้ ถ้าคุ้ยกองทรายในบางห้องได้ถูกจุด เรามีโอกาสสูงมากที่จะเจอทางเชื่อมที่คนจะเดินหากันได้จากถ้ำแถบนี้ เวลานี้จุดเชื่อมของถ้ำหลวงไปสู่ถ้ำลักษ์ และไปถ้ำจ้องนั้น ถูกค้นเจอแล้ว เหลือระยะอีกราว 8 เมตร จากถ้ำทรายทองก็จะเชื่อมเข้าถึงถ้ำจ้องซึ่งต่อถึงถ้ำหลวงได้ หมายความว่า โพรงถ้ำทั้ง4 จะเดินต่อถึงกันได้ในไม่ช้า 
และถ้านั่นเกิดขึ้นเมื่อใด ประเทศไทยก็จะมีถ้ำที่สร้างสถิติความลึกใหม่ เพราะเวลานี้ถ้ำหลวงก็ลึกที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศอยู่แล้ว น่าจะเป็นสถิติใหม่ได้สบาย ๆ
แล้วทำยังงั้นจะมีประโยชน์อะไร คำอธิบายก็คือ นั่นจะทำให้มนุษย์สามารถเดินศึกษาระบบธรรมชาติของธรณีวิทยาได้ดีกว่า สามารถเปรียบเทียบอายุหิน การเปลี่ยนแปลงของหิน การวางตัวของสายแร่ ได้จากหนึ่งระบบถ้ำที่เปรียบเทียบโดยไม่ต้องขุดเจาะอะไรเพิ่ม ทำให้เห็นอุทกวิทยาของน้ำในระบบถ้ำชัดเจนขึ้น นำไปสู่ความเป็นไปได้ที่สูงขึ้นอีกที่มนุษย์จะสามารถบริหารน้ำในระบบถ้ำที่มีอยู่มาก ให้กลายเป็นบ่อเก็บบ้าง เป็นท่อส่งน้ำบ้าง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต 
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล บอกผมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เคยทรงทำเป็นตัวอย่างที่ ดอยสะเก็ด และที่ถ้ำรู จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาแล้ว ว่าทำได้จริง ๆ ซึ่งผมตั้งใจจะไปตามรอยพระบาทเพื่อศึกษามาใส่เกล้าฯ ไว้ในเร็ว ๆ นี้ น้ำฝนจากฟ้าของไทยมีปริมาณมาก แต่เราไม่มีที่เก็บมากพอ และถึงจะเก็บไว้ ก็กระจายไปไม่ได้มากพอ หากเชื่อมความรู้ด้านระบบถ้ำ ระบบน้ำใต้ภูเขา (ที่อาจไม่มีถ้ำ) และระบบน้ำใต้ดินในที่ราบ และระบบน้ำบนดินได้ดีขึ้น

นี่ก็คือเขื่อนฟรี ๆ ที่ไม่ต้องเสียงบประมาณสร้าง ไม่เดือดร้อนสัตว์ป่า ไม่ต้องกระทบชุมชน นี่คืออ่างเก็บน้ำฟรีที่ไม่ต้องเสียค่าเวนคืน นี่คือท่อส่งน้ำที่ไม่ต้องรบกวนใคร แถมไม่ต้องกลัวเรื่องอัตราสูญเสียเพราะการระเหยจากแดด หรือรั่วไหลจากพื้นผิวของคลองส่งที่ย่อมหักทรุดได้ตามกาลเวลา เพียงแต่เราต้องทำการศึกษาสำรวจกันให้เข้าใจ 
ประเทศไทยมีถ้ำที่พบแล้วราว 2,000 ถ้ำ และนักสำรวจต่างชาติที่เคยมาสัมผัสยังเชื่อว่าน่าจะมีอีกราว 2,000 ถ้ำ ที่ถูกพืชคลุมปิด ถูกตะกอนดินทรายไปอุดบังไว้ ถูกต้นไม้บังไว้ แม้ไม่ได้แปลว่าทุกถ้ำจะใช้ประโยชน์แบบที่เล่ามาได้หมด แต่แค่หลักร้อยแห่งที่อาจทำได้ก็จะได้ชลประทานธรรมชาติมาเสริมในหลายต่อหลายพื้นที่ที่ยังขาดน้ำไปเติมใช้ในหน้าแล้ง ส่วนเรื่องถ้ำเป็นที่ท่องเที่ยวได้นั้น คงใช่แน่ ๆ ในหลายแห่ง แต่ถ้ำที่จะเที่ยวได้ต้องปลอดภัยมาเป็นปัจจัยแรก จะรู้ว่าปลอดภัยต้องอาศัยการสำรวจเพื่อทำความเข้าใจเสียก่อนเสมอ
คณะสำรวจของเราเข้า ถ้ำทรายทอง ต่อในวันถัดมา โดยเข้าลึกจนสุดทางของถ้ำ ใช้เวลาเดินปีนไต่เข้าออกกันในนั้นอีกราว 5 ชั่วโมงครับ ถ้ำทรายทองจะแห้งก่อนถ้ำหลวงเสมอ ทั้งที่รับน้ำปริมาณมหาศาลผ่านมาจากถ้ำหลวง ที่นั่นอากาศข้างในถ้ำโปร่งกว่าถ้ำหลวง มีลมเย็นเบาๆไหลผ่านตลอดเพราะโพรงถ้ำที่นั่นมีปล่องที่อากาศไหลเข้าออกมากกว่าเยอะ

