แปลงขยะให้เป็นบุญ มีผลเป็นผลิตภัณฑ์หน้าตาอย่างไร
1 ตุลาคม 2564 คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ได้เล่าเรื่องบทความ แปลงขยะให้เป็นบุญ มีผลเป็นผลิตภัณฑ์หน้าตาอย่างไร โดยเลือกมาเล่าสัก 10 ตัวอย่าง พอให้เห็นภาพว่า ขยะทำอะไรได้มากมายกว่าที่คิด
แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าผลิตภัณฑ์ คือ กระบวนวิธีในการทำประโยชน์ให้คนที่มาร่วม หลวงพ่อใช้บริเวณวัด ทำโรงคัดแยก แกะพลาสติกที่รับเข้ามาเพื่อตรวจสอบทำความสะอาดขั้นสุดท้ายอีกหลายอย่าง แหวนเกลียวที่มากับฝาขวดต้องถูกแกะออก เพราะนั่นก็พลาสติกคนละประเภท นำส่งไปรีไซเคิลรวมกันไม่ได้ เพื่อให้มีแพ้ค ของเฉพาะขวด PET ใสๆ แพ้คนึง มีแพ้คของฝาขวด และพลาสติกที่ไม่ใสแต่ก็ยังต้องแยกสีอีกเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มสีฟ้า สีแดง สีเหลือง เพื่อจะได้เวลาเข้าหลอมจะไม่กลายเป็นสีที่ควบคุมยากเกินไป
พลาสติกบางที่ข้างขวดก็ต้องแกะแยกออกเพราะมีการพิมพ์ยี่ห้อมีรายละเอียดบรรจุ ซึ่งถ้าเข้าเครื่องหลอม สีเหล่านี้จะรบกวนการทำงานของเครื่อง ทำให้เสียหายได้
เวลานี้ยังอยากเสนอต่อให้ผู้ผลิตขวด PET หาวิธีอย่าพิมพ์วันผลิตกรือวันหมดอายุของภาชนะนั้นลงที่ขวดด้วยสีหมึกพิมพ์ เพราะทำให้ต้องมีคนทาขัดเอาสีของหมึกออกก่อนรีไซเคิลอีก
ถ้าสามารถย้ายไปพิมพ์รวมกับแผ่นใสที่จะห่อหุ้มได้ก็คงสะดวกขึ้น หรือปัจจุบันเริ่มมีผู้ออกแบบให้ขวดใสไม่มีอะไรพิมพ์ด้วยสีเลย แต่ใช้การทำให้เกิดลายในผิวขวด แต่ยังอ่านได้แทน
ขั้นตอนเหล่านี้ หลวงพ่อได้สร้างงานจ้างผู้พิการ ผู้ยากไร้ คนตกงานมาช่วยในขั้นตอนเหล่านี้ ส่วนอาสาสมัครก็มาช่วยโดยนับว่าได้รับเป็นบุญและความอิ่มใจกลับไป
มีพื้นที่ใต้ต้นไทนใหญ่สองต้นที่ใช้เป็นลานสำหรับกลุ่มมาอบรมดูงาน
มีอุปกรณ์รุ่นบุกเบิกในการทำเรื่องรีไซเคิลขยะจัดวางแสดงอยู่ตามบริเวณต่างๆ
ที่ผมทึ่งพิเศษก็คือพระอาจารย์ลงมือทำเครื่องนึ่งขยะพลาสติกให้กลับออกมาเป็นน้ำมันเตาได้เอง โดยใช้ช่างอ้อกเหล็กทำเตาทำท่อต่อเป็นขั้นตอนแบบง่ายๆ
ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว
อีกเครื่องคือเครื่องดึงก๊าซมีเทนจากถังหมักขยะอินทรีย์ออกมาผ่านชุดถังพลาสติกใหญ่ต่อด้วยท่อเอสล่อนสีฟ้าเพื่อลำเลียงก๊าซที่ได้มาเชื่อมกับท่อใสของเตาแก้ส
อุปกรณ์ชุดนี้ยังใช้งานได้อยู่
จุดเด่นคือเป็นการใช้วัสดุแบบบ้านๆทั้งสิ้น ราคาไม่สูง และที่ถังสะสมก๊าซใช้ระบบครอบซ้อนโดยถังล่างเทน้ำใส่ไว้ ดังนั้นเมื่อถังบนได้รับก๊าซจากขยะ ก๊าซจะดันให้ถังครอบชิ้นบนยกขึ้น แต่ก๊าซจะไม่รั่วไหลออกมา เพราะน้ำจะทำหน้าที่เป็นซีลไม่ให้อากาศภายนอกกับก๊าซที่ขังอยู่ข้างในสัมผัสกันได้
นับว่าเป็นกระบวนการได้ผสมผสานทั้ง ศีล สมาธิ และปัญญา ใช้เมตตาธรรม ใช้หลักความประหยัด ใช้หลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต ใช้ศรัทธา ใช้บารมี ใช้วิชาการ ใช้การปสมผสาน และใช้จิตที่มุ่งหมายให้ชุมชนดีขึ้น มีวินัยขึ้น มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น มีการแบ่งปัน และเกิดความต่อเนื่องขยายผล จนเกิดเป็นตัวอย่างของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา
ที่มา https://www.facebook.com/Weerasak-Kowsurat-1408820812765288/
---------------------------------------------