ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลจากขยะพลาสติกและโฟม ด้วยเทคนิคง่ายๆที่วัดจากแดงพัฒนาขึ้นเอาเอง เศษวัสดุจากกองขยะสามารถนำมาทำเป็นอะไรได้บ้าง

 

29 กันยายน 2564 คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา 

ตามผมมาดูนะครับ

ชิ้นแรก หมายเลข 1  เอากล่องนมยูเอชทีมาทำหลังคาโค้ง  ปกติเราเคยทราบแล้วว่ากล่องนมยูเอชทีที่ดื่มแล้ว ถ้าตัดคลี่ออกล้างให้ไม่เกลือคราบนมที่จะบูดเน่าเกิดเชื้อรา สามารถนำไปบุกับหลังคาให้ลดเสียงน้ำฝนตอนฝนตก และช่วยทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนที่จะบงมาจากหลังคาได้ดี

ต่อมาด้วยเทคโนโลยีบีบอัด ทางโรงงานรีไซเคิลสามารถนำกล่องนมมาอัดกันหลายๆชั้นจนแข็งแรงพอจะเป็นแผ่นฝ้า เป็นหลังคา และเป็นผนังเบาได้เลย

ที่วัดจากแดง นำแผ่นกล่องนมที่อัดขึ้นรูปเหล่านั้นมาดัดโค้ง เป็นหลังคาโค้งน้ำหนักเบาให้เป็นโรงตัดเย็บจีวร และเป็นโรงตัดเย็บวัสดุที่ทำได้จากเส้นใยรีไซเคิลที่ทอมาจากขวดพลาสติก

ชิ้นหมายเลข 2 วัดจากแดงนำขวดพลาสติกมาล้างแล้วเจาะรูร้อยกับเหล็กเส้นขนาดเล็กๆเพื่อดัดโค้งให้เป็นถังขยะระดับชุมชน เพียงเอาถุงพลาสติกรองไว้ข้างใน ก็จะสามารถรองรับขยะให้ชุมชนให้อยู่เป็นที่เป็นทาง

แถมได้สะท้อนแนวคิด การ Reuse ให้ขวดพลาสติกได้ออกไปทำงานรับใช้มนุษย์อีกครั้ง ก่อนจะกลับมารีไซเคิลให้เป็นเส้นใยหรือเป็นแท่งเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ

ชิ้นหมายเลข3 และ4  คือกระถางต้นไม้จิ๋ว ที่สามารถทำได้ทุกไซส์ จะให้มีรูน้ำระบายเพื่อปลูกต้นไม้ หรือจะไม่มีรูใช้เป็นแจกันใหญ่น้อยก็สามารถนี้ ทำจากการนำขยะโฟมเน่าๆที่มักลอยน้ำมานานแล้ว จะเอาไปใช้ซ้ำก็ไม่ไหว จะนำไปสะสมรอส่งไปทำอย่างอื่นก็จะสุมกองมากมาย วิธีจัดการได้ง่ายเลยคือบีบอัดให้โฟมแน่นตัวแล้วเอามาเป็นส่วนผสมกับปูนพลาสเตอร์หรือปูนซีเมนต์เพื่อขึ้นรูปเป็นกระถางขนาดที่ต้องการ ข้อดีคือน้ำหนักกระถางหดหายไปเยอะ ขนส่งง่าย

ส่วนหมายเลข 4 คือแผ่นยางที่หลอมผสมเศษขยะพลาสติกที่หั่นละเอียดบ้าง โฟมบ้าง จนได้เป็นเเผ่นปูพื้นที่ได้น้ำหนักดี ไม่หนักเบาเกินไป ล้มก็ไม่บาดเจ็บ

เลือกสีได้ และผมลองพยายามจับหักจับงอด้วยมือแล้วสามารถต้านแรงได้สบาย เพราะปกติแผ่นยางที่เห็นในท้องตลาดมักจะบางจนอาจบิดหักชำรุดได้ง่าย นับเป็นวิธีใช้ประโยชน์จากขยะได้ทีละเป็นปริมาณมากๆ

สองภาพนี้แสดงผลผลิต หมายเลข5 เพราะเป็นโครงชายคาของศาลาสวดศพที่อยู่ใกล้เมรุ ทำขึ้นจากวัสดุที่นำมาจากกองขยะ แผ่นหลังคาจากกล่องนม แผ่นตกแต่งฝ้าเพดานทำจากการหลอมฝาขวดพลาสติก ซึ่งฝาเกลียวขวดพลาสติกจะเป็นพลาสติกที่เหนียวแข็งแรงกว่าวัสดุทำขวด PET ดังนั้นเมื่อแยกเฉพาะฝาขวดไปหลอม จะได้วัสดุเทียมไม้อย่างไม้ฝา ใช้แทนไม้แผ่นไม้กระดานได้ ทาสีทับได้ ทนร้อน ทนฝน ทนแดด พื้นก็ปูด้วยวัสดุหมายเลข 4 เดินแล้วเก็บเสียง แถมน้ำที่ลงมาถึงพื้นก็ไม่เจิ่งนองเพราะน้ำสามารถไหลลงสู่พื้นดินตามร่องของแผ่นปูพื้นที่มีความหนาได้ง่ายกว่า