ถ้ำทรายทองนี่ก็เพิ่งถูกสำรวจอย่างจริงจังกันตอนจะหาทางช่วยน้องๆหมูป่านี่แหละ น้ำที่ผ่านถ้ำทรายทองออกมามีลักษณะการตกตะกอนเร็ว จากนั้นน้ำจะใสแจ๋ว และเมื่อต้องแสงแดดจะสะท้อนสีเขียวใสสวยงาม ทางอุทยานจึงขุดเป็นสระเก็บน้ำไว้หน้าถ้ำเสียเลย เปลี่ยนบ่อเลนเละๆจากการขุดช่วยระบายน้ำออกจากถ้ำหลวง จนกลายเป็นสระที่น่าไปท่องเที่ยวอีกแห่งของย่านนี้

ถ้ำหลวงช่วงที่เราเข้าไปหนนี้แม้อุณหภูมิจะเย็น แต่ยังไม่มีลมโชยเบาๆในถ้ำ ทั้งนี้เพราะเลยโถงสามไปแถวสามแยกที่หมูป่าเคยไปติดอยู่ ยังน่าจะมีน้ำเต็มโถง น้ำเหล่านั้นจึงบล้อคอากาศไม่ให้ถ่ายเทจากฟากหนึ่งของสามแยกในถ้ำไม่ให้มาถึงส่วนอื่น ๆ แต่คราวปีก่อนที่ผมมุดถ้ำหลวงลึกไปเกิน 3 กิโลเมตร กลับมีลมเย็นตลอดทาง นั่นเพราะน้ำลดครบถ้วน ไม่มีท่อนไหนที่น้ำบล้อคทางไหลของลมแล้ว ระบบอากาศไหลเวียนของถ้ำจึงมีความเปลี่ยนแปลงตามฤดูของน้ำไปด้วย เราเข้าถ้ำทรายทองไปพอดีจังหวะที่กลุ่ม KIDO จัดกิจกรรมแคมป์เยาวชนในพื้นที่ มีจัดทริปพาเด็กเยาวชนไปเดินศึกษาในถ้ำทรายทองด้วยพอดี ผู้นำค่ายประกอบไปด้วยอดีตทหารและหลายๆคนในปัจจุบันก็เป็นครูฝึกทหารหน่วย RECON หรือหลักสูตรจู่โจม พาเด็กเยาวชนที่ผู้ปกครองจากกรุงเทพและที่ต่างๆมาเรียนรู้การฝึกรับผิดชอบตัวเองเมื่ออยู่ในป่าเขา