หมายเลข 6 และ 7

6 คือ ชุด PPEสีจีวรพระ สำหรับเวลาที่พระสงฆ์จำเป็นต้องใช้

นี่ก็ทำจากขยะพลาสติก

7 คือเมื่อได้เส้นใยพลาสติกรีไซเคิลจากขยะมาแล้วก็ส่งไปให้กลุ่มแม่บ้านตามชุมชนท้องถิ่นในภาคอื่นๆลองทอผสมฝ้าย และหรือย้อมสีใส่ลายเป็นผ้าพื้นเมือง อันมีเอกลักษณ์ ผลผลิตมีทั้งที่กลับมาเป็นผ้าผืนให้เลือกไปตัดเย็บ มีทั้งที่มาในรูปกระเป๋าถือ กระเป๋าสะพาย เป้  ถุง เสื้อผ้า ต่างๆที่สำเร็จพร้อมใช้ มีไซส์ตามมาตรฐานตลาด S M L XL

หมายเลข8 คือรองเท้าที่วัดจากแดงผลิตจากเส้นใยพลาสติกรีไซเคิล พื้นยางเกาะพื้นดี สวมสบาย มีรายงานกลับมาจากกลุ่มผู้ใช้ว่าการระบายอากาศด้านในรองเท้าเป็นไปอย่างดี ไม่อับชื้น บางคนอุตส่าห์สวมไปใส่วิ่งออกกำลังกายแล้วส่งความเห็นกลับมาว่าหน้าตารองเท้าดูเหมือนใส่เดินเล่นแต่เวลาใส่แล้ววิ่งก็ยังทำได้เกินคาด ที่พื้นยางมีสลักไว้ชัดเจนว่าเมดอินไทยแลนด์ ส่วนที่ลิ้นและส้นหลังของรองเท้ามีข้อความ Recycle พร้อมลายเส้นรูปขวด ให้รู้ว่าเป็นการรีไซเคิลจากขวดพลาสติก พร้อมบอกเบอร์รองเท้า

ผมเป็นคนเท้าใหญ่เพราะเป็นเด็กบ้านนอก เลยต้องล่อเบอร์45

แต่ถ้าฝรั่งสนใจ เขาอาจหาเบอร์46~48ด้วยในอนาคตก็เป็นได้

หมายเลข 9 คือ ผ้าที่นำเส้นใยจากขยะพลาสติกรีไซเคิลมาทำจีวร ซึ่งมีทั้งสีกรักหรือสีแก่นขนุน อันเป็นสีเข้ม กับสีพระราชทาน ซึ่งสว่างกว่า

ผ้าจีวรแต่ละผืนนั้นมาจากขวดพลาสติก15ขวด ผสมทอกับเส้นใยฝ้าย

ส่วนถ้าเป็นชุดไตรจีวร ครบ 1 ชุดนั้นจะใช้เส้นใยจากขวด พลาสติก 60 ขวด

ชิ้นหมายเลข 10 เป็นปุ๋ยอินทรีย์ ที่ทำขึ้นที่วัดจากแดงเช่นกัน โดยใช้ขยะอินทรีย์ ใบไม้บ้าง เศษอาหารบ้าง ไปเทเข้าถังหมักจุลินทรีย์แบบแห้ง Dry Continues Anaerobic Fermenter นับเป็นอีกความร่วมมือที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทำร่วมระหว่างวัดจากแดงกับบริษัท GC ของเครือ PTT

ตัวเครื่องระบบทำปุ๋ยอินทรีย์นี้มีขนาดพอๆกับรถตู้หลังคาสูงหนึ่งคันพอดี

ผมจึงเลือกมาเล่าสัก10ตัวอย่าง  พอให้เห็นภาพรวม ว่าแปลงขยะให้เป็นบุญ มีผลเป็นผลิตภัณฑ์หน้าตาอย่างไร

แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าผลิตภัณฑ์

คือกระบวนวิธีในการทำประโยชน์ให้คนที่มาร่วม

หลวงพ่อใช้บริเวณวัด ทำโรงคัดแยก แกะพลาสติกที่รับเข้ามาเพื่อตรวจสอบทำความสะอาดขั้นสุดท้ายอีกหลายอย่าง