อนาคตเด็กเยาวชนเหล่านี้ อาจจะใช้พลังและการเรียนรู้จากทริปท้าทายอย่างนี้กลายเป็นทักษะผู้นำเบื้องต้นได้ คนที่สนใจอาจได้แรงบันดาลใจเป็นนักสำรวจทางธรณีวิทยา เป็นนักเก็บข้อมูล หรือแม้ไม่เป็นอะไรข้างต้นเลยก็ยังจะเป็น อินฟลูเอนเซอร์ในสารพัดเรื่องทางออนไลน์ในยุคถัดไป เพราะเจนเนอเรชั่นใหม่เหล่านี้ มีทักษะภาษาต่างประเทศ มีทักษะด้านไอที เป็นพื้นฐานในตัวเสียแล้ว
และพวกเขานี่แหละที่จะสามารถต่อยอดจากภาพยนต์ฟอรม์ยักษ์หลายกองที่ได้เข้ามาถ่ายทำในเหตุการณ์กู้ภัยที่ถ้ำหลวงและสามารถรับไม้ถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความงดงามและหลากหลายน้ำใจที่แม่สายจากหนังใหญ่ระดับโลก
ตอนนี้มีค่ายMGM สตูดิโอทำแนวหนังผจญภัยจากที่นี่ มีพระเอกนางเอกใส่ท้องเรื่องเกี่ยวกับการกู้ภัยที่ถ้ำหลวง
หนังซีรี่ย์ของ Netflix ถูกสร้างเป็นหนังชุดให้ติดตามได้ทางทีวีทั่วโลกความยาวหลายๆสิบตอนต่อเนื่องด้วยเงินลงทุนสูงชนิดกองถ่ายไทยยังได้แต่ใฝ่ฝันถึง
National Geographic ของค่ายดิสนีย์มาถ่ายทำในรูปหนังสารคดี ชื่อThe Rescue ตอนนี้ออกตระเวนฉายกวาดรางวัลของเทศกาลภาพยนตร์โลกไปแล้วกว่า 10 รางวัล
และเพิ่งได้รับการประกาศว่าได้รับคัดเลือกเข้าอยู่ใน15 short lists ของหนังสารคดีชิงรางวัลออสการ์ปีนี้แล้ว
แม่สายจะถูกประกาศนามอีกครั้งอย่างกึกก้องผ่านโลกแห่งภาพยนตร์ สิ่งที่เราต้องเร่งทำ คือปรับปรุงความรู้ ความพร้อม ความแม่นยำ และความมุ่งมั่นที่จะทำให้แม่สาย เชียงรายกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เป็นเมืองเป็นเทศบาลที่มีอารยสถาปัตย์ มีระบบจัดการขยะมูลฝอยที่แข็งแกร่ง ซึ่งเมื่อช่วงค่ำ ผมได้ไปเป็นประธานกิจกรรม ลานวัฒนธรรม13ชนเผ่า จัดโดยเทศบาลตำบลแม่สาย เห็นทีมผู้บริหารเข้มแข็ง พยายามทำความพร้อมให้พื้นที่ทั้งด้านความสะดวก สะอาด ปลอดภัย ได้เอกลักษณ์และความยั่งยืน น่าชื่นใจ
ไม่ว่ายังไงหลังโควิดผ่านแล้ว เรื่องประทับใจที่คนไทยร่วมกับจิตอาสาทั่วโลก จะยังเป็นพลังศรัทธาและความกล้าหาญ เสียสละยิ่งใหญ่ที่ยังไงก็จะยังเป็นกำลังใจของชาวโลกให้ใช้ร่วมกัน สู้กับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สู้กับการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อร่วมกันกู้โลกในยุคภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้ต่อไป
ขอบคุณคุณกวี ประสมพลและทีมเจ้าหน้าที่อุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนที่ต้อนรับแขกไม่มีวันหยุดพัก จากที่เคยมีคนมาเยือนปีละไม่ถึงหมื่นเป็นปีละนับล้านคนหลังปีปฏิบัติการกู้ภัยหมูป่า
ขอบคุณลุงเวิรน์และคุณลักษณ์ ที่ช่วยกิจกรรมสร้างการรับรู้ให้เยาวชน และรวมทั้งทูตอารยสถาปัตย์มาทุก ๆ หน 
ขอบคุณคุณหลินและคุณต้อม จากทีมงานรายการกฤษณะทัวร์ยกล้อ ที่มาร่วมคณะสำรวจอย่างสมบุกสมบันยิ่งและช่วยบันทึกภาพถ่ายสวย ๆ มาให้ใช้ประกอบงานเขียนนี้

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา

รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 

ที่มา https://www.facebook.com/Weerasak-Kowsurat

 ---------------------------------------------