แหวนเกลียวที่มากับฝาขวดต้องถูกแกะออก เพราะนั่นก็พลาสติกคนละประเภท นำส่งไปรีไซเคิลรวมกันไม่ได้

เพื่อให้มีแพ้ค ของเฉพาะขวด PET ใสๆ แพ้คนึง

มีแพ้คของฝาขวด และพลาสติกที่ไม่ใสแต่ก็ยังต้องแยกสีอีกเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มสีฟ้า สีแดง สีเหลือง เพื่อจะได้เวลาเข้าหลอมจะไม่กลายเป็นสีที่ควบคุมยากเกินไป

พลาสติกบางที่ข้างขวดก็ต้องแกะแยกออกเพราะมีการพิมพ์ยี่ห้อมีรายละเอียดบรรจุ ซึ่งถ้าเข้าเครื่องหลอม สีเหล่านี้จะรบกวนการทำงานของเครื่อง ทำให้เสียหายได้

เวลานี้ยังอยากเสนอต่อให้ผู้ผลิตขวด PET หาวิธีอย่าพิมพ์วันผลิตกรือวันหมดอายุของภาชนะนั้นลงที่ขวดด้วยสีหมึกพิมพ์ เพราะทำให้ต้องมีคนทาขัดเอาสีของหมึกออกก่อนรีไซเคิลอีก

ถ้าสามารถย้ายไปพิมพ์รวมกับแผ่นใสที่จะห่อหุ้มได้ก็คงสะดวกขึ้น หรือปัจจุบันเริ่มมีผู้ออกแบบให้ขวดใสไม่มีอะไรพิมพ์ด้วยสีเลย แต่ใช้การทำให้เกิดลายในผิวขวด แต่ยังอ่านได้แทน

ขั้นตอนเหล่านี้ หลวงพ่อได้สร้างงานจ้างผู้พิการ ผู้ยากไร้ คนตกงานมาช่วยในขั้นตอนเหล่านี้ ส่วนอาสาสมัครก็มาช่วยโดยนับว่าได้รับเป็นบุญและความอิ่มใจกลับไป

มีพื้นที่ใต้ต้นไทนใหญ่สองต้นที่ใช้เป็นลานสำหรับกลุ่มมาอบรมดูงาน

มีอุปกรณ์รุ่นบุกเบิกในการทำเรื่องรีไซเคิลขยะจัดวางแสดงอยู่ตามบริเวณต่างๆ

ที่ผมทึ่งพิเศษก็คือพระอาจารย์ลงมือทำเครื่องนึ่งขยะพลาสติกให้กลับออกมาเป็นน้ำมันเตาได้เอง โดยใช้ช่างอ้อกเหล็กทำเตาทำท่อต่อเป็นขั้นตอนแบบง่ายๆ

ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว

อีกเครื่องคือเครื่องดึงก๊าซมีเทนจากถังหมักขยะอินทรีย์ออกมาผ่านชุดถังพลาสติกใหญ่ต่อด้วยท่อเอสล่อนสีฟ้าเพื่อลำเลียงก๊าซที่ได้มาเชื่อมกับท่อใสของเตาแก้ส

อุปกรณ์ชุดนี้ยังใช้งานได้อยู่

จุดเด่นคือเป็นการใช้วัสดุแบบบ้านๆทั้งสิ้น ราคาไม่สูง และที่ถังสะสมก๊าซใช้ระบบครอบซ้อนโดยถังล่างเทน้ำใส่ไว้ ดังนั้นเมื่อถังบนได้รับก๊าซจากขยะ ก๊าซจะดันให้ถังครอบชิ้นบนยกขึ้น แต่ก๊าซจะไม่รั่วไหลออกมา เพราะน้ำจะทำหน้าที่เป็นซีลไม่ให้อากาศภายนอกกับก๊าซที่ขังอยู่ข้างในสัมผัสกันได้

นับว่าเป็นกระบวนการได้ผสมผสานทั้ง ศีล สมาธิ และปัญญา ใช้เมตตาธรรม ใช้หลักความประหยัด ใช้หลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต ใช้ศรัทธา ใช้บารมี ใช้วิชาการ ใช้การปสมผสาน และใช้จิตที่มุ่งหมายให้ชุมชนดีขึ้น มีวินัยขึ้น มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น มีการแบ่งปัน และเกิดความต่อเนื่องขยายผล จนเกิดเป็นตัวอย่างของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา

ที่มา ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลจากขยะพลาสติกและโฟม ด้วยเทคนิคง่ายๆที่วัดจากแดงพัฒนาขึ้นเอาเอง เศษวัสดุจากกองขยะสามารถนำมาทำเป็นอะไรได้บ้าง – ดราม่า ไทยแลนด์ (dramathailand.com)

 ---------------------------------------------